วิเคราะห์ การประมูล 5G แบบเจาะลึก

วิเคราะห์ การประมูล 5G แบบเจาะลึก

วิเคราะห์ การประมูล 5G แบบเจาะลึก / โดย ลงทุนแมน
ปิดฉากลงเรียบร้อยสำหรับการประมูล 5G ประเทศไทย
ข้อสรุปจากการประมูลล่าสุด ก็คือ กสทช. รับรายได้เข้ารัฐไป 100,521 ล้านบาท
ในขณะที่ผู้เข้าร่วมประมูลก็คือ TRUE, DTAC, AIS, CAT และ TOT ก็ได้คลื่นความถี่ต่างๆ ไป
แต่เราสงสัยไหม ว่าแต่ละบริษัทได้คลื่นความถี่อะไร
แล้วสามารถนำไปทำอะไรได้บ้าง?
ลงทุนแมนจะเล่าให้ฟัง
╔═══════════╗
Blockdit ที่สุดของแอปมีสาระ
Blockdit.com/download
╚═══════════╝
เรามาเริ่มที่มูลค่าและจำนวนใบอนุญาตที่ประมูลได้ของแต่ละบริษัท
AIS มูลค่ารวม 42,060 ล้านบาท ได้ใบอนุญาต 23 ชุด
แบ่งออกเป็น 700 MHz 1 ชุด, 2600 MHz 10 ชุด และ 26 GHz 12 ชุด
CAT มูลค่ารวม 34,306 ล้านบาท ได้ใบอนุญาต 2 ชุด
แบ่งออกเป็น 700 MHz 2 ชุด
TRUE มูลค่ารวม 21,450 ล้านบาท ได้ใบอนุญาต 17 ชุด
แบ่งออกเป็น 2600 MHz 9 ชุด และ 26 GHz 8 ชุด
TOT มูลค่ารวม 1,195 ล้านบาท ได้ใบอนุญาต 4 ชุด
แบ่งออกเป็น 26 GHz 4 ชุด
DTAC มูลค่ารวม 910 ล้านบาท ได้ใบอนุญาต 2 ชุด
แบ่งออกเป็น 26 GHz 2 ชุด
จากภาพรวมการประมูลทั้งหมด จะเห็นได้ว่า AIS ทุ่มทุนกับการประมูลรอบนี้มากสุด แต่การจ่ายเงินมากก็ไม่ได้แปลว่าจะตอบโจทย์ทั้งหมดเสมอไป
เพราะแต่ละบริษัทมีแผนสำหรับการประมูลรอบนี้ไว้อย่างดี และมีการเตรียมการล่วงหน้าไว้แล้ว
สังเกตได้จากการประมูลจบอย่างรวดเร็วในระยะเวลาเพียงไม่กี่ชั่วโมง
ต่างจากการประมูล 4G รอบก่อน ที่กินระยะเวลายาวนานหลายวัน
ทีนี้เรามาดูว่าแต่ละคลื่นความถี่สำคัญกับแต่ละบริษัทขนาดไหน
เริ่มต้นที่คลื่นความถี่ 700 MHz
จริงๆ แล้ว ทั้ง TRUE, AIS และ DTAC
ต่างมีคลื่นความถี่ย่านดังกล่าวอยู่แล้วในมือ คนละ 10 MHz
อย่างไรก็ตาม ผู้เล่นที่คาดไม่ถึงในรอบนี้อย่าง CAT ได้เข้ามาร่วมประมูลด้วยในรอบนี้
ทำให้มูลค่าใบอนุญาตพุ่งสูงขึ้นกว่า 2 เท่า
ซึ่งแน่นอนว่าจะส่งผลกระทบโดยตรงต่อโครงสร้างต้นทุนของ CAT และ AIS ที่จะเพิ่มขึ้นมากกว่าที่คาดการณ์
สำหรับคลื่นความถี่ 2600 MHz
คลื่นนี้ถือเป็นคลื่นความถี่แห่งอนาคตสำหรับการพัฒนา 5G ซึ่งทั้ง TRUE และ AIS ได้ไปในราคาที่มีการแข่งขันกันไม่สูง เนื่องจาก DTAC ไม่ได้ยื่นประมูล
คาดการณ์กันว่า DTAC มีแนวโน้มที่จะรอการประมูลรอบต่อไปกับคลื่น 3500 MHz
ซึ่งมีศักยภาพในการให้บริการ 5G ได้เช่นกัน แต่ก็อาจมีความเสี่ยงที่จะเริ่มได้ช้ากว่าเจ้าอื่น
ซึ่งสรุปแล้ว TRUE และ AIS จะสามารถแข่งขันกันชิงความเป็นเบอร์ 1 ผู้ให้บริการ 5G ได้ทันที
ในขณะที่คลื่นความถี่ 26 GHz ถือเป็นคลื่นที่ยังไม่สามารถนำไปให้บริการได้ในตอนนี้ แต่จะใช้สำหรับบริการในอนาคต
แล้วหากเรามาดูที่คลื่นความถี่เดิมรวมกับการประมูลรอบล่าสุด TRUE กับ AIS มีพอร์ตคลื่นความถี่มากขนาดไหน?
TRUE ครอบคลุม 7 คลื่นความถี่
คลื่นความถี่ 700 MHz จำนวน 20 MHz
คลื่นความถี่ 850 MHz จำนวน 30 MHz
คลื่นความถี่ 900 MHz จำนวน 20 MHz
คลื่นความถี่ 1800 MHz จำนวน 30 MHz
คลื่นความถี่ 2100 MHz จำนวน 30 MHz
คลื่นความถี่ 2600 MHz จำนวน 90 MHz
คลื่นความถี่ 26 GHz จำนวน 800 MHz
รวม 1020 MHz
AIS ครอบคลุม 6 คลื่นความถี่
คลื่นความถี่ 700 MHz จำนวน 30 MHz
คลื่นความถี่ 900 MHz จำนวน 20 MHz
คลื่นความถี่ 1800 MHz จำนวน 40 MHz
คลื่นความถี่ 2100 MHz จำนวน 30 MHz
คลื่นความถี่ 2600 MHz จำนวน 100 MHz
คลื่นความถี่ 26 GHz จำนวน 1200 MHz
รวม 1420 MHz
ถึงตรงนี้ จะเห็นได้ว่าศักยภาพในการให้บริการสำหรับ 5G ของ TRUE ไม่ได้ต่างจาก AIS เพราะ TRUE ครอบครองความถี่ที่มากพอ มาก่อนหน้านี้แล้ว
ถึงแม้ว่า TRUE จะไม่ได้แข่งประมูลคลื่น 700 MHz ที่มีการแข่งขันกันรุนแรง เพราะ TRUE ก็มีคลื่นนี้อยู่จากการประมูลครั้งที่เเล้ว แต่ก็ดูเหมือนว่าการตัดสินใจในครั้งนี้จะไม่ได้กระทบ TRUE เท่าไร แต่จะกระทบ AIS ที่มีต้นทุนเพิ่มขึ้นจากการได้คลื่น 700 MHz ในครั้งนี้มา
ในขณะที่ DTAC คงคาดการณ์ว่าความพร้อมในการใช้งาน 5G ของไทยน่าจะมาพร้อมกับการประมูลคลื่น 3500 MHz ที่จะเกิดขึ้นในอนาคต
แต่สิ่งที่ DTAC ต้องแลกมาก็คือ ถ้าความต้องการ 5G มาเร็ว อาจทำให้ฐานผู้ใช้งานเกิดความกังวลได้
เเต่ทั้งนี้ไม่ว่า ค่ายไหนจะเปิดให้บริการในเชิงพาณิชย์ก่อน ก็ไม่ได้หมายความว่าจะใช้ 5G ได้เต็มรูปเเบบ เพราะการใช้ 5G ในช่วงเเรกยังต้องพึงพา 4G อยู่นั้นเอง
ซึ่งตั้งแต่วันที่สิ้นสุดการประมูลจนถึงวันนี้ แต่ละค่ายก็ได้เริ่มทยอยประชาสัมพันธ์และประกาศจุดยืน รวมถึงกลยุทธ์ทางการตลาดเริ่มที่
DTAC ที่ยืนยันพร้อมลุย 5G จะไม่หยุดพัฒนา
AIS ที่พร้อมเป็นกลจักรสำคัญก้าวสู่ Digital Intelligent Nation
TRUE ที่มาพร้อมวิสัยทัศน์อัจฉริยภาพสู่โลกใหม่ที่ยั่งยืน
แสดงให้เห็นว่าแต่ละค่าย ก็ชูความโดดเด่นของ 5G ในแบบของตัวเอง
หลังจากการประมูลครั้งนี้ ก็คงสรุปได้ว่า AIS และ TRUE น่าจะชิงความได้เปรียบจากความพร้อมให้บริการ 5G ได้ก่อน โดย AIS มีต้นทุนเพิ่มขึ้นจากการได้ใบอนุญาตครั้งนี้ และ TRUE ก็มีความถี่ที่พร้อมพอๆ กับ AIS โดยที่จ่ายได้ถูกกว่าในรอบนี้
ไม่ว่าจะแข่งกันอย่างไร ใครเป็นผู้ชนะ
คนที่จะได้ประโยชน์ก็น่าจะเป็นผู้บริโภคอย่างพวกเรา
ที่กำลังจะสะดวกสบายมากขึ้น
จากเทคโนโลยี 5G นั่นเอง..
----------------------
Blockdit ที่สุดของแอปมีสาระ
Blockdit.com/download
----------------------
ติดตามลงทุนแมนได้ที่
Website - longtunman.com
Blockdit - blockdit.com/longtunman
Facebook - facebook.com/longtunman
Twitter - twitter.com/longtunman
Instagram - instagram.com/longtunman
Line - page.line.me/longtunman
YouTube - youtube.com/longtunman

เรื่องที่คุณอาจสนใจ

SPONSORED
© 2024 Longtunman. All rights reserved. Privacy Policy.
Blockdit Icon