จับประเด็นสำคัญ “Information-Overloaded” ยุคข้อมูลล้นโลก ที่นักลงทุนต้องรับมือ
K WEALTH X ลงทุนแมน
ในยุคปัจจุบัน เรากำลังอยู่ท่ามกลางข้อมูลข่าวสารที่ไหลมาจากทุกทิศทาง ทั้งออฟไลน์ ออนไลน์ แพลตฟอร์มโซเชียลมีเดียต่าง ๆ ผู้เชี่ยวชาญนับร้อยนับพันคน ทั้งในไทยและต่างประเทศ ซึ่งแต่ละฝ่ายก็มีมุมมองที่แตกต่างกัน
ในยุคปัจจุบัน เรากำลังอยู่ท่ามกลางข้อมูลข่าวสารที่ไหลมาจากทุกทิศทาง ทั้งออฟไลน์ ออนไลน์ แพลตฟอร์มโซเชียลมีเดียต่าง ๆ ผู้เชี่ยวชาญนับร้อยนับพันคน ทั้งในไทยและต่างประเทศ ซึ่งแต่ละฝ่ายก็มีมุมมองที่แตกต่างกัน
แล้วนักลงทุนอย่างเรา จะเลือกเชื่อ วิเคราะห์ และตัดสินใจจากข้อมูลเหล่านี้อย่างไร ?
และที่พูดกันว่า ตลาดมีประสิทธิภาพอยู่แล้ว หรือก็คือข่าวสารที่เราอ่านกัน สะท้อนเข้าไปในราคาหุ้นหมดแล้ว หากเป็นจริงเราจะหาโอกาสสร้างผลตอบแทนได้อย่างไร ?
มาสำรวจประเด็น “Information Overload” ยุคข้อมูลล้นโลก ผ่าน 2 มุมมอง ทั้งในมุมของนักวิเคราะห์อย่าง คุณสรพล วีระเมธีกุล Assistant Managing Director Kasikorn Securities PCL และมุมของนักลงทุนอย่าง ดร.นิเวศน์ เหมวชิรวรากร ต้นแบบนักลงทุนเน้นคุณค่า
ลงทุนแมนจะสรุปให้ฟัง
เริ่มต้นที่คุณสรพล วีระเมธีกุล ที่ได้ให้แนวทางในการวิเคราะห์ข้อมูล และชวนนักลงทุนฝึกตั้งคำถามต่าง ๆ ในหลายมุมมอง โดยสามารถสรุปแบบสั้น ๆ ได้ดังนี้
เริ่มต้นที่คุณสรพล วีระเมธีกุล ที่ได้ให้แนวทางในการวิเคราะห์ข้อมูล และชวนนักลงทุนฝึกตั้งคำถามต่าง ๆ ในหลายมุมมอง โดยสามารถสรุปแบบสั้น ๆ ได้ดังนี้
- ยุคนี้ตลาดมีประสิทธิภาพมากขึ้น โดยเฉพาะในช่วง 5 ปีที่ผ่านมา เพราะทุกคนสามารถเข้าถึงข้อมูลต่าง ๆ ได้มากขึ้น และพร้อมกันหมด ต่างจากแต่ก่อนที่คนไทยจะรู้ช้ากว่าต่างประเทศ รวมถึงนักลงทุนรายย่อยที่จะรู้ช้ากว่านักลงทุนกลุ่มอื่น
- ถึงจะมีข้อมูลเหมือนกัน แต่การตีความก็ต่างกัน คนมองระยะสั้นจะตีความแบบหนึ่ง ส่วนคนมองระยะยาวก็จะตีความอีกแบบหนึ่ง การแพ้ชนะในระยะยาวขึ้นอยู่กับว่า มีการตีความข้อมูลที่เท่ากันออกมาต่างกันอย่างไร
- เราสามารถเอาเทรนด์มาตีความเพื่อให้เห็นโอกาสในการลงทุนได้ โดยสำหรับนักลงทุนไทย อาจเริ่มตีความข้อมูล จากการดูเทรนด์ของโลกก่อนว่าเป็นอย่างไร แล้วมีเทรนด์อะไรที่มีโอกาสเข้ามาที่ไทยบ้าง
ยกตัวอย่างเช่น เทรนด์ของคนจีนที่เริ่มนิยมการเลี้ยงสัตว์แทนการเลี้ยงลูก จนเป็นปัจจัยบวกต่อหุ้นอาหารสัตว์ ซึ่งต่อมาเทรนด์นี้ก็เริ่มเข้ามาในไทย และกลายเป็นปัจจัยบวกต่อหุ้นอาหารสัตว์ในไทยตามมา
- ถ้าอยากวิเคราะห์สถานการณ์น้ำมัน ว่าเทรนด์จะเป็นอย่างไรต่อไป ก็อาจเริ่มจากการวิเคราะห์แบบเบื้องต้น โดยดูจาก 3 ประเทศที่เป็นอุปทานหลักของน้ำมันซึ่งได้แก่ สหรัฐฯ ซาอุดีอาระเบีย และ รัสเซีย ว่าจะมีท่าทีอย่างไรต่อไป
หรือถ้าอยากวิเคราะห์ให้ลึกกว่านั้น ก็อาจมองถึงการมาของโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ ซึ่งจะส่งผลกระทบต่อแก๊สธรรมชาติ หรือ LNG เพราะในอนาคตเมื่อโรงไฟฟ้านิวเคลียร์สร้างเสร็จมากขึ้น จะทำให้การใช้เชื้อเพลิงจาก LNG ลดลงอย่างมีนัยสำคัญ ซึ่งถ้าเป็นอย่างนี้แล้ว เราก็อาจลองตั้งคำถามต่อไปว่า
มีโอกาสไหมที่ Data Center ที่ใช้ไฟฟ้าเป็นจำนวนมาก จะมีโรงไฟฟ้านิวเคลียร์เป็นแหล่งจ่ายไฟให้ ?
แล้วถ้าเทรนด์นี้มาจริง มีหุ้นตัวไหนที่เราพอจะดักทางได้ไหม ?
แล้วถ้า LNG ราคาถูกลง ใครจะได้ประโยชน์ ?
แล้วถ้าเทรนด์นี้มาจริง มีหุ้นตัวไหนที่เราพอจะดักทางได้ไหม ?
แล้วถ้า LNG ราคาถูกลง ใครจะได้ประโยชน์ ?
- หรืออย่างเรื่องที่ดอนัลด์ ทรัมป์ ได้เป็นประธานาธิบดี สิ่งแรกที่หลายคนวิเคราะห์กันอาจเป็นการดูว่า นโยบายของดอนัลด์ ทรัมป์มีอะไรบ้าง และถ้าทำแล้วจะส่งผลอย่างไรบ้าง
แต่สำหรับคุณสรพล จะเริ่มจากการมองตรงกันข้าม โดยจะตั้งคำถามว่า ทำไมเขาต้องทำ ทำแล้วได้อะไร แล้วถ้าเขาไม่ทำล่ะ จะเป็นอย่างไร เช่น ในกรณีที่ดอนัลด์ ทรัมป์ไม่ได้เล่นงานจีนอย่างเต็มที่ ซึ่งถ้าเป็นอย่างนี้ก็อาจจะทำให้หุ้นจีนเด้งขึ้นได้
นอกจากนี้ ยังตั้งคำถามว่า ทำไมมีแต่คนคิดว่าสหรัฐฯ จะทำอะไรจีน แต่ไม่มีใครคิดว่าจีนจะทำอะไรสหรัฐฯ เนื่องจาก จีนต้องรู้อยู่แล้วว่าจะโดนสหรัฐฯ เล่นงาน จึงน่าจะมีการตั้งรับเผื่ออยู่แล้ว
จะเห็นได้ว่าแต่ละสถานการณ์มีหลากหลายมุมมอง และย่อมมีหุ้นที่ได้ประโยชน์ แทนที่เราจะคิดว่าใครจะเสียประโยชน์ อาจคิดว่าใครที่จะได้ประโยชน์ ซึ่งถ้าหาเจอก็จะกลายเป็นหลุมหลบภัยให้กับเราได้
อย่างในตอนยุคดอนัลด์ ทรัมป์ 1.0 เรามี เวียดนาม เม็กซิโก เป็นหลุมหลบภัย เราก็อาจคิดต่อได้ว่า แล้วในยุคดอนัลด์ ทรัมป์ 2.0 นี้หลุมหลบภัยจะคือที่ไหน ?
- เวลาจะซื้อหุ้นแต่ละประเทศ เราควรมีมุมมองที่หลากหลายเพิ่มเติมเข้าไป เช่น เวลาดูหุ้นสหรัฐฯ คนส่วนใหญ่มักจะวิเคราะห์แต่ด้านเศรษฐกิจ Valuation หรือทิศทางดอกเบี้ย แต่ความจริงเราสามารถดูด้านอื่นเพิ่มเติมได้ เช่น ด้านนวัตกรรม ซึ่งเป็นสิ่งที่สะท้อนมาจากการศึกษา ถ้าประเทศไหนมีการศึกษาดี ก็มีโอกาสเป็นแหล่งนวัตกรรมในอนาคต
- ในเรื่องของความถูกความแพง ถ้าถูก ก็ต้องดูด้วยว่าเป็นความถูกแบบมีเหตุผลหรือเปล่า เช่น ยุโรปที่ถูกก็จริง แต่ก็เป็นเพราะเศรษฐกิจยังมีความน่ากังวล
- สำหรับกลยุทธ์การลงทุนในปีหน้า คุณสรพล วิเคราะห์และพบว่า สำหรับประเทศไทยนั้น Loan Growth หรืออัตราการเติบโตของสินเชื่อ คือ Indicator ที่ดีที่สุดที่สามารถใช้คาดการณ์แนวโน้มของ GDP Growth และ SET Performance ได้
เนื่องจาก Loan Growth มีผลต่อสภาพคล่องในประเทศ ดังนั้นถ้า Loan Growth กลับมาโตได้ดีก็จะเป็นปัจจัยบวกต่อตลาดหุ้นไทย
- ภูมิภาคที่คุณสรพลมองว่าเป็นม้านอกสายตาของการลงทุนในตอนนี้ คือ ตะวันออกกลาง เพราะเป็นภูมิภาคที่มีจุดเด่นในหลายด้าน ทั้งการมี Cash Flow เป็นจำนวนมากจากการมีน้ำมัน การไม่โดนผลกระทบจากปัญหาภูมิรัฐศาสตร์มากนัก และการอยู่ในช่วงกำลังสร้างประเทศ
ต่อมา เราลองมาจับประเด็นสำคัญของ ดร.นิเวศน์ เหมวชิรวรากร ต้นแบบนักลงทุนเน้นคุณค่า
- ดร.นิเวศน์ เชื่อว่าในระยะสั้นตลาดนั้นมีประสิทธิภาพ แต่ไม่ใช่ในระยะยาว ดังนั้นในการลงทุน ถ้าเล่นแบบวันต่อวันจะไม่มีทางเอาชนะตลาดได้ ถ้าอยากจะเอาชนะตลาดให้ได้ต้องเล่นระยะยาว
- ในการตัดสินใจลงทุน จะใช้วิธีการมองว่าใครคือผู้ชนะ ถ้าไม่รู้ว่าใครจะชนะจะไม่มีทางซื้อ และจะเลือกจากตัวที่รู้ว่าชนะแล้ว และคู่แข่งเริ่มถอย
- บางธุรกิจเมื่อมีผู้ชนะแล้วจะชนะได้ต่อไป เพราะมี Competitive Advantage ตัวอย่างเช่น Netflix ที่มีเครือข่ายผู้ใช้งานเป็นจำนวนมาก ทำให้การสร้างผลงานชิ้นหนึ่งสามารถ Share Cost ได้และทำให้ต้นทุนต่ำ ซึ่งเป็นสิ่งที่คู่แข่งไม่สามารถทำได้จนเริ่มแพ้ไป
- ตอนนี้ไม่ค่อยได้อ่านข่าวต่าง ๆ มากนัก แต่จะคอยสังเกตว่าธุรกิจมีการเปลี่ยนแปลงไหม ใครกำลังจะมา หรือใครจะทำอะไร และสังเกตการเปลี่ยนแปลงของเทรนด์ต่าง ๆ
ตัวอย่างเรื่องที่สังเกตก็อย่างเช่น เทรนด์คนรุ่นใหม่ที่ไม่ค่อยแต่งงาน และไม่ค่อยมีลูก โดยจะดูข้อมูลอัตราการเกิด จำนวนประชากร และเหตุผลที่ทำให้คนไม่แต่งงานและไม่มีลูก
สาเหตุที่ต้องคอยสังเกตพฤติกรรมของผู้คนที่กำลังเปลี่ยนไป เพราะตนเองเน้นลงทุนระยะยาว เมื่อพฤติกรรมของผู้คนเปลี่ยนแปลงไป มีลูกกันน้อยลง จะส่งผลต่อหลายธุรกิจ เพราะทำให้จำนวนผู้มาใช้บริการลดลง เช่น ธุรกิจศัลยกรรม ที่อีกหน่อยก็อาจมีคนใช้บริการน้อยลง เพราะเด็กรุ่นใหม่น้อยลง หรืออย่างธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ที่ก็จะได้รับผลกระทบเช่นกัน
และทั้งหมดนี้ คือการจับประเด็นที่น่าสนใจจาก 2 มุมมองของทั้งนักวิเคราะห์ และนักลงทุน ซึ่งจะช่วยให้นักลงทุนไทยพร้อมที่จะรับมือกับยุคข้อมูลล้นโลก “Information Overload” และหาโอกาสในการสร้างผลตอบแทน
สามารถรับชมรายการ TALK ลงทุนแมน “Information-Overloaded” ยุคข้อมูลล้นโลก นักลงทุนต้องรับมืออย่างไร ? ได้ที่ลิงก์ https://youtu.be/OTlUkAl8C9Q
Tag: K WEALTH