กรณีศึกษา สิงห์ เอสเตท มองเห็นอะไรในธุรกิจโรงงานผลิตไฟฟ้า

กรณีศึกษา สิงห์ เอสเตท มองเห็นอะไรในธุรกิจโรงงานผลิตไฟฟ้า

สิงห์ เอสเตท X ลงทุนแมน
กรณีศึกษา สิงห์ เอสเตท มองเห็นอะไรในธุรกิจโรงงานผลิตไฟฟ้า
ณ วันนี้ เส้นแบ่งกั้นทางธุรกิจกำลังบางลงเรื่อย ๆ
เมื่อหลายบริษัทได้ก้าวข้ามเส้นแบ่งนี้ ด้วยการทำธุรกิจใหม่ ๆ ที่ไม่มีใครคาดคิดว่าจะทำ
ความน่าสนใจของเรื่องนี้ก็คือ..มีหลายบริษัทเลยทีเดียวเมื่อก้าวข้ามเส้นแบ่งนี้
กลับทำได้ดี ไม่แพ้ธุรกิจหลักของตัวเอง หรือแม้แต่คู่แข่งในตลาดที่อยู่ในธุรกิจมาก่อน
โดยหนึ่งในกรณีศึกษาที่น่าสนใจล่าสุด ก็น่าจะเป็นความเคลื่อนไหวของ สิงห์ เอสเตท
ที่ตัดสินใจซื้อหุ้นในธุรกิจโรงงานผลิตไฟฟ้าและความร้อน 3 แห่ง
เรื่องนี้ คงไม่มีใครคาดคิดว่าวันหนึ่งบริษัทอสังหาฯ จะมาทำธุรกิจผลิตไฟฟ้า
เพียงแต่ในโลกของธุรกิจประตูของโอกาสก็ไม่เคยปิดตายสักครั้ง
มันขึ้นอยู่กับว่าเรามองเห็นโอกาสนั้นไหม
แล้ว สิงห์ เอสเตท มองเห็นโอกาสอะไรในธุรกิจนี้
ลงทุนแมน จะวิเคราะห์ให้ฟัง
รู้หรือไม่ว่า ในอีก 14 ปีข้างหน้าหรือปี พ.ศ. 2578 ค่ายรถยนต์ต่าง ๆ จะต้องผลิตรถไฟฟ้า 100%
ตามเป้าหมายที่รัฐบาลจะผลักดันให้ประเทศไทยเป็นฐานการผลิตรถไฟฟ้า
ซึ่งมีการคาดการณ์ไว้ว่าถ้าวันนั้นมาถึง บนท้องถนนเมืองไทยจะมีรถไฟฟ้ารวมกันทุกประเภท 15 ล้านคัน
ก่อนจะถึงวันนั้น ค่ายรถยนต์ก็น่าจะทยอยเปิดตัวรถไฟฟ้าเพิ่มมากขึ้นเรื่อย
พร้อมกับสร้างสถานีชาร์จไฟ ที่เพิ่มมากขึ้นเรื่อย ๆ เช่นกัน
ขณะเดียวกันภาคการผลิตสินค้าต่าง ๆ จะใช้เทคโนโลยีมากขึ้นและต้องพึ่งพาพลังงานไฟฟ้า
นั่นแปลว่า ต่อจากนี้ไปจนถึงอนาคต ความต้องการพลังงานไฟฟ้าจะเพิ่มขึ้นอย่างมหาศาล
แล้ว สิงห์ เอสเตท ก็มองว่านี่คือเมกะเทรนด์ ที่จะอยู่ไปอีกนานแสนนาน
การลงทุนในโรงงานผลิตไฟฟ้าครั้งนี้ จึงเปรียบเสมือนหนึ่งในจิ๊กซอว์
ที่จะทำให้บริษัทยั่งยืนเติบโตต่อไปในอนาคต
ทำให้ สิงห์ เอสเตท ตัดสินใจลงทุน 1,392 ล้านบาท ในธุรกิจนี้
โดยบริษัทได้รับสิทธิ์ในการเข้าซื้อหุ้นสามัญ 30% ในโรงงานผลิตไฟฟ้าและความร้อนร่วมขนาดใหญ่ 3 แห่ง
ซึ่งทั้ง 3 โรงงานมีกำลังการผลิตกระแสไฟฟ้ารวมกัน 400 เมกะวัตต์
1. บริษัท อ่างทอง เพาเวอร์ จำกัด ในนิคมอุตสาหกรรมเวิลด์ ฟู๊ด วัลเลย์ ไทยแลนด์ จ. อ่างทอง
โดยปัจจุบันโรงงานแห่งนี้ มีกำลังการผลิต 123 เมกะวัตต์
ที่น่าสนใจคือ กระแสไฟฟ้ากว่า 75% จากกำลังการผลิตทั้งหมดของโรงงานแห่งนี้
ได้ถูกทำสัญญาซื้อ โดยการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย ซึ่งเป็นการเซ็นสัญญานานถึง 25 ปี
นั่นแปลว่าบริษัทจะมีรายได้และกำไรที่สม่ำเสมอ โดยไม่ต้องเหนื่อยกับการหาลูกค้าในช่องทางอื่น ๆ มากนัก
ส่วนโรงงานที่ 2 และ 3 เป็นของบริษัท บี. กริม เพาเวอร์ (ราชบุรี) 1 จำกัด และบริษัท บี. กริม เพาเวอร์ (ราชบุรี) 2 จำกัด โดยอยู่ระหว่างก่อสร้าง และกำหนดเปิดโรงงานในปี พ.ศ. 2566
โดยมีกำลังการผลิต 140 เมกะวัตต์ ต่อ 1 โรงงาน
สรุปแล้วก็คือทั้ง 3 โรงงานมีกำลังการผลิตกระแสไฟฟ้ารวมกัน 400 เมกะวัตต์ เลยทีเดียว
และคาดว่าภายในอีก 3 ปีข้างหน้าหรือปี พ.ศ. 2567
โรงงานผลิตกระแสไฟฟ้าทั้ง 3 แห่ง จะสร้างรายได้รวมกันกว่า 7,500 ล้านบาท
ซึ่งการจะไปถึงจุดนั้นได้ สิงห์ เอสเตท มองว่าจำเป็นต้องใช้เทคโนโลยีสมัยใหม่
เข้ามาช่วยลดต้นทุนในการผลิต
การลงทุนด้วยเม็ดเงิน 1,392 ล้านบาทกับรายได้มหาศาลที่จะเกิดขึ้นในอนาคต
นับเป็นดีลที่สำคัญที่ทาง สิงห์ เอสเตท มองว่าไม่ต้องเริ่มต้นธุรกิจใหม่ด้วยคำว่า “ศูนย์”
ทีนี้คงพอจะเห็นภาพคร่าว ๆ แล้วว่าทำไม สิงห์ เอสเตท ถึงเลือกลงทุนในธุรกิจนี้
พร้อมกับตั้งเป้าหมายว่าธุรกิจโรงงานผลิตไฟฟ้าจะเป็นหนึ่งในจิ๊กซอว์ชิ้นสำคัญ
ที่จะทำให้อีก 3 ปีข้างหน้า รายได้บริษัทจะเพิ่มขึ้นเป็น 3 เท่า
หรือคิดเป็นรายได้ 20,000 ล้านบาทต่อปี
ความน่าสนใจของเรื่องนี้ยังไม่หมดแค่นั้น เมื่อ สิงห์ เอสเตท มีไอเดียนำธุรกิจโรงงานผลิตไฟฟ้า
มาต่อยอดธุรกิจหลักอย่างอสังหาฯ ของตัวเอง แต่จะเป็นในรูปแบบไหนนั้น คงต้องติดตามกันต่อไป
ถึงตรงนี้ การลงทุนครั้งนี้ของ สิงห์ เอสเตท คงไม่ต่างจากการที่เราจะลงทุนซื้ออะไรสักอย่างหนึ่ง
ไม่ว่าจะเป็น ซื้อหุ้น ซื้อทองคำซื้ออสังหาฯ เพื่อการลงทุน
โดยคาดหวังว่าเงินที่ลงทุนไปนั้น มันจะงอกเงยขึ้นมาในอนาคต
แต่จะเป็นจริงอย่างที่คาดหวังหรือไม่นั้น
มันขึ้นอยู่กับว่าตัวเราเองมองเห็นอนาคตกับสิ่งที่เราลงทุนหรือไม่ ?
เหมือนอย่างที่ สิงห์ เอสเตท มองว่าธุรกิจโรงงานผลิตไฟฟ้า
คือเมกะเทรนด์ ที่ในอนาคตความต้องการในประเทศจะมีอย่างมหาศาล
และจะทำให้เม็ดเงินที่ลงทุนไปในตอนนี้ สร้างผลตอบแทนที่คุ้มค่า
จนทำให้ สิงห์ เอสเตท กลายเป็นบริษัทอสังหาฯ ที่ยั่งยืนในอนาคต นั่นเอง
References
-ข่าวประชาสัมพันธ์บริษัท สิงห์ เอสเตท จํากัด (มหาชน)
-ข่าวประชาสัมพันธ์ สภา อุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย

เรื่องที่คุณอาจสนใจ

SPONSORED
© 2024 Longtunman. All rights reserved. Privacy Policy.
Blockdit Icon