สรุปสัมมนา THE WISDOM Wealth Decoded เจาะลึก 4 กลยุทธ์บริหารจัดการภาษีมรดกยุคใหม่ ส่งต่อความมั่งคั่งที่ยั่งยืน

สรุปสัมมนา THE WISDOM Wealth Decoded เจาะลึก 4 กลยุทธ์บริหารจัดการภาษีมรดกยุคใหม่ ส่งต่อความมั่งคั่งที่ยั่งยืน

KBank x ลงทุนแมน
การเปลี่ยนแปลงมาตรการ ข้อกำหนด และกฎหมายทั้งในประเทศและต่างประเทศ ทำให้การบริหารจัดการภาษีมรดกและการส่งต่อความมั่งคั่งมีความซับซ้อนมากขึ้น
เดอะวิสดอมกสิกรไทย จึงจัดสัมมนา “THE WISDOM Wealth Decoded ครั้งที่ 4” เพื่อเจาะลึกกลยุทธ์บริหารจัดการภาษี ให้การวางแผนส่งต่อความมั่งคั่งเกิดประโยชน์สูงสุดแก่คนรุ่นต่อไป
โดยงานสัมมนานี้ เดอะวิสดอมกสิกรไทย ได้เชิญ 2 ผู้เชี่ยวชาญด้านบริหารจัดการสินทรัพย์และวางแผนภาษี คือ
- อาจารย์ชินภัทร วิสุทธิแพทย์ พาร์ตเนอร์ ONE Law Office
- คุณอุมาพันธุ์ เจริญยิ่ง รองกรรมการผู้จัดการ บริษัท เมืองไทยประกันชีวิต จำกัด (มหาชน)
ลงทุนแมน สรุปประเด็นสำคัญจากงานสัมมนา THE WISDOM Wealth Decoded มาเล่าให้ฟัง
ปัจจุบัน ประเทศไทย มีภาษีหลายประเภท แต่สามารถแบ่งออกเป็น 2 ประเภทหลัก ได้แก่
1. ภาษีทางตรง เป็นภาษีที่จัดเก็บจากบุคคลหรือหน่วยงานโดยตรง โดยพิจารณาจากรายได้หรือทรัพย์สินของผู้เสียภาษี
ตัวอย่างภาษีทางตรง ได้แก่
- ภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา เก็บจากรายได้ของบุคคลทั่วไป เช่น เงินเดือน ค่าจ้าง โบนัส เงินปันผล ดอกเบี้ย
- ภาษีเงินได้นิติบุคคล เก็บจากกำไรสุทธิของบริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคล
- ภาษีมรดก เก็บจากทรัพย์สินที่ได้รับจากการรับมรดก
- ภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้าง เก็บจากเจ้าของที่ดินและสิ่งปลูกสร้าง
2. ภาษีทางอ้อม คือ ภาษีที่เรียกเก็บจากผู้บริโภค เมื่อมีการซื้อสินค้าหรือบริการในประเทศไทย
- ภาษีมูลค่าเพิ่ม (VAT) เก็บจากมูลค่าเพิ่มของสินค้าและบริการในแต่ละขั้นตอนการผลิตและจำหน่าย
- ภาษีสรรพสามิต เก็บจากสินค้าบางประเภท เช่น สุรา ยาสูบ น้ำมันเชื้อเพลิง
- ภาษีศุลกากร เก็บจากสินค้านำเข้า
อย่างไรก็ตาม ในช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมา กรมสรรพากรได้ขยายขอบเขตการจัดเก็บภาษีออกไปอีกมาก
ไม่ว่าจะเป็น ภาษี VAT สำหรับสินค้าออนไลน์นำเข้าจากต่างประเทศ ที่ไม่เกิน 1,500 บาท, ภาษีสินทรัพย์ดิจิทัล, ภาษีลงทุนนอก
นั่นแสดงให้เห็นว่า แนวโน้มการจัดเก็บภาษีของไทย กำลังเปลี่ยนแปลงไปอย่างมาก
หนึ่งในตัวอย่างที่เห็นได้ชัดคือ คำสั่งกรมสรรพากรที่ ป.161/2566
ซึ่งส่งผลโดยตรงต่อผู้มีถิ่นที่อยู่ในประเทศไทย และมีเงินได้ในปีภาษีที่ล่วงมาแล้ว จากแหล่งเงินได้ต่างประเทศ ไม่ว่าจะเป็น
- ผู้ที่ทำงานในต่างประเทศ เช่น พนักงานบริษัท ลูกจ้าง หรือผู้รับจ้างอิสระ รวมถึงกรรมการบริษัทต่างประเทศ
- ผู้ที่มีธุรกิจในต่างประเทศ เช่น การค้าขาย การลงทุน หรือการให้บริการ
- ผู้ที่มีรายได้จากทรัพย์สินในต่างประเทศ เช่น เงินฝากธนาคาร หุ้น กองทุนรวม อสังหาริมทรัพย์ หรือทรัพย์สินทางปัญญา
แล้วนโยบายเก็บภาษีเงินได้จากต่างประเทศนี้ ครอบคลุมอะไรบ้าง?
ต้องบอกว่า ภาษีนี้ไม่ได้ครอบคลุมแค่กำไรจากการขายทรัพย์สินต่างประเทศเท่านั้น
แต่ยังรวมถึงเงินได้ทุกประเภทของคนไทย ที่ทำงานหรือมีรายได้จากต่างประเทศ โดยจะถูกเรียกเก็บเมื่อมีการโอนเงินกลับเข้าไทย

ที่สำคัญที่ต้องนำมาพิจารณาประกอบการวางแผนบริหารจัดการภาษี คือการใช้มาตรฐาน CRS หรือ Common Reporting Standard ของกรมสรรพากร ซึ่งเป็นมาตรฐานสากลในการรายงานข้อมูลทางการเงินระหว่างประเทศ
ประเทศไทยได้ลงนามความร่วมมือกับ OECD เพื่อป้องกันการหลบเลี่ยงภาษีข้ามพรมแดน โดยมีสัญญาระหว่างประเทศที่กำหนดกรอบการแลกเปลี่ยนข้อมูลบัญชีทางการเงินแบบอัตโนมัติ (CRS) กับประเทศคู่สัญญากว่า 150 ประเทศ
กรมสรรพากรในแต่ละประเทศสมาชิกคู่สัญญา จะมีการส่งข้อมูลทางการเงินของผู้มีถิ่นที่อยู่ทางภาษีในประเทศไทย (Thai Tax Resident) ให้กับประเทศคู่สัญญา
ในขณะเดียวกัน คนไทยที่ไปลงทุนในต่างประเทศ กรมสรรพากรของประเทศนั้น ๆ ก็จะส่งข้อมูลทางการเงินอัตโนมัติกลับมาให้ประเทศไทย เช่นเดียวกับกรณีของบุคคลธรรมดาหรือนิติบุคคลที่มี “ถิ่นที่อยู่ในประเทศไทย” ที่ออกไปลงทุนหรือตั้งบริษัทในต่างประเทศ และไม่ได้นำรายได้กลับเข้ามาในประเทศ
กลุ่มนี้อาจจะได้รับผลกระทบและจำเป็นต้องวางแผนภาษีให้สอดคล้องกับเกณฑ์ดังกล่าว
ดังนั้น นักลงทุนไทยในต่างประเทศ จึงต้องตรวจสอบรายละเอียดและรายงานภาษีให้ถูกต้องตามกฎหมายทั้งสองประเทศ เพื่อหลีกเลี่ยงปัญหาทางภาษีที่อาจเกิดขึ้น
แล้วในมุมมองอาจารย์ชินภัทร วิสุทธิแพทย์ มีคำแนะนำในการวางแผนบริหารจัดการมรดก และใช้สิทธิประโยชน์ด้านภาษีให้มีประสิทธิภาพได้อย่างไรบ้าง ?
อาจารย์ชินภัทรแนะนำว่า การวางแผนภาษีมรดกเป็นส่วนสำคัญของการวางแผนการเงินและการสืบทอดทรัพย์สิน เจ้าของทรัพย์สินและผู้รับมรดกสามารถวางแผนเพื่อใช้สิทธิประโยชน์ด้านภาษีอย่างมีประสิทธิภาพได้ถึง 4 รูปแบบ คือ บริษัทโฮลดิง, ประกันชีวิต, พินัยกรรม และธรรมนูญครอบครัว
โดยสามารถผสมผสานควบคู่กับการใช้ผลิตภัณฑ์ทางการเงิน เพื่อให้แผนตอบโจทย์ความต้องการ และเกิดประโยชน์สูงสุดกับผู้รับประโยชน์
1. ตั้งบริษัทโฮลดิง (Holding Company) เป็นรูปแบบที่นิยมสำหรับธุรกิจครอบครัว โดยจัดตั้งบริษัทขึ้นมาเพื่อถือหุ้นหรือถือครองทรัพย์สิน โดยมีรายได้จากการถือหุ้นในบริษัทอื่นเป็นหลัก ไม่ได้มีธุรกิจเป็นของตนเอง อาจเป็นการลงทุนทั้งบริษัทในไทยและต่างประเทศก็ได้
โดยรายได้ของบริษัทโฮลดิงจะอยู่ในรูปแบบของเงินปันผล ซึ่งจะได้รับการยกเว้นภาษีนิติบุคคล เนื่องจากเงินจำนวนนี้ได้มีการเสียภาษีมาแล้วในนามของบริษัทย่อย
โดยเงินปันผลที่บริษัทโฮลดิงได้รับ จะได้รับการยกเว้นภาษี ในกรณีที่มีองค์ประกอบครบ 3 ส่วน คือ
- ได้รับเงินปันผลจากบริษัทที่ บริษัทโฮลดิง ถือหุ้นไม่น้อยกว่า 25% ของหุ้นที่มีสิทธิออกเสียง
- บริษัทโฮลดิงและบริษัทย่อย ไม่ถือหุ้นไขว้ระหว่างกัน
- บริษัทโฮลดิง ถือหุ้นก่อนและหลังจ่ายเงินปันผล ไม่น้อยกว่า 3 เดือน
2. ทำประกันชีวิต
มุมมองจากคุณอุมาพันธุ์ เจริญยิ่ง เห็นว่า การทำประกันชีวิตเป็นเครื่องมือทางการเงินที่มีประโยชน์ทั้งในแง่ของการลดหย่อนภาษีและการวางแผนรับมรดก
โดยเบี้ยประกันชีวิต สามารถนำมาลดหย่อนภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา ได้ตามที่กฎหมายกำหนด
หากผู้เอาประกันเสียชีวิต เงินเอาประกันที่ได้รับ จะไม่ถือเป็นทรัพย์สินที่ต้องเสียภาษีมรดก ซึ่งสินไหมมรณกรรมที่ได้จากประกันชีวิตจะได้รับยกเว้นภาษี
นอกจากนี้ ผู้รับประโยชน์ยังได้รับเงินอย่างรวดเร็วเมื่อผู้เอาประกันเสียชีวิต เพราะเงินประกันไม่ถูกรวมเข้ากับกองมรดก จึงสามารถจ่ายให้แก่ผู้รับมรดกได้เลยโดยไม่ต้องรอการจัดการมรดก
และที่สำคัญ การทำประกันชีวิตเป็นการบริหารความเสี่ยง
“สิ่งหนึ่งที่เจ้าของธุรกิจส่วนใหญ่มองข้ามคือ การใช้ประกันชีวิตในการวางแผนธุรกิจ ด้วยการทำประกันชีวิตให้กับผู้บริหารหลักของบริษัท โดยค่าเบี้ยประกันสามารถนำไปหักเป็นค่าใช้จ่ายในการคำนวณภาษีเงินได้นิติบุคคลได้ เป็นการลดความเสี่ยงทางธุรกิจถ้าเกิดเหตุการณ์ไม่คาดฝัน” เป็นมุมมองของคุณอุมาพันธุ์
นอกจากนี้ คุณอุมาพันธุ์ ได้ให้คำแนะนำในการใช้ประกันชีวิตเพื่อบริหารจัดการภาษี ซึ่งสามารถทำได้ 4 รูปแบบ คือ
1. การส่งต่อทรัพย์สินส่วนเกินที่ต้องเสียภาษี คือ การแบ่งเงินส่วนที่เกินกว่าสิทธิลดหย่อนภาษีมาทำประกันชีวิต ส่วนที่เหลือสามารถนำไปลงทุนต่อได้ เช่น หากมีทรัพย์สิน 200 ล้านบาท ใช้สิทธิลดหย่อน 100 ล้านบาท ก็สามารถนำอีก 100 ล้านบาทไปซื้อประกันชีวิต ซึ่งเงินเอาประกันจะไม่นับเป็นทรัพย์มรดก จึงไม่ต้องเสียภาษี
2. การทำทุนประกันชีวิตเพื่อชำระภาษีมรดก เหมาะสำหรับผู้ที่มีที่ดินจำนวนมาก โดยเงินเอาประกันสามารถนำมาใช้ชำระภาษีต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้องกับมรดกได้
3. การแบ่งมรดกเท่าเทียม คือ สร้างความเท่าเทียมในการรับมรดกให้กับทายาททุกคน โดยเฉพาะผู้ที่ไม่ได้รับส่วนแบ่งจากธุรกิจครอบครัว ด้วยการทำประกันชีวิตให้กับทายาทเหล่านั้น
4. สร้างมรดกก้อนใหญ่ ใช้เงินน้อย เหมาะสำหรับผู้ที่ต้องการสร้างมรดกให้ลูกหลานจำนวนมาก แต่มีเงินทุนจำกัด โดยการทำประกันชีวิตจะช่วยให้สามารถสร้างมรดกที่มีมูลค่าสูงได้ ด้วยการจ่ายเบี้ยประกันในจำนวนที่ไม่สูงมาก
3. ทำพินัยกรรม
โดยอาจารย์ชินภัทร กล่าวว่า การทำพินัยกรรมเพื่อจัดสรรปันส่วนทรัพย์สินก่อนเสียชีวิตให้แก่บุคคลที่ต้องการ เป็นเรื่องสำคัญอย่างยิ่งและต้องทำอย่างชัดเจน เพื่อป้องกันปัญหาภายหลัง
การทำพินัยกรรมสามารถช่วยลดภาระภาษีมรดกของทายาทได้ทางอ้อม เช่น การแบ่งทรัพย์สินให้ทายาทหลายคน การยกเว้นภาษีมรดกให้คู่สมรส หรือการยกเว้นภาษีมรดกให้ทรัพย์สินบางประเภท
4. การทำธรรมนูญครอบครัว
เป็นการสร้างข้อตกลงร่วมกันระหว่างสมาชิกในครอบครัว เพื่อกำหนดบทบาท หน้าที่ สิทธิประโยชน์ และแนวทางการแก้ไขปัญหาความขัดแย้งที่อาจเกิดขึ้นจากธุรกิจของครอบครัว
อาจารย์ชินภัทร กล่าวว่า การจัดทำธรรมนูญครอบครัว ควรตอบคำถามให้ได้ก่อนว่า ทำเพื่ออะไร และทำเพื่อใคร เพราะธรรมนูญครอบครัว เป็นการบริหารทรัพย์สินของกงสี ซึ่งเป็นเอกสารของครอบครัวที่ต้องวางหลักการ กฎ กติกา ของสมาชิกในครอบครัวให้ชัดเจน
โดยธรรมนูญครอบครัวจะไม่มีผลผูกพันทางกฎหมาย แต่ต้อง “เชื่อมโยง” กฎหมาย และ “สัมพันธ์” ภาษีให้ใช้งานได้จริง และสามารถกำหนดกระบวนการจัดการอย่างเป็นรูปธรรม เพื่อลดความขัดแย้งภายในครอบครัว และส่งผลทำให้ธุรกิจของครอบครัวเติบโตได้อย่างมั่นคง
ทั้งหมดนี้ เป็นความเข้มข้นจากงานสัมมนา THE WISDOM Wealth Decoded เจาะลึกกลยุทธ์ของการวางแผนบริหารจัดการมรดกและภาษีมรดกให้ได้ประโยชน์สูงสุดตั้งแต่ต้นน้ำยันปลายน้ำ เพื่อส่งต่อความมั่งคั่งที่ยั่งยืนให้กับคนรุ่นหลังต่อไป
สำหรับแบบประกันที่จะเป็นตัวช่วยในการวางแผนส่งมอบมรดก ตามรูปแบบที่ได้กล่าวมาข้างต้น เดอะวิสดอมกสิกรไทย ขอแนะนำ ประกันชีวิต พรีเมียร์ เลกาซี่
ที่จะช่วยส่งต่อความมั่งคั่งจากรุ่น...สู่รุ่น อย่างไม่สะดุด ช่วยให้คุณวางใจได้ว่า สามารถส่งมอบหลักประกันครอบครัวสู่คนที่รักอย่างมีประสิทธิภาพ เพิ่มพูนความมั่งคั่ง และคลายกังวลเรื่องภาษีมรดกที่อาจเกิดขึ้น
ตอบโจทย์เรื่องการส่งต่อมรดกได้เป็นอย่างดี เพราะทุนประกันสูง เริ่มต้นตั้งแต่ 10 ล้านบาทขึ้นไป และสามารถทำทุนประกันได้สูงสุดถึง 500 ล้านบาทเลยทีเดียว นอกจากนี้ยังมีข้อดีคือ
- ให้ความคุ้มครองชีวิตสูง คุ้มครองตั้งแต่วันแรกที่กรมธรรม์อนุมัติ ยาวนานถึงอายุ 99 ปี
- จ่ายเบี้ยสั้นหรือยาว เลือกเองได้ เลือกชำระเบี้ยครั้งเดียว, 5 ปี, 10 ปี หรือ จ่ายถึงครบอายุ 99 ปี
- ส่งมอบหลักประกันให้ครอบครัว ได้ตามเจตนารมณ์ที่ต้องการ
- ช่วยบริหารภาษีได้อย่างมีประสิทธิภาพ สินไหมมรณกรรมไม่ถือเป็นมรดก ไม่มีภาระทางภาษี
- ค่าเบี้ยลดหย่อนภาษีได้ สูงสุด 100,000 บาท ตามเกณฑ์ที่กรมสรรพากรกำหนด
การส่งต่อความมั่งคั่งไปยังรุ่นลูกรุ่นหลานหรือคนที่เรารักเป็นเรื่องใกล้ตัวที่ควรวางแผน เพื่อให้มั่นใจได้ว่า หากเราไม่อยู่แล้ว คนที่เรารักจะสานต่อสิ่งที่เราได้สร้างไว้ให้หรือได้ใช้ประโยชน์จากทรัพย์สินที่เราตั้งใจมอบไว้ให้กับเขาอย่างแท้จริง…
คำเตือน: ผู้ซื้อควรทำความเข้าใจในรายละเอียดความคุ้มครองและเงื่อนไขก่อนตัดสินใจทำประกันภัยทุกครั้ง กรณีกรมธรรม์ไม่ได้ระบุผู้รับประโยชน์หรือระบุไว้แต่เสียชีวิตก่อนหรือพร้อมกับผู้เอาประกันภัย ผลประโยชน์ตามกรมธรรม์จะตกแก่กองมรดกของผู้เอาประกันภัย
References:
- สรุปสัมมนา THE WISDOM Wealth Decoded รู้ลึก รู้ทันภาษี ลงทุนดีไม่พลาดเป้า จัดโดยเดอะวิสดอมกสิกรไทย
- https://www.rd.go.th/272.html
- https://www.live-platforms.com/th/

เรื่องที่คุณอาจสนใจ

SPONSORED
© 2024 Longtunman. All rights reserved. Privacy Policy.
Blockdit Icon