กรณีศึกษา ฟองสบู่หุ้นรถไฟ ที่เคยเกิดขึ้นหลัง ปฏิวัติอุตสาหกรรม

กรณีศึกษา ฟองสบู่หุ้นรถไฟ ที่เคยเกิดขึ้นหลัง ปฏิวัติอุตสาหกรรม

กรณีศึกษา ฟองสบู่หุ้นรถไฟ ที่เคยเกิดขึ้นหลัง ปฏิวัติอุตสาหกรรม /โดย ลงทุนแมน
เมื่อช่วงปลายศตวรรษที่ 18 ในประเทศอังกฤษ ได้มีการคิดค้นสิ่งที่เรียกว่าเครื่องจักร เพื่อเอามาใช้ในกระบวนการผลิตแทนแรงงานมนุษย์ ซึ่งนำไปสู่ความเปลี่ยนแปลงครั้งสำคัญ ที่เรียกว่า “การปฏิวัติอุตสาหกรรม”
หลังจากนั้น เครื่องจักร ก็ถูกใช้แพร่หลายในหลายอุตสาหกรรม รวมไปถึงระบบขนส่ง ที่มีการพัฒนาหัวรถจักรไอน้ำ ก่อนจะพัฒนากลายมาเป็น “รถไฟ” ในเวลาต่อมา
การเดินทางรูปแบบใหม่นี้ สร้างความตื่นเต้นให้กับคนอังกฤษในยุคนั้นมาก ถึงขนาดที่ทำให้เกิดการเก็งกำไร “หุ้นบริษัทรถไฟ” อย่างร้อนแรง จนฟองสบู่แตกในที่สุด
เรื่องราวเหตุการณ์ในตอนนั้นเป็นอย่างไร ?
ลงทุนแมนจะย้อนอดีตให้ฟัง
╔═══════════╗
Blockdit เป็นแพลตฟอร์ม สำหรับนักอ่าน และนักเขียน
ที่มีผู้ใช้งาน 1 ล้านคน ลองใช้แพลตฟอร์มนี้เพื่อได้ไอเดียใหม่ๆ
แล้วอาจพบว่าสังคมนี้เหมาะกับคนเช่นคุณ
Blockdit. Ideas Happen. Blockdit.com/download
╚═══════════╝
เส้นทางรถไฟสาธารณะเชิงพาณิชย์สายแรกของโลก เริ่มให้บริการเมื่อปี 1830 หรือ 191 ปีที่แล้ว โดยเชื่อมระหว่างเมือง แมนเชสเตอร์และลิเวอร์พูล ในประเทศอังกฤษ ซึ่งมีระยะทางยาว 56 กิโลเมตร
นับตั้งแต่นั้นมา คนอังกฤษก็สามารถเดินทางและขนส่งสินค้าได้อย่างรวดเร็ว ทำให้การใช้บริการรถไฟ ได้รับความนิยมเพิ่มสูงขึ้นเรื่อย ๆ
ด้วยเหตุนี้ อุตสาหกรรมรถไฟ จึงอยู่ในช่วงเวลาที่เฟื่องฟูมาก
โดยในปี 1845 มีบริษัทประกอบธุรกิจเกี่ยวกับรถไฟ จดทะเบียนอยู่ในตลาดหลักทรัพย์ลอนดอน ถึง 259 บริษัท
สาเหตุเนื่องจาก รัฐบาลอังกฤษมีนโยบายเปิดเสรี ให้บริษัทต่าง ๆ ไม่ว่าจะมีประสบการณ์ หรือเพิ่งก่อตั้งใหม่ สามารถยื่นเสนอแผนก่อสร้างเส้นทางเดินรถไฟต่อรัฐสภาได้ รวมทั้งยังไม่ค่อยมีการตรวจสอบฐานะทางการเงินที่เข้มงวดมากด้วย
ซึ่งต่อมา รัฐสภาอังกฤษ มีการเห็นชอบแผนก่อสร้างเส้นทางรถไฟ รวมระยะทาง 15,300 กิโลเมตร
ทำให้เม็ดเงินลงทุนไหลมายังอุตสาหกรรมรถไฟในอังกฤษ คิดเป็นสัดส่วนสูงถึง 7% ของมูลค่า GDP ประเทศอังกฤษ ในขณะนั้นเลยทีเดียว
ถึงตรงนี้ เราคงจะพอรู้กันแล้วว่า มีผู้ประกอบการสนใจทำธุรกิจรถไฟเต็มไปหมด
ทีนี้มาลองดูในฝั่งของนักลงทุนกันบ้าง
หลังการปฏิวัติอุตสาหกรรม คนอังกฤษมีฐานะร่ำรวยขึ้นและมีเงินเก็บออม
ประกอบกับในช่วงต้นทศวรรษ 1840s ธนาคารกลางอังกฤษ ได้ลดอัตราดอกเบี้ยเพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจอย่างเต็มที่ ส่งผลให้เงินทุน เริ่มไหลเข้าสู่สินทรัพย์เสี่ยงอย่าง หุ้น
และกลุ่มธุรกิจที่ตกเป็นเป้าหมายหลักของนักลงทุน ก็หนีไม่พ้น “หุ้นรถไฟ” ที่กำลังเติบโตดี และผลตอบแทนสูง
ต้องบอกว่า ในช่วงดังกล่าว สื่อหนังสือพิมพ์ มีอิทธิพลต่อการรับรู้ข่าวสารเป็นอย่างมาก และสำนักข่าวต่าง ๆ มีการเขียนถึงธุรกิจรถไฟแทบทุกวัน ซึ่งยิ่งทำให้นักลงทุนมีความคาดหวังสูงต่อผลประกอบการในอนาคต

นอกจากนั้น กฎเกณฑ์ของตลาดหลักทรัพย์ ยังเปิดโอกาสให้นักลงทุนซื้อหุ้นรถไฟได้ โดยจ่ายเงินเพียง 10% ของมูลค่าทั้งหมดก่อน แล้วค่อยชำระส่วนที่เหลือเมื่อบริษัทเริ่มก่อสร้างโครงการ
เท่ากับว่า นักลงทุนบางรายอาจใช้เงินลงทุนเกินตัวได้ คล้ายกับการซื้อขายหุ้นแบบใช้มาร์จินในปัจจุบัน
เมื่อปัจจัยที่เกี่ยวข้องเป็นเช่นนี้ ฟองสบู่ของการเก็งกำไร จึงก่อตัวขึ้น..
ในปี 1843 ถือเป็นจุดเริ่มต้น ดัชนีราคาหุ้นกลุ่มรถไฟในตลาดหลักทรัพย์ลอนดอน ปรับตัวขึ้นอย่างร้อนแรง
หลายคนที่เริ่มมีเงินเก็บเงินออมเมื่อได้อ่านข่าวจากหนังสือพิมพ์ว่าราคาหุ้นกลุ่มรถไฟเพิ่มขึ้นทุกวัน ๆ ก็เริ่มทยอยเอาเงินเก็บมาลงทุนในหุ้นรถไฟ
บางคนทุ่มเงินเก็บทั้งหมดซื้อหุ้นรถไฟ บางคนถึงกับไปกู้เงินมาซื้อหุ้น เพราะต่างก็หวังว่าราคาหุ้นจะเพิ่มสูงขึ้นไปอีกเรื่อย ๆ แล้วตัวเองก็จะได้กำไรก้อนโต
ดัชนีราคาหุ้นกลุ่มรถไฟในตลาดหลักทรัพย์ลอนดอน ทำจุดสูงสุดในเดือนสิงหาคม ปี 1845 โดยเป็นการปรับตัวเพิ่มขึ้นประมาณ 100% ภายใน 2 ปีครึ่ง
แต่เมื่อเวลาผ่านไป นักลงทุนกลับพบความจริงว่า ผลการดำเนินงานของบริษัทเหล่านั้น ไม่เป็นไปตามคาดหวังสักเท่าไรนัก..

เพราะโครงการเส้นทางรถไฟ จำเป็นต้องใช้เงินลงทุนสูง และใช้เวลาก่อสร้างนาน ทำให้กำไรของบริษัทโตไม่ทันตามนักลงทุนคาด และบริษัทก็จ่ายเงินปันผลได้น้อยลง
นักลงทุนหลายคนที่เริ่มหมดหวังและเห็นท่าไม่ดี ก็เริ่มเทขายหุ้นรถไฟออกมา
และสุดท้าย หุ้นรถไฟ จึงเริ่มถูกเทขายอย่างต่อเนื่อง
ในปี 1850 ดัชนีราคาหุ้นกลุ่มรถไฟ ปรับตัวลดลงต่ำสุดกว่า 67% เทียบกับจุดสูงสุดเมื่อ 5 ปีก่อนหน้า และต่ำกว่าตอนก่อนเกิดการเก็งกำไรถึง 33%
วิกฤติฟองสบู่ในครั้งนั้น ได้ส่งผลให้นักลงทุนขาดทุนหนัก บางคนที่ไปกู้มาหรือใช้มาร์จินซื้อหุ้นก็เสียหายหนัก จนบางรายสูญเสียเงินเก็บไปหมด ต้องไปกู้หนี้ยืมสินเพิ่ม หรือกระทั่งล้มละลาย
และเมื่อนักลงทุนไม่สามารถชำระเงินระดมทุนได้ตามสัญญา ก็ทำให้บริษัทรถไฟหลายแห่ง ต้องปิดตัวลงไป หรือยอมขายกิจการให้กับผู้เล่นรายใหญ่ ในราคาที่ถูกมาก
ไม่เว้นแม้แต่ บริษัทของคุณ George Hudson ซึ่งมีฉายาว่า “ราชาแห่งรถไฟ (The Railway King)” เนื่องจากเขาเป็นผู้บริหารเส้นทางรถไฟที่มีความยาวกว่า 1,600 กิโลเมตร
ในภายหลัง เขากลับถูกเปิดโปงว่า บริษัทมีการตกแต่งบัญชี และจ่ายปันผลจากเงินของนักลงทุนรายใหม่ ในลักษณะเดียวกับแชร์ลูกโซ่
โดยในปี 1850 มีบริษัทรถไฟ หลงเหลืออยู่ในตลาดหลักทรัพย์ลอนดอน เพียง 87 บริษัท จากก่อนหน้านี้ที่มีอยู่มากกว่า 250 บริษัท
นอกจากนั้น เส้นทางรถไฟจากเดิมที่ตามแผนต้องสร้างให้เสร็จรวม 15,300 กิโลเมตร ก็ถูกสร้างเสร็จราว 10,000 กิโลเมตร หรือแค่ 2 ใน 3 ของระยะทางที่รัฐสภาเคยอนุมัติและตั้งเป้า
อย่างไรก็ตาม หลายปีหลังจากนั้น อุตสาหกรรมรถไฟ ก็ค่อย ๆ ฟื้นตัว และไม่เกิดเหตุการณ์เก็งกำไรอย่างร้อนแรงซ้ำอีก เพราะภาครัฐมีบทเรียนในอดีต และเข้ามากำกับดูแลให้เข้มงวดมากขึ้น
สรุปข้อคิดที่ได้จากวิกฤติฟองสบู่ทุกครั้งคือ
เมื่อมนุษย์ได้รู้จักกับของสิ่งใหม่ ย่อมเกิดความสนใจเป็นพิเศษ
แต่ถ้าความตื่นตาตื่นใจที่มากเกินไป จนกลายเป็นความคลั่ง รวมตัวเข้ากับ “ความโลภ”
มันก็จะทำให้เกิดเหตุการณ์เก็งกำไรในลักษณะนี้ อยู่เรื่อย ๆ จนถึงทุกวันนี้ นั่นเอง..
╔═══════════╗
Blockdit เป็นแพลตฟอร์ม สำหรับนักอ่าน และนักเขียน
ที่มีผู้ใช้งาน 1 ล้านคน ลองใช้แพลตฟอร์มนี้เพื่อได้ไอเดียใหม่ๆ
แล้วอาจพบว่าสังคมนี้เหมาะกับคนเช่นคุณ
Blockdit. Ideas Happen. Blockdit.com/download
╚═══════════╝
ติดตามลงทุนแมนได้ที่
Website - longtunman.com
Blockdit - blockdit.com/longtunman
Facebook - facebook.com/longtunman
Twitter - twitter.com/longtunman
Instagram - instagram.com/longtunman
Line - page.line.me/longtunman
YouTube - youtube.com/longtunman
Spotify - open.spotify.com/show/4jz0qVn1AL7tRMHiTvMbZH
Apple Podcasts - podcasts.apple.com/th/podcast/ลงท-นแมน/id1543162829
Soundcloud - soundcloud.com/longtunman
References:
-https://en.wikipedia.org/wiki/Railway_Mania
-https://www.focus-economics.com/blog/railway-mania-the-largest-speculative-bubble-you-never-heard-of
-https://mpra.ub.uni-muenchen.de/21820/1/MPRA_paper_21820.pdf

เรื่องที่คุณอาจสนใจ

SPONSORED
© 2024 Longtunman. All rights reserved. Privacy Policy.
Blockdit Icon