NCP ผู้นำธุรกิจ Telesales ของไทย เตรียม IPO เพื่อเป็นจิกซอว์ตัวสุดท้ายของโลก Digital Transformation

NCP ผู้นำธุรกิจ Telesales ของไทย เตรียม IPO เพื่อเป็นจิกซอว์ตัวสุดท้ายของโลก Digital Transformation

NCP ผู้นำธุรกิจ Telesales ของไทย เตรียม IPO เพื่อเป็นจิกซอว์ตัวสุดท้ายของโลก Digital Transformation
NCP x ลงทุนแมน
ปัจจุบัน ธุรกิจอีคอมเมิร์ซในไทย มีทั้งหมด 7,393 ราย คิดเป็นมูลค่าตลาด 634,000 ล้านบาท
ความน่าสนใจคือ ธุรกิจนี้จะยังคงเติบโตต่อเนื่อง
โดยในปี 2567 ธุรกิจอีคอมเมิร์ซมีมูลค่าตลาด 694,000 ล้านบาท และในปี 2568 จะเพิ่มสูงถึง 750,000 ล้านบาท
นั่นก็มาจากพฤติกรรมผู้บริโภคที่เปลี่ยนแปลง และเทคโนโลยีที่เข้ามาเป็นส่วนหนึ่งในชีวิตประจำวันเพิ่มขึ้น
เมื่อตลาดมีขนาดใหญ่และเติบโตอย่างรวดเร็ว ทำให้การแข่งขันสูงขึ้น
แน่นอนว่า หากใครมีข้อมูลลูกค้าที่แม่นยำและความเชี่ยวชาญในการวิเคราะห์ข้อมูล จะช่วยให้ธุรกิจสร้างความได้เปรียบและเติบโตได้อย่างยั่งยืน
พูดง่าย ๆ ว่า Digital Transformation เลยกลายเป็นสิ่งสำคัญในธุรกิจยุคใหม่
แต่รู้หรือไม่ว่า ธุรกิจ Telesales ก็มีความสำคัญในโลกดิจิทัลไม่แพ้กัน
เพราะเป็นธุรกิจที่สามารถผลักดันโลกดิจิทัล เช่น ธุรกิจอีคอมเมิร์ซ ให้เติบโตได้อย่างแข็งแกร่งและก้าวกระโดดยิ่งกว่าเดิม
โดยบริษัทที่ได้รับประโยชน์จากเรื่องราวนี้คือ NCP หนึ่งในผู้นำธุรกิจ Telesales แบบครบวงจรของประเทศ ที่กำลังจะ IPO เร็ว ๆ นี้
NCP คือใคร ?
แล้วธุรกิจ Telesales มีบทบาทในโลกดิจิทัลแค่ไหน ?
ลงทุนแมนจะเล่าให้ฟัง
NCP มีชื่อเต็มว่า บริษัท ไนซ์ คอล จำกัด (มหาชน) ก่อตั้งในปี 2556 โดยคุณศรัณย์ เวชสุภาพร ผู้ที่มีประสบการณ์ด้านการขายทางโทรศัพท์มามากกว่า 20 ปี
เขาเริ่มต้นธุรกิจ ด้วยการขายสินค้าผ่านช่องทางการขายทางโทรศัพท์ (Telesales) โดยเฉพาะสินค้าที่เกี่ยวข้องกับสุขภาพและความสวยความงาม
เพราะมองว่า การขายสินค้าผ่านทางโทรศัพท์ เป็นหนึ่งในช่องทางการขายที่ยังมีศักยภาพ และบริษัทต่าง ๆ มักเลือกใช้ในการทำการตลาดขายสินค้า ควบคู่กับการทำการตลาดในช่องทางอื่น ๆ
ขณะเดียวกัน กลุ่มสินค้าต้องขยายตัวสูง มีอัตราการซื้อซ้ำสูง ทั้งจากการที่เป็นสินค้าที่ใช้แล้วหมดไป หรือต้องใช้อย่างต่อเนื่อง เพื่อให้ได้ผลลัพธ์ที่ดีที่สุด
การตลาดทางโทรศัพท์ (Telemarketing) โดยเฉพาะในกลุ่มสินค้าสุขภาพและความงาม มีอัตราการปิดการขายสูงกว่าช่องทางอื่น ๆ
และยังมีบทบาทสำคัญในการเสริมสร้างความแข็งแกร่งให้กับธุรกิจในหลายมิติ เช่น
- สร้างปฏิสัมพันธ์โดยตรงระหว่างผู้ขายและลูกค้า
ผ่านเสียงพูดคุยและการตอบคำถามแบบเรียลไทม์ ช่วยสร้างความเชื่อมั่นและความไว้วางใจ ซึ่งเป็นปัจจัยสำคัญในการตัดสินใจซื้อของลูกค้า
- เข้าถึงกลุ่มลูกค้าเฉพาะ
โดยเฉพาะกลุ่มที่ไม่คุ้นเคยกับการซื้อสินค้าออนไลน์ หรือกลุ่มที่มีกำลังซื้อสูงที่ต้องการการดูแลเป็นพิเศษ
- เพิ่มโอกาสในการปิดการขาย
นำเสนอรายละเอียดสินค้าหรือบริการได้อย่างครบถ้วน ตอบข้อสงสัย และโน้มน้าวใจลูกค้าได้ทันที ช่วยเพิ่มโอกาสในการปิดการขายได้มากกว่าการสื่อสารผ่านช่องทางออนไลน์เพียงอย่างเดียว
- เก็บข้อมูลเชิงลึกต่อยอดกลยุทธ์ทางการตลาด
เข้าใจความต้องการ พฤติกรรม และความคิดเห็นของลูกค้า เพื่อพัฒนาสินค้าและปรับกลยุทธ์ทางการตลาดให้ตรงใจมากขึ้น
ด้วยเหตุนี้ หลายบริษัทจึงใช้กลยุทธ์ Telesales ควบคู่กับการทำการตลาดออนไลน์
เพื่อต่อยอดธุรกิจไปอีกขั้น ทำให้บริการของ NCP เป็นที่ต้องการของตลาดอย่างมาก
เมื่อธุรกิจดำเนินงานไปได้ดี..
ในปีต่อมา NCP จึงเริ่มว่าจ้างโรงงานและพัฒนาการผลิตสินค้าแบรนด์ตัวเอง
เพื่อเพิ่มยอดขาย อัตรากำไรขั้นต้น และ Brand Loyalty ของบริษัท
โดยในปี 2562 เริ่มโครงการคืนคนดีสู่สังคมกับเรือนจำกลางสมุทรปราการ ด้วยการจัดโครงการฝึกวิชาชีพและส่งเสริมการทำงานให้แก่ผู้ต้องขังหญิง
เพื่อฝึกอาชีพการนำเสนอบริการและจำหน่ายสินค้าผ่านทางโทรศัพท์ และเพิ่มทักษะให้กับผู้ต้องขัง สามารถนำความรู้ที่ได้ไปประกอบอาชีพหลังพ้นโทษ
ปัจจุบันนี้ NCP มีพนักงานขายสินค้าทางโทรศัพท์เป็นผู้ต้องขัง 95 คน คิดเป็น 58% ของทั้งหมด
พูดง่าย ๆ ว่า โครงการคืนคนดีสู่สังคม กำลังช่วยให้ผู้เคยกระทำผิด มีโอกาสเปลี่ยนแปลงตัวเอง และกลับมามีคุณค่าในสังคม
และแม้ว่าจะมีมุมมองด้านลบเกี่ยวกับแก๊งคอลเซ็นเตอร์
แต่โครงการนี้ กำลังแสดงให้เห็นว่า อาชีพ Telemarketing สร้างโอกาส และเปลี่ยนแปลงชีวิตได้เช่นกัน
ถึงตรงนี้ผ่านมา 11 ปี NCP กำลังก้าวขึ้นมาเป็น หนึ่งในผู้นำกลุ่มธุรกิจขายสินค้าผ่านทางโทรศัพท์ของไทย
ภายใต้สิ่งสำคัญที่ทำให้ NCP เหนือกว่าคู่แข่งรายอื่น ๆ ได้ ก็คือ
1. ผู้บริหาร มีประสบการณ์กว่า 20 ปี ในธุรกิจช่องทางการขายผ่านทางโทรศัพท์
คุณศรัณย์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหารของบริษัท มีประสบการณ์ในธุรกิจนี้มากกว่า 20 ปี และบริษัทยังมีกลุ่มผู้บริหารระดับสูงที่ร่วมทำงานกันมาตั้งแต่ก่อตั้งบริษัท
ทำให้บริษัทเต็มไปด้วยบุคลากรที่มีประสบการณ์และความเชี่ยวชาญในธุรกิจ
2. ความเชี่ยวชาญของพนักงานขายสินค้าทางโทรศัพท์
ทั้งผ่านการอบรมมากมาย ตั้งแต่เรื่องกฎระเบียบ, ขั้นตอนการขายสินค้า, วิธีนำเสนอผลิตภัณฑ์ให้เหมาะสม พร้อมมีพนักงานควบคุมการปฏิบัติงานคอยซัปพอร์ต และดูแลคุณภาพการทำงานอยู่ตลอด
รวมถึงการที่พนักงานขายสินค้าทางโทรศัพท์มีความเชี่ยวชาญ ทำให้บริษัทสามารถนำไปช่วยเหลือธุรกิจอื่น ๆ ได้อีกมากมาย
3. ระบบการจัดการลูกค้าสัมพันธ์ (CRM) มีประสิทธิภาพ
โดยตั้งแต่ช่วงก่อตั้ง บริษัทมีระบบการจัดการลูกค้าสัมพันธ์ต่าง ๆ มากมาย และมีมาตรการต่าง ๆ ที่สอดคล้องและปฏิบัติตาม พ.ร.บ.คุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคล (PDPA) อย่างเคร่งครัด เช่น
- Repurchasing System
ระบบจัดรายชื่อกลุ่มลูกค้าประจำ เพื่อช่วยสร้างความสัมพันธ์อันดีกับลูกค้า และนำไปสู่การซื้อซ้ำและเพิ่มยอดการสั่งซื้อต่อครั้ง
- Campaign Management
ระบบการจัดการฐานข้อมูลลูกค้า เพื่อศึกษาพฤติกรรมการซื้อ และลักษณะความต้องการของลูกค้าแต่ละกลุ่ม แล้วนำมาออกแบบโปรโมชันและแคมเปญต่าง ๆ
- Database Analysis
ระบบวิเคราะห์ข้อมูลการขายในหลากหลายมิติ
ซึ่งการมีระบบการจัดการลูกค้าสัมพันธ์ที่มีประสิทธิภาพ ช่วยให้บริษัทสามารถนำไปต่อยอดสู่ธุรกิจอื่น ๆ ได้อีกมากมาย
โดยธุรกิจที่เห็นได้ชัดมากที่สุดคือ อีคอมเมิร์ซ เพราะจำเป็นต้องพึ่งพาระบบนี้สูง เพื่อเข้าใจกลุ่มเป้าหมาย
4. การบริหารคลังสินค้าพร้อมส่ง มีประสิทธิภาพ
ทำให้สินค้าทั้งของบริษัทและสินค้าของคู่ค้าพันธมิตรมีอัตราการหมุนสินค้าที่เร็ว โดยในอดีตบริษัทไม่เคยประสบปัญหาเกี่ยวกับสินค้าค้างสต๊อก หรือสินค้าหมดอายุเลย
แสดงให้เห็นว่า บริษัทสามารถคิดโปรโมชันและแคมเปญต่าง ๆ ที่เหมาะกับสินค้าของคู่ค้า จนทำให้สินค้าระบายออกมาได้หมด
5. การพัฒนาผลิตภัณฑ์ภายใต้แบรนด์สินค้าของตัวเอง
เพื่อตอบสนองต่อความต้องการของผู้บริโภคอย่างต่อเนื่อง
โดยใช้ประสบการณ์ทางธุรกิจ และการพูดคุยกับลูกค้ามากกว่า 400,000 รายต่อเดือน มาต่อยอดการพัฒนาสินค้า ที่ตรงใจกับความต้องการของลูกค้า
ที่สำคัญคือ การพัฒนาสินค้าแบรนด์ตัวเองยังช่วยเพิ่มอัตรากำไรให้กับบริษัทด้วย
6. คู่ค้าพันธมิตร หลากหลายกลุ่มธุรกิจ
โดยสร้างสายสัมพันธ์ที่ดีผ่านการออกบูท ทำสื่อประชาสัมพันธ์ และการส่งผู้บริหารไปเป็นวิทยากรให้ความรู้ด้านธุรกิจจำหน่ายสินค้าผ่านทางโทรศัพท์ ตามงานต่าง ๆ เสมอ
7. ความเข้าใจในธุรกิจอีคอมเมิร์ซ
ทั้งความต้องการของธุรกิจอีคอมเมิร์ซ และการปรับตัวตามเทรนด์ Digital Transformation ทำให้ NCP รู้ว่าควรจะเข้าไปสนับสนุนธุรกิจนี้ได้อย่างไร
นี่จึงเป็นที่มาของ 2 ธุรกิจใหม่ของบริษัท ที่เปิดตัวในปี 2566 ที่ผ่านมา ประกอบด้วย
1. ธุรกิจบริการเพิ่มยอดขายสินค้าจากการขายครั้งแรก ที่เริ่มมาตั้งแต่เมษายน พ.ศ. 2566
โดยรายได้จะคิดตาม อัตราส่วนแบ่งยอดขาย ที่ได้ตกลงกับทางคู่ค้า
ธุรกิจนี้ให้บริการจัดหาพนักงานขายสินค้าทางโทรศัพท์ให้กับคู่ค้า
เพื่อติดต่อลูกค้ากลุ่มเป้าหมาย นำเสนอสินค้า ติดตามการขาย และผลักดันการสั่งซื้อ ผ่านการนำเสนอโปรโมชันที่คู่ค้ากำหนดไว้
รวมถึงบันทึกคำสั่งซื้อเพิ่มเติมของลูกค้า ผ่านระบบช่องทางการขายของคู่ค้า
เมื่อมีคำสั่งซื้อครั้งแรกในระบบช่องทางการขายของคู่ค้า เช่น Facebook,TikTok
พนักงานขายสินค้าทางโทรศัพท์จะเข้าระบบช่องทางการขายของคู่ค้า เพื่อดูข้อมูลการสั่งซื้อครั้งแรกของลูกค้า, เลือกแผนการนำเสนอขายสินค้าเพิ่มเติมที่เหมาะสม และติดต่อลูกค้าในฐานะตัวแทนขายของคู่ค้า
ทั้งนี้ NCP ไม่ได้บริหารจัดการสินค้า, จัดส่งสินค้า และรับชำระเงินค่าสินค้า
2. ธุรกิจบริการบริหารพนักงานขายโดยเฉพาะเจาะจง ที่เริ่มมาตั้งแต่กันยายน พ.ศ. 2566
โดยรายได้จะคิดตามอัตราส่วนแบ่งยอดขาย และค่าบริการเจ้าหน้าที่ขายที่ได้ตกลงกับทางคู่ค้า
ธุรกิจนี้ให้บริการจัดหาและบริหารพนักงานขายสินค้าที่รับฝากขายจากคู่ค้า ในการนำเสนอราคาและโปรโมชันของสินค้าตามเงื่อนไขที่คู่ค้ากำหนด โดยทำสัญญาคู่ค้าแบบรับฝากขาย
ซึ่ง NCP ทำหน้าที่นำเสนอขายสินค้า, บรรจุสินค้า และจัดส่งสินค้าด้วย
โดยคู่ค้าจะมีหน้าที่ในการรับประกันสินค้า, เคลมสินค้า และจัดส่งสินค้าไปยังคลังสินค้า NCP
ดังนั้น กรรมสิทธิ์สินค้าเป็นของคู่ค้า และ NCP มีฐานะเป็นผู้ให้บริการแก่คู่ค้าเท่านั้น
พูดง่าย ๆ ว่า NCP ไม่ได้เป็นเพียงการขายสินค้าผ่านช่องทางการขายทางโทรศัพท์เท่านั้น แต่มีบทบาทสำคัญในการเป็นจิกซอว์ของโลก Digital Transformation
ที่สำคัญเลยก็คือ การเข้ามาของ NCP ช่วยให้ ธุรกิจดิจิทัล มียอดขายที่เพิ่มขึ้น ทั้งจากการเพิ่มการขายและกระตุ้นให้กลุ่มเป้าหมายกลับมาซื้อซ้ำ จึงส่งผลให้ธุรกิจนั้น ๆ เติบโตยิ่งกว่าเดิม
โดยในปัจจุบันนี้ NCP มีฐานข้อมูลลูกค้าเป้าหมายมากกว่า 5 ล้านรายชื่อ มีคู่ค้าพันธมิตร 67 ราย และผลิตภัณฑ์สินค้า 90 แบรนด์ รวมกว่า 446 รายการ
โดยแบ่งกลุ่มสินค้าเป็น 3 กลุ่มหลัก ๆ ได้แก่
1. กลุ่มผลิตภัณฑ์อาหารเสริมเพื่อสุขภาพ เช่น B-Garlic, Celvita, Donutt และ BetaCal
2. กลุ่มผลิตภัณฑ์อาหารเสริมเพื่อความงาม เช่น My Vitamin
3. กลุ่มสินค้าเวชสำอาง เช่น Nisit และ LYO
นอกจากนี้ ยังพัฒนาสินค้าแบรนด์ตัวเองอย่าง “BN” ที่มีกว่า 21 สินค้าออกจำหน่ายด้วย
แล้วโครงสร้างรายได้ของ NCP ปี 2566 เป็นอย่างไร ?
73.67% รายได้จากการขายสินค้าของคู่ค้า
25.62% รายได้จากการขายสินค้าแบรนด์ของบริษัท
0.71% รายได้จากการบริการ
ขณะที่ผลประกอบการที่ผ่านมาของ NCP
ปี 2564 รายได้ 191.23 ล้านบาท กำไร 25.56 ล้านบาท
ปี 2565 รายได้ 181.03 ล้านบาท กำไร 20.22 ล้านบาท
ปี 2566 รายได้ 173.11 ล้านบาท กำไร 12.53 ล้านบาท
แล้วอะไรคือ วัตถุประสงค์การ IPO จำนวน 50,000,000 หุ้น คิดเป็น 27.78% ของทั้งหมด ?
คำตอบก็คือ ต้องการเงินทุนในการปรับเปลี่ยนธุรกิจไปสู่การซื้อขายสินค้าและบริการผ่านอินเทอร์เน็ต หรืออีคอมเมิร์ซมากขึ้น รวมถึงผลักดันให้ธุรกิจเติบโตต่อไป ประกอบด้วย
- 55 ล้านบาท เป็นเงินทุนหมุนเวียน รองรับการขยายธุรกิจและการจ้างงานที่เพิ่มขึ้น
- 30 ล้านบาท เพื่อก่อสร้างอาคารสำนักงานแห่งใหม่ เพื่อเป็นสำนักงานใหญ่ และคลังสินค้าแทนสำนักงานเดิม โดยรองรับพนักงานได้ถึง 200 ราย
- 10 ล้านบาท เพื่อก่อสร้างสถานที่ทำงานในเรือนจำ เพื่อต่อยอดโครงการคืนคนดีสู่สังคม
- 5 ล้านบาท เพื่อพัฒนาระบบเทคโนโลยีซอฟต์แวร์สำหรับธุรกิจใหม่ และระบบเครือข่าย เพื่อรองรับการเพิ่มจำนวนพนักงาน
ภายใต้การเป็นผู้นำธุรกิจ Telesales ด้วยประสบการณ์และความเชี่ยวชาญกว่า 11 ปี
และขาดทุนเพียง 2 ปี จากการตั้งไข่ธุรกิจในปีแรก และการปรับโครงสร้างองค์กรในปี 2560 โดยในปีอื่น ๆ ไม่ว่าจะเจอวิกฤติเศรษฐกิจใด ก็ยังเติบโตและทำกำไรได้
สะท้อนแล้วว่าธุรกิจ Telesales ผันผวนต่ำ ไม่อิงกับกระแสโลกหรือเศรษฐกิจ อยู่ที่การบริหารภายในเท่านั้น
ซึ่ง NCP มีทีมบริหารที่มีประสบการณ์ และยังเชี่ยวชาญในการนำข้อมูลมาวิเคราะห์อีกด้วย
แถมยิ่งกระแสอีคอมเมิร์ซมีการเติบโตมากเท่าไร การทำการตลาด Telesales ก็ยิ่งจำเป็นมากขึ้นเท่านั้น
เพราะช่วยสร้างกลยุทธ์ทางการตลาดได้อย่างตรงจุด เพื่อเพิ่มยอดขาย และตัวเลขกำไรในระยะยาว กลายมาเป็นจิกซอว์ตัวสุดท้ายของโลกดิจิทัล
ซึ่งที่น่าติดตามคือ การแตก 2 ธุรกิจใหม่ และการระดมทุนเพื่อขยายอาคารสำนักงาน คลังสินค้า และการยกระดับซอฟต์แวร์ จะสร้างการเติบโตให้ NCP มากแค่ไหน..

เรื่องที่คุณอาจสนใจ

SPONSORED
© 2024 Longtunman. All rights reserved. Privacy Policy.
Blockdit Icon