กรณีศึกษา ทำไมธุรกิจฟู้ดเดลิเวอรี่ ไม่ได้กำไรอย่างที่เราคิด

กรณีศึกษา ทำไมธุรกิจฟู้ดเดลิเวอรี่ ไม่ได้กำไรอย่างที่เราคิด

กรณีศึกษา ทำไมธุรกิจฟู้ดเดลิเวอรี่ ไม่ได้กำไรอย่างที่เราคิด /โดย ลงทุนแมน
หลายคนอาจคิดว่าธุรกิจ Food Delivery คือ “เสือนอนกิน”
แค่สร้างแพลตฟอร์มขึ้นมาเป็น คนกลาง ให้ลูกค้ากับคนขับส่งอาหารได้เจอกัน
จากนั้นก็เก็บส่วนแบ่งจากร้านอาหารและค่าบริการจากลูกค้า
ฟังดูเป็นธุรกิจที่หอมหวาน ยิ่งในช่วงวิกฤติ หลายคนไม่ออกจากบ้าน หันมาสั่งเดลิเวอรี่มากขึ้น
กำไรในธุรกิจก็น่าจะเติบโตแบบติดเทอร์โบ
แต่หลายคนอาจจะไม่ทราบข้อเท็จจริงที่ว่า
เวลานี้ธุรกิจ Food Delivery ทุกเจ้าในตลาดประเทศไทย ยังไม่มีกำไร..
ตัวอย่างที่เห็นภาพชัดที่สุดคือ เจ้าตลาดในไทยอย่าง Grab ที่ในแต่ละเดือนแม้จะมีออเดอร์มหาศาล
แต่ก็ยังขาดทุนติดต่อกันอย่างต่อเนื่อง
ผลการดำเนินงานย้อนหลังของ Grab
ปี 2559 รายได้ 104 ล้านบาท ขาดทุน 516 ล้านบาท
ปี 2560 รายได้ 508 ล้านบาท ขาดทุน 985 ล้านบาท
ปี 2561 รายได้ 1,159 ล้านบาท ขาดทุน 711 ล้านบาท
แล้วทำไม Grab ที่มีรายได้เพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องในทุกปี แต่ในความเป็นจริงแล้ว ยังคงแบกรับกับภาวะขาดทุนอยู่
Grab กำลังเจอกับอะไรบ้าง?
ลงทุนแมนจะเล่าให้ฟัง
╔═══════════╗
Blockdit แหล่งรวมบทความวิเคราะห์ เจาะลึกแบบ deep content ล่าสุดมีฟีเจอร์พอดแคสต์แล้ว
Blockdit.com/download
╚═══════════╝
ก่อนอื่นเราต้องเข้าใจก่อนว่า Grab มีโมเดลธุรกิจแบบ สตาร์ตอัป คือต้องทำให้ตลาดเกิดโดยยอมขาดทุนในช่วงแรก
เมื่อเป็นเช่นนี้ Grab จึงจำเป็นต้องใช้เงินมหาศาล
เพื่อดึงดูดลูกค้า ผ่านโปรโมชันแรงๆ
เป้าหมายก็คือ การเปลี่ยนแปลงพฤติกรรมของผู้บริโภคและสร้างความได้เปรียบในการแข่งขัน
นั่นจึงเป็นเหตุผลที่ทุกๆ ครั้งในการส่งอาหาร Grab จะต้องควักเงินในกระเป๋าตัวเองมาใช้แบกรับต้นทุนที่แท้จริง เพื่อสร้างฐานผู้บริโภค
ผลที่ตามมาก็คือ Grab ยังคงขาดทุนในทุกๆ ออเดอร์การส่งอาหาร
ยกตัวอย่าง
หากวันนี้เราสั่งชานมไข่มุก 1 แก้วราคาที่ขึ้นบนหน้าจอ 80 บาท
Grab จะได้ค่าคอมมิชชันจากร้านค้าหากคิดในอัตราสูงสุด 30% อยู่ที่ 24 บาท
ซึ่งหากส่งในระยะทาง 5 กิโลเมตร ก็จะได้ค่าส่ง 20 บาทจากผู้ใช้บริการ
สรุป Grab จะมีรายได้จากชานมไข่มุกแก้วนี้ 44 บาท
ซึ่งหลายคนคิดว่า Grab ได้กำไรทันที 44 บาท จากชานมไข่มุก 80 บาท ก็น่าจะทำให้ Grab มีความสุขในธุรกิจนี้
แต่ประเด็นมันอยู่ที่
ทุกคนลืมคิดต้นทุนที่เกิดขึ้นกับ “ผู้ที่เกี่ยวข้องทั้งหมด”
เพราะรู้หรือไม่ว่า Grab ต้องจ่ายให้คนขับที่คอยจัดส่งอาหาร หรือที่ Grab เรียกว่า "พาร์ทเนอร์" เฉลี่ยที่ 55 บาทต่อเที่ยว
ยังไม่รวมถึงค่าโปรโมชันส่วนลดที่ให้ลูกค้าเฉลี่ย 10 บาทต่อหนึ่งออเดอร์
ค่าใช้จ่ายอื่นๆ เช่น ค่าโฆษณาเพื่อสร้างการรับรู้และดึงดูดให้คนมาใช้บริการ, ค่าบริการช่องทางจ่ายเงินออนไลน์
ถ้าให้ค่าใช้จ่ายอื่นๆ ที่กล่าวมา คิดเป็นประมาณ 6 บาทต่อหนึ่งออเดอร์
สรุปแล้วต้นทุนค่าใช้จ่ายต่อ 1 เที่ยวส่งอาหารของ Grab จะอยู่ที่ 71 บาท..
เมื่อนำมาคำนวณกับรายได้ของ Grab จากการสั่งชานมไข่มุกที่ 44 บาท
นั่นแปลว่า Grab จะขาดทุนประมาณ 27 บาท ต่อการสั่งชานมไข่มุกหนึ่งครั้ง..
จริงๆ แล้ว Grab ก็ยังมีต้นทุนอย่างอื่นอีก เช่น
สิทธิประโยชน์คนขับ อย่างประกันชีวิต ประกันสุขภาพ
ค่าเทคโนโลยีและแพลตฟอร์ม
พนักงาน Call Center
พนักงานฝ่ายบริหารจัดการ
สิ่งต่างๆ เหล่านี้ก็คือต้นทุนที่ Grab ต้องแบกรับ นอกเหนือจากต้นทุนบริการส่งอาหาร
ถือเป็นการตอกย้ำเข้าไปอีกว่า ต้นทุนในธุรกิจ Food Delivery ไม่ใช่น้อยๆ อย่างที่หลายคนเคยคิด
ความน่าสนใจมาอยู่ที่ว่า ทั้งๆ ที่ตัวเองขาดทุนในธุรกิจทุกๆ ปี
แต่...ทำไมเราถึงเห็น Grab ยังขยันออกโปรโมชันทุกเดือน
คำตอบก็คือ “การแข่งขัน”
เป็นข้อได้เปรียบของผู้บริโภคในโลกที่มีการแข่งขันเสรี
แม้ธุรกิจ Food Delivery กำลังร้อนแรงมีจำนวนผู้ใช้เพิ่มมากขึ้นเรื่อยๆ
แต่ก็มาพร้อมคู่แข่งที่เพิ่มมากขึ้นเรื่อยๆ เช่นกัน
หาก Grab ไม่อยากเสียลูกค้าไปอยู่ในมือคู่แข่ง
สิ่งที่หนีไม่ได้เลยก็คือ การสร้างแบรนด์ให้แข็งแกร่ง ควบคู่ไปกับการวางกลยุทธ์ในด้านราคาค่าบริการ เพื่อให้ดูคุ้มค่าเมื่อเทียบกับผู้เล่นรายอื่นๆ
ดังนั้นการทำโปรโมชันของ Grab ในวันที่ตัวเองยังบาดเจ็บอยู่
คนที่โชคดีที่สุดก็คือผู้บริโภคที่จะใช้บริการได้ในราคาประหยัด
และนั่นก็เป็นสาเหตุที่ทำให้ ไม่ได้มีผู้เล่นกระโจนเข้ามาอยู่ในสนามแข่งขันนี้มากนัก
เพราะแข่งไปก็เหมือนเอาเงินไป “เผาทิ้ง”
อย่างไรก็ตาม ก็ต้องยอมรับว่า Grab เป็นผู้นำอันดับหนึ่งในตลาดนี้
ในเวลาแค่ 2 ปีกว่า Grab สามารถขยายบริการได้ถึง 22 จังหวัด
มีพาร์ทเนอร์คนขับนับแสนคน
ซึ่งนอกจากจะมีจำนวนผู้บริโภคคนไทยหันมาใช้บริการ Food Delivery อย่าง Grab มากขึ้นอย่างต่อเนื่องแล้ว การขยายธุรกิจของ Grab ก็ยังช่วยสร้างงานให้คนไทยได้อีกจำนวนมาก
อย่างไรก็ตาม ในโลกนี้ ไม่มีใครหรอกที่จะยอมขาดทุนไปเรื่อยๆ
ดังนั้นการเผาเงินของ Grab ในช่วงเริ่มต้นธุรกิจ ย่อมต้องมีเหตุผล
สิ่งที่เราเห็นชัดเจนที่สุดคือ Grab ขยายธุรกิจเร็วมาก โดยในกลางปีนี้ ตั้งเป้าให้บริการ Food Delivery ครอบคลุมกว่า 30 จังหวัด
ซึ่งนั่นหมายความว่า Grab จะมีจำนวนออเดอร์เพิ่มขึ้นอีกมากมาย
ทีนี้หลายคนคงถามต่อว่า Grab ทำเพื่ออะไร
ก็ในเมื่อยิ่งมีออเดอร์มากเท่าไร ตัวเลขขาดทุนก็เพิ่มขึ้นมากเท่านั้น
คำตอบก็คือ
สำหรับธุรกิจใหม่ที่เพิ่งเริ่มดำเนินกิจการได้เพียงสองปี แต่ disrupt ตลาดอย่างมหาศาลนั้น ยังคงต้องใช้เวลาในการทำตลาด และปรับเปลี่ยนพฤติกรรมของผู้คนใน ecosystem ไม่ว่าจะเป็นผู้บริโภค ร้านค้า และคนส่งอาหาร ให้ได้เสียก่อน
และเมื่อนั้น Grab จะค่อยๆ มาบริหารต้นทุนค่าใช้จ่ายทั้งในส่วนคนขับ, ร้านอาหาร, และลูกค้า
จนในที่สุด รายได้ก็จะมากกว่าต้นทุน และมีกำไร
แต่ถ้าถามว่าวันนั้นจะมาถึงเมื่อไร
วันที่พฤติกรรมของผู้คนเปลี่ยนไป และ Grab จะรู้จักกับคำว่า กำไร ในธุรกิจนี้
ก็ต้องต้องตอบว่า ไม่ใช่เร็วๆ นี้..
----------------------
Blockdit แหล่งรวมบทความวิเคราะห์ เจาะลึกแบบ deep content ล่าสุดมีฟีเจอร์พอดแคสต์แล้ว
Blockdit.com/download
----------------------
ติดตามลงทุนแมนได้ที่
Website - longtunman.com
Blockdit - blockdit.com/longtunman
Facebook - facebook.com/longtunman
Twitter - twitter.com/longtunman
Instagram - instagram.com/longtunman
Line - page.line.me/longtunman
YouTube - youtube.com/longtunman
Reference
-กรมพัฒนาธุรกิจการค้า กระทรวงพาณิชย์

เรื่องที่คุณอาจสนใจ

SPONSORED
© 2024 Longtunman. All rights reserved. Privacy Policy.
Blockdit Icon