สรุป เครดิตบูโร คืออะไร แบบเข้าใจง่าย ๆ

สรุป เครดิตบูโร คืออะไร แบบเข้าใจง่าย ๆ

สรุป เครดิตบูโร คืออะไร แบบเข้าใจง่าย ๆ /โดย ลงทุนแมน
คนที่เคยกู้ซื้อบ้าน ซื้อรถ หรือมีบัตรเครดิต
อาจเคยได้ยินคำว่าเครดิตบูโร กันมาบ้าง
โดยเฉพาะผู้ที่ขอสินเชื่อไม่ผ่าน จะมีคนบอกว่าติดแบล็กลิสต์หรือติดเครดิตบูโร
รู้หรือไม่ว่า ในความเป็นจริงนั้น เครดิตบูโรไม่ได้เป็นผู้พิจารณาการปล่อยสินเชื่อให้กับเราเลย
เพราะคนที่เป็นผู้อนุมัติ ก็ยังเป็นเพียงผู้ปล่อยสินเชื่อ ซึ่งก็คือ สถาบันการเงิน หรือธนาคารเท่านั้น
สรุปแล้วเครดิตบูโร คืออะไร
ทำไมคนกู้ไม่ผ่านบางคน ถึงถูกเรียกว่าติดเครดิตบูโร ?
ลงทุนแมนจะเล่าให้ฟัง
╔═══════════╗
Blockdit เป็นแพลตฟอร์ม สำหรับนักอ่าน และนักเขียน
ที่มีผู้ใช้งาน 2 ล้านคน ลองใช้แพลตฟอร์มนี้เพื่อได้ไอเดียใหม่ๆ
แล้วอาจพบว่าสังคมนี้เหมาะกับคนเช่นคุณ
Blockdit. Ideas Happen. Blockdit.com/download
╚═══════════╝
เครดิตบูโร อธิบายง่าย ๆ เลย ก็คือมันเป็น “รายงานประวัติการชำระสินเชื่อของเรา”

เป็นรายงานที่จะรวบรวมข้อมูลการชำระสินเชื่อของบุคคล จากสถาบันที่ปล่อยสินเชื่อหลายแห่ง ทั้งจากที่เป็นและไม่เป็นสถาบันการเงิน ซึ่งถูกจัดเก็บและรวบรวม โดยบริษัท ข้อมูลเครดิตแห่งชาติ จำกัด
และหากเรามีการผ่อนชำระสินเชื่อ ไม่ว่าจะเป็น ค่าผ่อนบ้าน ผ่อนรถ ไปจนถึงค่าบัตรเครดิต
ข้อมูลทั้งหมดนี้ ก็จะถูกส่งไปให้เครดิตบูโร เป็นประจำทุก ๆ เดือน
โดยการเก็บประวัติการชำระสินเชื่อนั้น มีจุดประสงค์ก็เพื่อรวบรวม และแลกเปลี่ยนข้อมูลทางการเงิน
เพื่อนำไปใช้ประกอบการตัดสินใจ ในการปล่อยสินเชื่อของสถาบันต่าง ๆ และลดโอกาสในการเกิดหนี้เสียขึ้นมาในระบบ
นั่นหมายความว่าคนที่จะมีสิทธิ์ดูข้อมูลการจ่ายหนี้ของเราว่าเป็นอย่างไร
ก็มีเพียงตัวเราและสถาบันที่จะปล่อยสินเชื่อให้กับเราเท่านั้น
ซึ่งข้อมูลที่จะแสดงในรายงานของเครดิตบูโรก็จะปรากฏรายการสินเชื่อทั้งหมดที่เป็นชื่อของเรา และสามารถดูย้อนหลังได้ 36 เดือน
โดยหากมีรายการใหม่เข้ามา รายการเก่าก็จะถูกถอนออกจากชุดข้อมูล
แล้วคำถามที่ว่าหากค้างชำระค่าบริการสาธารณูปโภค อย่างเช่น ค่าไฟฟ้า ค่าประปา หรือแม้แต่ค่าบริการโทรศัพท์มือถือ ก็จะส่งผลต่อเครดิตบูโรของเราด้วยหรือไม่
คำตอบคือ ค่าใช้จ่ายที่ไม่อยู่ในระบบการปล่อยสินเชื่อนั้น จะไม่เกี่ยวข้องกับฐานข้อมูลเครดิตบูโร
แปลว่า หากไม่ใช่สถาบันที่ปล่อยสินเชื่อ เพื่อให้เราผ่อนจ่ายเป็นงวด ๆ การค้างชำระค่าใช้จ่ายประปา ค่าไฟฟ้า ค่าโทรศัพท์มือถือ ก็จะไม่ส่งผลต่อเครดิตบูโรของเรา
แล้วเวลาเราชำระหนี้แต่ละรายการ ข้อมูลจะถูกบันทึกอย่างไร ?
หากเป็นการค้างชำระไม่เกิน 30 วัน แล้วเราจ่ายทันเวลา
ถือว่ารายการชำระยังเป็นสถานะปกติ
โดยปรากฏตัวเลขกำกับสถานะดังกล่าวเป็น 0
แต่หากค้างชำระเกินกว่า 30 วัน ก็จะมีการบันทึกรายการเป็นระดับ ตั้งแต่ 1
ไล่ไปจนถึงการค้างชำระ 271 ถึง 300 วัน ก็จะบันทึกรายการเป็นระดับ 9
และหากมากเกินกว่า 300 วัน รายการดังกล่าวก็จะถูกระบุเป็น F
ซึ่งสถานะเหล่านี้เอง ที่ทางสถาบันการเงินต่าง ๆ จะนำมาใช้เป็นข้อมูลประกอบการพิจารณาปล่อยสินเชื่อให้กับเรา
ส่วนคำว่าติดแบล็กลิสต์ หรือติดเครดิตบูโร ที่เราเคยได้ยินกันมา
ก็ต้องบอกว่าจริง ๆ แล้ว สถานะดังกล่าวไม่มีปรากฏในรายละเอียดของเครดิตบูโร
แต่เกิดจากการประเมินของตัวผู้ปล่อยสินเชื่อ ที่จะพิจารณาจากข้อมูลเครดิตบูโรของเราเท่านั้น
ซึ่งพอพูดถึงการค้างชำระจนเสียประวัติ หลายคนก็เกิดข้อสงสัยว่า การจ่ายค่าบัตรเครดิตแบบไม่เต็มจำนวน โดยชำระแค่ยอดขั้นต่ำนั้น จะถูกบันทึกในระบบเครดิตบูโรว่าอย่างไร
คำตอบคือ หากมีการจ่ายค่าบัตรเครดิตในยอดเรียกเก็บขั้นต่ำ
สถานะในการชำระของเครดิตบูโรถือว่า “เป็นปกติ”
เพราะเจ้าหนี้เป็นผู้กำหนดยอดขั้นต่ำที่ต้องชำระ โดยที่เจ้าหนี้เองยังสามารถคิดดอกเบี้ยจากการชำระขั้นต่ำซึ่งมีอัตราดอกเบี้ยสูงมากได้ต่อไป
อีกประเด็นหนึ่งคือ การชำระหนี้ไม่ว่าจะเป็นค่าบัตรเครดิต หรือรายการใด ๆ ถ้ามียอดค้างชำระแม้เพียงน้อยนิด ก็สามารถขึ้นสถานะค้างชำระในเครดิตบูโรได้ ยกตัวอย่างเช่น
หากเรามียอดที่ต้องชำระ 10,000 บาท กับอีก 50 สตางค์
แต่เรากลับชำระเป็นยอดเต็ม 10,000 บาทแล้ว
แต่ยังเหลือเศษ 50 สตางค์ทิ้งไว้
ตามระบบแล้วถือว่ายังชำระหนี้ไม่ครบ..
กรณีนี้ก็จะทำให้สถานะรายการเครดิตบูโรของเรา ระบุว่าเราค้างชำระได้
แม้จะเป็นจำนวนเงินที่เล็กน้อยเพียง 50 สตางค์ก็ตาม
อย่างไรก็ตาม ข้อมูลในเครดิตบูโรเป็นเพียงการบอกสถานะการชำระเงินรายการต่าง ๆ ของลูกหนี้
แต่การแปลความและประเมินความเสี่ยงในการปล่อยสินเชื่อ
จำเป็นต้องอาศัยการวิเคราะห์ข้อมูลเครดิตบูโร
เพื่อให้ได้ บทสรุปพฤติกรรมทางการเงินของลูกหนี้ที่แม่นยำที่สุด
จึงเป็นที่มาของการนำเอารายละเอียดจากเครดิตบูโร ไปคำนวณ “เครดิตสกอริง”
หรือก็คือ คะแนนเครดิต เพื่อใช้ในการประเมินโอกาสในการชำระหนี้คืนของลูกหนี้
ซึ่งปัจจัยที่มีผลต่อคะแนนเครดิตสกอริง ก็เช่น
- ยอดหนี้คงเหลือหรือวงเงินที่ใช้ นำไปเทียบกับวงเงินสินเชื่อ
- ยอดหนี้คงเหลือหรือวงเงินที่ใช้ รวมแต่ละประเภทสินเชื่อ
- จำนวนบัญชีที่เพิ่งเปิดแต่ละประเภทสินเชื่อ
- จำนวนเงินคงค้างล่าสุด
- ระยะเวลาของประวัติสินเชื่อตามแต่ละประเภทสินเชื่อ
- ระยะเวลาของสินเชื่อที่เรามีอยู่
- จำนวนบัญชีที่มีประวัติการชำระเงินดี
- ความถี่ในการสมัครสินเชื่อใหม่
โดยข้อมูลจากปัจจัยเหล่านี้ ก็จะถูกนำมาเข้าสูตรทางสถิติเพื่อตีเป็นเกรด หรือคะแนนของลูกหนี้ว่ามีโอกาสในการชำระคืนระดับไหน
เปรียบเทียบง่าย ๆ ก็เหมือนเกรดเฉลี่ยของนักเรียนที่คำนวณมาจากผลการเรียน จากหลากหลายวิชาของแต่ละเทอม
โดยเกรดของเครดิตสกอริงจะมีตั้งแต่ เกรด AA
ซึ่งเป็นเกรดที่สูงที่สุด หรือก็คือ 99% ของคนกลุ่มนี้ จ่ายชำระตรงเวลา
ไล่ไปจนถึงเกรด HH ซึ่งเป็นเกรดที่ต่ำที่สุด และมีโอกาสที่จะเบี้ยวหนี้สูง
และเครดิตสกอริงนี้เอง ที่แต่ละสถาบันจะใช้เป็นตัวประเมินร่วมกับปัจจัยอื่น เช่น ฐานรายได้ สินทรัพย์ค้ำประกัน ว่าจะปล่อยสินเชื่อหรือไม่ ควรต้องหาหลักทรัพย์มาค้ำประกันเพิ่มไหม
รวมถึงอัตราดอกเบี้ยของสินเชื่อควรจะเป็นเท่าไร
แต่มีจุดหนึ่งที่น่าคิดคือ การจัดส่งข้อมูลสินเชื่อ ไปยังบริษัทข้อมูลเครดิตแห่งชาติ สถาบันต่าง ๆ ที่ปล่อยสินเชื่อจะจัดส่งข้อมูลเพียงเดือนละครั้งเท่านั้น
นั่นหมายความว่า มีความเป็นไปได้ ที่เราจะสามารถยื่นขอสินเชื่อจากหลายแห่งพร้อม ๆ กัน
โดยที่สถาบัน ยังไม่ได้ข้อมูล ที่เป็นปัจจุบันมากที่สุด เช่น
หากเรากำลังผ่อนจ่ายสินเชื่ออยู่ 2 บัญชี
แต่แล้ววันหนึ่ง เรายื่นขอสินเชื่อพร้อมกัน 6 แห่ง ในเดือนเดียวกัน
หากว่าทั้ง 6 สถาบันการเงินอนุมัติสินเชื่อให้กับเรา
แปลว่าเราก็จะมีสินเชื่อติดตัวมากถึง 8 บัญชี
ในขณะที่ในรายงานของเครดิตบูโรยังปรากฏเพียง 2 บัญชีเท่านั้น
กว่าข้อมูลจะอัปเดตเป็น 8 บัญชี ก็ต้องรอรอบการส่งข้อมูลในเดือนถัดไป
ทั้งหมดนี้ ก็เป็นสรุปทั้งหมดเกี่ยวกับเครดิตบูโร
ซึ่งก็เรียกได้ว่าเป็นสิ่งที่เราควรรู้ โดยเฉพาะผู้ที่กำลังวางแผนการใช้เครดิต
ที่ก็ต้องนึกไว้เสมอว่า เมื่อใดก็ตามที่เรายืมเงินใครมา สักวันหนึ่งเราก็ต้องจ่ายเงิน
เพราะหากไม่มีการวางแผนให้ดี ใช้เงินเกินตัวจนจ่ายชำระคืนไม่ไหว
ท้ายที่สุด เราก็จะติดเครดิตบูโร จนไม่มีใครให้ยืมเงิน อีกต่อไป..
╔═══════════╗
Blockdit เป็นแพลตฟอร์ม สำหรับนักอ่าน และนักเขียน
ที่มีผู้ใช้งาน 2 ล้านคน ลองใช้แพลตฟอร์มนี้เพื่อได้ไอเดียใหม่ๆ
แล้วอาจพบว่าสังคมนี้เหมาะกับคนเช่นคุณ
Blockdit. Ideas Happen. Blockdit.com/download
╚═══════════╝
ติดตามลงทุนแมนได้ที่
Website - longtunman.com
Blockdit - blockdit.com/longtunman
Facebook - facebook.com/longtunman
Twitter - twitter.com/longtunman
Instagram - instagram.com/longtunman
Line - page.line.me/longtunman
YouTube - youtube.com/longtunman
Spotify - open.spotify.com/show/4jz0qVn1AL7tRMHiTvMbZH
Apple Podcasts - podcasts.apple.com/th/podcast/ลงท-นแมน/id1543162829
Soundcloud - soundcloud.com/longtunman
References
-https://www.ncb.co.th/check-your-credit-bureau/ncb-score
-https://www.ncb.co.th/check-your-credit-bureau/credit-bureau-knowledge-center#credit-report-format
-https://www.youtube.com/watch?v=sffpfb3RYP4
-https://www.youtube.com/watch?v=m5WZt2KRH7M
-https://www.ncb.co.th/ncb-infographic/credit-scolling
© 2024 Longtunman. All rights reserved. Privacy Policy.
Blockdit Icon