วิเคราะห์ พ.ร.บ.ห้ามเรียกดอกเบี้ยเกินอัตรา พ.ศ. 2560 ทำไมถึงยอม ‘ผู้ให้กู้’ บางกลุ่ม เรียกดอกเบี้ยได้เกิน 15% ต่อปี ?

วิเคราะห์ พ.ร.บ.ห้ามเรียกดอกเบี้ยเกินอัตรา พ.ศ. 2560 ทำไมถึงยอม ‘ผู้ให้กู้’ บางกลุ่ม เรียกดอกเบี้ยได้เกิน 15% ต่อปี ?

วิเคราะห์ พ.ร.บ.ห้ามเรียกดอกเบี้ยเกินอัตรา พ.ศ. 2560 ทำไมถึงยอม ‘ผู้ให้กู้’ บางกลุ่ม เรียกดอกเบี้ยได้เกิน 15% ต่อปี ? /โดย ลงทุนแมน
รู้หรือไม่ ? หนึ่งในธุรกิจที่เติบโตอย่างก้าวกระโดดในไทยคือ ธุรกิจปล่อยสินเชื่อ
สังเกตได้จากปัจจุบันที่ป้ายร้านให้กู้เงินมีตั้งอยู่แทบทุกหัวมุมถนน ไม่ต่างจากร้านสะดวกซื้อ โดยเฉพาะในต่างจังหวัด
ทำให้การแข่งขันของธุรกิจนี้สูงขึ้นกว่าเดิม อย่างไรก็ตามนับว่าส่งผลดีต่อผู้บริโภค
เพราะผู้คนมีตัวเลือกมากขึ้นในการเลือกสินเชื่อที่เหมาะสมกับความต้องการและศักยภาพทางการเงินของตัวเอง ไม่ว่าจะเป็น ประเภทของสินเชื่อ อัตราดอกเบี้ย รวมถึงเงื่อนไขการผ่อนชำระ
และหากผู้กู้มีประวัติการชำระเงินที่ดี ที่เรียกว่า เครดิตดี หรือมีหลักทรัพย์ค้ำประกัน ก็มีโอกาสจะได้อัตราดอกเบี้ยพิเศษอีกด้วย
ซึ่งผู้ให้กู้แต่ละรายก็จะมีข้อเสนอที่แตกต่างกันออกไป เพื่อดึงดูดลูกค้าให้มาใช้บริการ
แต่ต้องไม่ลืมว่า บางธุรกิจสามารถคิดดอกเบี้ยได้เกิน 15% ต่อปี สูงกว่าที่ พ.ร.บ.ห้ามเรียกดอกเบี้ยเกินอัตรา พ.ศ. 2560 กำหนด
ทำไม พ.ร.บ.ห้ามเรียกดอกเบี้ยเกินอัตรา พ.ศ. 2560 ถึงยอมผู้ให้กู้บางกลุ่มทำแบบนี้ได้
ลงทุนแมนจะเล่าให้ฟัง
อ้างอิงจากส่วนหนึ่งของบทความ ‘การเรียกดอกเบี้ยเกินอัตรากับความเป็นธรรมในสังคมไทย’ ของ ศ. ดร.เสาวนีย์ อัศวโรจน์ ว่าประเทศไทยมีประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ และ พ.ร.บ.ห้ามเรียกดอกเบี้ยเกินอัตรา พ.ศ. 2560 โดยกำหนดอัตราดอกเบี้ยสูงสุด 15% ต่อปี เพื่อป้องกันการเอารัดเอาเปรียบลูกหนี้
แต่ทั้งนี้กฎหมายระบุให้มีบางกลุ่มธุรกิจที่ได้รับ ‘ข้อยกเว้น’ จากพ.ร.บ.นี้ เช่น
1. สถาบันการเงิน ภายใต้กฎหมายเฉพาะ ซึ่งแบ่งได้ 2 กลุ่มคือ
- กลุ่มธนาคารแห่งประเทศไทย, ธนาคารพาณิชย์, บริษัทเงินทุน, บริษัทหลักทรัพย์ และบริษัทเครดิตฟองซิเอร์
ซึ่งคิดดอกเบี้ยสูงกว่าที่ พ.ร.บ.กำหนดทั่วไป เพราะธุรกิจมีค่าใช้จ่ายในการดำเนินงานสูง ไม่ว่าจะเป็น ค่าบุคลากร ระบบเทคโนโลยี และการบริหารความเสี่ยง
- กลุ่มธุรกิจสินเชื่อรายย่อย (กลุ่ม Non-Bank) จะสามารถคิดอัตราดอกเบี้ย ค่าปรับ ค่าบริการ ค่าธรรมเนียมได้ไม่เกิน 36% ต่อปี
โดยที่คิดค่าใช้จ่ายเหล่านี้สูง เพราะธุรกิจมีความเสี่ยงสูงจากการขาดหลักประกัน เลยต้องเพิ่มอัตราดอกเบี้ยเป็นการชดเชยความเสี่ยง และสอดคล้องกับมาตรฐานสากล
2. ธุรกิจโรงรับจำนำ
ตามพระราชบัญญัติโรงรับจำนำ พ.ศ. 2505 มาตรา 17 สามารถคิดดอกเบี้ยได้เกิน 15% ต่อปี โดยกำหนดอัตราดอกเบี้ยตามจำนวนเงินต้นดังนี้
- เงินต้นไม่เกิน 2,000 บาท คิดดอกเบี้ยสูงสุด 2% ต่อเดือน
- เงินต้นส่วนที่เกิน 2,000 บาท คิดดอกเบี้ยสูงสุด 1.25% ต่อเดือน
ซึ่งเหตุผลที่โรงรับจำนำมีการคิดดอกเบี้ยที่สูงกว่า 15% ต่อปี เพราะธุรกิจมีความเสี่ยงจากการที่ผู้จำนำอาจไม่มาไถ่ถอนทรัพย์ จึงจำเป็นต้องคิดดอกเบี้ยสูงเพื่อชดเชยความเสี่ยง
3. หลักกฎหมายเรื่องอื่นที่ไม่เป็นการกู้ยืม
รู้หรือไม่ว่า ตั๋วสัญญาใช้เงิน ไม่ได้อยู่ภายใต้พระราชบัญญัติห้ามเรียกดอกเบี้ยเกินอัตรา พ.ศ. 2560 เพราะไม่ใช่การกู้ยืมเงิน
ทำให้ผู้ประกอบการและคู่สัญญาตกลงอัตราดอกเบี้ยอย่างอิสระตาม ป.พ.พ. มาตรา 982-986
แต่ไม่เกินที่กฎหมายกำหนดไว้ และอ้างอิงคำพิพากษาฎีกาที่ 1783/2551
โดยตั๋วสัญญาใช้เงินมีบทบาทสำคัญอย่างมากในช่วงวิกฤติปี 2540 เพราะอัตราดอกเบี้ยเงินฝากธนาคารสูงถึง 13-17% ต่อปี และช่วงนั้นธนาคารเองไม่สามารถปล่อยเงินกู้ได้
ทางออกของผู้กู้และผู้ให้กู้คือ ใช้ตั๋วสัญญาใช้เงินเป็นเอกสารในการปล่อยกู้
ซึ่งเจ้าสัวใหญ่และอดีตนายกฯ ยังเคยให้สัมภาษณ์ว่าหาเงินกู้มาหมุนเวียนจนรอดวิกฤติครั้งนั้นมาได้ด้วยตั๋วสัญญาใช้เงิน
และต้องบอกต่อว่า ธุรกิจปล่อยสินเชื่อเองก็มักจะใช้ตั๋วสัญญาใช้เงินเป็นหลักในการทำธุรกรรมเช่นกัน โดยไม่เป็นเรื่องที่ผิดกฎหมาย และมีประโยชน์หลายอย่าง รวมถึงมีความน่าสนใจคือ
โดยโครงสร้างของตั๋วสัญญาใช้เงินมีดังนี้
1. มีความชัดเจน เพราะระบุเงื่อนไขการชำระหนี้ ดอกเบี้ย และสิทธิของทั้งสองฝ่ายอย่างชัดเจน
2. มีความยืดหยุ่น เพราะสามารถปรับเปลี่ยนเงื่อนไขได้ตามความเหมาะสมของทั้งสองฝ่าย
3. ใช้เป็นหลักฐาน ในการเรียกร้องค่าสินไหมทดแทนกรณีที่เกิดข้อพิพาท
ขณะที่สัญญาเช่าซื้อ ปัจจุบันมีกฎหมายควบคุมการเช่าซื้อรถยนต์ และรถจักรยานยนต์ แต่ยังไม่มีสำหรับรถบรรทุกและเครื่องจักรกลโดยเฉพาะ ทำให้สามารถตกลงดอกเบี้ยได้อิสระตาม ป.พ.พ. มาตรา 982-986
นอกจากนี้ ธนาคารแห่งประเทศไทยที่ สนส. 12/2563 ยังกำหนดให้ผู้ประกอบธุรกิจ สามารถเรียกเก็บดอกเบี้ย ค่าปรับ ค่าบริการ หรือค่าธรรมเนียมใด ๆ เกี่ยวกับสินเชื่อส่วนบุคคลภายใต้การกำกับจากผู้บริโภคสูงกว่า 15% ต่อปี ตามรายละเอียดดังนี้
- สินเชื่อส่วนบุคคลภายใต้การกำกับที่มิใช่สินเชื่อที่มีทะเบียนรถเป็นหลักประกัน คิดอัตราดอกเบี้ยได้สูงสุด 25% ต่อปี
- สินเชื่อที่มีทะเบียนรถเป็นหลักประกัน คิดอัตราดอกเบี้ยได้สูงสุด 24% ต่อปี
- สินเชื่อรายย่อยเพื่อการประกอบอาชีพภายใต้การกำกับ (Nano Finance) คิดอัตราดอกเบี้ยได้สูงสุด 33% ต่อปี
- บัตรเครดิต คิดอัตราดอกเบี้ยได้สูงสุด 16% ต่อปี
เห็นได้ว่า การที่มีกฎหมายที่เกี่ยวข้องกับการเรียกดอกเบี้ยอยู่หลายฉบับ และมีการกำหนดให้เจ้าหนี้เรียกเก็บดอกเบี้ยจากลูกหนี้ในอัตราที่แตกต่างกันออกไป ก็เพราะแต่ละส่วนมีวัตถุประสงค์ที่แตกต่างกันนั่นเอง เช่น
- สถาบันการเงินสามารถเรียกเก็บดอกเบี้ยผู้กู้ยืมเงินได้เกิน 15% ต่อปี เพื่อแก้ปัญหาวิกฤติการณ์ทางการเงิน รวมถึงธุรกิจมีค่าใช้จ่ายหรือต้นทุนในการดำเนินการดังกล่าวสูงกว่าบุคคลทั่วไป
- การให้เงินกู้หรือสินเชื่อรายย่อย ที่ผู้ให้กู้เป็นบริษัทที่ประกอบธุรกิจสามารถเรียกเก็บดอกเบี้ยจากผู้กู้ได้เกิน 15% ต่อปี เพราะมีความเสี่ยงสูง
คำถามคือ ดอกเบี้ยสูงเกินไปหรือไม่ ?
ต้องบอกว่า ​​หลายคนอาจคิดว่าผู้ให้กู้ต้องการคิดดอกเบี้ยสูง ๆ เพื่อผลประโยชน์สูงสุด แต่ในความเป็นจริงแล้ว ผู้ให้กู้ต้องการเพียงให้ผู้ที่กู้เงินสามารถชำระหนี้คืนได้ตามกำหนด เพราะหากผู้กู้ไม่จ่ายเงิน ผู้ให้กู้จะสูญเสียเงินต้นไปด้วย ดอกเบี้ยที่เรียกเก็บจากผู้กู้จึงเป็นการสร้างสมดุลระหว่างผลตอบแทนและความเสี่ยง
การกำหนดดอกเบี้ยจึงเป็นการกระจายความเสี่ยง และสร้างสมดุลระหว่างผลตอบแทนและความเสี่ยง
สรุปแล้วธุรกิจปล่อยสินเชื่อถือว่า มีบทบาทสำคัญอย่างยิ่งในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจ แต่เป็นธุรกิจที่มีความเสี่ยงสูง เนื่องจากต้องสนับสนุนประชาชนทั่วไปให้เข้าถึงแหล่งเงินทุนที่ถูกกฎหมาย จึงมีความจำเป็นต้องคิดดอกเบี้ยสูงกว่า 15% ต่อปี เพื่อให้ธุรกิจสามารถอยู่รอดต่อไปได้
ดังนั้นหากเราเลือกใช้บริการสินเชื่อควรพิจารณาให้รอบคอบ สอบถามจากผู้ให้บริการเงินกู้ซึ่งมีจำนวนมาก ควรศึกษาเงื่อนไขและอัตราดอกเบี้ยของผู้ให้กู้แต่ละรายอย่างละเอียด เพื่อให้ได้สินเชื่อที่เหมาะสมกับความต้องการและความสามารถในการชำระหนี้ของตัวเองนั่นเอง..

เรื่องที่คุณอาจสนใจ

SPONSORED
© 2024 Longtunman. All rights reserved. Privacy Policy.
Blockdit Icon