กรณีศึกษา 60 ปี ไทยออยล์ บริษัทโรงกลั่นน้ำมัน ที่มีขนาดใหญ่สุดในประเทศไทย

กรณีศึกษา 60 ปี ไทยออยล์ บริษัทโรงกลั่นน้ำมัน ที่มีขนาดใหญ่สุดในประเทศไทย

กรณีศึกษา 60 ปี ไทยออยล์ บริษัทโรงกลั่นน้ำมัน ที่มีขนาดใหญ่สุดในประเทศไทย
ไทยออยล์ X ลงทุนแมน
ปัจจุบันโรงกลั่นนํ้ามันในประเทศไทยมีอยู่ 6 แห่ง
แต่รู้หรือไม่ว่า โรงกลั่นน้ำมันที่มีขนาดใหญ่และมีอัตราการกลั่นน้ำมันสูงที่สุดในประเทศ
ก็คือโรงกลั่นน้ำมันไทยออยล์
โดยสามารถกลั่นน้ำมันต่อวันได้ถึง 275,000 บาร์เรล
หรือคิดเป็น 22% ของอัตราการกลั่นน้ำมันทั้งหมดในประเทศ
เมื่ออัตราการกลั่นน้ำมันสูงขนาดนี้
ก็ย่อมส่งผลให้ไทยออยล์กลายเป็นผู้จำหน่ายน้ำมันเชื้อเพลิงสำเร็จรูปอันดับหนึ่ง
โดยมีส่วนแบ่งตลาด 31% ของปริมาณน้ำมันสำเร็จรูปที่ขายในประเทศ
เรื่องนี้ใครจะคิดว่าหากเราย้อนกลับไปเมื่อ 60 ปีที่แล้ว
ซึ่งเป็นจุดเริ่มต้นของบริษัท ณ วันนั้น โรงกลั่นไทยออยล์ กลั่นน้ำมันได้เพียง 35,000 บาร์เรลต่อวัน
แต่ปัจจุบันสามารถกลั่นน้ำมันได้มากกว่าเดิมเกือบ 8 เท่าเลยทีเดียว
ที่น่าสนใจ หลายคนอาจไม่รู้ว่า เส้นทางธุรกิจตลอด 60 ปี
บริษัทแห่งนี้เกี่ยวข้องกับชีวิตประจำวันของคนไทยอยู่หลายอย่างเลยทีเดียว
ส่วนอีกเรื่องที่น่าสนใจไม่แพ้กัน
ก็คือในอนาคตไทยออยล์ จะไม่ได้พึ่งพาแค่ธุรกิจโรงกลั่นน้ำมันอย่างเดียว
แต่ขยายไปยังธุรกิจปลายน้ำอย่าง ธุรกิจปิโตรเคมี ที่เป็นผลิตภัณฑ์มูลค่าสูง
จนถึงการลงทุนธุรกิจใหม่ ๆ ที่เป็น New S-Curve เพื่อก้าวสู่การเป็นบริษัทพลังงานที่ยั่งยืน
เรื่องราวทั้งหมดนี้น่าสนใจและน่าติดตามมากแค่ไหน
ลงทุนแมนจะเล่าให้ฟัง
ย้อนกลับไป 60 ปีที่แล้ว รัฐบาลไทยในยุคนั้น ได้สังเกตเห็นว่าการบริโภคน้ำมันภายในประเทศ
กำลังเติบโตขึ้นเรื่อย ๆ แต่กลับไม่มีโรงกลั่นน้ำมันดิบของคนไทยเลย
ผลที่ตามมาคือ ในแต่ละปีประเทศไทยต้องนำเข้าน้ำมันจากต่างประเทศด้วยเม็ดเงินมหาศาล
รัฐบาลไทยจึงมีแนวความคิดให้นักลงทุนไทยเข้ามาสร้างโรงกลั่น
โดยคุณเชาว์ เชาว์ขวัญยืน ก็ได้ยื่นข้อเสนอขอตั้งโรงกลั่นน้ำมัน และได้รับเลือกในที่สุด
พร้อมกับได้รับสิทธิในการทำธุรกิจโรงกลั่นน้ำมัน
ซึ่งในเวลานั้นก็มีบริษัท Shell และบริษัท Caltex เป็นผู้ร่วมทุนด้วย
โดยธุรกิจก็ประสบความสำเร็จอย่างเกินคาด
ทำให้มีการเพิ่มทุนจดทะเบียนจนในเวลาต่อมาในปี พ.ศ. 2522 ปตท. ได้เข้าถือหุ้น 49%
จากนั้นไทยออยล์ก็มีการลงทุนอย่างต่อเนื่องเพื่อขยายกำลังการผลิตของโรงกลั่น
แม้ทุกอย่างจะดูสวยหรู แต่ก็มีเหตุการณ์ไม่คาดคิดเมื่อในปี พ.ศ. 2541
บริษัทต้องเผชิญกับความท้าทายเมื่อเศรษฐกิจในประเทศตกต่ำ ส่งผลต่อรายได้
จนทำให้บริษัทต้องเจรจาปรับปรุงโครงสร้างหนี้
แต่ด้วยการแก้ปัญหาได้ถูกจุดทำให้ในอีก 2 ปีต่อมา ไทยออยล์ ก็สามารถฟื้นฟูกิจการบริษัทได้
พร้อมกับผลการดำเนินธุรกิจที่เติบโตต่อเนื่อง
จนมาถึงจุดเปลี่ยนครั้งสำคัญก็คือในปี พ.ศ. 2547
บริษัทฯ ได้เปลี่ยนสถานะเป็นบริษัท มหาชน ทำการซื้อขายในตลาดหลักทรัพย์ฯ
และเพียงแค่วันแรกก็มีการซื้อขายสูงสุดถึง 13,016 ล้านบาท ซึ่งเป็นมูลค่าที่สูงที่สุด
เป็นประวัติการณ์ ในขณะนั้น
โดยปัจจุบันไทยออยล์ กลายเป็นบริษัทพลังงานที่มีมูลค่าหลักทรัพย์ตามราคาตลาด (Market Capitalization) 115,772 ล้านบาท (ข้อมูล ณ วันที่ 26 ตุลาคม 2564) โดย ปตท. ยังเป็นผู้ถือหุ้นรายใหญ่อยู่ที่ 45.03%
คำถามก็คือเบื้องหลังความสำเร็จทั้งหมดนี้ เกิดจากอะไร ?
เชื่อหรือไม่ว่าตลอดเวลา 60 ปี ไทยออยล์ คือ บริษัทพลังงานคนไทยที่ไม่เคยหยุดนิ่ง
เพราะนอกจากการเป็นโรงกลั่นน้ำมันเอกชนแห่งแรกของประเทศแล้วนั้น
ไทยออยล์ ยังพัฒนาโรงกลั่นน้ำมันของตัวเองให้มีเทคโนโลยีทันสมัย ซึ่งช่วยให้ผลิตน้ำมันสำเร็จรูปมีคุณภาพสูง
ทำให้โรงกลั่นของไทยออยล์ได้รับการยกย่องว่ามีคุณภาพอันดับต้น ๆ ในภูมิภาคเอเชียแปซิฟิก
ซึ่งพิสูจน์ได้จากรางวัลโรงกลั่นน้ำมันด้านความยั่งยืนระดับโลก
จากดัชนีความยั่งยืนดาวโจนส์ ที่ได้รับต่อเนื่องในทุก ๆ ปี
จากการพัฒนาอย่างต่อเนื่อง ก็เลยทำให้บริษัทแห่งนี้มีโครงสร้างทางการเงินที่แข็งแกร่ง
ปี 2561 สินทรัพย์รวม 268,613 ล้านบาท รายได้จากการขาย 389,042 ล้านบาท
ปี 2562 สินทรัพย์รวม 283,445 ล้านบาท รายได้จากการขาย 361,768 ล้านบาท
ปี 2563 สินทรัพย์รวม 306,188 ล้านบาท รายได้จากการขาย 242,840 ล้านบาท
จะเห็นว่าสินทรัพย์ของบริษัทแห่งนี้เติบโตอย่างต่อเนื่อง
ส่วนปีล่าสุด 2563 ที่รายได้จากการขายลดลงก็มาจากเหตุผลหลัก 2 ประการ
1. สงครามราคาน้ำมันระหว่าง ซาอุดีอาระเบียกับรัสเซียในช่วงปี 2563
ที่ส่งผลให้ราคาน้ำมันดิบอ่อนตัวลงเหลืออยู่ 20 กว่าดอลล่าร์สหรัฐต่อบาร์เรล
2. การแพร่ระบาดของเชื้อโควิด 19 ทั่วโลก นอกจากส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจแล้วนั้น
ก็ยังมีการจำกัดการเดินทางระหว่างประเทศ สายการบินต่าง ๆ ทั่วโลกต้องหยุดบิน
ส่งผลให้ความต้องการใช้น้ำมันในภาคการท่องเที่ยวและการขนส่งลดลงอย่างมาก
แน่นอนย่อมส่งผลให้การกลั่นน้ำมันซึ่งเป็นธุรกิจหลักลดน้อยตามลงไปด้วย
เหตุการณ์นี้ก็น่าจะเป็นเพียงแค่ชั่วคราว
เพราะหากสังเกต ณ วันนี้หลายประเทศสามารถควบคุมการระบาดโควิด 19 ได้ดีขึ้น
อย่างไรก็ตาม ไทยออยล์ ไม่ได้มีแค่ธุรกิจโรงกลั่นน้ำมันเท่านั้น
เพราะจริง ๆ แล้วบริษัทแห่งนี้ ได้ลงทุนในกิจการที่เกี่ยวเนื่องอีกหลายกิจการ อย่างเช่น
ธุรกิจผลิตปิโตรเคมีขั้นต้น, ธุรกิจผลิตน้ำมันหล่อลื่นพื้นฐาน, ธุรกิจผลิตไฟฟ้า,
ธุรกิจเอทานอล, ธุรกิจสารทำละลาย
อีกทั้งด้วยเวลานี้กำลังมีดิสรัปชันในหลาย ๆ อุตสาหกรรมทั่วโลก ทั้งการเปลี่ยนผ่านพลังงาน (Energy Transition) จากน้ำมันเชื้อเพลิงสู่พลังงานไฟฟ้า รวมถึงกระแสการใส่ใจสิ่งแวดล้อม (Environmental Pressure)
ไทยออยล์เองก็ปรับตัวด้วยการต่อยอดจากธุรกิจโรงกลั่นสู่ธุรกิจปิโตรเคมีและผลิตภัณฑ์มูลค่าสูง
เห็นได้จากการที่ไทยออยล์ได้ใช้เงินลงทุนมหาศาลจำนวน 150,000 ล้านบาท
กับโครงการ Clean Fuel Project หรือ CFP เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพ
และขยายกำลังการผลิตน้ำมันปิโตรเลียม
และเมื่อโครงการนี้แล้วเสร็จ ไทยออยล์จะตอบโจทย์การผลิตน้ำมันสะอาดตามมาตรฐาน
Euro 5 ได้ และยังมีผลพลอยได้ทางอ้อมที่จะทำให้สามารถต่อยอดธุรกิจปิโตรเคมีในอนาคต
รวมถึงการเริ่มลงทุนโดยเข้าถือหุ้น 15.38% ในบริษัท PT Chandra Asri Petrochemical Tbk (CAP) ซึ่งเป็นผู้ผลิตเคมีภัณฑ์ครบวงจรชั้นนำรายใหญ่ที่สุดของประเทศอินโดนีเซีย
นอกจากนี้ ไทยออยล์ยังมองการณ์ไกล วางแผนการขยายตลาด และการส่งออกผลิตภัณฑ์ไปสู่ตลาดต่างประเทศ เน้นภูมิภาคที่มีอัตราการเติบโตทางเศรษฐกิจสูงหรือมีฐานการลงทุนที่ไทยออยล์ดำเนินการอยู่แล้ว
และการขยายพอร์ตโฟลิโอโดยลงทุนในธุรกิจใหม่ที่เรียกว่า New S-Curve เพื่อต่อยอดกำไรให้ไปได้ไกลยิ่งขึ้น
ทีนี้หลายคนคงสงสัยว่า การปรับตัวครั้งใหญ่ ของไทยออยล์ มีเป้าหมายอะไร ?
รู้หรือไม่ว่าปัจจุบันรายได้ธุรกิจโรงกลั่นปิโตรเลียมมีสัดส่วนกว่า 70% จากรายได้ทั้งหมด
เพียงแต่วันนี้ ธุรกิจการกลั่น มีการประเมินว่าในอนาคตก็อาจหนีไม่พ้นที่จะถูกดิสรัปชั่นจากธุรกิจข้ามอุตสาหกรรม
หากยังคิดที่จะพึ่งพาแค่ธุรกิจการกลั่นอย่างเดียวเหมือนในอดีต
อาจไม่ใช่คำตอบที่จะทำให้ธุรกิจตัวเองยั่งยืนอยู่ได้ในอนาคต
สิ่งที่ ไทยออยล์ เลือกคือการปรับเปลี่ยนวิธีคิดการดำเนินธุรกิจให้เข้ากับโลกที่มันเปลี่ยนแปลง
จากธุรกิจปิโตรเลียมก็ต่อยอดไปสู่ธุรกิจปิโตรเคมี โดยจะเน้นไปที่กลุ่มสินค้าที่มีมูลค่าสูงเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม
ขณะเดียวกันก็หันมาให้ความสนใจในพอร์ตการลงทุนที่หลากหลายเพื่อสร้าง New S-Curve ใหม่ ๆ
โดยเน้นไปยังกลุ่มธุรกิจ Startup ที่มองว่าเป็นธุรกิจเมกะเทรนด์ในอนาคต
และหากทุกอย่างเป็นไปตามแผนที่วางไว้ สัดส่วนรายได้ธุรกิจของไทยออยล์ในปี 2030
ก็จะเปลี่ยนเป็นธุรกิจโรงกลั่นปิโตรเลียม 40% ธุรกิจปิโตรเคมี 40%, ธุรกิจโรงไฟฟ้า 10%
และธุรกิจใหม่อื่น ๆ 10%
ทีนี้คงพอจะเห็นภาพว่าสัดส่วนธุรกิจอื่น ๆ ที่ไม่ใช่โรงกลั่นจะเพิ่มขึ้นอย่างมีนัยสำคัญ
ซึ่งก็น่าจะทำให้รายได้บริษัทเติบโตกว่าปัจจุบันหลายเท่าตัว
ทีนี้คงพอจะเห็นภาพว่าในอนาคตธุรกิจพลังงานของไทยออยล์
จะไม่ได้ยึดติดอยู่แค่กรอบเดิม ๆ ด้วยคำว่า “น้ำมัน” อย่างเดียวอีกต่อไป
แต่จะต้องเป็นบริษัทพลังงานที่สอดคล้องกับโลกที่กำลังเปลี่ยนไป
และเข้าใกล้ชีวิตประจำวันของคนมากขึ้นกว่าเดิม
และนี่คือแนวคิดของไทยออยล์
เพื่อให้องค์กรตัวเองเติบโตยั่งยืนมีอายุมากกว่า 100 ปี..

References:
-แบบแสดงรายการข้อมูลปี 2563 บริษัท ไทยออยล์ จำกัด (มหาชน)
-https://investor-th.thaioilgroup.com/faq.html
-https://www.thairath.co.th/business/economics/1719709
-https://www.doeb.go.th

เรื่องที่คุณอาจสนใจ

SPONSORED
© 2024 Longtunman. All rights reserved. Privacy Policy.
Blockdit Icon