รู้จักแนวคิด ตัวกันโง่ เกราะป้องกันความผิดพลาด ในการลงทุน

รู้จักแนวคิด ตัวกันโง่ เกราะป้องกันความผิดพลาด ในการลงทุน

รู้จักแนวคิด ตัวกันโง่ เกราะป้องกันความผิดพลาด ในการลงทุน /โดย ลงทุนแมน
ในโลกของการลงทุน แม้เราจะวิเคราะห์อย่างละเอียด หรือมีสติและระมัดระวังมากแค่ไหน ก็ยังมีโอกาสที่จะเกิดความผิดพลาดขึ้นได้เสมอ
ทำให้การลงทุนในแต่ละครั้ง นอกจากจะเน้นสร้างผลตอบแทนแล้ว การลดความเสี่ยงให้ได้มากที่สุด ก็เป็นหัวใจสำคัญของการลงทุนเช่นกัน
และหนึ่งในหลักการที่เราอาจนำมาประยุกต์ใช้ได้ ก็คือ “Poka-Yoke” หรือ “ตัวกันโง่” ที่มีจุดเริ่มต้น มาจากโรงงานอุตสาหกรรม
แล้ว Poka-Yoke ที่ว่านี้คืออะไร และสามารถนำมาประยุกต์ใช้ในการลงทุนได้อย่างไร ?
ลงทุนแมนจะเล่าให้ฟัง
╔═══════════╗
ติดตามข่าวเศรษฐกิจแบบเน้น ๆ จากหลายเพจได้ใน Blockdit - คอนเทนต์แพลตฟอร์มที่มีผู้ใช้งานเป็นประจำ 2 ล้านคน ลองใช้ฟรี blockdit.com/download
╚═══════════╝
หลักการ Poka-Yoke อ่านว่า โพกะ-โยเกะ ถูกคิดค้นขึ้นโดยวิศวกรชาวญี่ปุ่น เพื่อใช้ในระบบการผลิตของ Toyota
โดยหลักการของ Poka-Yoke คือ ระบบหรือเครื่องมือที่ช่วยลดความผิดพลาดจากมนุษย์ (Human Errors) ลงให้ได้มากที่สุด เพื่อลดจำนวนงานเสีย ตลอดจนสร้างความปลอดภัยในการทำงาน
มีหลักการทำงานคือ การแจ้งเตือนและป้องกันความผิดพลาดที่อาจจะเกิดขึ้น
ตัวอย่างเช่น เซนเซอร์ความปลอดภัยที่คอยตรวจจับว่า มีคนอยู่ในพื้นที่ปฏิบัติงานหรือไม่ ก่อนที่จะป้อนคำสั่งให้เครื่องจักรทำงาน
หรือช่องใส่ชิ้นงานในเครื่องจักร ที่ถูกออกแบบรูปทรงให้ล็อกทิศทางในการป้อนชิ้นงานไว้ เพื่อป้องกันการใส่ชิ้นงานผิดพลาด
หากยกตัวอย่างหลักการ Poka-Yoke ที่ถูกนำมาประยุกต์ใช้ในชีวิตประจำวัน ก็เช่น
- ถาดใส่ซิมการ์ดโทรศัพท์มือถือ ที่ป้องกันการใส่ผิดด้าน
- ระบบเกียร์อัตโนมัติในรถยนต์ ที่จะต้องแตะเบรกก่อนเปลี่ยนเกียร์
แล้ว Poka-Yoke ในโลกของการลงทุนมีอะไรบ้าง ?
ตัวอย่างของเครื่องมือที่สอดคล้องกับแนวคิด Poka-Yoke ที่เราสามารถนำมาใช้ในการลงทุนได้ มีหลายเครื่องมือด้วยกัน
เครื่องมือแรกคือ Diversification หรือการกระจายความเสี่ยง
“อย่าใส่ไข่ทั้งหมดไว้ในตะกร้าใบเดียว” คือประโยคคลาสสิก เมื่อพูดถึงการกระจายความเสี่ยง เพราะถ้าหากตะกร้าใบนั้นเกิดความเสียหายขึ้นมา ไข่ทุกใบ ก็อาจจะแตกเสียหายได้ทั้งหมด
ด้วยความที่สินทรัพย์แต่ละอย่างนั้น มีความเสี่ยงไม่เหมือนกัน โดยสินทรัพย์ที่ให้ผลตอบแทนสูง มักมาพร้อมกับความเสี่ยงที่สูงขึ้น ตัวอย่างเช่น หุ้นเทค หรือสินทรัพย์ดิจิทัล
ซึ่งการกระจายความเสี่ยง ไม่ว่าจะเป็นการกระจายการลงทุนไปในสินทรัพย์หลาย ๆ ชนิด การกระจายการลงทุนไปหลาย ๆ ประเทศ หรือแม้แต่การกระจายความเสี่ยงไปยังหุ้นหลาย ๆ บริษัท
(แต่ต้องเป็นบริษัทที่เราเข้าใจจริง ๆ และมีจำนวนไม่มากเกินไป เพื่อที่เราจะสามารถติดตามผลการดำเนินงานได้ไหวด้วย)
ก็เป็นวิธีหนึ่งที่จะช่วยลดโอกาสความผิดพลาดไปได้ จากการที่เราประเมินหุ้นหรือสินทรัพย์ที่ลงทุนเหล่านั้น ซึ่งจะปลอดภัยมากกว่าการใส่เงินลงทุนทั้งหมด ไว้อยู่ในสินทรัพย์ใดสินทรัพย์หนึ่ง
เครื่องมือต่อมาก็คือ Margin of Safety หรือส่วนเผื่อเพื่อความปลอดภัย
Margin of Safety คือส่วนต่างระหว่างราคาหุ้นที่เราประเมินได้ กับราคาหุ้นที่เราซื้อ
ตัวอย่างเช่น ถ้าหากเราประเมินราคาที่เหมาะสมของหุ้นตัวหนึ่งไว้ที่ 100 บาท โดยกำหนด Margin of Safety ไว้ที่ 30% เท่ากับว่า เราจะซื้อหุ้นดังกล่าวได้ เมื่อราคาลงมาที่ 70 บาท
โดย Margin of Safety จะเป็นตัวช่วยลดความเสี่ยงจากกรณีที่เราประเมินมูลค่าหุ้นผิดพลาด หรือเกิดเหตุการณ์ไม่คาดฝันขึ้น
ยิ่งถ้าหากเรามี Margin of Safety มาก ความปลอดภัยในการลงทุนก็จะมากขึ้นไปด้วย
อีกเครื่องมือหนึ่งที่น่าสนใจไม่แพ้กันก็คือ Dollar Cost Averaging (DCA) หรือการถัวเฉลี่ยต้นทุน
เป็นการที่เราใช้เงินจำนวนเท่าเดิม ในการลงทุนเป็นรายเดือน (หรือรายไตรมาส, รายสัปดาห์) อย่างสม่ำเสมอ
โดยวิธีการลงทุนแบบนี้ ถ้าหากช่วงไหนที่ราคาสินทรัพย์ตกต่ำ นักลงทุนก็จะได้หน่วยลงทุนมากขึ้น ขณะที่ถ้าช่วงไหนที่ราคาสินทรัพย์พุ่งขึ้น ก็จะได้หน่วยลงทุนลดลง
ซึ่งจะช่วยให้ต้นทุนโดยรวมของสินทรัพย์ที่เราลงทุน ไม่สูงจนเกินไป เพราะถูกถัวเฉลี่ยกันไป
อย่างไรก็ตาม การลงทุนแบบ DCA นั้น เราต้องมีวินัย และต้องมั่นใจว่าสินทรัพย์ที่เราไปลงทุน จะเติบโตขึ้นได้ในระยะยาว
โดยการ DCA นั้น จะช่วยให้นักลงทุน ไม่ต้องมาจับจังหวะการเคลื่อนไหวของราคาสินทรัพย์เอง ซึ่งมีโอกาสผิดพลาดสูงมาก โดยเฉพาะนักลงทุนมือใหม่ที่อาจยังไม่ชำนาญ
ทั้ง 3 เครื่องมือนี้ คือตัวอย่างของเครื่องมือที่เป็นเหมือน Poka-Yoke หรือตัวกันโง่ในโลกการลงทุน ที่นักลงทุนสามารถนำไปประยุกต์ใช้ได้
สรุปอีกรอบ เครื่องมือการลงทุนตามหลัก Poka-Yoke หลัก ๆ ก็จะประกอบไปด้วย
1. Diversification : ช่วยลดความผิดพลาด จากความผันผวนของสินทรัพย์ใดสินทรัพย์หนึ่งมากเกินไป
2. Margin of Safety : ช่วยลดความผิดพลาดจากการประเมินมูลค่าสินทรัพย์ หรือเหตุการณ์ที่ไม่คาดคิด
3. Dollar Cost Averaging : ช่วยลดความผิดพลาด ของการจับจังหวะตลาด หรือราคาสินทรัพย์
ซึ่งนอกจาก Poka-Yoke ทั้ง 3 อย่างนี้แล้ว เราอาจคิดค้นเครื่องมือใหม่ ๆ ขึ้นมาได้เอง เพื่อให้เหมาะสมกับสไตล์การลงทุนของตัวเอง
แต่ที่สำคัญ คือเราต้องมีวินัยในการใช้เครื่องมือเหล่านี้ เช่น ถ้าหากกำหนด Margin of Safety ไว้ที่ 30% ก็ควรจะยึดหลักเช่นนี้ไว้เสมอ
เพื่อให้ Poka-Yoke สามารถช่วยป้องกัน แจ้งเตือน ลดอคติ และลดความผิดพลาดของการลงทุน ได้อย่างมีประสิทธิภาพ..
╔═══════════╗
ติดตามข่าวเศรษฐกิจแบบเน้น ๆ จากหลายเพจได้ใน Blockdit - คอนเทนต์แพลตฟอร์มที่มีผู้ใช้งานเป็นประจำ 2 ล้านคน ลองใช้ฟรี blockdit.com/download
╚═══════════╝
ติดตามลงทุนแมนได้ที่
Website - longtunman.com
Blockdit - blockdit.com/longtunman
Facebook - facebook.com/longtunman
Twitter - twitter.com/longtunman
Instagram - instagram.com/longtunman
YouTube - youtube.com/longtunman
TikTok - tiktok.com/@longtunman
Spotify - open.spotify.com/show/4jz0qVn1AL7tRMHiTvMbZH
Apple Podcasts - podcasts.apple.com/th/podcast/ลงทุนแมน/id1543162829
Soundcloud - soundcloud.com/longtunman
© 2025 Longtunman. All rights reserved. Privacy Policy.
Blockdit Icon