การเสียโอกาส 2 ครั้ง ในการลงทุน Netflix ของอดีตซีอีโอ Blockbuster

การเสียโอกาส 2 ครั้ง ในการลงทุน Netflix ของอดีตซีอีโอ Blockbuster

การเสียโอกาส 2 ครั้ง ในการลงทุน Netflix ของอดีตซีอีโอ Blockbuster /โดย ลงทุนแมน
ชายในภาพคือคุณ John Antioco อดีตซีอีโอของ Blockbuster ธุรกิจร้านเช่าวิดีโอภาพยนตร์รายใหญ่
ที่เคยใหญ่กว่า Netflix แต่ต่อมาล้มละลายไปในปี 2010
ชายคนนี้ คือคนที่เสียโอกาสในการลงทุน Netflix ถึง 2 ครั้ง
ครั้งแรกในบทบาทซีอีโอของ Blockbuster
เขาปฏิเสธ Netflix ที่เสนอขายกิจการให้ Blockbuster มูลค่าราว 50 ล้านดอลลาร์สหรัฐ
หรือคิดเป็นเงินปัจจุบันราว 3,300 ล้านบาท
แต่ตอนนี้ Netflix มีมูลค่ากิจการสูงถึง 13,600,000 ล้านบาท
และครั้งที่ 2 ในฐานะนักลงทุนทั่วไป
เขาซื้อหุ้น Netflix ในราคา 20 ดอลลาร์สหรัฐ
ก่อนขายหุ้น Netflix ทิ้งในราคา 35 ดอลลาร์สหรัฐ
แต่ปัจจุบัน ราคาหุ้น Netflix ทะลุไปกว่า 900 ดอลลาร์สหรัฐ เรียบร้อยแล้ว
เขาเสียโอกาสถึง 2 ครั้ง ได้อย่างไร ?
แล้วเราจะเรียนรู้บทเรียนตรงนี้อะไรได้บ้าง ?
ลงทุนแมนจะเล่าให้ฟัง
╔═══════════╗
ภาวะเงินเฟ้อ ตลาดผันผวนแบบนี้ ติดตามข่าวเศรษฐกิจแบบเน้น ๆ จากหลายเพจได้ใน Blockdit - คอนเทนต์แพลตฟอร์มที่มีผู้ใช้งานเป็นประจำ 2 ล้านคน ลองใช้ฟรี blockdit.com/download
╚═══════════╝
คุณ John Antioco เป็นซีอีโอจอมชุบกิจการตัวยง
การันตีด้วยผลงานโดดเด่น
- ช่วงทศวรรษ 1980 ธุรกิจ Circle K เชนร้านสะดวกซื้อที่กำลังล้มละลาย เขามีบทบาทสำคัญทำให้ร้านนี้กลับมามีกำไร
ก่อนจะขายต่อให้กับบริษัทน้ำมันอย่าง Tasco ที่สร้างผลตอบแทนได้ถึง 4 เท่า
- และมารับงานซีอีโออย่างเต็มตัวให้กับ Taco Bell เชนร้านอาหารฟาสต์ฟูดสไตล์เม็กซิกัน ในช่วงทศวรรษ 1990
โดยเขาเข้ามาปรับปรุงระบบการดำเนินงานของร้าน ลดต้นทุน และคิดเมนูตอบโจทย์ความคุ้มค่า ซึ่งประสบความสำเร็จในการดึงดูดลูกค้า
ช่วยสร้างชื่อเสียงให้ Taco Bell กลายเป็นหนึ่งในแบรนด์อาหารฟาสต์ฟูดชั้นนำในสหรัฐฯ
ทำให้ Viacom เจ้าของ Blockbuster คนใหม่ในตอนนั้น ที่เพิ่งซื้อกิจการจากเจ้าของเดิมอย่างคุณ Wayne Huizenga ด้วยมูลค่าราว 609,000 ล้านบาท ลากเขาเข้ามานั่งตำแหน่งซีอีโอ
เพื่อหวังว่าจะช่วยพลิกสถานการณ์ของ Blockbuster ในขณะนั้นที่เผชิญความท้าทายรอบด้าน จนผลประกอบการตกต่ำ
ทั้งในมุมของคู่แข่งที่เพิ่มขึ้น และการทุ่มทรัพยากรอย่างมหาศาลในการเข้าสู่ธุรกิจใหม่ ๆ เช่น ธุรกิจเพลงและความบันเทิงดิจิทัล รวมถึงยังขาดประสิทธิภาพในการจัดการต้นทุนด้วย
ในปี 1997 คุณ John Antioco ตัดสินใจรับงานนี้
เพราะเชื่อว่า Blockbuster ยังครองส่วนแบ่งการตลาดสูง และยังมีความได้เปรียบเหนือคู่แข่งด้วยผลิตภัณฑ์วิดีโอภาพยนตร์ที่หลากหลาย
แต่จุดแข็งนี้ ก็สร้างจุดอ่อนให้กับ Blockbuster เช่นกัน
เพราะต้นทุนค่าเช่าวิดีโอเทปจากเหล่าสตูดิโอภาพยนตร์ เฉลี่ยแล้วอยู่ที่ 65 ดอลลาร์สหรัฐต่อม้วน
ซึ่งถ้าจะได้กำไร ก็ต้องปล่อยเช่าต่ออย่างน้อย 30 ครั้ง
ต้นทุนที่สูงขนาดนี้ ทำให้เขาไปเจรจากับสตูดิโอภาพยนตร์ว่าจะจ่ายให้ 1 ดอลลาร์สหรัฐต่อม้วน
แทนที่จะจ่ายแพงถึง 65 ดอลลาร์สหรัฐต่อม้วน
แลกกับการให้ส่วนแบ่งรายได้ค่าเช่าวิดีโอ 40% ของภาพยนตร์นั้น กับเหล่าสตูดิโอภาพยนตร์
ซึ่งค่ายสตูดิโอก็ยอมรับดีลนี้ เพราะตอนนี้มีรายได้เข้ามาทั้งสองทาง จากค่าเช่าต่อม้วน และส่วนแบ่งรายได้จากค่าเช่าวิดีโอ
และยิ่ง Blockbuster ปล่อยเช่าวิดีโอได้มากขึ้น ส่วนแบ่งรายได้ปล่อยเช่าที่ค่ายสตูดิโอจะได้รับก็ยิ่งมากขึ้นไปอีก
ดีลที่ไปได้สวยแบบนี้ ทำให้ Blockbuster ลดต้นทุนได้มหาศาล แถมยังมีเงินเหลือไปเช่าวิดีโอจากสตูดิโอภาพยนตร์ได้มากขึ้นอีกด้วย
ส่งผลให้ Blockbuster มีผลประกอบการดีขึ้นเรื่อย ๆ และฟื้นกลับมาได้สำเร็จ
ซึ่งในช่วงนี้เอง ราวปี 2000 Netflix ก็เข้ามาเสนอขายกิจการให้กับ Blockbuster ด้วยมูลค่า 50 ล้านดอลลาร์สหรัฐ หรือคิดเป็นเงินปัจจุบัน 3,300 ล้านบาท
ถ้า Blockbuster ยอมรับดีลนี้ ก็อาจยิ่งเสริมความแข็งแกร่งของธุรกิจตัวเอง เพราะ Blockbuster ก็กำลังอยากทำธุรกิจปล่อยเช่าวิดีโอออนไลน์อยู่แล้ว
แต่สุดท้าย คุณ John กลับเลือกปฏิเสธดีลเสนอขายของ Netflix
เพราะเขามองว่า Netflix เป็นธุรกิจตลาดเฉพาะกลุ่ม
ที่ชอบบริการส่งแผ่น DVD ภาพยนตร์ไปถึงบ้าน
ซึ่งเป็นโมเดลแรกก่อนที่ Netflix จะให้บริการสตรีมมิงในเวลาต่อมา
จนปัจจุบัน Netflix ประสบความสำเร็จอย่างมหาศาลในตลาดสตรีมมิง กลายเป็นผู้นำที่มียอดสมาชิกกว่า 283 ล้านบัญชี
และราคาหุ้น Netflix ตอนนี้อยู่ในช่วงทำ All Time High ด้วยมูลค่ากิจการกว่า 13,600,000 ล้านบาท
ทั้งที่ Netflix เคยเสนอขายให้ Blockbuster เพียง 3,300 ล้านบาทเท่านั้น
พูดอีกอย่างคือ เขาปล่อยให้ผลตอบแทน 4,000 เท่า
หลุดมือไปในฐานะซีอีโอของ Blockbuster
ถึงแม้ไม่มีอะไรการันตีว่า Netflix จะประสบความสำเร็จได้ขนาดนี้ไหม ถ้าอยู่ภายใต้ Blockbuster
แต่ด้วยโมเดลธุรกิจสตรีมมิงที่ Netflix ตั้งใจจะทำตั้งแต่แรก ซึ่งตอบโจทย์ผู้บริโภคมากกว่า ทั้งความสะดวก, ความคุ้มค่า และประสบการณ์การใช้งาน
จึงมีโอกาสสูงมากที่ Netflix จะใหญ่กว่า Blockbuster ไม่วันใดก็วันหนึ่ง
แต่นี่ไม่ใช่ครั้งเดียวที่เขาเสียโอกาสในผลตอบแทนมหาศาลจาก Netflix เพราะยังมีครั้งที่ 2 อีก
โดยครั้งที่ 2 เกิดขึ้นหลังจากที่เขาลาออกจากการเป็นซีอีโอ
เพราะเขาต้องการปรับทิศทางธุรกิจของ Blockbuster ให้ไปมุ่งเน้นธุรกิจออนไลน์ แต่เหล่านักลงทุนกลับไม่เห็นด้วย
และสุดท้ายในปี 2010 Blockbuster ก็ประกาศล้มละลายในที่สุด
ซึ่งหลังจากลาออก เขาตัดสินใจขายหุ้นใน Blockbuster
แล้วเอาไปซื้อหุ้น Netflix เพราะเห็นว่า Netflix กำลังครองตลาดบริการส่ง DVD เช่าภาพยนตร์ทางไปรษณีย์ทั้งหมด
รวมถึงธุรกิจสตรีมมิง ก็มีศักยภาพมาก
ตอนนั้นเขาซื้อหุ้น Netflix ในราคาแค่ 20 ดอลลาร์สหรัฐ
แต่ไม่นาน ก็ขายหุ้นทิ้งในราคา 35 ดอลลาร์สหรัฐ โดยคิดว่าเป็นการตัดสินใจที่ชาญฉลาด
แต่หลังจากนั้น ราคาหุ้น Netflix ก็ปรับตัวขึ้นเป็น 100 ดอลลาร์สหรัฐ 200 ดอลลาร์สหรัฐ 300 ดอลลาร์สหรัฐ
และปัจจุบันพุ่งไปกว่า 900 ดอลลาร์สหรัฐ
เรียกได้ว่า เขาเสียโอกาสได้ผลตอบแทนจากหุ้น Netflix อย่างมหาศาลอีกครั้ง
แล้วเราได้บทเรียนอะไรบ้างจากเรื่องนี้ ?
ก็คงเป็นเรื่อง การที่ไม่มีใครรู้อนาคตแน่นอน แม้แต่คนที่อยู่ในวงการอุตสาหกรรมอย่างคุณ John ที่รู้จักโมเดลธุรกิจและข้อมูลเชิงลึกของ Netflix และ Blockbuster เป็นอย่างดี
เขาก็ยังเสียโอกาสการลงทุนมหาศาลใน Netflix ถึง 2 ครั้ง ทั้งในบทบาทซีอีโอของ Blockbuster หรือนักลงทุน
และความผิดพลาดตรงนี้ ไม่ได้เป็นตัวตัดสินว่า เราจะทำพลาดในการลงทุนไปเสียทุกเรื่อง หรือเป็นคนที่ล้มเหลวในเรื่องการลงทุน
แม้แต่คุณ John ที่เสียโอกาสจากผลตอบแทนในหุ้น Netflix แต่ก็ประสบความสำเร็จ ด้วยการจัดตั้งบริษัท JAMCO Interests ที่เน้นลงทุนในธุรกิจอาหารและค้าปลีก
โดยเน้นลงทุนธุรกิจที่กำลังเจอปัญหา ก่อนนำมาพัฒนา
ให้ดีขึ้นอีกครั้ง ที่เป็นท่าประจำของเขา จนเรียกได้ว่า เขาเป็นซีอีโอจอมชุบกิจการอย่างแท้จริง
สุดท้าย ถ้าเราหาจุดเด่นของตัวเองเจอ และทำมันซ้ำ ๆ
ก็อาจปูทางสู่ความสำเร็จได้เหมือนกัน แม้เราจะพลาดโอกาสอะไรบางอย่างไปก็ตาม
เพราะคนที่ไม่เคยพลาดอะไรเลย ไม่เคยมีอยู่จริงบนโลกนี้ แต่คือ คนที่เลือกหรือเลี่ยงไม่ทำอะไรเลยมากกว่า..
╔═══════════╗
ภาวะเงินเฟ้อ ตลาดผันผวนแบบนี้ ติดตามข่าวเศรษฐกิจแบบเน้น ๆ จากหลายเพจได้ใน Blockdit - คอนเทนต์แพลตฟอร์มที่มีผู้ใช้งานเป็นประจำ 2 ล้านคน ลองใช้ฟรี blockdit.com/download
╚═══════════╝
ติดตามลงทุนแมนได้ที่
Website - longtunman.com
Blockdit - blockdit.com/longtunman
Facebook - facebook.com/longtunman
Twitter - twitter.com/longtunman
Instagram - instagram.com/longtunman
YouTube - youtube.com/longtunman
TikTok - tiktok.com/@longtunman
Spotify - open.spotify.com/show/4jz0qVn1AL7tRMHiTvMbZH
Apple Podcasts - podcasts.apple.com/th/podcast/ลงทุนแมน/id1543162829
Soundcloud - soundcloud.com/longtunman
References
-https://hbr.org/2011/04/how-i-did-it-blockbusters-former-ceo-on-sparring-with-an-activist-shareholder
-https://finance.yahoo.com/news/blockbuster-had-opportunity-buy-netflix-185915158.html
-https://finance.yahoo.com/news/blockbuster-had-opportunity-buy-netflix-185915158.html
-https://en.wikipedia.org/wiki/John_Antioco

เรื่องที่คุณอาจสนใจ

SPONSORED
© 2024 Longtunman. All rights reserved. Privacy Policy.
Blockdit Icon