Impossible Trinity คืออะไร ?

Impossible Trinity คืออะไร ?

[ประเด็นสำคัญ] Impossible Trinity คือทฤษฎีที่กล่าวว่า นโยบายทางเศรษฐศาสตร์ 3 อย่าง ได้แก่ การกำหนดอัตราแลกเปลี่ยนคงที่ การอนุญาตให้มีเงินทุนเคลื่อนย้ายแบบเสรี และการกำหนดนโยบายการเงินอย่างอิสระ โดยแต่ละประเทศนั้นเลือกใช้ได้ 2 ใน 3 เท่านั้น
Impossible Trinity ถูกพัฒนาโดย Robert Mundell และ Marcus Fleming สองนักเศรษฐศาสตร์ชื่อดังในช่วงระหว่างปี 1960-1963
โดยทฤษฎีกล่าวว่า นโยบายทางเศรษฐศาสตร์ 3 อย่างคือ
1. การกำหนดอัตราแลกเปลี่ยนคงที่
2. การอนุญาตให้มีเงินทุนเคลื่อนย้ายแบบเสรี
3. การกำหนดนโยบายการเงินอย่างอิสระ
สามารถเลือกใช้ได้เพียง 2 อย่างเท่านั้น ภายใต้ 3 คู่เหตุการณ์
คู่ที่ 1 การใช้อัตราแลกเปลี่ยนคงที่ และการอนุญาตให้มีเงินทุนเคลื่อนย้ายแบบเสรี
แต่ธนาคารกลางจะไม่มีอิสระในการกำหนดนโยบายการเงิน
ตัวอย่างคือ กลุ่มประเทศในสหภาพยุโรปที่ใช้เงินยูโรร่วมกัน โดยให้อัตราแลกเปลี่ยนมีค่าคงที่ ขณะเดียวกันก็ยังเปิดให้เงินทุนเคลื่อนย้ายเข้าและออกประเทศได้อย่างเสรี เพื่อเอื้อต่อการค้าและการลงทุนระหว่างประเทศ
อย่างไรก็ดี ข้อเสียคือ ประเทศสมาชิกจะไม่สามารถกำหนดนโยบายการเงินได้อย่างอิสระ
เนื่องจากประเทศในกลุ่มนี้ จะมีธนาคารกลางยุโรปทำหน้าที่เป็นศูนย์กลางในการกำหนดนโยบายการเงินให้แก่ประเทศสมาชิก
คู่ที่ 2 การใช้อัตราแลกเปลี่ยนคงที่ และการกำหนดนโยบายการเงินอย่างอิสระ
แต่เงินทุนจะไม่สามารถเคลื่อนย้ายได้แบบเสรี
จีน คือหนึ่งในตัวอย่างของประเทศที่ใช้นโยบายเศรษฐกิจคู่นี้ โดยจีนจะใช้ระบบอัตราแลกเปลี่ยนลอยตัวแบบมีการจัดการ (Managed Float Exchange Rate Regime) พร้อมทั้งสามารถกำหนดนโยบายทางการเงินของประเทศได้อย่างอิสระ
ดังนั้น เราจึงเห็นธนาคารกลางของจีน ประกาศลดค่าเงินหยวนเพื่อช่วยภาคการส่งออกของประเทศ โดยเฉพาะในช่วงที่เกิดสงครามทางการค้ากับสหรัฐอเมริกา
แต่กรณีนี้ จีนต้องมีการควบคุมการไหลเข้าออกของเงินทุน
ซึ่งข้อเสียคือ การขาดความมั่นใจของนักลงทุนต่างชาติ
อย่างไรก็ตาม การที่จีนเป็นตลาดที่ใหญ่มาก และที่ผ่านมาจีนสามารถสร้างความมั่นใจให้กับนักลงทุนได้พอสมควร จึงยังคงสามารถดึงดูดเม็ดเงินลงทุนจากต่างประเทศได้
คู่ที่ 3 การอนุญาตให้มีเงินทุนเคลื่อนย้ายแบบเสรี และการกำหนดนโยบายการเงินอย่างอิสระ
แต่อัตราแลกเปลี่ยนต้องเป็นแบบลอยตัว
เป็นนโยบายที่เอื้อประโยชน์ต่อการค้า และการลงทุนในระบบทุนนิยม ซึ่งหลายประเทศนิยมใช้
หนึ่งในนั้นก็คือประเทศไทย ที่อนุญาตให้มีเงินทุนเคลื่อนย้ายแบบเสรี และการกำหนดนโยบายการเงินอย่างอิสระ
แต่ในกรณีนี้ อัตราแลกเปลี่ยนจะเป็นไปตามกลไกของตลาด ขึ้นอยู่กับอุปสงค์-อุปทาน ของสกุลเงินนั้น
อย่างไรก็ตาม หากมีการฝ่าฝืนกฎโดยเลือกใช้นโยบายทั้ง 3 อย่างในเวลาเดียวกัน จะเป็นการเปิดช่องโหว่ในระบบอัตราแลกเปลี่ยนค่าเงิน จนอาจจะทำให้เศรษฐกิจของประเทศพังลง
อย่างที่เคยเกิดวิกฤติเศรษฐกิจเมื่อปี 2540 ในประเทศไทย
หรือที่เราเรียกว่า ต้มยำกุ้ง นั่นเอง..
© 2024 Longtunman. All rights reserved. Privacy Policy.
Blockdit Icon