สรุป ค่าใช้จ่ายหลัก 4 ประเภท ในงบกำไรขาดทุน แบบเข้าใจง่าย ๆ

สรุป ค่าใช้จ่ายหลัก 4 ประเภท ในงบกำไรขาดทุน แบบเข้าใจง่าย ๆ

สรุป ค่าใช้จ่ายหลัก 4 ประเภท ในงบกำไรขาดทุน แบบเข้าใจง่าย ๆ /โดย ลงทุนแมน
บริษัทในตลาดหลักทรัพย์ไทย มีอัตรากำไรสุทธิเฉลี่ย 6%
หรือพูดอีกอย่างก็คือ ยอดขายทุก ๆ 100 บาทของบริษัท เฉลี่ยแล้ว จะมีค่าใช้จ่ายเฉลี่ย 94 บาท เหลือเป็นกำไรสุทธิ 6 บาท
ถ้าเราดูในงบกำไรขาดทุน จะเห็นว่าค่าใช้จ่าย จะแบ่งออกเป็น 4 ประเภทหลัก ๆ ได้แก่
1. ต้นทุนขายสินค้าและบริการ หรือ COGS
2. ค่าใช้จ่ายในการขายและบริหาร หรือ SG&A
3. ดอกเบี้ย
4. ภาษี
แล้วค่าใช้จ่ายแต่ละประเภท มีรายละเอียดอย่างไรบ้าง ?
ลงทุนแมนจะสรุปให้ฟัง แบบเข้าใจง่าย ๆ
╔═══════════╗
ภาวะเงินเฟ้อ ตลาดผันผวนแบบนี้ ติดตามข่าวเศรษฐกิจแบบเน้น ๆ จากหลายเพจได้ใน Blockdit - คอนเทนต์แพลตฟอร์มที่มีผู้ใช้งานเป็นประจำ 2 ล้านคน ลองใช้ฟรี blockdit.com/download
╚═══════════╝
ในงบกำไรขาดทุน เราสามารถแบ่งค่าใช้จ่าย ออกเป็น
1. ต้นทุนขายสินค้าและบริการ หรือ COGS คือ ต้นทุนที่เกี่ยวข้องกับสินค้าหรือบริการของบริษัทโดยตรง เช่น
- ต้นทุนวัตถุดิบ
- ต้นทุนการเก็บรักษา
- ค่าจ้างพนักงานฝ่ายผลิต หรือพนักงานฝ่ายบริการในธุรกิจบริการ
หากธุรกิจใดใช้วัตถุดิบที่เป็นสินค้าโภคภัณฑ์ ที่ราคาผันผวนตามตลาดโลก เช่น โรงไฟฟ้า มีวัตถุดิบเป็นก๊าซธรรมชาติ
ก็จะทำให้ต้นทุนใน COGS มีความผันผวนมากตามไปด้วย และจะส่งผลกระทบต่อความผันผวนต่อกำไรของบริษัทด้วย
2. ค่าใช้จ่ายในการขายและบริหาร หรือ SG&A
คือ ค่าใช้จ่ายที่ไม่ได้สัมพันธ์กับสินค้าหรือบริการของบริษัทโดยตรง เช่น
- ค่าใช้จ่ายในการโฆษณา
- ค่าเช่าสำนักงาน
- ค่าจ้างพนักงานฝ่ายสำนักงาน หรือเงินเดือนผู้บริหาร
ค่าใช้จ่ายส่วนนี้ มักจะเป็นไปตามสภาพเศรษฐกิจ หากเศรษฐกิจโดยรวมเติบโต การโฆษณา การขยายอาคารสำนักงาน หรือค่าจ้าง ก็จะปรับตัวสูงขึ้นตาม
ในทางตรงกันข้าม หากอยู่ในช่วงที่เศรษฐกิจไม่ดี ค่าใช้จ่ายส่วนนี้จะถูกหั่นออกเป็นส่วนแรก
ตัวอย่างที่เห็นได้ชัดก็คือ ปรากฏการณ์ Tech Layoffs ที่เหล่าบริษัทเทคโนโลยีในสหรัฐอเมริกา ต่างพากันเลิกจ้างพนักงานที่ไม่ได้เกี่ยวข้องกับตัวธุรกิจหลัก เพื่อลดภาระค่าใช้จ่าย และเพื่อให้บริษัทยังสามารถทำกำไรได้ในยามที่เศรษฐกิจไม่เป็นใจ
ทีนี้ มันจะมีค่าใช้จ่ายอีกประเภท ที่อยู่ได้ทั้งใน ต้นทุนขายสินค้าหรือบริการ และค่าใช้จ่ายในการขายและบริหาร
เรากำลังพูดถึง ค่าใช้จ่ายที่เรียกว่า “ค่าเสื่อมราคา”
โดยการที่เราจะดูว่า ค่าเสื่อมราคาเป็นค่าใช้จ่ายประเภทไหนนั้น ก็จะขึ้นอยู่กับลักษณะของธุรกิจ และการใช้งานสิ่งของนั้น ๆ ว่าเกี่ยวข้องกับสินค้าหรือบริการโดยตรงหรือไม่
ยกตัวอย่างให้เห็นภาพ เช่น
การซื้อเครื่องถ่ายเอกสาร สำหรับเปิดร้านรับถ่ายเอกสาร
ค่าเสื่อมราคาของเครื่องถ่ายเอกสาร จะบันทึกใน COGS
เพราะถือเป็นการลงทุนที่มีความเกี่ยวข้องโดยตรงกับการให้บริการ
แต่ในกรณีของธุรกิจทั่วไป
ค่าเสื่อมราคาของเครื่องถ่ายเอกสาร จะถูกบันทึกใน SG&A เพราะไม่ได้เกี่ยวข้องกับสินค้าหรือบริการโดยตรง นั่นเอง
3. ดอกเบี้ย
เป็นค่าใช้จ่าย ที่เกิดจากหนี้ของกิจการ เช่น ดอกเบี้ยเงินกู้จากธนาคาร หรือดอกเบี้ยจากหุ้นกู้
แต่ก็มีหนี้บางประเภท ที่กิจการไม่ต้องเสียดอกเบี้ย เช่น เจ้าหนี้การค้า
โดยมากแล้ว บริษัทที่มีหนี้เยอะ ภาระค่าใช้จ่ายดอกเบี้ยก็จะเยอะตาม กำไรที่บริษัทควรจะได้อย่างเต็มเม็ดเต็มหน่วย ก็จะถูกแบ่งไปจ่ายค่าใช้จ่ายในส่วนนี้
แต่ก็ไม่ใช่ว่ากิจการที่มีหนี้เยอะจะแย่เสมอไป เพราะหากเป็นหนี้ที่ก่อไว้จากการไปลงทุนเพื่อสร้างการเติบโตในอนาคต ก็ถือเป็นหนี้ที่ดี ได้เหมือนกัน
4. ภาษี
เป็นค่าใช้จ่ายที่เกิดขึ้น หากกิจการมีกำไร
ทั้งนี้ ธุรกิจบางประเภทที่ได้รับการสนับสนุนจากภาครัฐ อาจได้รับสิทธิประโยชน์ทางภาษี ทั้งได้รับการยกเว้นภาษี หรือลดหย่อนภาษี
ตัวอย่างเช่น ธุรกิจที่ได้รับการส่งเสริมการลงทุนจาก BOI
รวมถึงหลายประเทศ ก็ใช้การยกเว้นภาษี เพื่อดึงดูด
ให้บริษัทต่างประเทศเข้าไปตั้งฐานการผลิต ในประเทศของตัวเอง เช่น อุตสาหกรรมการผลิตชิป หรือแม้แต่รถยนต์ไฟฟ้า
มาถึงตรงนี้ เราน่าจะพอเข้าใจค่าใช้จ่ายต่าง ๆ ที่แสดงอยู่ในงบกำไรขาดทุนของบริษัทมากขึ้น
แต่ก็ต้องบอกว่าธุรกิจแต่ละประเภท ก็มีลักษณะของต้นทุน และค่าใช้จ่ายที่แตกต่างกัน นั่นจึงทำให้เราไม่สามารถนำต้นทุนของธุรกิจต่างประเภท มาเปรียบเทียบกันโดยตรง
การทำความเข้าใจโครงสร้างค่าใช้จ่าย ถือเป็นอีกหัวใจสำคัญ ที่จะช่วยให้เราคาดการณ์ผลประกอบการของบริษัทได้ และนำไปประเมินมูลค่าธุรกิจ ได้อย่างเหมาะสม..
╔═══════════╗
ภาวะเงินเฟ้อ ตลาดผันผวนแบบนี้ ติดตามข่าวเศรษฐกิจแบบเน้น ๆ จากหลายเพจได้ใน Blockdit - คอนเทนต์แพลตฟอร์มที่มีผู้ใช้งานเป็นประจำ 2 ล้านคน ลองใช้ฟรี blockdit.com/download
╚═══════════╝
ติดตามลงทุนแมนได้ที่
Website - longtunman.com
Blockdit - blockdit.com/longtunman
Facebook - facebook.com/longtunman
Twitter - twitter.com/longtunman
Instagram - instagram.com/longtunman
YouTube - youtube.com/longtunman
TikTok - tiktok.com/@longtunman
Spotify - open.spotify.com/show/4jz0qVn1AL7tRMHiTvMbZH
Apple Podcasts - podcasts.apple.com/th/podcast/ลงทุนแมน/id1543162829
Soundcloud - soundcloud.com/longtunman
References
-https://www.investopedia.com/terms/c/cogs.asp
-https://www.investopedia.com/terms/s/sga.asp

เรื่องที่คุณอาจสนใจ

SPONSORED
© 2024 Longtunman. All rights reserved. Privacy Policy.
Blockdit Icon