สรุป วอร์แรนท์ คืออะไร เข้าใจในโพสต์เดียว

สรุป วอร์แรนท์ คืออะไร เข้าใจในโพสต์เดียว

สรุป วอร์แรนท์ คืออะไร เข้าใจในโพสต์เดียว /โดย ลงทุนแมน
ถ้าใครเคยจองซื้อคอนโดฯ เจ้าของโครงการจะออกเอกสารที่แสดงถึงการจองสิทธิเพื่อซื้อคอนโดฯ ไว้เบื้องต้น โดยเรามีหน้าที่วางเงินเป็นหลักประกัน และชำระเงินตามเงื่อนไขภายในวันเวลาที่กำหนด
แต่ถ้าเราไม่ทำตามเงื่อนไขภายในระยะเวลาที่กำหนด คอนโดฯ ที่เราจองไว้ก็จะถูกนำไปขายให้คนอื่น ซึ่งแนวคิดนี้ก็มีส่วนคล้ายคลึงกับ การถือสิ่งที่เรียกว่า “วอร์แรนท์”
หลายคนรู้จักและคุ้นเคยกับการซื้อขายหุ้น แต่ก็มีหลายคน อาจจะยังไม่รู้จักวอร์แรนท์ ทั้งที่ก็เคยได้ยินคำนี้มาบ่อยครั้ง
แล้ว วอร์แรนท์ คืออะไร ?
และทำไมบางบริษัทชอบออกตราสารประเภทนี้ให้กับผู้ถือหุ้น
ลงทุนแมนจะเล่าให้ฟัง
╔═══════════╗
Blockdit เป็นแพลตฟอร์ม สำหรับนักอ่าน และนักเขียน
ที่มีผู้ใช้งาน 1 ล้านคน ลองใช้แพลตฟอร์มนี้เพื่อได้ไอเดียใหม่ๆ
แล้วอาจพบว่าสังคมนี้เหมาะกับคนเช่นคุณ
Blockdit. Ideas Happen. Blockdit.com/download
╚═══════════╝
วอร์แรนท์ คือ ตราสารที่ออกโดยบริษัทจดทะเบียน เพื่อให้สิทธิแก่ผู้ถือในการซื้อหลักทรัพย์ที่วอร์แรนท์นั้นอ้างอิงอยู่ (Underlying Asset) ซึ่งมีตั้งแต่หุ้นสามัญ หุ้นบุริมสิทธิ หุ้นกู้ หรือหน่วยลงทุน โดยจะกำหนดราคาใช้สิทธิ (Exercise Price) เอาไว้
ที่เราคุ้นเคยกัน หลักทรัพย์ที่มีวอร์แรนท์อ้างอิงมักเป็น หุ้นสามัญของบริษัทต่าง ๆ
โดยทั่วไป บริษัทจดทะเบียนมักจะแจกวอร์แรนท์ฟรีให้ผู้ถือหุ้นเดิม
ทั้งนี้ก็เพื่อดึงดูดใจให้มาใช้สิทธิซื้อหุ้นเพิ่มในอนาคต

โดยเงื่อนไข รายละเอียด หรือจุดสำคัญ ที่ผู้ถือวอร์แรนท์ต้องทำความเข้าใจให้ดี ๆ จะประกอบไปด้วย ราคาใช้สิทธิ, รายละเอียดการใช้สิทธิ, ระยะเวลาที่ใช้สิทธิได้ และอายุคงเหลือของวอร์แรนท์
ยกตัวอย่างให้เห็นภาพก็เช่น
สมมติว่า เราเป็นเจ้าของธุรกิจร้านกาแฟและจดทะเบียนอยู่ในตลาดหุ้น ต่อมาคิดว่าอีก 3 ปีข้างหน้า เราต้องการใช้เงินทุนเพื่อขยายสาขาไปต่างประเทศ
ดังนั้น เราจึงต้องการออกวอร์แรนท์ให้แก่ผู้ถือหุ้นเดิม
โดยกำหนดให้ อัตราส่วนหุ้นต่อวอร์แรนท์ที่จะได้รับ คือ 4:1, อัตราส่วนการแปลงสภาพ คือ 1:1, ราคาใช้สิทธิ 20 บาท ใช้สิทธิได้ปีละครั้ง และเริ่มใช้สิทธิได้ตั้งแต่ 30 ธ.ค. 2564 ไปจนถึง 30 ธ.ค. 2568

ซึ่งในกรณีนี้สรุปได้ว่า
- ผู้ที่ถือหุ้นในธุรกิจร้านกาแฟของเรา ถ้าถือหุ้นอยู่ 4 หุ้นจะได้ 1 วอร์แรนท์
- ผู้ถือหุ้นสามารถใช้ 1 วอร์แรนท์ แปลงสภาพเป็นหุ้นสามัญได้ 1 หุ้น โดยจ่ายเงินให้บริษัทเรา 20 บาท
- วอร์แรนท์มีอายุ 4 ปี โดยใช้สิทธิแปลงสภาพได้ปีละครั้ง โดยผู้ถือหุ้นจะเริ่มใช้สิทธิได้ครั้งแรก ในวันที่ 30 ธ.ค. 2564 และครั้งสุดท้ายในวันที่ 30 ธ.ค. 2568
ทั้งนี้ เมื่อผู้ถือวอร์แรนท์มาใช้สิทธิในการแปลงสภาพเป็นหุ้นสามัญ บริษัทจดทะเบียนที่ออกวอร์แรนท์ ก็จะได้เงินทุนเพิ่ม เพื่อมาใช้ในกิจการ ส่วนคนที่มาใช้สิทธิแปลงวอร์แรนท์เป็นหุ้นสามัญก็จะได้หุ้นเพิ่ม
อย่างไรก็ตาม มันยังมีอีกกรณีหนึ่ง
คือคนที่ถือวอร์แรนท์อยู่ อาจไม่เก็บวอร์แรนท์ไว้ใช้สิทธิแปลงสภาพเป็นหุ้นสามัญด้วยตัวเองก็ได้
เนื่องจากวอร์แรนท์นั้นสามารถนำไปขายเปลี่ยนมือในตลาดหุ้นได้ และราคาของวอร์แรนท์ในตลาด ในแต่ละช่วง ก็จะเปลี่ยนแปลงไปตามหลาย ๆ ปัจจัย เช่น
1. ราคาสินค้าสินทรัพย์อ้างอิง
วอร์แรนท์จะมีมูลค่าเพิ่มขึ้นตามราคาสินทรัพย์อ้างอิงที่สูงขึ้น และลดลงหากราคาหลักทรัพย์อ้างอิงนั้นลดลง
2. ราคาใช้สิทธิ เทียบกับราคา สินทรัพย์อ้างอิง
หากราคาใช้สิทธิ สูงกว่าราคาสินทรัพย์อ้างอิงมาก ๆ ก็จะทำให้ราคาของวอร์แรนท์นั้นต่ำ
เนื่องจากนักลงทุนมองว่า โอกาสที่ราคาของสินทรัพย์อ้างอิงจะปรับตัวสูงกว่าราคาใช้สิทธินั้นมีน้อย ซึ่งหากเอาวอร์แรนท์นั้นไปใช้สิทธิแปลงเป็นหุ้นสามัญแล้วเอามาขาย ก็ย่อมขาดทุน
3. อายุคงเหลือของสัญญา
มูลค่าของวอร์แรนท์จะค่อย ๆ ลดลง ตามอายุคงเหลือของวอร์แรนท์ที่ลดลง และถ้าวอร์แรนท์ไม่ได้ถูกใช้สิทธิภายในเวลาที่กำหนด วอร์แรนท์นั้น “จะมีค่าเป็นศูนย์”
4. ความผันผวนของราคาสินทรัพย์อ้างอิง
ความผันผวนของระดับราคาสินทรัพย์อ้างอิง ยิ่งมีมากขึ้น จะส่งผลให้ราคาของวอร์แรนท์มีการเคลื่อนไหวผันผวนสูงตามไปด้วย
สำหรับคนที่มีวอร์แรนท์อยู่ในมือ
กรณีที่ราคาใช้สิทธิรวมกับราคาวอร์แรนท์แล้ว (กรณีที่ซื้อวอร์แรนท์มา) ต่ำกว่าราคาหุ้นที่อ้างอิงในตลาด ก็จะสามารถใช้สิทธิซื้อหุ้น และเอาหุ้นนั้นไปขายในตลาดทำกำไร ซึ่งวอร์แรนท์นั้นจะถือว่ามีมูลค่า หรือเรียกว่า “In-the money”
ในทางกลับกัน ถ้าราคาใช้สิทธิรวมกับราคาวอร์แรนท์ (กรณีที่ซื้อวอร์แรนท์มา) สูงกว่าราคาหุ้นอ้างอิงในตลาด ผู้ถือก็มักไม่ใช้สิทธิ เพราะไปซื้อหุ้นนั้นในตลาดได้ในราคาที่ถูกกว่า
วอร์แรนท์นั้น ก็จะถือว่าไม่มีมูลค่า หรือเรียกว่า “Out-of-the money”
โดยสิ่งที่ทำให้วอร์แรนท์ดึงดูดผู้ลงทุนคือ ความเป็น Leverage หรือที่หมายถึง การลงทุนที่ใช้เงินน้อยแต่มีโอกาสได้กำไรมาก โดยจำกัดความสูญเสียไว้ ซึ่งอย่างมากที่สุดก็คือ ต้นทุนที่ได้วอร์แรนท์มา
ซึ่งบางคนได้มาฟรี ๆ ก็อาจมองว่าไม่เสียหายอะไร
ส่วนผู้ที่ซื้อมาจากในตลาดอีกที แล้วใช้สิทธิไม่ทันหรือเลือกไม่ใช้สิทธิ ก็จะขาดทุนเท่าราคาที่ซื้อมา
ถึงตรงนี้ คำถามที่บางคนอาจสงสัยก็คือ แล้วถ้าบริษัทต้องการเงินทุนเพิ่ม ทำไมไม่เลือกที่จะขอเพิ่มทุนตรง ๆ จากผู้ถือหุ้น แต่กลับเลือกที่จะออกวอร์แรนท์
ที่เป็นแบบนี้ก็เพราะว่า การเพิ่มทุนจะเกิดผลกระทบจาก Dilution Effect ในทันที ซึ่งเป็นผลมาจากการที่จำนวนหุ้นของบริษัทเพิ่มขึ้น ทำให้ราคาต่อหุ้นปรับตัวลดลง
นอกจากนี้ ในช่วงเวลาที่สภาพตลาดหุ้นไม่ดี การเพิ่มทุนมักจะทำได้ยาก หรือถ้าบริษัทต้องการเพิ่มทุน บริษัทก็ต้องลดราคาขายหุ้นเพิ่มทุนลงมา
ซึ่งไม่เพียงแต่กระทบกับผู้ถือหุ้นเดิมของบริษัท แต่ยังทำให้บริษัทมีโอกาสได้เงินเพิ่มทุนน้อยกว่า ช่วงที่สภาพตลาดหุ้นคึกคัก ที่มีโอกาสขายหุ้นเพิ่มทุนได้ในราคาสูงกว่า
การออกวอร์แรนท์นั้น สามารถชะลอผลกระทบของ Dilution Effect เนื่องจากจำนวนหุ้นเพิ่มทุนจะยังไม่เพิ่มขึ้นทันที จนกว่าผู้ถือวอร์แรนท์จะมาใช้สิทธิแปลงสภาพเป็นหุ้นสามัญ และจะเกิดขึ้นภายในช่วงเวลาที่กำหนดไว้
นอกจากนี้ การออกวอร์แรนท์ ยังช่วยลดสัดส่วนหนี้สินต่อทุนของบริษัท หรือ Debt to Equity Ratio (D/E Ratio) เพราะเมื่อวอร์แรนท์ถูกใช้สิทธิแปลงสภาพ จะถูกบันทึกเข้ามาอยู่ในส่วนทุน ต่างจากกรณีที่บริษัทไปกู้ยืมเงินมา ซึ่งจะถูกบันทึกเป็นหนี้สิน
อ่านมาถึงตรงนี้ เราก็จะสรุปได้ว่า
วอร์แรนท์ เป็นตราสารที่ผู้ถืออาจได้มาฟรีหรือไม่ฟรีก็ได้
ในกรณีที่เป็นผู้ถือหุ้นเดิม อาจได้รับวอร์แรนท์มาฟรี ๆ หรือพ่วงมากับการขอเพิ่มทุนในรอบก่อน ๆ ส่วนคนที่ไม่ได้เป็นผู้ถือหุ้นเดิมของบริษัทที่แจกวอร์แรนท์ ถ้าอยากได้ ก็ต้องไปซื้อเอาจากคนที่เอามาขายต่อในตลาด
ส่วนคนที่มีวอร์แรนท์อยู่ในมือ ก็สามารถเลือกที่จะใช้สิทธิ หรือไม่ใช้สิทธิก็ได้ ตามเงื่อนไขที่กำหนดมา
สำหรับการออกวอร์แรนท์
ในแง่ของบริษัทที่ออกวอร์แรนท์ ต้องคาดการณ์มูลค่าเงินทุนที่บริษัทต้องการใช้ในอนาคต ให้สอดคล้องกับอายุของวอร์แรนท์ รวมไปถึงราคาใช้สิทธิ เพื่อลดผลกระทบด้าน Dilution Effect ให้กับผู้ถือหุ้นของบริษัท รวมทั้งนำเงินทุนที่ได้จากการแปลงสภาพไปสร้างผลตอบแทนให้เหมาะสม
ส่วนในแง่ของผู้ถือวอร์แรนท์ ก็ต้องศึกษารายละเอียดการใช้สิทธิแปลงสภาพ และเงื่อนไขต่าง ๆ ของวอร์แรนท์อย่างละเอียด โดยเฉพาะเรื่องของ อายุคงเหลือของวอร์แรนท์ และเข้าใจความเสี่ยงของการถือหรือลงทุนในวอร์แรนท์ให้ดี
เพราะเราอาจยังสามารถถือหุ้นอยู่ได้ เมื่อบริษัทเกิดปัญหาและราคาหุ้นปรับตัวลดลง ถ้าเชื่อว่าในอนาคตธุรกิจของบริษัทจะฟื้นตัวกลับมาจนทำให้ราคาหุ้นเพิ่มขึ้น
แต่เราไม่สามารถถือวอร์แรนท์ไปได้ตลอด เพราะวอร์แรนท์มีอายุที่จำกัด
ซึ่งถ้าเราซื้อวอร์แรนท์นั้นมาในราคาสูง มันก็ทำให้เราขาดทุนหนักได้เช่นกัน..
╔═══════════╗
Blockdit เป็นแพลตฟอร์ม สำหรับนักอ่าน และนักเขียน
ที่มีผู้ใช้งาน 1 ล้านคน ลองใช้แพลตฟอร์มนี้เพื่อได้ไอเดียใหม่ๆ
แล้วอาจพบว่าสังคมนี้เหมาะกับคนเช่นคุณ
Blockdit. Ideas Happen. Blockdit.com/download
╚═══════════╝
ติดตามลงทุนแมนได้ที่
Website - longtunman.com
Blockdit - blockdit.com/longtunman
Facebook - facebook.com/longtunman
Twitter - twitter.com/longtunman
Instagram - instagram.com/longtunman
Line - page.line.me/longtunman
YouTube - youtube.com/longtunman
Spotify - open.spotify.com/show/4jz0qVn1AL7tRMHiTvMbZH
Apple Podcasts - podcasts.apple.com/th/podcast/ลงท-นแมน/id1543162829
Soundcloud - soundcloud.com/longtunman
References:
-https://www.sec.or.th/TH/Pages/Investors/EquityProduct-Warrants01.aspx
-https://en.wikipedia.org/wiki/Warrant_(finance)
-https://www.drwealth.com/5-factors-affecting-the-price-of-warrants/
-https://sias.org.sg/beginners-guide/key-factors-that-determine-a-warrant-price/
-https://www.set.or.th/th/regulations/simplified_regulations/warrant_issue_p1.html
© 2024 Longtunman. All rights reserved. Privacy Policy.
Blockdit Icon