ถอดรหัสประเด็นร้อน การลงทุนในยุคเศรษฐกิจผันผวน THE WISDOM “Wealth Decoded Exclusive Talk”

ถอดรหัสประเด็นร้อน การลงทุนในยุคเศรษฐกิจผันผวน THE WISDOM “Wealth Decoded Exclusive Talk”

ถอดรหัสประเด็นร้อน การลงทุนในยุคเศรษฐกิจผันผวน THE WISDOM “Wealth Decoded Exclusive Talk”
KBank x ลงทุนแมน
ช่วงที่ผ่านมา ปฏิเสธไม่ได้ว่าเศรษฐกิจทั่วโลก รวมถึงไทย เจอความท้าทายและความไม่แน่นอนในหลาย ๆ ด้าน
ทั้งจากปัญหาเงินกลับมาเฟ้อ จากเศรษฐกิจที่ฟื้นตัว, สงครามระหว่างยูเครน-รัสเซีย, สงครามการค้าระหว่างจีน-สหรัฐอเมริกา หรือแม้กระทั่งความไม่แน่นอนในการจัดตั้งรัฐบาลของประเทศไทย
ซึ่งปัญหาทั้งหมดนี้ ส่งผลโดยตรงต่อโลกการเงิน และการลงทุนของเรา…
เดอะวิสดอมกสิกรไทย จึงได้จัดงาน “Wealth Decoded Exclusive Dinner Talk” ถอดรหัสประเด็นร้อน พร้อมค้นหาโอกาสการลงทุนในยุคเศรษฐกิจผันผวน
เพื่อเป็นแนวทางให้กับลูกค้าวิสดอมนำไปปรับใช้ในการลงทุนอย่างมีประสิทธิภาพยิ่งขึ้น
งานนี้ได้เชิญนักลงทุนระดับท็อปของประเทศอย่าง คุณเฉลิมเดช ลีวงศ์เจริญ นายกสมาคมนักลงทุนเน้นคุณค่า (ประเทศไทย) และ อ.ทิวา ชินธาดาพงศ์ (เซียนมี่)
มาไขเคล็ดลับกลยุทธ์และแลกเปลี่ยนมุมมองการลงทุนกับลูกค้าวิสดอมอย่างใกล้ชิด
ความน่าสนใจของเรื่องนี้เป็นอย่างไร ?
ลงทุนแมนจะสรุปให้ฟัง
ปี 2566 ถือว่าเป็นอีกหนึ่งปีแห่งความท้าทายของนักลงทุน หลาย ๆ คน
ไม่ว่าจะเป็น ปัจจัยด้านนโยบายทางการเงินของธนาคารกลางสหรัฐอเมริกา (FED) ที่ยังค่อย ๆ ปรับดอกเบี้ยขึ้น เพื่อชะลอความร้อนแรงของอัตราเงินเฟ้อ
โดยในปี 2566 อัตราเงินเฟ้อของสหรัฐอเมริกา ลดลงมาอยู่ที่ระดับ 4.9%
ในขณะที่อัตราดอกเบี้ยอยู่ที่ 5.25%
อย่างไรก็ดี ถึงแม้ว่าปัญหาเรื่องอัตราเงินเฟ้อจะดูคลี่คลายลง
แต่ความขัดแย้งระหว่างจีนและสหรัฐอเมริกา ก็ยังมีความตึงเครียดเพิ่มขึ้นทุก ๆ วัน
ซึ่งล่าสุดทางรัฐบาลจีนก็เพิ่งประกาศแบนผลิตภัณฑ์ของ “ไมครอน” บริษัทชิปหน่วยความจำของสหรัฐฯ เป็นการตอบโต้ที่ฝั่งสหรัฐฯ แบนผู้ผลิตชิปของจีน พร้อมจุดชนวนสงครามการค้าครั้งใหม่ที่กำลังเกิดขึ้น
ข้ามมาในฝั่งของประเทศไทย แม้ว่าไทยจะเลือกตั้งเรียบร้อยแล้ว แต่ก็ยังมีความไม่แน่นอนของการจัดตั้งรัฐบาลใหม่ ไปจนถึงความกังวลเรื่องนโยบายในอนาคตของรัฐบาล
อย่างไรดี จากสถิติแล้ว การลงทุนในหุ้นมักจะมีความผันผวนมาก เมื่อมีปัจจัยความไม่แน่นอน
แต่ว่าถ้าความขัดแย้งได้คลี่คลายลง หุ้นจะเป็นหนึ่งสินทรัพย์ที่กลับมาฟื้นตัวได้ดี
โดยคุณเฉลิมเดช ลีวงศ์เจริญ นายกสมาคมนักลงทุนเน้นคุณค่า (ประเทศไทย) ได้กล่าวว่า
ถ้าพิจารณาจากสถิติในอดีตจะพบว่า ตลาดหุ้นไทยหลังเลือกตั้งมักปรับตัวขึ้น
แต่สำหรับการเลือกตั้งในปี 2566 ตลาดหุ้นไทยกลับถูกแรงเทขายจากนักลงทุนต่างชาติอย่างต่อเนื่อง
จากความกังวลเรื่องการจัดตั้งรัฐบาลใหม่ และนโยบายเศรษฐกิจในอนาคตของรัฐบาล
เช่น
- นโยบายทลายการผูกขาดและเน้นการเปลี่ยนแปลงเชิงโครงสร้าง
- นโยบายเก็บภาษีหุ้นแบบ Capital Gain Tax หรือการเก็บภาษีเมื่อขายหุ้นทำกำไร
แน่นอนว่า ปัจจัยเหล่านี้ได้ส่งผลกระทบต่อตลาดหุ้นไทย ทำให้ดัชนี SET Index ปรับตัวลดลงกว่า 6% ภายในระยะเวลาเพียง 3 เดือนเท่านั้น
อย่างไรก็ดี หากมองในระยะยาว เหล่านักลงทุนแนว VI หรือ Value Investor ไม่สมควรกังวลกับปัจจัยที่จะส่งผลกระทบต่อตลาดทุนในระยะสั้น หรือการขึ้น-ลงของดัชนีในตลาดหุ้นมากนัก
แต่สมควรให้ความสำคัญกับการค้นหาโอกาสที่ซ่อนอยู่ในความผันผวน โดยเลือกลงทุนในหุ้นที่มีพื้นฐานที่ดี อยู่ในอุตสาหกรรมแห่งอนาคต และจะสามารถเติบโตอย่างมั่นคงในระยะยาว
โดยพิจารณาจากความสามารถทางการแข่งขันว่าประเทศไทย “เก่ง” ด้านใดเป็นสำคัญ..
ปัจจุบันเศรษฐกิจไทยกำลังฟื้นตัวจากวิกฤติโรคระบาด ในลักษณะ K-Shaped หรือหมายความว่า แต่ละอุตสาหกรรมฟื้นตัวอย่างไม่เท่าเทียมกัน
ซึ่งอุตสาหกรรม และธุรกิจที่น่าลงทุนในช่วงเวลานี้คงหนีไม่พ้น ธุรกิจการท่องเที่ยว ที่สร้างรายได้คิดเป็น 20% ของ GDP ประเทศไทย และธุรกิจที่เกี่ยวข้องกับการให้บริการ ไม่ว่าจะเป็น
- ธุรกิจโรงพยาบาล
- ธุรกิจโรงแรม
- ธุรกิจอาหาร
- ธุรกิจสปา
แน่นอนว่า การที่คนไทยมีพฤติกรรมที่ต้อนรับนักท่องเที่ยว หรือ Service Mind และการที่ประเทศไทยล้อมรอบไปด้วยธรรมชาติที่สวยงาม เปรียบเสมือนจุดแข็งที่จะทำให้อุตสาหกรรมนี้เติบโตอย่างน่าสนใจ
นอกจากนี้ อีกหนึ่งอุตสาหกรรมที่น่าสนใจคือ ธุรกิจเครื่องสำอาง
เพราะธุรกิจเครื่องสำอางจัดเป็นกลุ่มที่อยู่รอดได้ในทุกสถานการณ์ ทั้งยังเป็นกลุ่มสินค้าที่คนทั่วโลกรู้จัก เข้าถึง และซื้อได้ง่าย อีกด้วย
สุดท้ายแล้ว คุณเฉลิมเดช ลีวงศ์เจริญ แนะนำว่า การลงทุนในยุคเศรษฐกิจผันผวน นักลงทุน VI จะต้องเน้นหาข้อมูลอินไซต์เกี่ยวกับความสามารถทางการแข่งขัน เพื่อเลือกลงทุนในบริษัทที่ใช่
เช่น
- เส้นสายทางธุรกิจหรือสัมปทานที่สร้างความได้เปรียบให้กับบริษัทนั้น ๆ
- ชื่อเสียงของบริษัทหรือแบรนด์ ตลอดจนความใหญ่ของบริษัท เช่น ขนาดโรงงาน หรือจำนวนสาขา
- ผลประกอบการย้อนหลัง ที่เป็นตัวชี้วัดความสำเร็จของบริษัททั้งในอดีต และในปัจจุบัน
อย่างไรก็ดี หากนักลงทุนท่านไหนไม่มีเวลาศึกษาข้อมูล แนะนำให้ลงทุนผ่านเครื่องมือการลงทุนต่าง ๆ เช่น ซื้อกองทุนอิงดัชนี (Index Fund) หรือซื้อหุ้นกู้, พันธบัตรรัฐบาล หรือทองคำ
โดยเลือกจังหวะในการเข้าซื้อที่ใช่ และเน้นกระจายความเสี่ยง
มาถึงตรงนี้ เราคงพอเห็นถึงมุมมองการลงทุนในตลาดหุ้นไทย จากเซียน VI ระดับท็อปของประเทศกันบ้างแล้ว
ทีนี้เราลองมาดูความคิดเห็นจากเซียนหุ้นจีน อย่าง อ.ทิวา ชินธาดาพงศ์ (เซียนมี่) กันบ้าง
ปัจจุบัน เซียนมี่แบ่งพอร์ตการลงทุนในประเทศไทยสัดส่วน 70% และต่างประเทศ 30%
สำหรับหุ้นไทย ถึงแม้ว่าประเทศไทยจะมีความไม่แน่นอนสูง จากการจัดตั้งรัฐบาลใหม่
แต่ในอนาคตประเทศไทยยังจะสามารถเติบโตได้ดีจากโครงสร้างพื้นฐานที่แข็งแกร่ง และการที่ประเทศไทยเปรียบเสมือนฮับเศรษฐกิจสำคัญของภูมิภาคอาเซียน
โดย 3 ธีมการลงทุนที่น่าสนใจในตลาดไทย คือ
- Domestic Play หรือธุรกิจที่พึ่งพาเกี่ยวกับการบริโภคภายในประเทศ จะเติบโตอย่างมั่นคง เช่น นโยบายเงินดิจิทัล หรือนโยบายกระตุ้นเศรษฐกิจที่จะเกิดขึ้น หลังจากการจัดตั้งรัฐบาลเสร็จสิ้น
- Tourism หรืออุตสาหกรรมการท่องเที่ยวของไทย ที่จะฟื้นตัวได้ดีจากการที่ไทยเป็นจุดมุ่งหมายของเหล่านักท่องเที่ยว โดยเฉพาะชาวจีน
- Carbon Credit หรือตลาดซื้อ-ขายคาร์บอนเครดิต ซึ่งเป็นหนึ่งในกลไกสำคัญที่จะช่วยลดแก๊สเรือนกระจก และเป็นที่หมายตาของเหล่าบริษัทยักษ์ใหญ่ทั่วโลก
สำหรับหุ้นจีน ถึงแม้ว่าจะเจอปัญหามากมาย ทั้งมาตรการคุมเข้มเรื่องโรคระบาด, การที่รัฐบาลจีนเข้มงวดกับธุรกิจในหลากหลายอุตสาหกรรม ไปจนถึงสงครามการค้าระหว่างสหรัฐอเมริกา
จีนก็ยังเป็นหนึ่งประเทศที่เติบโตได้อย่างน่าสนใจ
เพราะในไตรมาสล่าสุด จีนก็ยังสามารถทำ GDP เติบโตได้ถึง 4.5% เมื่อเทียบกับปีก่อน
และเมื่อไม่นานนี้ จำนวนมหาเศรษฐีในจีนที่มีทรัพย์สินมากกว่า 34,000 ล้านบาท (Billionaire) ก็เติบโตจนแซงประเทศสหรัฐอเมริกาไปเป็นที่เรียบร้อย
ในแง่ของโครงสร้างพื้นฐาน จีนถือว่าเป็นหนึ่งในประเทศที่มีโครงสร้างพื้นฐานที่แข็งแกร่ง ทั้งในด้านการขนส่ง, ดิจิทัลและเทคโนโลยี ไปจนถึงด้านการศึกษา
โดยในปี 2565 จีนมีนักศึกษาที่จบการศึกษาในสาขา STEM (Science, Technology, Engineering Mathematics) มากกว่า 4.7 ล้านคน ในขณะที่สหรัฐอเมริกามีอยู่เพียงหลักแสนคน
ที่น่าสนใจคือ จีนถือเป็นประเทศแรก ๆ ที่ทางรัฐบาลนำสกุลเงินดิจิทัลมาใช้อย่างเป็นทางการ
โดย Digital Yuan จะถูกพัฒนาให้แล้วเสร็จภายในปีนี้ และจะมาเปลี่ยนแปลงโลกการเงินของทั้งชาวจีน และชาวต่างชาติ อยู่ไม่น้อย
แน่นอนว่า อุตสาหกรรมที่จะได้รับผลประโยชน์จากปัจจัยบวกเหล่านี้ คงหนีไม่พ้น
- อุตสาหกรรมเทคโนโลยี และ Internet of Things เช่น Xiaomi และ Bilibili
- อุตสาหกรรมที่พึ่งพาการบริโภคภายในประเทศ อย่าง Kweichow Moutai และ Haidilao
อย่างไรก็ตาม การลงทุนในประเทศจีนนั้นเต็มไปด้วยความไม่แน่นอน ทั้งจากปัจจัยภายในประเทศ และปัจจัยทางภูมิรัฐศาสตร์ นักลงทุนจึงสมควรศึกษาให้ดีก่อนลงทุน
แล้วในมุมมองของ เซียนมี่ กลยุทธ์การลงทุนในตลาดจีนมีอะไรบ้าง ?
1. ลงทุนในธีมที่สอดคล้องกับ Vision ของรัฐบาลจีน
นักลงทุนสมควรศึกษาและเข้าใจแนวคิดของรัฐบาลจีน พร้อมนำนโยบายต่าง ๆ มาวิเคราะห์เพื่อค้นหาอุตสาหกรรม และธุรกิจที่จะได้รับผลประโยชน์
2. ลงทุนในธุรกิจที่มีพื้นฐานดี มี Valuation ไม่สูงมาก และอยู่ในอุตสาหกรรมที่ไม่มีการแข่งขันสูง
3. วิเคราะห์ความสามารถของผู้บริหาร ในการนำพาบริษัทสู่เป้าหมายในอนาคต
4. แบ่งไม้การลงทุนไว้หลาย ๆ ไม้ และทยอยลงทุนหุ้นพื้นฐานดี เวลาตลาดผันผวนหนัก
ซึ่งนักลงทุนสมควรวางแผนการลงทุนแบบกระจายความเสี่ยง (Diversification) แบ่งเป็น
ลงทุนในสินทรัพย์ปลอดภัย และในบริษัทที่เราศึกษามาดีพอราว ๆ 70%
และลงทุนในสินทรัพย์ที่ให้ผลตอบแทนสูง อีก 30%
นอกจากนี้ คุณวีระพล บดีรัฐ ผู้อำนวยการฝ่ายอาวุโส ฝ่ายพัฒนาการให้คำปรึกษาลูกค้า ธนาคารกสิกรไทย ได้กล่าวปิดท้ายว่า
ปัจจุบันเศรษฐกิจโลกมีความไม่แน่น่อนสูง จากทั้งปัจจัยมหภาค และปัจจัยจุลภาค ทำให้นักลงทุนหลาย ๆ คนเริ่มย้ายการลงทุนจากสินทรัพย์เสี่ยง ไปยังสินทรัพย์ที่มีความปลอดภัยมากยิ่งขึ้น
การลงทุนในพันธบัตรรัฐบาล ตราสารหนี้ และกองทุนเสี่ยงต่ำ จึงกลายมาเป็นหนึ่งในทางเลือกการลงทุนชั้นดี ที่นักลงทุนไม่ควรมองข้าม
อย่างไรก็ดี สิ่งที่นักลงทุนควรให้ความสำคัญคือการตอบตัวเองก่อนว่า เราลงทุนไปเพื่ออะไร และเป้าหมายการลงทุนของเราคืออะไร
สำหรับนักลงทุนระยะยาว ควรศึกษาพื้นฐานบริษัท และความได้เปรียบทางการแข่งขัน ที่จะทำให้บริษัทเติบโตได้ดีในอนาคต
สำหรับนักลงทุนสายเก็งกำไร ควรมีวินัยที่ดี เมื่อเวลาหุ้นขึ้นควร Let Profit Run
แต่เมื่อหุ้นลง ควรมีวินัยและ Cut Loss
เพราะสุดท้ายแล้ว การลงทุนด้วยความเข้าใจ จะทำให้เรามีความสุข และประสบความสำเร็จด้านการลงทุนในระยะยาว นั่นเอง
มาถึงตรงนี้ เราคงพอสรุปได้ว่า ถึงแม้ว่า ปี 2566 จะเป็นอีกหนึ่งปีแห่งความท้าทายของเหล่านักลงทุนหลาย ๆ คน
แต่ทุก ๆ วิกฤติก็ยังมีโอกาสซ่อนอยู่เสมอ จึงเป็นที่มาของงานสัมมนาให้ความรู้วิเคราะห์การลงทุนที่เดอะวิสดอมกสิกรไทยจัดขึ้นอย่างต่อเนื่อง
เพื่อเป็นการอัปเดตทิศทางเศรษฐกิจ และแนวทางในการตัดสินใจลงทุนให้กับลูกค้าอย่างสม่ำเสมอ..
หมายเหตุ : ผลตอบแทนดัชนี SET Index ย้อนหลัง 3 เดือน ณ วันที่ 2 มิถุนายน 2566
การลงทุนมีความเสี่ยง ผู้ลงทุนควรศึกษาข้อมูลก่อนการตัดสินใจลงทุน

เรื่องที่คุณอาจสนใจ

SPONSORED
© 2024 Longtunman. All rights reserved. Privacy Policy.
Blockdit Icon