กรณีศึกษา รถไฟความเร็วสูงในจีน ที่พัฒนาอย่างรวดเร็ว

กรณีศึกษา รถไฟความเร็วสูงในจีน ที่พัฒนาอย่างรวดเร็ว

กรณีศึกษา รถไฟความเร็วสูงในจีน ที่พัฒนาอย่างรวดเร็ว /โดย ลงทุนแมน
ประเทศจีนกลายเป็นผู้นำทางด้านเทคโนโลยีรถไฟความเร็วสูงของโลก
ทั้งความทันสมัย ขนาดโครงการ รวมถึงต้นทุนการผลิตที่ถูกกว่าประเทศอื่น
แต่รู้หรือไม่ว่าปัจจุบัน ประเทศจีนกำลังเผชิญกับดักหนี้มหาศาลจากการพัฒนารถไฟความเร็วสูงเช่นกัน
เทคโนโลยีรถไฟของจีนทันสมัยแค่ไหน
แล้วทำไมมันกลับสร้างภาระหนี้ให้กับประเทศ ?
ลงทุนแมนจะเล่าให้ฟัง
╔═══════════╗
Blockdit เป็นแพลตฟอร์ม สำหรับนักอ่าน และนักเขียน
ที่มีผู้ใช้งาน 1 ล้านคน ลองใช้แพลตฟอร์มนี้เพื่อได้ไอเดียใหม่ๆ
แล้วอาจพบว่าสังคมนี้เหมาะกับคนเช่นคุณ
Blockdit. Ideas Happen. Blockdit.com/download
╚═══════════╝
ในช่วงศตวรรษที่ 21 ประเทศจีนกลายมาเป็นประเทศที่มีขนาดเศรษฐกิจใหญ่เป็นอันดับ 2 ของโลก
ด้วยการเติบโตทางเศรษฐกิจแบบก้าวกระโดด โดย GDP ของจีนเติบโตเป็น 11 เท่าภายในเวลาเพียง 20 ปี
บวกกับจำนวนประชากรทั้งประเทศกว่า 1.4 พันล้านคน ทำให้กิจกรรมทางเศรษฐกิจในประเทศจีนมีมากขึ้น ซึ่งก็ผลักดันให้ความต้องการเดินทางระหว่างเมืองสูงขึ้นด้วย
ตั้งแต่ช่วงปี 1990 เป็นต้นมา รถไฟรูปแบบเดิมที่เคยได้รับความนิยมอย่างมาก
มีจำนวนผู้ใช้บริการน้อยลงจากการพัฒนาทางหลวงและการบินภายในประเทศ
แต่ด้วยขนาดพื้นที่กว่า 9.6 ล้านตารางกิโลเมตร ซึ่งใหญ่กว่าประเทศไทยเกือบ 19 เท่า
ทำให้การเดินทางด้วยรถยนต์ระหว่างเมืองต้องใช้เวลานานหลายชั่วโมง
หากจะให้พึ่งพาเครื่องบิน ก็มีเฉพาะกลุ่มคนเพียงบางกลุ่มที่มีกำลังจ่ายบวกกับการเดินทางด้วยเครื่องบินส่วนใหญ่จะเหมาะสำหรับการเดินทางที่มีระยะทางไกล ซึ่งมันก็ยังไม่ตอบโจทย์กับการเดินทางระยะกลาง ที่มีระยะทางไม่เกิน 1,000 กิโลเมตร
ดังนั้น รัฐบาลจีนจึงตัดสินใจพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานและมีนโยบายผลักดันการพัฒนารถไฟความเร็วสูงเพื่อนำมาแก้ปัญหาดังกล่าว
โดยรัฐบาลจีนได้เริ่มดำเนินการตั้งแต่ปี 2003 และสนับสนุนให้การเดินทางด้วยวิธีนี้เป็นตัวเลือกหลักในการเดินทางระหว่างเมือง
ในช่วงเริ่มแรก ประเทศจีนต้องพึ่งพาเทคโนโลยีรถไฟความเร็วสูงจากยุโรปและญี่ปุ่น
แต่ต่อมา จีนก็ได้เริ่มมีการพัฒนาเทคโนโลยีและการผลิตโดยภาคเอกชนภายในประเทศ
ทำให้โครงข่ายรถไฟความเร็วสูงของจีนเติบโตแบบก้าวกระโดด
ปัจจุบัน โครงข่ายรถไฟความเร็วสูงของจีนมีระยะทางรวมกว่า 37,900 กิโลเมตร ซึ่งนับเป็นระยะทางรวมที่มากที่สุดในโลก ทิ้งห่างอันดับสองอย่างสเปนที่มีเพียง 3,200 กิโลเมตร และญี่ปุ่นที่มี 3,000 กิโลเมตร
นอกจากระยะทางแล้ว อีกเรื่องหนึ่งที่น่าสนใจ
ก็คือความเร็วในการสร้างรถไฟความเร็วสูงของประเทศจีน
รู้หรือไม่ว่ากว่าครึ่งหนึ่งของโครงการรถไฟความเร็วสูงในประเทศจีน
ซึ่งครอบคลุมระยะทางราว 20,000 กิโลเมตร ใช้เวลาสร้างเพียง 5 ปี
ในขณะที่ส่วนต่อขยายเพิ่มเป็น 70,000 กิโลเมตร
ประเทศจีนวางแผนเอาไว้ว่าจะสร้างให้แล้วเสร็จในปี 2035
โดยที่ประเทศจีนสามารถสร้างรถไฟความเร็วสูงได้อย่างรวดเร็ว
นั่นก็เพราะว่าต้นทุนสร้าง ที่ถือว่าถูกมากเมื่อเทียบกับประเทศอื่น
จากรายงานของธนาคารโลกระบุว่าต้นทุนในการสร้างรถไฟความเร็วสูงของประเทศจีนอยู่ที่ 510 ถึง 630 ล้านบาทต่อกิโลเมตร
ในขณะที่ยุโรปมีต้นทุนประมาณ 750 ถึง 1,170 ล้านบาทต่อกิโลเมตร
และสหรัฐอเมริกาเจ้าแห่งเทคโนโลยีกลับมีต้นทุนสูงถึง 1,680 ล้านบาทต่อกิโลเมตร
สำหรับสาเหตุที่ทำให้ต้นทุนในการสร้างของจีนต่ำ
ก็เพราะว่าประเทศจีนมีโรงงานผลิตสินค้าที่เกี่ยวกับรถไฟความเร็วสูงในประเทศทำให้ต้นทุนค่าก่อสร้างและขนส่งถูกลง
นอกจากนี้ การออกแบบการก่อสร้างรวมถึงวัสดุที่ใช้มีมาตรฐานเดียวกันตลอดทั้งโครงการ
จึงทำให้ช่วยลดความยุ่งยากในการก่อสร้างลงและประหยัดค่าใช้จ่าย
อีกปัจจัยสำคัญที่ทำให้ต้นทุนมีราคาถูกคือค่าใช้จ่ายในการเวนคืนที่ดินที่ถูกมาก โดยคิดเป็นประมาณ 8% ของต้นทุนสร้าง ในขณะที่สหรัฐอเมริกามีค่าเวนคืนสูงถึง 17.6% ของต้นทุน
ส่วนหนึ่งเป็นเพราะที่ตั้งของสถานีที่จะอยู่แถบชานเมืองหรือนอกเมืองเป็นหลักเพื่อขยายความเจริญให้กระจายออกจากตัวเมือง ซึ่งที่ดินที่เวนคืนโซนนอกเมืองมีราคาถูกกว่าพื้นที่กลางเมือง
และแม้ว่าต้นทุนที่ใช้ในการก่อสร้างจะมีราคาถูก แต่ระบบของรถไฟความเร็วสูงของจีนก็เรียกได้ว่ามีความทันสมัยและดีไม่แพ้ประเทศอื่น
ยกตัวอย่างเช่น รถไฟหัวกระสุนในเส้นทาง ปักกิ่ง-จางเจียโข่วในมณฑลเหอเป่ย ที่เป็นสายหลักในการรองรับการแข่งขันโอลิมปิกฤดูหนาวในปี 2022 เส้นทางดังกล่าวมีระยะทาง 174 กิโลเมตร ซึ่งปกติแล้วต้องใช้เวลาเดินทางถึง 3 ชั่วโมง
แต่ด้วยเทคโนโลยีในการพัฒนาของจีนทำให้ดันความเร็วสูงสุดที่ 350 กิโลเมตรต่อชั่วโมง ส่งผลให้ระยะเวลาเดินทางลดลงเหลือเพียง 1 ชั่วโมงเท่านั้น และที่สำคัญรถไฟขบวนนี้เป็นระบบไร้คนขับอีกด้วย
นอกจากนี้ รถไฟความเร็วสูงจีนยังมีการนำเทคโนโลยีจดจำใบหน้าและหุ่นยนต์มาใช้เพื่อช่วยเหลือผู้โดยสารภายในสถานีในการนำทาง จัดการสัมภาระ เช็กอิน และไม่มีการใช้ตั๋วกระดาษ
โดยขั้นตอนตั้งแต่การจองจนถึงเดินขึ้นรถจะใช้เพียงการสแกนบัตรประจำตัวหรือหนังสือเดินทางเท่านั้น
ทั้งหมดนี้ สะท้อนให้เห็นว่าจีนได้ก้าวขึ้นมาเป็นหนึ่งในผู้นำเทคโนโลยีรถไฟความเร็วสูงเต็มตัวในระยะเวลาไม่นาน ซึ่งรถไฟความเร็วสูงจีน ก็ได้ทำให้หลายประเทศเริ่มให้ความสนใจ
อย่างเช่น รัสเซีย ที่มีแผนร่วมกับจีนในการเชื่อมต่อเส้นทางรถไฟความเร็วสูงจากกรุงปักกิ่งไปยังกรุงมอสโก ซึ่งกินระยะทางกว่า 7,000 กิโลเมตรและคาดว่าต้องใช้เงินลงทุนทั้งสิ้น 7 ล้านล้านบาท
เส้นทางสายนี้จะยาวเป็นสามเท่าของสาย ปักกิ่ง-กว่างโจว
นอกจากนี้ ยังมีเส้นทางที่ข้ามเทือกเขาหิมาลัยไปยังอินเดีย ปากีสถาน และประเทศกำลังพัฒนาอื่น ๆ ซึ่งโครงการที่กำลังจะเกิดขึ้น ก็จะช่วยผลักดันเศรษฐกิจและการค้าของประเทศให้เติบโตไปพร้อมกัน
หากเรามาดูการเติบโตของการใช้บริการรถไฟความเร็วสูงในประเทศจีนจะเพิ่มขึ้น
จาก 10 ล้านเที่ยวในปี 2008 เป็น 2,300 ล้านเที่ยวในปี 2019
ซึ่งเรียกได้ว่าเป็นการเติบโตที่รวดเร็วมาก

อย่างไรก็ตาม การเติบโตแบบก้าวกระโดดของเทคโนโลยีรถไฟความเร็วสูงจีนก็ไม่ได้มีแต่ด้านดีเสมอไป เพราะทางรัฐบาลจีนที่เป็นผู้กระจายงบการลงทุนในโครงสร้างพื้นฐานรถไฟความเร็วสูงไปยังแต่ละเมือง ได้คาดการณ์ผลตอบแทนผิดพลาด จนนำไปสู่การก่อหนี้มหาศาล เช่นกัน
ในปี 2018 มีรายงานว่า 60% ของผู้ให้บริการรถไฟความเร็วสูงในจีนในแต่ละเมือง ขาดทุนอย่างน้อย 3 พันล้านบาท โดยเฉพาะผู้ให้บริการในเมืองเฉิงตู ที่ขาดทุนสูงถึง 5.4 หมื่นล้านบาท
โดยมีสาเหตุสำคัญมาจากการก่อสร้างรถไฟความเร็วสูงที่มากเกินความจำเป็น ส่งผลให้จำนวนความหนาแน่นของผู้ใช้บริการในบางสายที่ประชากรในละแวกนั้นยังไม่พร้อม ทำให้ไม่คุ้มค่าต่อการเดินรถ
ส่งผลให้ China State Railway Group (CR) ที่มีกระทรวงการคลังเป็นผู้ถือหุ้น โดย CR เป็นเจ้าของโครงข่ายรถไฟความเร็วสูงทั้งหมดในจีน มีค่าใช้จ่ายดอกเบี้ยสูงและเป็นส่วนสำคัญที่ทำให้บริษัทขาดทุนมาโดยตลอด ตั้งแต่ปี 2015
จนมาถึงปัจจุบัน ผลการดำเนินงานของ CR ก็ยังคงขาดทุนและจำเป็นที่จะต้องก่อหนี้กู้ยืมเงินก้อนใหม่เพื่อนำมาจ่ายหนี้ก้อนเก่า
จนกระทั่งในปีนี้หรือปี 2021 รัฐบาลจีนจึงได้สั่งทบทวนการลงทุนในโครงการรถไฟความเร็วสูงทั้งประเทศ โดยเส้นทางการเดินรถของเมืองที่มีต้นทุนสูงและมีหนี้สินมากเกินไปจะถูกระงับการก่อสร้าง
ทั้งหมดนี้ก็เพื่อหยุดภาระหนี้สินก้อนใหญ่ ก่อนที่มันจะสร้างความเสียหายไปมากกว่าที่เป็นอยู่..
╔═══════════╗
Blockdit เป็นแพลตฟอร์ม สำหรับนักอ่าน และนักเขียน
ที่มีผู้ใช้งาน 1 ล้านคน ลองใช้แพลตฟอร์มนี้เพื่อได้ไอเดียใหม่ๆ
แล้วอาจพบว่าสังคมนี้เหมาะกับคนเช่นคุณ
Blockdit. Ideas Happen. Blockdit.com/download
╚═══════════╝
ติดตามลงทุนแมนได้ที่
Website - longtunman.com
Blockdit - blockdit.com/longtunman
Facebook - facebook.com/longtunman
Twitter - twitter.com/longtunman
Instagram - instagram.com/longtunman
Line - page.line.me/longtunman
YouTube - youtube.com/longtunman
Spotify - open.spotify.com/show/4jz0qVn1AL7tRMHiTvMbZH
Apple Podcasts - podcasts.apple.com/th/podcast/ลงท-นแมน/id1543162829
Soundcloud - soundcloud.com/longtunman
References:
-https://www.adb.org/sites/default/files/publication/504076/adbi-wp959.pdf
-https://edition.cnn.com/travel/article/china-high-speed-rail-cmd/index.html
-https://www.globalconstructionreview.com/sectors/why-china-can-build-high-speed-rail34socheaply7365/
-https://www.orfonline.org/expert-speak/chinas-high-speed-railways-plunge-from-high-profits-into-a-debt-trap/
-https://www.businessinsider.com/russia-builds-moscow-to-beijing-high-speed-train-2014-12
-https://www.statista.com/statistics/276054/number-of-train-passengers-in-china/

เรื่องที่คุณอาจสนใจ

SPONSORED
© 2024 Longtunman. All rights reserved. Privacy Policy.
Blockdit Icon