ทำไม แอปฟังเพลง Spotify ถึงขาดทุน  แต่ แอปดูหนัง Netflix มีกำไร

ทำไม แอปฟังเพลง Spotify ถึงขาดทุน แต่ แอปดูหนัง Netflix มีกำไร

ทำไม แอปฟังเพลง Spotify ถึงขาดทุน
แต่ แอปดูหนัง Netflix มีกำไร /โดย ลงทุนแมน
จริง ๆ แล้ว ทั้งสองธุรกิจนี้ มีความเหมือนกันอยู่
ตรงที่เป็นแอปสตรีมมิงทั้งคู่ และมีรายได้จากการสมัครสมาชิกด้วย
แต่ฝั่งหนึ่งมีไว้ฟังเพลง ฟังพอดแคสต์ ส่วนอีกฝั่งหนึ่งมีไว้ดูหนัง ดูซีรีส์ ซึ่งแต่ละรายก็เป็นเจ้าตลาดทั้งคู่
ทว่าแม้จะเป็นธุรกิจที่เหมือนกัน Spotify ที่เป็นแอปฟังเพลง กลับขาดทุน แต่ Netflix ที่เป็นแอปดูหนัง กลับมีกำไร..
เรื่องนี้เป็นเพราะอะไร
ทำไมแพลตฟอร์มสตรีมมิง ที่มีสินค้าคือคอนเทนต์เพื่อความบันเทิงเหมือนกัน ถึงมีผลกำไรแตกต่างกัน ?
ลงทุนแมนจะเล่าให้ฟัง
╔═══════════╗
ภาวะเงินเฟ้อ ตลาดผันผวนแบบนี้ ติดตามข่าวเศรษฐกิจแบบเน้น ๆ จากหลายเพจได้ใน Blockdit - คอนเทนต์แพลตฟอร์มที่มีผู้ใช้งานเป็นประจำ 2 ล้านคน ลองใช้ฟรี blockdit.com/download
╚═══════════╝
แม้ทั้งคู่ จะเป็นธุรกิจที่เหมือนกัน โดย Netflix ให้คนจ่ายเงินมาดูหนังและซีรีส์
ส่วน Spotify ให้คนจ่ายเงินเพื่อฟังเพลงและฟังพอดแคสต์แบบไม่มีโฆษณาคั่น
ทำให้ค่าใช้จ่ายหลักของธุรกิจที่มี ก็จะเป็นค่าลิขสิทธิ์เพลง หนัง ซีรีส์ พอดแคสต์ ที่ต้องจ่ายให้กับเจ้าของผลงานหรือเจ้าของลิขสิทธิ์
แล้วทำไม Netflix ถึงมีกำไร ส่วน Spotify กลับขาดทุนได้ ? ขนาดเป็นเจ้าตลาด ที่ครองฐานลูกค้าจำนวนมหาศาลไว้อยู่ในมือ
เหตุผลแรกเลย ก็เพราะว่า
“Spotify และ Netflix มีต้นทุนสินค้า/บริการ ต่างกัน”
แม้มีค่าใช้จ่ายหลักที่ต้องจ่ายให้เจ้าของผลงานเหมือนกัน แต่รู้ไหมว่า Spotify และ Netflix จ่ายให้เจ้าของผลงาน ด้วยวิธีที่แตกต่างกัน
Spotify เลือกจ่ายค่าตอบแทนให้เจ้าของผลงานเป็น Royalty Fee พูดอีกอย่างก็คือ ยิ่งเราฟังเพลง ฟังพอดแคสต์ มากเท่าไร Spotify ก็ต้องจ่ายเงินให้เจ้าของผลงาน มากขึ้นเท่านั้น
กลับกัน Netflix ที่เลือกลงทุนสร้างหรือซื้อลิขสิทธิ์คอนเทนต์หนัง ซีรีส์ ด้วยเม็ดเงินที่ซื้อเพียงครั้งเดียว ไม่ได้จ่ายเงินตามจำนวนครั้งที่คนกดดูหรือฟังแบบ Spotify
จากนั้น Netflix ก็ค่อยทยอยหักมูลค่าคอนเทนต์ที่ซื้อมาในแต่ละปี เป็นค่าใช้จ่ายทางบัญชี
ซึ่งในทางบัญชี เราเรียกตรงนี้ว่า “ค่าตัดจำหน่าย”
แต่ค่าตัดจำหน่ายส่วนนี้ จะนับเข้าไปรวมไว้กับรายการต้นทุนขาย เพราะเป็นต้นทุนโดยตรงของธุรกิจ ที่ก่อให้เกิดรายได้จากการขายสินค้าหรือให้บริการ
ทั้งนี้ Netflix จะทยอยหักค่าตัดจำหน่าย ด้วยวิธีแบบคิดลด หรือก็คือ หักมูลค่าตรงนี้สูงในปีแรก ๆ และลดลงในปีหลัง ๆ ตามธรรมชาติของคอนเทนต์ ที่คนจะดูน้อยลงเรื่อย ๆ เมื่อเวลาผ่านไป
ยกตัวอย่างเช่น
ถ้า Netflix ซื้อซีรีส์เรื่องหนึ่งมา 100 ล้านบาท
ปีแรก อาจบันทึกค่าตัดจำหน่าย 40 ล้านบาท
ส่วนปีถัดไป ก็บันทึกลดหลั่นกันมาเป็น 30 ล้านบาท 20 ล้านบาท 10 ล้านบาท ตามลำดับ จนหมด 100 ล้านบาท
ซึ่งค่าตัดจำหน่ายตรงนี้ ก็จะเป็นต้นทุนขายของ Netflix ในแต่ละปี ไม่ใช่บันทึกทีเดียว จำนวน 100 ล้านบาท ที่ไปซื้อซีรีส์เรื่องนั้นมา
อีกด้านหนึ่งคือ ต้นทุนตรงนี้มีระยะเวลาหมดอายุอยู่ในตัว ไม่ได้อยู่แบบถาวรเหมือนค่าลิขสิทธิ์เพลง
หรือก็คือ หากหักต้นทุนตัดจำหน่ายจนหมดไปแล้ว แต่คอนเทนต์นั้นยังสามารถฉายอยู่บน Netflix ได้ โดยไม่ถูกถอดออก และมีคนดูอยู่
ก็จะเสมือนว่าคอนเทนต์เหล่านี้ กำลังสร้างรายได้ให้ Netflix โดยที่แทบไม่มีต้นทุนใด ๆ เลย
เพื่อให้เห็นภาพมากขึ้น เรามาดูโครงสร้างต้นทุนของ Netflix และ Spotify เทียบกัน
โดยรายได้ทุก ๆ 100 บาท
Netflix มีต้นทุนขาย 58 บาท
ส่วน Spotify มีต้นทุนขาย 74 บาท เลยทีเดียว
เรียกได้ว่า Netflix สามารถคุมต้นทุนขายได้ดีกว่า Spotify
เหตุผลต่อมา คือ
“การเลือกโมเดลธุรกิจ ที่ต่างกัน”
Spotify เลือกใช้โมเดลธุรกิจที่เรียกว่า Freemium ซึ่งให้ผู้ใช้งานฟังเพลง ฟังพอดแคสต์ได้ฟรี แต่มีโฆษณามาคั่นบ้างในระหว่างใช้งาน
แต่ถ้าไม่อยากฟังโฆษณา ก็จ่ายเงินเป็นรายเดือน ที่เราเรียกกันว่า Subscription นั่นเอง
ดูเผิน ๆ โมเดลธุรกิจแบบนี้เหมือนจะดี ที่ช่วยให้คนตัดสินใจมาลองใช้งานได้ง่ายขึ้น แต่ก็ทำให้ Spotify ต้องกระตุ้นให้คนสมัครใช้งานแบบรายเดือน
ซึ่งทำให้ต้องใช้เงินไปกับการตลาดอย่างหนัก เพื่อจูงใจให้คนมาสมัครรายเดือนเพิ่มมากขึ้น
ในขณะที่ Netflix เลือกใช้โมเดลธุรกิจแบบ Subscription หรือก็คือ ผู้ใช้งานเสียเงินให้ Netflix ทุกคน
แถมล่าสุด ยังออกแพ็กเกจที่ราคาถูกลง แต่มีโฆษณาคั่น เพื่อขยายฐานลูกค้า ทำให้ Netflix ได้ทั้งลูกค้าหน้าใหม่ ค่าสมัครรายเดือน และค่าโฆษณาเข้ามา
แต่ Spotify ที่ให้ผู้ใช้งานได้ฟรีตอนแรก มีรายได้ตรงนี้จากค่าโฆษณาเท่านั้น และในฐานผู้ใช้งาน ยังมีกลุ่มที่ยอมฟังโฆษณา ทำให้ Spotify มีรายได้จากฐานผู้ใช้งานไม่เต็มเม็ดเต็มหน่วยเหมือน Netflix
และเหตุผลสุดท้ายคือ
“ตลาดหนัง ซีรีส์ แข่งกันดุเดือดน้อยกว่า ตลาดเพลง”
ต้องบอกว่า Spotify กำลังลอยคออยู่ในทะเลเลือด เพราะนอกจากบิ๊กเทคอย่าง Apple, Alphabet เจ้าของ YouTube และ Tencent เจ้าของ JOOX ที่คอยแย่งเค้กก้อนนี้อยู่
ยังมีคู่แข่งอื่น ๆ เช่น TIDAL, Deezer ที่พร้อมจะมาแย่งหูคนฟังจาก Spotify ตลอดเวลา
ที่สำคัญ “เพลง” ยังมีความคล้ายคลึงกับสินค้าโภคภัณฑ์ ที่ไม่ว่าจะฟังเพลงนั้น ๆ จากแพลตฟอร์มไหน ก็แทบไม่ต่างกัน ทำให้แอปแต่ละเจ้า สร้างความแตกต่างกันได้ยากมาก
และมี Switching Costs ต่ำมาก เพราะผู้ใช้งานสามารถเปลี่ยนไปใช้งานแอปอื่นได้ง่าย
ทำให้ Spotify ต้องลงทุนด้านวิจัยและพัฒนาอย่างหนักและต่อเนื่อง เพื่อคงความสามารถในการแข่งขัน
ซึ่งในช่วง 5 ปีที่ผ่านมา ค่าวิจัยและพัฒนา เพิ่มขึ้นเฉลี่ยกว่า 29% ต่อปี ในขณะที่รายได้เพิ่มขึ้นเฉลี่ยเพียง 18% ต่อปีเท่านั้น
ส่วน Netflix แม้ยังเผชิญกับการแข่งขันที่รุนแรงอยู่ แต่ก็ยังน้อยกว่า Spotify อยู่มาก
อีกทั้ง Netflix ยังใช้กลยุทธ์ให้เงินทุนสร้างหนัง หรือซื้อลิขสิทธิ์มา เกิดเป็น Netflix Original Contents เพื่อให้ดูได้แค่บนแพลตฟอร์มของตัวเองเท่านั้น
ซึ่งก็กลายเป็นเกราะกำบังคู่แข่ง และยึดเหนี่ยวให้ผู้ใช้งาน ยังจ่ายเงินรายเดือนให้กับ Netflix เพราะมีคอนเทนต์ที่ตัวเองยังต้องดูอย่างต่อเนื่องนั่นเอง
ด้วยโมเดลธุรกิจและต้นทุนที่ต่างกัน ทำให้ในปี 2023 ที่ผ่านมา
ทุก ๆ รายได้ 100 บาท ของ Netflix จะเหลือกำไรสุทธิ 16 บาท แม้จะลงทุนกับคอนเทนต์ปีละแสนล้านบาท
แต่สำหรับ Spotify ทุก ๆ รายได้ 100 บาท กลับขาดทุน 4 บาท
หรือพูดอีกอย่างคือ ทุกครั้งที่เราฟังเพลงและพอดแคสต์
ตอนนี้ Spotify แทบไม่ได้กำไรอะไรเลย นั่นเอง..
ทว่าในอนาคต Spotify จะสามารถควบคุมต้นทุนได้ดีขึ้น และพลิกมาทำกำไร ตามรอย Netflix ได้หรือไม่นั้น คงต้องรอดูกันต่อไป..
╔═══════════╗
ภาวะเงินเฟ้อ ตลาดผันผวนแบบนี้ ติดตามข่าวเศรษฐกิจแบบเน้น ๆ จากหลายเพจได้ใน Blockdit - คอนเทนต์แพลตฟอร์มที่มีผู้ใช้งานเป็นประจำ 2 ล้านคน ลองใช้ฟรี blockdit.com/download
╚═══════════╝
ติดตามลงทุนแมนได้ที่
Website - longtunman.com
Blockdit - blockdit.com/longtunman
Facebook - facebook.com/longtunman
Twitter - twitter.com/longtunman
Instagram - instagram.com/longtunman
YouTube - youtube.com/longtunman
TikTok - tiktok.com/@longtunman
Spotify - open.spotify.com/show/4jz0qVn1AL7tRMHiTvMbZH
Apple Podcasts - podcasts.apple.com/th/podcast/ลงทุนแมน/id1543162829
Soundcloud - soundcloud.com/longtunman
References
-https://ir.netflix.net/financials/annual-reports-and-proxies/default.aspx
-https://investors.spotify.com/financials/default.aspx

เรื่องที่คุณอาจสนใจ

SPONSORED
© 2024 Longtunman. All rights reserved. Privacy Policy.
Blockdit Icon