สรุปง่าย ๆ Global Minimum Tax คืออะไร ? ทำไมกระทบกับหุ้น DELTA และประเทศไทย

สรุปง่าย ๆ Global Minimum Tax คืออะไร ? ทำไมกระทบกับหุ้น DELTA และประเทศไทย

สรุปง่าย ๆ Global Minimum Tax คืออะไร ?
ทำไมกระทบกับหุ้น DELTA และประเทศไทย /โดย ลงทุนแมน
ปัญหาการหลบเลี่ยงภาษีของบริษัทข้ามชาติ คือหนึ่งในปัญหาสำคัญ ที่รัฐบาลทั่วโลกหนักใจ และทำให้หลายประเทศได้รับผลกระทบ
จากการที่ไม่สามารถเก็บภาษีจากบริษัทข้ามชาติ ที่มาหากินในประเทศของตนเองได้ โดยเฉพาะจากบริษัทเทคยักษ์ใหญ่
มิหนำซ้ำ ยังต้องลดภาษีนิติบุคคลของตัวเองลง หรือให้สิทธิประโยชน์ทางด้านภาษีต่าง ๆ มากมาย เพื่อดึงดูดนักลงทุน แข่งกับประเทศที่ทำตัวเป็น Tax Haven เช่น หมู่เกาะบริติชเวอร์จิน ที่แทบไม่เก็บภาษี..
อย่างไรก็ตาม ที่ผ่านมา OECD หรือ องค์การเพื่อความร่วมมือทางเศรษฐกิจและการพัฒนา ได้กำหนดแนวทางในการจัดเก็บภาษีรูปแบบใหม่ เพื่อแก้ไขปัญหาบริษัทข้ามชาติหลบเลี่ยงภาษี
แนวทางที่ว่านี้ มีรายละเอียดอะไรบ้าง
ลงทุนแมนจะเล่าให้ฟัง
แนวทางในการจัดเก็บภาษีของ OECD มีอยู่ 2 แนวทาง ได้แก่
1. กำหนดให้บริษัทที่มีรายได้ทั่วโลกมากกว่า 20,000 ล้านยูโรต่อปี และมีผลกำไรมากกว่า 10% ของรายได้ จะต้อง “ปันผลกำไร” ให้กับประเทศที่เป็นแหล่งที่มาของรายได้ด้วย
2. กำหนดอัตราภาษีเงินได้นิติบุคคลขั้นต่ำที่เท่ากันทั่วโลก (Global Minimum Tax หรือ GMT) ที่ 15% สำหรับบริษัทข้ามชาติที่เป็นบริษัทในกลุ่ม ซึ่งดำเนินธุรกิจในประเทศนั้น ๆ มีรายได้ตั้งแต่ 750 ล้านยูโรต่อปีขึ้นไป
โดยข้อตกลงนี้ มีสมาชิกกว่า 140 ประเทศเข้าร่วมและเห็นชอบ ซึ่งก็รวมถึงประเทศไทย ที่เลือกใช้แนวทางที่ 2
ทีนี้ เราลองมาดูกันว่า ข้อกำหนดนี้ส่งผลกระทบอย่างไรบ้าง

เริ่มจากแนวทางที่ 1 ที่กำหนดให้บริษัทข้ามชาติที่เข้าเงื่อนไข จะต้องปันผลกำไรให้กับประเทศที่เป็นแหล่งรายได้ด้วย
แน่นอนว่าข้อนี้จะทำให้ประเทศปลายทางได้ผลประโยชน์เป็นอย่างมาก เพราะที่ผ่านมา หลาย ๆ ประเทศเก็บภาษีจากบริษัทข้ามชาติที่เข้ามาขายสินค้าและบริการ ได้น้อยมาก หรือแทบจะไม่ได้เลย..
เพราะบริษัทข้ามชาติส่วนใหญ่ ต่างมีการวางแผน และใช้สารพัดวิธีในการลดภาระภาษีของตนเอง ให้ได้มากที่สุด เช่น การรับรู้รายได้ หรือโยกย้ายกำไรของบริษัท ให้ไปโผล่ในประเทศที่มีอัตราภาษีต่ำ
และถามว่า ถ้าสามารถเก็บภาษีจากบริษัทข้ามชาติเหล่านี้ ได้แบบเต็มเม็ดเต็มหน่วย
ภาษีที่ได้ จะมากขนาดไหน ? ก็สามารถมองดูได้ง่าย ๆ รอบตัวเรา
อย่างแอปพลิเคชันที่เราใช้บนสมาร์ตโฟนอยู่ทุกวัน แถมเสียเงินให้อีก เห็นได้ว่าเป็นของบริษัทข้ามชาติแทบจะทั้งนั้น
ซึ่งผู้ให้บริการแพลตฟอร์มดิจิทัลข้ามชาติหลาย ๆ ราย ก็ทำเงินจากคนไทยได้หลายพันล้านบาท ไปจนถึงหลักหมื่นล้านบาท แต่กลับเสียภาษีเพียงนิดเดียว ก็มีให้เห็น
ดังนั้น การได้ภาษีจากบริษัทข้ามชาติเหล่านี้มากขึ้น ถือเป็นเรื่องที่ดี เพราะเป็นสิ่งที่จะมาช่วยชดเชยรายได้ของรัฐ
และช่วยให้รัฐบาลมีเงินสำหรับการดำเนินนโยบายด้านการคลัง รวมถึงลงทุนในโครงสร้างพื้นฐาน และเรื่องต่าง ๆ เพื่อส่งเสริมคุณภาพชีวิตของประชาชน และการเจริญเติบโตของประเทศ
นอกจากนี้ แนวทางนี้ยังมีอีกหนึ่งข้อดีสำคัญ คือทำให้บริษัทขนาดเล็กในประเทศ สามารถอยู่รอด และแข่งขันกับบริษัทข้ามชาติยักษ์ใหญ่ได้มากขึ้น
เพราะที่ผ่านมา การไม่ต้องเสียภาษี ทำให้บริษัทข้ามชาติซึ่งมีเงินทุนหนา ได้เปรียบในการแข่งขันเป็นอย่างมาก

เพราะเมื่อมีภาระทางภาษีที่ลดลง ก็สามารถตั้งราคาสินค้าและบริการ ที่ต่ำกว่าได้
รวมถึงยังสามารถนำผลกำไรที่ได้เพิ่มขึ้น จากการประหยัดภาษี ไปต่อยอด พัฒนาสินค้า ฟีเชอร์ และเทคโนโลยีใหม่ ๆ หรือดึงดูดคนเก่ง ๆ เข้าองค์กรได้อีก
การที่บริษัทข้ามชาติต้องเสียภาษีตรงนี้ ก็จะช่วยสร้างความเป็นธรรมให้กับบริษัทขนาดเล็ก มากขึ้นนั่นเอง
อย่างไรก็ตาม แนวทางนี้ก็อาจส่งผลเสียต่อผู้บริโภคอย่างเรา ๆ ได้เหมือนกัน
เพราะเมื่อบริษัทข้ามชาติต้องเสียภาษีมากขึ้น ก็มีความเป็นไปได้ว่า อาจจะมีการขึ้นราคาสินค้า เพื่อรักษาระดับกำไรของตนเอง
โดยเฉพาะอย่างยิ่งกับสินค้าหรือบริการ ที่เป็นสิ่งจำเป็นสำหรับผู้บริโภค ที่ไม่ว่าจะขึ้นราคาเท่าไร เราก็ยังต้องซื้อหรือใช้งาน
และจากภาระทางภาษีที่บริษัทต้องแบกรับ ก็อาจจะกลายเป็นภาระค่าใช้จ่ายที่ผู้บริโภคอย่างเราต้องแบกรับแทน
ต่อมา สำหรับแนวทางที่ 2 ที่เป็นการกำหนดอัตราภาษีเงินได้นิติบุคคลขั้นต่ำ (GMT) ที่ 15% เท่ากันทั่วโลก
ซึ่งประเทศไทย ประกาศใช้แนวทางนี้อย่างจริงจัง โดยมีผลตั้งแต่ 1 ม.ค. 2568
แต่ก็ต้องบอกว่า แนวทางนี้เป็นทั้งข้อดีและความท้าทายสำหรับเรา
โดยข้อดีคือ แนวทางนี้จะช่วยลดการแข่งขันทางภาษีลง จากที่ผ่านมา หลายประเทศได้แข่งขันกันลดอัตราภาษีเงินได้นิติบุคคล เพื่อดึงดูดนักลงทุน และผู้ประกอบการ
แน่นอนว่า การต้องแข่งขันกันแบบนี้ ไม่ได้เป็นสิ่งที่ดีต่อทุกประเทศเท่าไรนัก
เพราะอย่างไทยเราเอง ก็ต้องลดภาษีนิติบุคคลลงเช่นกัน จาก 30% เป็น 20% ซึ่งก็เป็นเหมือนรายได้ของรัฐที่หายไป
อย่างไรก็ตาม ถึงแม้เกณฑ์ GMT จะทำให้การแข่งขันกันลดภาษีหายไป แต่เกณฑ์นี้ก็สร้างความท้าทายให้เราเช่นกัน
เพราะถ้าลองนึกภาพ ว่าทุกประเทศเก็บภาษีในอัตราที่เท่ากัน การที่บริษัทข้ามชาติจะเข้าไปลงทุนที่ไหนสักแห่ง ปัจจัยเรื่องภาษี ก็จะถูกตัดออกไปทันที
นั่นหมายความว่าเราจะใช้วิธีการตั้งภาษีนิติบุคคลต่ำ ๆ หรือการให้สิทธิประโยชน์ทางภาษี เพื่อดึงดูดนักลงทุนไม่ได้อีกแล้ว แต่จะต้องแข่งขันกันในด้านอื่น ๆ แทน
ซึ่งก็มีความเป็นไปได้ ทั้งไทยสามารถดึงดูดเม็ดเงินการลงทุน จากประเทศที่มีฐานภาษีต่ำกว่าเรามาได้
หรือไทยจะสูญเสียความน่าสนใจ ในสายตาของนักลงทุน เพราะมีประเทศอื่นที่มีศักยภาพมากกว่า
ถึงแม้ประเทศไทยเรา จะมีอัตราภาษีเงินได้นิติบุคคลที่ 20% ซึ่งมากกว่าตามที่ OECD กำหนดอยู่แล้ว
แต่เราก็มีการให้ BOI หรือการส่งเสริมการลงทุนกับบางบริษัท จนทำให้อัตราภาษีที่แท้จริง อยู่ต่ำกว่า 15%
ดังนั้นเมื่อกระทรวงการคลังไทย ประกาศใช้กฎหมาย GMT บริษัทหลายแห่งจึงจะต้องถูกเก็บภาษีเพิ่ม (Top-Up Tax) เพื่อให้ถึงขั้นต่ำที่ 15%
ยกตัวอย่างเพื่อให้ภาพ ก็อย่างเช่น บริษัท เดลต้า อีเลคโทรนิคส์ (ประเทศไทย) จำกัด (มหาชน) หรือ DELTA
ที่ในปี 2566 บริษัทมีกำไรทางบัญชีก่อนภาษีเงินได้นิติบุคคลอยู่ที่ 19,496 ล้านบาท
ถ้าคำนวนตามอัตราภาษีเงินได้ของประเทศไทยที่อยู่ที่ 20% แล้ว บริษัทจะต้องเสียภาษีเงินได้ทั้งสิ้น 3,899 ล้านบาท
อย่างไรก็ตาม บริษัทก็ได้รับสิทธิประโยชน์ทางภาษีจากรัฐบาล ทำให้ภาษีลดลงไปมากกว่า 3,123 ล้านบาท หรือคิดเป็นถึง 80% ของที่ต้องจ่ายจริง
โดยเมื่อคำนวณรวมกับผลกระทบทางภาษีอื่น ๆ แล้วจะพบว่าทั้งปี 2566 บริษัทเสียภาษีเงินได้อยู่ที่ 1,073 ล้านบาทเท่านั้น
ซึ่งตัวเลขนี้ก็คิดเป็นเพียง 5.5% ของกำไรก่อนภาษีเงินได้
จะเห็นว่า แม้เรากำหนดอัตราภาษีเงินได้นิติบุคคลไว้ที่ 20% แต่ด้วยการให้ BOI ก็ได้ทำให้อัตราภาษีที่แท้จริงของบางบริษัทต่ำกว่านั้นมาก
และก็เป็นบริษัทเหล่านี้เอง ที่จะได้รับผลกระทบจากการมาของ GMT เพราะต้องเสียภาษีเพิ่มขึ้น ส่งผลให้ได้กำไรสุทธิลดลง
โดยถ้าเราลองคำนวณเล่น ๆ ดูว่า กำไรของ DELTA จะหายไปเท่าไร จากผลประกอบการรอบ 12 เดือนล่าสุด ที่บริษัทมี
-กำไรก่อนภาษีเงินได้ 22,406 ล้านบาท
-ภาษีเงินได้ 911 ล้านบาท
-กำไรสุทธิ 21,495 ล้านบาท
หรือเท่ากับว่า บริษัทมีภาระทางภาษีอยู่ที่ราว 4%
ทีนี้ ถ้าบริษัทต้องเสียภาษีในอัตราที่สูงขึ้นเป็น 15% จะทำให้ภาษีที่บริษัทต้องจ่ายเพิ่มขึ้นเป็น 3,360 ล้านบาท หรือมากกว่าเดิมเกือบ 3 เท่า
และทำให้กำไรสุทธิของบริษัทเหลือเพียง 19,045 ล้านบาท หรือหายไปถึง 11% เลยทีเดียว
ซึ่งวันนี้ ราคาหุ้น DELTA ก็ร่วงลง -8% คิดเป็นมูลค่าบริษัทที่หายไปมากกว่า 150,000 ล้านบาท ส่วนหนึ่งเพราะนักวิเคราะห์ประเมินว่า กำไรสุทธิปี 2568 ของบริษัท จะลดลงพอสมควร จากผลกระทบของ GMT
และเมื่อกำไรลดลงอย่างนี้ ในภาพรวมก็อาจทำให้บริษัทข้ามชาติมองว่า การที่จะลงทุนในประเทศไทย มีความน่าสนใจน้อยลง ซึ่งก็กลายเป็นความท้าทายของเรา ที่ต้องหาทางดึงดูดนักลงทุนด้วยวิธีอื่น แทนการให้สิทธิประโยชน์ทางภาษี
และก็คงไม่ใช่แค่เราที่จะทำ แต่ประเทศอื่นก็อาจจะทำเช่นกัน ซึ่งก็จะทำให้การแข่งขันกันดึงดูดนักลงทุนต่างชาติของแต่ละประเทศ จะเปลี่ยนจากการใช้อาวุธทางภาษี เป็นอาวุธอื่นแทน เช่น
-การพัฒนาโครงสร้างพื้นฐาน และระบบสาธารณูปโภคให้ดี
-การสร้างซัปพลายเชนที่ครอบคลุม และแข็งแกร่งจนหาไม่ได้ในประเทศอื่น
-การสร้างข้อตกลงทางการค้า เพื่อให้บริษัทที่มาลงทุน ได้รับสิทธิประโยชน์ทางการค้า เมื่อนำเข้าหรือส่งออกสินค้าไปยังประเทศอื่น
ทั้งนี้ ประเทศเพื่อนบ้านของเราหลายประเทศ ต่างก็เข้าร่วมข้อตกลงของ OECD เหมือนกัน ไม่ว่าจะเป็น เวียดนาม อินโดนีเซีย มาเลเซีย หรือสิงคโปร์
ก็เป็นเรื่องที่น่าติดตามว่า เมื่อกฎกติกาของเกมกำลังเปลี่ยนไป ใครจะเป็นผู้ที่ปรับตัวเข้ากับกฎใหม่ได้ดี และเป็นผู้ชนะในเกมนี้..

เรื่องที่คุณอาจสนใจ

SPONSORED
© 2024 Longtunman. All rights reserved. Privacy Policy.
Blockdit Icon