สรุปประวัติศาสตร์ เงินเดือน 5,000 ปี จากเบียร์ สู่หุ้น

สรุปประวัติศาสตร์ เงินเดือน 5,000 ปี จากเบียร์ สู่หุ้น

สรุปประวัติศาสตร์ เงินเดือน 5,000 ปี จากเบียร์ สู่หุ้น /โดย ลงทุนแมน
“แค่ได้เบียร์เป็นค่าตอบแทน ก็พอใจแล้ว”
นี่คือเรื่องที่เกิดขึ้นจริงเมื่อ 5,000 ปีก่อน กับคนงานในเมโสโปเตเมีย หรือแถบอิรักในปัจจุบัน
แต่ปัจจุบัน ค่าตอบแทน ค่อย ๆ ได้รับการพัฒนา ให้มีรูปแบบหลากหลายมากขึ้น
ไม่ว่าจะเป็น เงินเดือน โบนัส ค่าตอบแทนพิเศษ ไปจนถึงให้ผลตอบแทนเป็นหุ้นของบริษัทนั้น ๆ
แล้วจากเบียร์ กลายมาเป็นเงินเดือนได้อย่างไร ?
ลงทุนแมนจะเล่าให้ฟัง
╔═══════════╗
ภาวะเงินเฟ้อ ตลาดผันผวนแบบนี้ ติดตามข่าวเศรษฐกิจแบบเน้น ๆ จากหลายเพจได้ใน Blockdit - คอนเทนต์แพลตฟอร์มที่มีผู้ใช้งานเป็นประจำ 2 ล้านคน ลองใช้ฟรี blockdit.com/download
╚═══════════╝
ย้อนกลับไปเมื่อ 5,000 ปีที่แล้ว..
มีหลักฐานชิ้นแรกที่บันทึกเป็นตัวอักษรคูนิฟอร์ม ไว้ว่า ในสมัยเมโสโปเตเมีย มีการจ่ายค่าตอบแทน ให้กับคนทำงาน เป็นเบียร์ทุกวันตามผลงาน
และในอาณาจักรโบราณอื่น ๆ ของโลก
ก็ให้ค่าตอบแทนกับคนงานด้วยสิ่งของที่มีค่าหรือ
ของจำเป็นในชีวิตประจำวันที่ต้องกินต้องใช้
จนกระทั่งมนุษย์เริ่มคิดค้นระบบเงินตราได้สำเร็จ อารยธรรมต่าง ๆ ก็เริ่มให้ค่าตอบแทนเป็นเงิน อย่างไรก็ตาม บางเวลา ก็ยังคงมีการ ให้ค่าตอบแทนเป็นสิ่งของเหมือนเดิม
ตัวอย่างเช่น ในอาณาจักรอียิปต์โบราณ
มีการให้เมล็ดพันธ์ุพืชและพืชผัก ที่เป็นสิ่งของมีค่าในช่วงฤดูหนาว เพราะเป็นของที่หายากในเวลานั้น
3,500 ปีต่อมา หรือช่วงศตวรรษที่ 4 ถึง 5 ซึ่งเป็นช่วงที่อาณาจักรโรมันรุ่งเรือง
มีหลักฐานบันทึกไว้ว่า ทหารโรมันจะได้เงินเดือนเป็นเกลือแทน
เพราะเกลือในอดีต เป็นของที่หายาก ถ้าเก็บไม่ดีจะขึ้นราได้ง่าย และยังเอาไปถนอมอาหารหรือประกอบอาหารได้หลากหลายอีกด้วย
ทำให้เกลือในสมัยโรมัน มีค่ามากกว่าทองคำเสียอีก
ดังนั้นการให้เกลือเป็นเงินเดือนในตอนนั้น ก็ฟังดูจะมีเหตุผลพอสมควร
ซึ่งแนวคิดนี้เอง ก็ตกทอดมาถึงปัจจุบัน..

รู้หรือไม่ว่า คำว่า Salary หรือที่แปลว่าเงินเดือน ก็ถูกพัฒนามาจากคำว่า Salarium ในภาษาละติน มีความหมายว่า Salt Money หรือเงินเดือนเกลือ
โดยการให้เงินเดือนเป็นสิ่งของ ก็ยังเป็นที่นิยมมาเรื่อย ๆ
จนกระทั่งเข้าสู่ยุคกลางของยุโรป หรือในช่วงศตวรรษที่ 5 ถึง 15 ระบบการให้เงินเดือน ก็เริ่มมีความซับซ้อนมากยิ่งขึ้น
ยกตัวอย่างเช่น มีเงื่อนไขให้ชาวนาและคนงาน จะต้องอาศัยอยู่ในที่ดินของขุนนางเจ้าของที่ดิน ตั้งแต่เกิดจนถึงตาย
โดยพืชผลการเกษตร ที่ชาวนาและคนงานทำได้
ส่วนหนึ่งเก็บไว้กินเองได้ แต่อีกส่วนหนึ่ง ต้องส่งผลผลิตเข้ามาให้กับขุนนางเจ้าของที่ดิน
ซึ่งนอกจากเงินเดือนที่เป็นพืชผลของชาวนา
และคนงานแล้ว ยังมีการคุ้มครองความปลอดภัยของ โบสถ์หรือสถานที่ทำกิจกรรมต่าง ๆ ให้อีกด้วย
อย่างไรก็ตาม ตั้งแต่ศตวรรษที่ 15 ยุคของการให้เงินเดือนเป็นสิ่งของก็เริ่มค่อย ๆ หายไป เพราะมีสิ่งที่เรียกว่า สมาคมอาชีพ หรือ Guild เกิดขึ้นแทน
สมาคมอาชีพ เป็นการรวมกลุ่มของบรรดาคนทำอาชีพต่าง ๆ เช่น ช่างทอผ้า ช่างไม้ เพื่อช่วยฝึกทักษะของสมาชิกให้มีความเชี่ยวชาญมากขึ้น และยังช่วยเหลือเรื่องการขายสินค้าที่ตัวเองทำได้
ซึ่งดูแล้ว ระบบนี้คล้ายกับภาพขององค์กรในปัจจุบัน ตรงที่เราทำงานซึ่งได้รับค่าตอบแทนเป็นเงินเดือน แถมยังมีระบบเทรนนิง เพื่อทำให้เราทำงานได้เก่งมากขึ้น
จนกระทั่งราว 200 ปีก่อน หรือช่วงศตวรรษที่ 18
เมื่อเข้าสู่ยุคปฏิวัติอุตสาหกรรม การให้เงินเดือน ก็ถูกพัฒนาให้เป็นระบบ และมีความแน่นอนมากขึ้น
การเกิดขึ้นของบรรดาโรงงานจำนวนมาก ทำให้นายจ้างจ่ายเงินเดือนให้คนงาน โดยคิดเป็นรายชั่วโมง หรือรายวัน ตามระยะเวลาที่คนงานทำงานจริง
อย่างไรก็ตาม นายจ้างในสมัยนั้น ก็ได้คิดค้นวิธีใหม่ที่ไม่ต้องจ่ายค่าตอบแทน เป็นตัวเงิน แถมยังทำให้ธุรกิจในเครือของตัวเอง ได้ประโยชน์ตามไปด้วย
ด้วยการใช้วิธีที่เรียกว่า Truck System Wages หรือระบบรถบรรทุก ที่ให้คูปองแทนเงินสดกับคนงาน ไปใช้จ่ายซื้อสิ่งของและอาหาร ในร้านค้าของนายจ้าง..
ส่วนในฝั่งสหรัฐอเมริกา ยุคนั้นก็เริ่มมีการใช้ระบบ Scrips ซึ่งคล้าย ๆ กับคูปองแทนเงินสดในฝั่งยุโรป
โดยคนงานจะได้รับค่าตอบแทนในรูปแบบอื่น ๆ ที่ไม่ใช่เงินสด ยกตัวอย่างเช่น Gift Voucher ซึ่งคนงานสามารถนำไปใช้จ่ายซื้อของในร้านของนายจ้างได้
ด้วยวิธีแบบนี้ ทำให้นายจ้างไม่ต้องจ่ายเงินเดือนโดยตรง แถมยังทำให้ธุรกิจร้านค้าของตัวเองรุ่งเรือง และสร้างความมั่งคั่งให้กับนายจ้างได้ต่อเนื่อง
แต่คนงานกลับเสียเปรียบแทน เพราะเท่ากับว่า จะไม่สามารถเอาเงินไปใช้จ่ายที่ไหนได้เลย นอกจากร้านค้าของนายจ้าง แถมยังขึ้นเงินเดือนยากอีกด้วย
สุดท้ายแล้ว คนงานก็ออกมาประท้วงให้ยกเลิกระบบนี้ได้สำเร็จ
ซึ่งจุดนี้เองที่กลายเป็นจุดเริ่มต้นของ “ค่าแรงขั้นต่ำ” นับตั้งแต่นั้นมา
จนในปัจจุบัน เงินเดือนค่าจ้าง ก็ได้พัฒนาไปไกลมากขึ้น
มีทั้งโบนัส ค่าตอบแทนพิเศษ ไปจนถึง Stock Option หรือการให้ผลตอบแทนเป็นหุ้นบริษัท
ซึ่งเป็นท่าประจำ ที่บรรดาสตาร์ตอัปและบริษัทเทคโนโลยีในสหรัฐอเมริกามักใช้กัน โดยจะให้หุ้นกับพนักงาน หากทำงานได้ตามเป้าหมายที่วางไว้
เรื่องนี้ดูจะ Win-Win ทั้งฝั่งบริษัทและพนักงาน เพราะบริษัทก็ไม่ต้องจ่ายเงินเดือนเพิ่ม แบบก้าวกระโดดทุกปี เพื่อรั้งพนักงานเก่ง ๆ เอาไว้ แถมยังเก็บเงินสดไว้ไปทำอย่างอื่นต่อได้
ส่วนพนักงานหรือผู้บริหารที่ได้สิทธิ์ ก็เสียภาษีน้อยลง
จากปกติที่ต้องเสียภาษีบุคคลธรรมดาสูงสุด 37% ก็เสียภาษีจากการขายหุ้นแค่ 20% เท่านั้น
แถมมีโอกาสได้ผลตอบแทนที่มากขึ้น จากการปรับตัวของราคาหุ้นในอนาคต
พอเป็นแบบนี้ ทำให้ผู้บริหารบริษัทระดับโลกหลายคน มีความมั่งคั่งแบบก้าวกระโดด
- Sundar Pichai ผู้บริหารของบริษัท Alphabet (Google) ได้รับค่าตอบแทนสูงถึง 7,800 ล้านบาท ในปี 2022 ซึ่งเป็น Stock Option มากถึง 96%
- Tim Cook หัวเรือใหญ่ของ Apple
ในปีเดียวกัน ได้รับค่าตอบแทนกว่า 3,400 ล้านบาท โดยมาจาก Stock Option ถึง 84%
ถึงตรงนี้ ก็คงเห็นแล้วว่า ไม่ว่าเวลาจะผ่านไปนานแค่ไหน
มนุษย์ก็ยังคงอยากได้ค่าตอบแทนอะไรบางอย่าง แลกกับงานที่ตัวเองลงแรงไป
จากเบียร์ สู่เกลือ
จากเกลือ สู่เงินเดือน
จากเงินเดือน กลายเป็นส่วนแบ่งหุ้น
ก็น่าคิดว่าในสมัยก่อน เบียร์สักแก้วก็ทำให้คนเราพอใจได้แล้ว
แต่มาวันนี้ การได้เงินเดือนสูง ๆ โบนัสเยอะ ๆ หรือ Stock Option กลายเป็นสิ่งที่ทำให้เราพอใจมากกว่า
สุดท้ายแล้ว หลาย ๆ คน ก็คงเอาเงินที่ได้ กลับไปซื้อเบียร์ ซึ่งเป็นค่าตอบแทนแรกสุด ที่มนุษย์เคยได้รับ..
╔═══════════╗
ภาวะเงินเฟ้อ ตลาดผันผวนแบบนี้ ติดตามข่าวเศรษฐกิจแบบเน้น ๆ จากหลายเพจได้ใน Blockdit - คอนเทนต์แพลตฟอร์มที่มีผู้ใช้งานเป็นประจำ 2 ล้านคน ลองใช้ฟรี blockdit.com/download
╚═══════════╝
ติดตามลงทุนแมนได้ที่
Website - longtunman.com
Blockdit - blockdit.com/longtunman
Facebook - facebook.com/longtunman
Twitter - twitter.com/longtunman
Instagram - instagram.com/longtunman
YouTube - youtube.com/longtunman
TikTok - tiktok.com/@longtunman
Spotify - open.spotify.com/show/4jz0qVn1AL7tRMHiTvMbZH
Apple Podcasts - podcasts.apple.com/th/podcast/ลงทุนแมน/id1543162829
Soundcloud - soundcloud.com/longtunman

เรื่องที่คุณอาจสนใจ

SPONSORED
© 2024 Longtunman. All rights reserved. Privacy Policy.
Blockdit Icon