วิเคราะห์ ทำไม Netflix มีกำไร มากกว่า กระแสเงินสด แต่ Spotify มีกระแสเงินสด มากกว่า กำไร

วิเคราะห์ ทำไม Netflix มีกำไร มากกว่า กระแสเงินสด แต่ Spotify มีกระแสเงินสด มากกว่า กำไร

วิเคราะห์ ทำไม Netflix มีกำไร มากกว่า กระแสเงินสด แต่ Spotify มีกระแสเงินสด มากกว่า กำไร /โดย ลงทุนแมน
- Spotify เคยขาดทุนติดต่อกันนานถึง 7 ปี
แต่ Spotify มีกระแสเงินสดอิสระ ที่เป็นบวกตลอด
- Netflix มีกำไรเติบโตขึ้นเกือบทุกปี
แต่กระแสเงินสดอิสระ เหลือน้อยกว่ากำไรทุกปี

หรือบางปี แม้ Netflix จะกำไรโตมาก แต่กระแสเงินสดอิสระติดลบไปเลยก็มี
ทำไม Netflix มีกำไร มากกว่า กระแสเงินสดอิสระ
แต่ Spotify ถึงมีกระแสเงินสดอิสระ มากกว่า กำไร ?
แม้ทั้ง 2 แพลตฟอร์มนี้ ทำธุรกิจสตรีมมิงเหมือนกัน
ลงทุนแมนจะเล่าให้ฟัง
ผลประกอบการ ปี 2024
Netflix
รายได้ 1,317,000 ล้านบาท กำไร 294,000 ล้านบาท
Spotify (เริ่มมีกำไรแล้ว หลังขาดทุนมา 7 ปี)
รายได้ 577,000 ล้านบาท กำไร 45,300 ล้านบาท
โดยทั้ง 2 บริษัทจะมีอัตรากำไรสุทธิเป็นแบบนี้
Netflix อัตรากำไรสุทธิ 22.3%
Spotify อัตรากำไรสุทธิ 7.9%
โดยรายได้ของ Netflix ทุก 100 บาท จะเป็นกำไร 22.3 บาท
ส่วนรายได้ของ Spotify ทุก 100 บาท จะเป็นกำไร 7.9 บาท
จะเห็นว่า Netflix มีอัตรากำไรมากกว่า Spotify อยู่มาก
โดยสาเหตุก็มาจาก
1. Netflix มีฐานสมาชิกบนแพลตฟอร์ม มากกว่า Spotify แถมยังสามารถเก็บเงินผู้ใช้งานต่อสมาชิกได้มากกว่า
ส่วนฝั่ง Spotify มีคู่แข่งสตรีมมิงเพลงมากมาย
ซึ่งส่วนใหญ่ ก็เป็นแอปสตรีมมิงเพลง ของค่ายบิ๊กเทคยักษ์ใหญ่
อย่าง Apple, Alphabet เจ้าของ YouTube, Tencent เจ้าของ JOOX ที่คอยแย่งเค้กก้อนนี้อยู่
จึงทำให้ Spotify ยังไม่สามารถที่จะขึ้นราคาค่า Subscription รายเดือน ได้มากนัก
แถมยังปล่อยให้สมาชิกสามารถฟังเพลงได้ฟรี แบบมีโฆษณาเข้ามาคั่นอีก
ส่วนฝั่ง Netflix ที่แม้ว่าจะมีคู่แข่งสตรีมมิงภาพยนตร์ และซีรีส์ เยอะแยะมากมายเช่นเดียวกับ Spotify
แต่ Netflix ก็ยังสามารถสร้าง Moat หรือคูเมือง มาป้องกันคู่แข่งรายอื่น ไม่ให้คนตัดใจยกเลิกสมัครสมาชิกของ Netflix แล้วย้ายไปแพลตฟอร์มอื่น

ซึ่งคูเมืองที่ว่านั้นก็คือ เม็ดเงินมหาศาลระดับไม่ต่ำกว่าแสนล้านบาทต่อปี ในการจัดหา หรือสร้างคอนเทนต์ ให้กับแพลตฟอร์มของตัวเอง
เมื่อเป็นแบบนี้ ธุรกิจของ Netflix จึงมีความได้เปรียบในเรื่องของการตั้งราคา แถมมีจำนวนสมาชิกเพิ่มมากขึ้นเรื่อย ๆ
จากข้อมูลไตรมาส 4 ปี 2024
Netflix
จำนวนสมาชิก 302 ล้านคน
รายได้จากค่าสมาชิกต่อผู้ใช้งาน 383 บาทต่อเดือน
Spotify
จำนวนสมาชิก 263 ล้านคน
รายได้จากค่าสมาชิกต่อผู้ใช้งาน 172 บาทต่อเดือน
2. ต้นทุนค่าใช้จ่าย
รู้ไหมว่า Netflix และ Spotify มีต้นทุนค่าใช้จ่ายคนละแบบ
- Spotify มีต้นทุนหลัก คือค่าตอบแทนที่จ่ายให้กับเจ้าของผลงานเพลง และพอดแคสต์
ที่จะต้องจ่ายค่าตอบแทนให้กับศิลปิน หรือเจ้าของผลงาน เป็น Royalty Fee
โดยยิ่งเราฟังเพลง ฟังพอดแคสต์ มากเท่าไร Spotify ก็ต้องจ่ายเงินให้เจ้าของผลงานมากขึ้นเท่านั้น
- ส่วน Netflix มีต้นทุนหลัก คือค่าใช้จ่ายในการผลิต และจัดหาคอนเทนต์ อย่างภาพยนตร์และซีรีส์ มาฉายลงแพลตฟอร์ม
มีทั้งคอนเทนต์ที่ลงทุนสร้างเอง และซื้อลิขสิทธิ์ภาพยนตร์ ซีรีส์ จากค่ายอื่น ๆ ด้วยเม็ดเงินที่ซื้อเพียงครั้งเดียว
โดยที่ไม่ได้จ่ายเงินตามจำนวนครั้งแบบ Spotify
ซึ่งค่าใช้จ่ายตรงนี้ของ Netflix จะไม่เอาเงินก้อนใหญ่ที่ซื้อคอนเทนต์นั้น มาหักเป็นค่าใช้จ่ายแบบทีเดียว
แต่จะเป็นการทยอยหักค่าใช้จ่ายในทางบัญชีแทน
ซึ่งเราจะเรียกว่าเป็น “ค่าตัดจำหน่าย” ที่จะต้องทยอยตัดไปเรื่อย ๆ จนหมด และจะค่อย ๆ ลดลงในปีหลัง
ยกตัวอย่างให้เห็นภาพ Netflix ซื้อซีรีส์เรื่องหนึ่งมา 100 ล้านบาท
ปีแรก อาจบันทึกค่าตัดจำหน่าย 40 ล้านบาท
ส่วนปีถัดไป ก็บันทึกลดหลั่นกันมาเป็น 30 ล้านบาท 20 ล้านบาท 10 ล้านบาท ตามลำดับ จนหมด 100 ล้านบาท
ทีนี้ เมื่อเราเข้าใจต้นทุน ของแพลตฟอร์มสตรีมมิงทั้ง 2 แพลตฟอร์มนี้แล้ว จะเห็นได้ว่า
- ต้นทุนหลักของ Spotify ส่วนใหญ่เป็นต้นทุนผันแปร
ที่ยิ่งคอนเทนต์เพลงหรือพอดแคสต์นั้น มีจำนวนผู้ฟังมากเท่าไร ต้นทุนหลักก็จะสูงมากขึ้นตาม
- ต้นทุนหลักของ Netflix ส่วนใหญ่เป็นต้นทุนคงที่
ที่ยิ่งในปีนั้น มีคนสมัครใช้บริการ Netflix เพื่อเข้าชมซีรีส์หรือภาพยนตร์มากเท่าไร ต้นทุนหลักที่ต้องจ่าย (หรือทยอยรับรู้ค่าตัดจำหน่าย) ในแต่ละปี ก็ยังคงเท่าเดิม
ดังนั้น ยิ่ง Netflix มีรายได้จากการ Subscription รายเดือนมากขึ้น รายได้ส่วนที่เกินต้นทุนคงที่มานั้น ก็แทบจะไหลลงไปเป็น “กำไร” ในทันที
จึงเป็นเหตุผลที่ว่าทำไม Netflix ถึงมีอัตราการทำกำไร มากกว่า Spotify นั่นเอง
ทั้งนี้ แม้ Netflix จะมีความสามารถในการทำกำไร มากกว่า Spotify
แต่ถ้าเราลองดูในแง่ของกระแสเงินสดแล้ว
Spotify กลับมีความสามารถในการสร้างกระแสเงินสดที่มากกว่า Netflix..
- Netflix
ปี 2018
กำไร 40,900 ล้านบาท
กระแสเงินสดอิสระ -96,400 ล้านบาท
ปี 2021
กำไร 173,000 ล้านบาท
กระแสเงินสดอิสระ -4,500 ล้านบาท
ปี 2024
กำไร 294,000 ล้านบาท
กระแสเงินสดอิสระ 234,000 ล้านบาท
- Spotify
ปี 2018
ขาดทุน 3,100 ล้านบาท
กระแสเงินสดอิสระ 8,737 ล้านบาท
ปี 2021
ขาดทุน 1,350 ล้านบาท
กระแสเงินสดอิสระ 11,000 ล้านบาท
ปี 2024
กำไร 45,300 ล้านบาท
กระแสเงินสดอิสระ 83,500 ล้านบาท
แล้วทำไมตัวเลขถึงออกมาเป็นแบบนี้ ?
โดยกระแสเงินสด ที่หมายถึงนี้ก็คือ “กระแสเงินสดอิสระ” หรือ Free Cash Flow
หมายถึง เงินสดจากการทำธุรกิจที่เหลืออยู่จริง ๆ ที่เกิดจากกระแสเงินสดหลังจากหักค่าใช้จ่ายที่ใช้ในการดำเนินงาน และรายจ่ายที่ลงทุนในทรัพย์สิน (CapEx) สำหรับประกอบธุรกิจ
อธิบายเป็นสูตรง่าย ๆ คือ
กระแสเงินสดอิสระ = กระแสเงินสดจากการดำเนินงาน - รายจ่ายในการลงทุน (CapEx)
โดยเงินสดที่เหลือตรงนี้ บริษัทสามารถเอาไปใช้ได้อย่างอิสระ ทั้งใช้คืนเจ้าหนี้, จ่ายเงินปันผล, ซื้อหุ้นคืน หรือซื้อกิจการอื่น เป็นต้น
การที่ Netflix กับ Spotify มีผลลัพธ์ของกำไร และกระแสเงินสดอิสระ ไม่เหมือนกัน ต้องบอกว่าสาเหตุของเรื่องนี้ มาจากธรรมชาติธุรกิจของทั้ง 2 บริษัทแตกต่างกัน
- Netflix เป็นธุรกิจสตรีมมิงภาพยนตร์และซีรีส์ ซึ่งจะต้องผลิตและจัดหาคอนเทนต์ใหม่ ๆ ลงแพลตฟอร์ม Netflix อยู่ตลอดเวลา
- ส่วน Spotify เป็นธุรกิจสตรีมมิงเพลงและพอดแคสต์
ซึ่งจะจ่ายเงินค่าลิขสิทธิ์ ให้กับเจ้าของเพลง หรือเจ้าของผลงานเท่านั้น
เมื่อเป็นแบบนี้ก็เท่ากับว่า
- ฝั่ง Netflix จำเป็นต้องจ่ายเงินก้อนใหญ่
สำหรับผลิตและจัดหาคอนเทนต์ อยู่ตลอดเวลา
ดังนั้นในทุก ๆ ปี เงินสดจากการดำเนินงานของ Netflix ก็ต้องมีส่วนที่จมไปกับการลงทุนผลิต และจัดหาคอนเทนต์ต่าง ๆ
แม้ว่าในงบกำไรขาดทุน Netflix จะคอยทยอยหักค่าตัดจำหน่ายคอนเทนต์ทุกปี
แต่ในทางปฏิบัติจริง จะถือว่า Netflix ได้จ่ายเงินสดทั้งก้อน ไปกับการลงทุนผลิต และจัดหาคอนเทนต์
ซึ่งเงินสดก้อนใหญ่ที่ Netflix จ่ายไปนั้น จะถูกบันทึกอยู่ในงบกระแสเงินสด
จากตัวอย่างเดิม
ถ้า Netflix ซื้อซีรีส์เรื่องหนึ่งมา 100 ล้านบาท
แล้ว Netflix อาจบันทึกค่าตัดจำหน่ายในปีแรก 40 ล้านบาท
แต่ถ้า Netflix ใช้เงินสดหมุนเวียนที่มีอยู่ ลงทุนก้อนใหญ่ 100 ล้านบาท เพื่อซื้อซีรีส์เรื่องนั้นมา
ก็เท่ากับว่า งบกระแสเงินสดจากการดำเนินงาน ของ Netflix จะติดลบ 100 ล้านบาท ตั้งแต่ปีแรกในทันที
จากการใช้เงินสดที่มี ซื้อซีรีส์เรื่องนี้
ซึ่งจากงบกระแสเงินสดจากการดำเนินงานของ Netflix บอกว่า
ในทุก ๆ ปี Netflix จำเป็นต้องใช้เงินสดจากการดำเนินงาน ไม่ต่ำกว่า 400,000 ล้านบาท ในการลงทุนผลิต และจัดหาคอนเทนต์ใหม่ ๆ เข้ามาฉายในแพลตฟอร์มตนเอง
- ส่วนฝั่ง Spotify แม้จะขาดทุนติดต่อกันหลายปี
แต่ Spotify นั้นไม่จำเป็นต้องลงทุนค่าใช้จ่าย หรือเงินก้อนใหญ่เหมือนกับ Netflix
เพียงแค่ Spotify นำเงินที่ได้จากค่า Subscription และค่าโฆษณา ไปจ่ายเงินค่าลิขสิทธิ์ ให้กับเจ้าของผลงานเพลงตามจำนวนครั้งที่ได้ฟังไปเท่านั้น
ซึ่งที่ผ่านมา Spotify ก็ได้บริหารกระแสเงินสดจากการดำเนินงาน โดยมีกระแสเงินสดไหลเข้ามาในธุรกิจเรื่อย ๆ
ถ้าถามว่าทำอย่างไร ?
คำตอบก็คือ Spotify จะเรียกเก็บเงินจากลูกค้าที่เข้ามา Subscription “ให้เร็วขึ้น”
และจ่ายเงินคู่ค้า ซึ่งก็คือศิลปินและเจ้าของผลงานเพลง “ให้ช้าลง”
การทำแบบนี้ จะถือว่าธุรกิจสามารถหาเงินมาหมุนเวียนได้ก่อน แล้วค่อยจ่ายคืนเจ้าหนี้ทีหลัง
จึงมีสภาพคล่องในการทำธุรกิจสูง
ในโลกธุรกิจเรียกสิ่งนี้ว่า “วงจรเงินสดติดลบ”
ซึ่งเป็นส่วนสำคัญที่ทำให้ Spotify มีกระแสเงินสดจากการดำเนินงานเป็นบวก และส่งผลให้กระแสเงินสดอิสระเป็นบวกตามมาด้วย แม้แต่ในปีที่บริษัทขาดทุน
และทั้งหมดนี้ ก็เป็นเหตุผลว่า ทำไม Netflix มีกำไร มากกว่า กระแสเงินสดอิสระ
และ Spotify ถึงมีกระแสเงินสดอิสระ มากกว่า กำไร นั่นเอง
แล้วธุรกิจแบบไหนดีกว่ากัน ?
ซึ่งต้องบอกว่า แต่ละธุรกิจมีจุดแข็งและจุดอ่อนต่างกัน ซึ่งสิ่งที่สำคัญคือการเข้าใจในธุรกิจมากกว่า
อย่าง Netflix ที่มีกำไรเติบโตขึ้นทุกปี ก็เป็นตัวบ่งบอกว่า Netflix มีประสิทธิภาพในการดำเนินงานมากขึ้น
หรือควบคุมต้นทุนค่าใช้จ่ายได้ดีขึ้น เมื่อเทียบกับรายได้ที่ได้รับ
แต่ต้องใช้เงินทุนจำนวนมาก ในการผลิตและจัดหาคอนเทนต์ใหม่ ๆ อยู่เสมอ ซึ่งเป็นสิ่งที่กระทบกับกระแสเงินสดอิสระโดยตรง
ดังนั้น Netflix อาจต้องบริหารเงินสดที่ใช้หมุนเวียนธุรกิจให้ดี
ในขณะที่ Spotify มีความสามารถในการสร้างกระแสเงินสด มีกระแสเงินสดอิสระเยอะ ก็เป็นตัวบ่งบอกว่าธุรกิจมีสภาพคล่องสูง

แต่โจทย์ของ Spotify อาจจำเป็นต้องหาวิธีการเพิ่มประสิทธิภาพในการทำกำไร ให้กับธุรกิจมากขึ้นนั่นเอง..

เรื่องที่คุณอาจสนใจ

SPONSORED
© 2025 Longtunman. All rights reserved. Privacy Policy.
Blockdit Icon