กรณีศึกษา ลำพูน ศูนย์กลางอุตสาหกรรม ของภาคเหนือ

กรณีศึกษา ลำพูน ศูนย์กลางอุตสาหกรรม ของภาคเหนือ

กรณีศึกษา ลำพูน ศูนย์กลางอุตสาหกรรม ของภาคเหนือ /โดย ลงทุนแมน
209,668 บาท คือ GPP ต่อหัวของชาวลำพูนในปี 2563
เรียกได้ว่าสูงที่สุดในภาคเหนือของไทย และสูงเป็นอันดับที่ 17 ของประเทศ
ลำพูนเป็นจังหวัดเล็ก ๆ มีประชากรเพียง 400,000 คน
มีเขตตัวเมืองตั้งอยู่ไม่ไกลจากตัวเมืองจังหวัดเชียงใหม่
โดยปัจจัยสำคัญที่ทำให้ลำพูน กลายเป็นจังหวัดที่มีรายได้ต่อหัวสูงก็เพราะภาคอุตสาหกรรม
ซึ่งลำพูน เป็นที่ตั้งของเขตอุตสาหกรรมที่ใหญ่ที่สุดในภาคเหนือ
แล้วเขตอุตสาหกรรมของจังหวัดลำพูน มีที่มาอย่างไร ?
ลงทุนแมนจะเล่าให้ฟัง
╔═══════════╗
Blockdit เป็นแพลตฟอร์ม สำหรับนักอ่าน และนักเขียน
ที่มีผู้ใช้งาน 2 ล้านคน ลองใช้แพลตฟอร์มนี้เพื่อได้ไอเดียใหม่ๆ
แล้วอาจพบว่าสังคมนี้เหมาะกับคนเช่นคุณ
Blockdit. Ideas Happen. Blockdit.com/download
╚═══════════╝
ย้อนกลับไปในปี 2526
ที่เป็นจุดเปลี่ยนสำคัญ ของจังหวัดเล็ก ๆ ที่เงียบสงบในภาคเหนือ
ประชากรส่วนใหญ่ในจังหวัดลำพูนมีอาชีพเป็นเกษตรกร และมีผลิตผลทางการเกษตรที่โดดเด่นก็คือ ลำไย และกระเทียม
ในเวลานั้น ภาครัฐบาลต้องการขยายพื้นที่อุตสาหกรรม จากกรุงเทพมหานครและปริมณฑล
ไปยังส่วนภูมิภาค โดยวางแผนจะจัดตั้งนิคมอุตสาหกรรมขึ้นในภาคเหนือ
เขตอำเภอเมืองลำพูน กลายเป็นตัวเลือกที่น่าสนใจ ด้วยความที่อยู่ไม่ไกลจากตัวเมืองจังหวัดเชียงใหม่
มีการคมนาคมที่สะดวก และตัวเมืองจังหวัดลำพูนยังเจริญเติบโตช้า ราคาที่ดินยังไม่สูงเท่าเขตเมืองจังหวัดเชียงใหม่ สามารถพัฒนาให้เติบโต กลายเป็นฐานการผลิตส่งเสริมกับจังหวัดเชียงใหม่ได้
นิคมอุตสาหกรรมภาคเหนือ จึงดำเนินการก่อสร้างในเขตอำเภอเมืองลำพูน ด้วยพื้นที่ประมาณ 1,800 ไร่ สร้างเสร็จในปี 2528 ถือเป็นนิคมอุตสาหกรรมแห่งแรกในระดับภูมิภาค ที่ตั้งอยู่นอกเขตกรุงเทพมหานครและปริมณฑล
ในช่วงแรก การลงทุนในเขตนิคมอุตสาหกรรมภาคเหนือ ถูกวางไว้ให้เป็นอุตสาหกรรมแปรรูปผลิตผลทางการเกษตร เพราะจังหวัดลำพูนเป็นแหล่งเพาะปลูกพืชผลหลายชนิด
แต่จุดเปลี่ยนสำคัญของนิคมอุตสาหกรรมแห่งนี้ คือหลังจากปี 2528
ที่เกิดเหตุการณ์ที่เรียกว่า “Plaza Accord”
ในช่วงปี 2523 ถึงปี 2528 ค่าเงินดอลลาร์สหรัฐแข็งค่าขึ้นอย่างมาก เมื่อเทียบกับเงินสกุลหลักของโลก
หนึ่งในนั้นคือ เงินเยนของญี่ปุ่น จนเริ่มทำให้สหรัฐอเมริกาขาดดุลการค้าอย่างหนักกับญี่ปุ่น
พอเรื่องเป็นแบบนี้ สหรัฐอเมริกาจึงต้องการลดค่าเงินดอลลาร์สหรัฐ เมื่อเทียบกับเงินเยน
ซึ่งนำไปสู่การทำข้อตกลง ที่เรียกว่า Plaza Accord ณ โรงแรมพลาซา นครนิวยอร์ก ในปี 2528
ข้อตกลงในครั้งนั้น ทำให้เงินเยนของญี่ปุ่นต่อดอลลาร์สหรัฐ แข็งค่าขึ้นราว 50%
การที่ค่าเงินเยนของญี่ปุ่นแข็งค่าขึ้น ก็ส่งผลให้สินค้าที่ผลิตในญี่ปุ่น มีราคาแพงขึ้นกว่าเท่าตัว
ทั้งยังส่งผลกระทบอย่างหนักต่อภาคการส่งออกของญี่ปุ่น ซึ่งในขณะนั้น เป็นประเทศผู้ส่งออกสินค้าอิเล็กทรอนิกส์อันดับ 1 ของโลก
บริษัทเอกชนของญี่ปุ่นหลายแห่ง จึงจำเป็นต้องย้ายฐานการผลิตไปสู่ประเทศที่ยังมีต้นทุนการผลิตที่ต่ำกว่า โดยมองมาที่ประเทศที่มีต้นทุนค่าแรงต่ำในอาเซียน ที่อยู่ไม่ไกลจากญี่ปุ่นมาก
และมีโครงสร้างพื้นฐานที่ดีในระดับหนึ่ง ซึ่งก็คือ “ประเทศไทย”
บริษัทญี่ปุ่นจึงโยกย้ายฐานการผลิต มาตั้งโรงงานในประเทศไทย
ทำให้มูลค่าการลงทุนจากต่างประเทศของไทย ในช่วงปี 2528 ถึงปี 2531 เพิ่มขึ้นเป็นเกือบ 4 เท่าตัว
โดยในช่วงแรกนั้น โรงงานยังคงกระจุกตัวอยู่ในแถบกรุงเทพมหานครและปริมณฑล
แต่ต่อมาเกิดปัญหาการขนส่ง ทั้งวัตถุดิบและสินค้า เพราะมีปัญหาการจราจร
รวมถึงความแออัดของท่าเรือกรุงเทพ ราคาที่ดิน และค่าแรงก็เริ่มสูงขึ้น
นักลงทุนบางส่วนเลยมองหาทำเลอื่น ๆ ซึ่งเขตอุตสาหกรรมในจังหวัดลำพูน ก็เป็นเขตที่น่าสนใจ
โดยเฉพาะกลุ่มอุตสาหกรรมชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิกส์
สำหรับปัจจัยที่ทำให้เขตอุตสาหกรรมในจังหวัดลำพูน เป็นที่น่าสนใจสำหรับผู้ประกอบการชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิกส์ นอกจากราคาที่ดิน และสิทธิประโยชน์ทางภาษี ได้แก่
ประการที่ 1 ทำเลที่อยู่ไม่ไกลจากสนามบินเชียงใหม่ สะดวกต่อการขนส่ง
นิคมอุตสาหกรรมตั้งอยู่ห่างจากสนามบินเชียงใหม่ เพียง 25 กิโลเมตร จึงเหมาะกับการตั้งโรงงานชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิกส์ ที่ส่วนใหญ่มีขนาดเล็ก และมีน้ำหนักเบา สามารถขนส่งทางอากาศได้อย่างสะดวก ทั้งวัตถุดิบและตัวสินค้า
ประการที่ 2 อยู่ใกล้แหล่งน้ำ
นิคมอุตสาหกรรมภาคเหนือตั้งอยู่ใกล้กับแม่น้ำกวง ซึ่งเป็นแหล่งน้ำธรรมชาติของจังหวัดลำพูน
ทำให้ผู้ประกอบการมั่นใจได้ว่าจะมีแหล่งน้ำเพียงพอ สำหรับกระบวนการผลิตชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิกส์
ประการที่ 3 แรงงานราคาถูก
ด้วยค่าครองชีพในจังหวัดลำพูน ที่ต่ำกว่าแถบกรุงเทพมหานครและปริมณฑล รวมถึงมีแรงงานท้องถิ่นอยู่พอสมควร ทั้งแรงงานในจังหวัดลำพูนเอง และจังหวัดอื่น ๆ ในเขตภาคเหนือตอนบน
ด้วยปัจจัย 3 ประการ โรงงานชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิกส์สัญชาติญี่ปุ่น จึงได้เริ่มย้ายฐานการผลิตมาอยู่ที่จังหวัดลำพูนในปี 2531
โดยบริษัทที่ยังคงดำเนินการมาจนถึงปัจจุบัน เช่น Murata Electronics, Fujikura, Electro Ceramics และ Tanaka Precision
ด้วยความคึกคักของนิคมอุตสาหกรรม จึงนำมาสู่การขยายตัวของธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ต่าง ๆ เพื่อรองรับการเข้ามาของแรงงาน ทั้งหอพัก หมู่บ้าน และร้านอาหาร
ในขณะที่พนักงานและผู้บริหารชาวญี่ปุ่น ก็ทำให้เกิดการบริการต่าง ๆ ที่ขยายไปจนถึงเขตจังหวัดเชียงใหม่ ทั้งหมู่บ้านจัดสรร สนามกอล์ฟ ร้านอาหาร สถานพยาบาล และเป็นปัจจัยหนึ่งที่ทำให้มีการจัดตั้งสถานกงสุลใหญ่ญี่ปุ่น ในตัวเมืองจังหวัดเชียงใหม่
เขตอุตสาหกรรมขยายตัวเพิ่มมากขึ้น จนในปี 2538 มีโรงงานในเขตนิคมอุตสาหกรรมภาคเหนือกว่า 61 โรงงาน และดึงดูดแรงงานหลายหมื่นคนจากทั่วภาคเหนือ นำมาสู่เศรษฐกิจที่ขยายตัวอย่างต่อเนื่อง ทั้งภาคอสังหาริมทรัพย์ ภาคการค้า และภาคบริการ
อย่างไรก็ตาม อุตสาหกรรมที่ขยายตัวก็ได้ทำให้เกิดปัญหาตามมา โดยเฉพาะปัญหาด้านสิ่งแวดล้อม
แม่น้ำกวงที่เคยใสสะอาด กลับเต็มไปด้วยมลพิษ จนกลายเป็นแม่น้ำที่ปนเปื้อนมลพิษสูงสุดในภาคเหนือ คุณภาพของน้ำที่ไหลผ่านตัวเมืองจังหวัดลำพูน โดยรวมอยู่ในเกณฑ์เสื่อมโทรมถึงเสื่อมโทรมมาก จากการตรวจสอบของสำนักงานสิ่งแวดล้อมภาคที่ 1
และแม้ว่าในปัจจุบัน โรงงานอุตสาหกรรมจะมีการควบคุมในเรื่องของการบำบัดน้ำเสียแล้ว แต่เขตที่อยู่อาศัยของแรงงานในโรงงานกว่า 50,000 คน ยังไม่ได้รับการบำบัดที่เพียงพอ และยังคงมีการปล่อยของเสียลงสู่แม่น้ำอย่างต่อเนื่อง ซึ่งก็ต้องติดตามกันต่อไปว่า ปัญหานี้จะถูกแก้ไขอย่างไร
ปัจจุบัน ผลิตภัณฑ์มวลรวมของจังหวัดลำพูน กว่า 52% มีที่มาจากภาคอุตสาหกรรม มีนิคมอุตสาหกรรม 3 แห่ง คือ นิคมอุตสาหกรรมภาคเหนือ นิคมอุตสาหกรรมเวิลด์ ลำพูน และสวนอุตสาหกรรม เครือสหพัฒน์
อุตสาหกรรมส่วนใหญ่เป็นอุตสาหกรรมชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิกส์ นอกจากบริษัทญี่ปุ่นแล้ว
ก็มีบริษัทของไทยอย่าง Hana Microelectronics
- อุตสาหกรรมแปรรูปอาหาร มีโรงงานของเครือสหพัฒนพิบูล และโรงงานของบริษัท Pepsi-Cola (Thai) Trading
- อุตสาหกรรมเครื่องประดับ มีโรงงาน Pandora และ International Metal and Jewelry (IMAJ)
- อุตสาหกรรมเลนส์ มีโรงงาน Hoya Optics
โดยญี่ปุ่นยังคงเป็นสัญชาติที่ครองสัดส่วนมูลค่าการลงทุนมากที่สุด กว่า 80%
และครองสัดส่วนโรงงานราว 50%
ส่วนโรงงานของบริษัทไทย มีสัดส่วนอยู่ที่ 30% และมีมูลค่าการลงทุนประมาณ 8%
เศรษฐกิจของจังหวัดลำพูน มีที่มาจากภาคอุตสาหกรรมเป็นหลัก
และเป็นเพียงไม่กี่จังหวัด ที่เศรษฐกิจยังคงขยายตัวอย่างต่อเนื่องในปี 2563 แม้จะเผชิญกับวิกฤติโควิด 19
หลายบริษัทมีการลงทุนขยายพื้นที่โรงงาน โดยเฉพาะ Murata Electronics
แผนการในอนาคตของภาคเอกชนในจังหวัดลำพูน คือการผลักดันให้มีการตั้งนิคมอุตสาหกรรมเพิ่มอีก 1 แห่ง ในเขตอำเภอเมืองลำพูน คือนิคมอุตสาหกรรมจามเทวี
เพื่อรองรับการขยายตัวของอุตสาหกรรมชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิกส์ และเป็นศูนย์กลางของอุตสาหกรรมใหม่ ๆ
อย่างอุปกรณ์เครื่องมือแพทย์
ก็เป็นที่น่าติดตามต่อไปว่า เศรษฐกิจของจังหวัดลำพูนจะเติบโตต่อไปอย่างไร
เมื่อภาคอุตสาหกรรมที่สำคัญอยู่แล้ว จะมีสัดส่วนเพิ่มมากขึ้นไปอีก
และในตอนนี้คงเรียกได้ว่า ลำพูน ได้กลายเป็นศูนย์อุตสาหกรรมที่สำคัญของภาคเหนือ และประเทศไทย ไปเรียบร้อยแล้ว..
╔═══════════╗
หนังสือ BRANDING THE NATION หนังสือที่เล่าถึงการสร้างแบรนด์ของแต่ละประเทศที่ทำให้ แต่ละประเทศเป็นแบบทุกวันนี้
เช่น ทำไมเยอรมนีเป็นประเทศแห่งรถยนต์ ทำไมฝรั่งเศสเป็นประเทศแห่งแบรนด์หรู
สั่งซื้อเลยที่
Lazada : https://www.lazada.co.th/products/i3719091419.html
Shopee : https://shopee.co.th/ลงทุนแมน-หนังสือ-BRANDING-THE-NATION-สร้างแบรนด์-แทนประเทศ-i.116732911.17558974952
╚═══════════╝
ติดตามลงทุนแมนได้ที่
Website - longtunman.com
Blockdit - blockdit.com/longtunman
Facebook - facebook.com/longtunman
Twitter - twitter.com/longtunman
Instagram - instagram.com/longtunman
Line - page.line.me/longtunman
YouTube - youtube.com/longtunman
TikTok - tiktok.com/@longtunman
Spotify - open.spotify.com/show/4jz0qVn1AL7tRMHiTvMbZH
Apple Podcasts - podcasts.apple.com/th/podcast/ลงท-นแมน/id1543162829
Soundcloud - soundcloud.com/longtunman
References
-ธารา บัวคำศรี, ลำพูนใต้เงาอุตสาหกรรม
-https://www.nesdc.go.th/ewt_dl_link.php?nid=12387&filename=gross_regional
-http://www.lamphun.go.th/uploads/19/2021-11/76a688aee292f7d0c2ae6b0fe4df3f97.pdf
-http://www.nrie.org/about
-https://www.prachachat.net/local-economy/news-780943
-http://reo01.mnre.go.th/attachment/iu/download.php?WP=qUIcnKt5pQEgZKqCGWOghJstqTgcWat0pQugZ3pkGQWgG2rDqYyc4Uux

เรื่องที่คุณอาจสนใจ

SPONSORED
© 2024 Longtunman. All rights reserved. Privacy Policy.
Blockdit Icon