EBITDA คืออะไร ?

EBITDA คืออะไร ?

[ประเด็นสำคัญ] EBITDA คือตัวเลขที่สะท้อนให้เห็นถึงผลการดำเนินงานที่แท้จริงของธุรกิจ ซึ่งไม่รวมค่าดอกเบี้ย ภาษี ค่าเสื่อมราคา ค่าตัดจำหน่าย
โดยค่าใช้จ่ายอื่น ๆ ของ EBITDA หรือ Earnings Before Interest, Tax, Depreciation และ Amortization ก็คือ
1. Interest หรือ ดอกเบี้ยจากการกู้ยืม
2. Tax หรือ ภาษี
3. Depreciation หรือ ค่าเสื่อมราคา ที่เป็นค่าใช้จ่ายที่เราจะทยอยหักเป็นงวด ๆ จากมูลค่าของสินทรัพย์ที่ใช้ประโยชน์ในระยะยาว เช่น เครื่องจักร อาคาร รถยนต์ และโรงงาน
ยกตัวอย่างเช่น เราซื้อรถเข็นมาเพื่อขายก๋วยเตี๋ยวในราคา 10,000 บาท มีอายุการใช้งาน 10 ปี
ค่าเสื่อมราคาของรถเข็นเท่ากับ 1,000 บาทต่อปี
ค่าเสื่อมราคาจะทยอยตัดไปเรื่อย ๆ จนครบ 10 ปี
4. Amortization หรือ ค่าตัดจำหน่าย
เป็นค่าใช้จ่ายเช่นเดียวกับค่าเสื่อมราคา เพียงแต่นำมาใช้กับสินทรัพย์ที่ไม่มีตัวตน
เช่น ลิขสิทธิ์ต่าง ๆ ซอฟต์แวร์ และสิทธิ์การเช่าซื้อ
โดยค่าเสื่อมราคาและค่าตัดจำหน่ายเป็นค่าใช้จ่ายในทางบัญชี
ไม่ใช่ค่าใช้จ่ายเงินสดที่บริษัทจ่ายออกไปจากการดำเนินธุรกิจในแต่ละวัน

สำหรับดอกเบี้ยจากการกู้ยืม และภาษี ก็ไม่ได้เกี่ยวข้องกับการวัดผลการดำเนินงานธุรกิจเช่นกัน

เช่น บริษัท A มีการกู้ยืมและมีค่าใช้จ่ายดอกเบี้ยเงินกู้ที่สูง ทำให้บริษัท A มีกำไรสุทธิที่ต่ำ ถึงแม้ว่าผลการดำเนินงานก่อนค่าใช้จ่ายดอกเบี้ยของบริษัท A จะสูงกว่าอีกบริษัทหนึ่งก็ตาม

ดังนั้นนักการเงินจะนิยมดู EBITDA เพื่อตรวจสอบผลการดำเนินงานที่แท้จริงของธุรกิจมากกว่ากำไรสุทธิ

EBITDA มักใช้ดูธุรกิจที่มีการลงทุนในสินทรัพย์สูง อย่างเช่น โรงกลั่น และโรงแรม

เหตุผลก็เพราะว่าในช่วงแรก ธุรกิจลักษณะนี้
ก็อาจจะมีการขาดทุนสุทธิได้ เนื่องจากมีค่าเสื่อมราคาสูง

หากเราดูแต่กำไรสุทธิในบรรทัดสุดท้าย ก็อาจจะทำให้เราเข้าใจผิดว่าบริษัทย่ำแย่
EBITDA จึงเป็นตัวเลข ที่สะท้อนให้เราเห็นประสิทธิภาพในการดำเนินธุรกิจมากกว่า

นอกจากนี้ เรายังสามารถดู EBITDA ให้เข้าใจมากขึ้นด้วย EBITDA Margin
หรือก็คือการนำ EBITDA ไปเทียบกับรายได้

ยกตัวอย่างเช่น

บริษัท A มี EBITDA 20 ล้านบาท และมีรายได้ 100 ล้านบาท
แปลว่า บริษัท A มี EBITDA Margin เท่ากับ 20%
โดย EBITDA Margin ยิ่งมีค่ามาก จะยิ่งดี

ซึ่ง EBITDA Margin สามารถนำไปเปรียบเทียบกับค่าในอดีตที่ผ่านมาของบริษัท
เพื่อดูพัฒนาการของบริษัทว่า ดีขึ้นมากน้อยแค่ไหน

รวมถึงสามารถนำไปเปรียบเทียบกับบริษัทอื่นที่มีลักษณะธุรกิจคล้าย ๆ กัน
ซึ่งการเปรียบเทียบแบบนี้ จะเป็นการตัดผลกระทบเรื่องนโยบายทางบัญชีของแต่ละบริษัทที่อาจจะมีวิธีการตัดค่าเสื่อมราคาที่แตกต่างกัน ออกไปได้อีกด้วย..
© 2024 Longtunman. All rights reserved. Privacy Policy.
Blockdit Icon