แบงก์สหรัฐตั้งสำรองหนี้สูญเพิ่มเป็น 5 เท่า แล้วแบงก์ไทยจะเป็นอย่างไร?

แบงก์สหรัฐตั้งสำรองหนี้สูญเพิ่มเป็น 5 เท่า แล้วแบงก์ไทยจะเป็นอย่างไร?

แบงก์สหรัฐตั้งสำรองหนี้สูญเพิ่มเป็น 5 เท่า แล้วแบงก์ไทยจะเป็นอย่างไร? /โดย ลงทุนแมน
เมื่อไม่นานมานี้..
กองทุนการเงินระหว่างประเทศ หรือ IMF
ออกมาประมาณการเศรษฐกิจโลกว่าปีนี้
เรามีแนวโน้มเข้าสู่ภาวะเศรษฐกิจตกต่ำครั้งใหญ่ที่สุด
นับตั้งแต่ Great Depression ปี 1930 หรือ 90 ปีก่อน
เรื่องนี้สะท้อนให้เห็นว่าเหตุการณ์โควิด-19
กำลังเป็นอุปสรรคต่อทุกธุรกิจไม่ว่าเล็กหรือใหญ่
ที่หากบริษัทไม่สามารถผ่านบททดสอบครั้งนี้ได้
ไม่ว่าใครก็มีโอกาสล้มละลายในระดับที่เท่าๆ กัน
แน่นอนว่าผู้แบกรับการล้มลงของธุรกิจเหล่านี้
ก็คือ สถาบันการเงิน ที่ได้ปล่อยเงินกู้ยืมให้กับบริษัทในอุตสาหกรรมต่างๆ
ไม่กี่วันที่ผ่านมา สถาบันการเงินในประเทศสหรัฐอเมริกา
ทยอยประกาศผลประกอบการไตรมาสล่าสุด ซึ่งเราก็อาจจะนำมา
ประเมินสถานการณ์คร่าวๆ กับธนาคารในประเทศไทยที่กำลังจะทยอย
ประกาศผลประกอบการตามมาเร็วๆ นี้
แล้วไตรมาสที่ผ่านมา ธนาคารในสหรัฐอเมริกาเป็นอย่างไร?
ลงทุนแมนจะเล่าให้ฟัง
╔═══════════╗
Blockdit แหล่งรวมบทความวิเคราะห์ เจาะลึกแบบ deep content ล่าสุดมีฟีเจอร์พอดแคสต์แล้ว
Blockdit.com/download
╚═══════════╝
หลังจากสถาบันการเงินยักษ์ใหญ่ในประเทศสหรัฐอเมริกา
ประกาศผลประกอบการ สรุปได้ว่า
รายได้ มีบวกบ้าง ลบบ้าง แต่ “กำไร” ของทุกธนาคารหายไปอย่างมีนัยสำคัญ..
Wells Fargo กำไรลดลง 89%
JPMorgan กำไรลดลง 72%
Citigroup กำไรลดลง 46%
Bank of America กำไรลดลง 45%
U.S. Bancorp กำไรลดลง 31%
ที่เป็นแบบนี้ก็เพราะว่าหลายธนาคารในสหรัฐอเมริกากำลังกันสำรองค่าเผื่อหนี้สงสัยจะสูญ (Loan Loss Provision) ในระดับที่ไม่เป็นปกติ
ระดับไม่ปกติที่ว่าคือ สถาบันเหล่านี้กันสำรองค่าเผื่อหนี้สงสัยจะสูญ
รวมกัน 1.84 ล้านล้านบาท คิดเป็น 5 เท่าเมื่อเทียบกับไตรมาสก่อนหน้านั้น
ถ้าสถาบันการเงินสำรองน้อย เราก็อาจตีความได้ว่าเศรษฐกิจโดยรวมยังสุขภาพดี
ถ้าสถาบันการเงินต่างสำรองกันมาก เราก็อาจตีความได้ว่าเศรษฐกิจมีแนวโน้มที่จะแย่ลง
เมื่อการกันสำรองเป็นค่าใช้จ่าย
สิ่งที่เกิดขึ้นก็คือ กำไรของ 5 สถาบันการเงินใหญ่ในประเทศสหรัฐอเมริกา ดิ่งเหวลงทันที
เมื่อตัวเลขสหรัฐอเมริกาออกมาแบบนี้แล้ว
เรามาดูแนวโน้มที่จะเกิดขึ้นกับผลประกอบการของธนาคารในประเทศไทย
ที่กำลังจะทยอยประกาศผลประกอบการไตรมาสที่ 1 เร็วๆ นี้
ธนาคารในประเทศไทยอาจจะไม่ได้มีกำไรลดลงจากการตั้งสำรองเหมือนกับธนาคารในสหรัฐ
เพราะว่าเรายังมีมาตรการจากธนาคารแห่งประเทศไทยที่เข้ามาช่วยเหลือธุรกิจ
ยกตัวอย่างเช่น..
มาตรการช่วยเหลือประชาชน
- บัตรเครดิตและสินเชื่อเงินสด ผ่อนขั้นต่ำเหลือ 5% จาก 10%
- สินเชื่อส่วนบุคคล เลื่อนชำระเงินต้นและดอกเบี้ย 3 เดือน
- สินเชื่อรถ สินเชื่อบ้าน เลื่อนชำระเงินต้นและดอกเบี้ย 3 เดือนหรือพักชำระเงินต้น 6 เดือน
มาตรการช่วยเหลือผู้ประกอบการ SME
วงเงินสินเชื่อไม่เกิน 100 ล้านบาท
- พักชำระเงินต้นและดอกเบี้ย 6 เดือน
วงเงินสินเชื่อไม่เกิน 500 ล้านบาท
- สินเชื่อ Soft Loan ดอกเบี้ย 2% ต่อปี นาน 2 ปี ฟรีดอกเบี้ย 6 เดือนแรก
จากมาตรการเหล่านี้ อาจทำให้ลูกหนี้ยังมีกำลังที่จะผ่อนจ่ายได้ โดยที่ธนาคารไม่จำเป็นต้องตั้งสำรองเป็นจำนวนมากเหมือนกับธนาคารในสหรัฐ
แต่เมื่อลูกหนี้ผ่อนขั้นต่ำลดลง หรือพักชำระดอกเบี้ย นั่นเท่ากับว่า รายได้ดอกเบี้ยของธนาคารประเทศไทยไตรมาสนี้มีแนวโน้มที่จะเติบโตน้อยลง
และจะมีปัญหามากขึ้นในไตรมาสที่ 2 ปีนี้
นอกจากนั้น
รายได้ที่ไม่ใช่ดอกเบี้ยก็มีแนวโน้มที่จะเติบโตลดลงเช่นกัน
เนื่องจากการปิดสาขาธนาคารจำนวนมากในห้าง ทำให้ธนาคารไม่สามารถเก็บค่าธรรมเนียมได้ เช่น ค่าธรรมเนียมธุรกรรมทางการเงิน ค่านายหน้าขายประกัน และค่านายหน้าซื้อหน่วยลงทุน
นอกจากผลกระทบต่อรายได้แล้ว
อีกเรื่องสำคัญก็คือ การปรับโครงสร้างหนี้
ลูกหนี้ที่ไม่เป็นหนี้เสีย ให้จัดเป็นลูกหนี้ปกติโดยไม่ต้องรายงานสถานะเป็นลูกหนี้ปรับโครงสร้างหนี้
ลูกหนี้ที่เป็นหนี้เสีย ให้เลื่อนขั้นเป็นลูกหนี้ปกติได้ หากชำระหนี้ได้ 3 เดือนหรือ 3 งวดติดต่อกัน
(จากเดิม 12 เดือน)
เรื่องนี้จะส่งผลโดยตรงไปยังมูลค่าการกันเงินสำรองเพื่อรองรับผลเสียหายที่อาจจะเกิดขึ้นจากสินทรัพย์และภาระผูกพัน เช่น เงินให้สินเชื่อ ที่แต่ละธนาคารอาจจะมีมุมมองการตั้งสำรองที่แตกต่างกัน
บางธนาคารอาจจะกันสำรองแบบอนุรักษ์นิยมเพื่อประมาณการผลกระทบที่แย่สุดไว้ล่วงหน้า
ในขณะที่บางธนาคารอาจกันสำรองไว้บางส่วน และมีเทคนิควิธีการ เพื่อรักษาระดับกำไรให้ไม่ติดลบจนเกินไป
ดังนั้นสิ่งที่เราจะได้เห็นก็คือ
การเปลี่ยนแปลงของกำไรแต่ละธนาคาร
อาจดีหรือไม่ดีแตกต่างกันไป
โดยที่ตัวเลขเหล่านั้น
อาจไม่สะท้อนสิ่งที่กำลังเกิดขึ้นจริง ณ ปัจจุบัน ได้เลย..
เพราะแม้แต่ตัวธนาคารเอง ก็ไม่รู้ว่ากิจการที่ให้สินเชื่อไป ในอนาคตจะอยู่รอดจากวิกฤตินี้ได้หรือไม่
และก็ไม่รู้ว่าควรจะสำรองมากน้อยแค่ไหน
อย่าว่าแต่ธนาคาร
แม้แต่ตัวเจ้าของกิจการเอง ยังไม่รู้ด้วยซ้ำ ว่าตัวเขาเองจะเป็นอย่างไร
กว่าจะรู้ตัวอีกทีก็อาจพบว่า เขาไม่มีปัญญา หาเงินมาจ่ายคืนธนาคารแล้ว ไม่ว่าธนาคารจะเลื่อนชำระหนี้ออกไปกี่เดือนก็ตาม..
----------------------
Blockdit แหล่งรวมบทความวิเคราะห์ เจาะลึกแบบ deep content ล่าสุดมีฟีเจอร์พอดแคสต์แล้ว
Blockdit.com/download
----------------------
ติดตามลงทุนแมนได้ที่
Website - longtunman.com
Blockdit - blockdit.com/longtunman
Facebook - facebook.com/longtunman
Twitter - twitter.com/longtunman
Instagram - instagram.com/longtunman
Line - page.line.me/longtunman
YouTube - youtube.com/longtunman
References
-Yahoo Finance
-Bank of Thailand
-https://www.bot.or.th/Thai/ResearchAndPublications/articles/Pages/Article_06Nov2019.aspx
-https://www.ft.com/content/374de9f7-4746-4d3f-82e6-32fa749b9cd1

เรื่องที่คุณอาจสนใจ

SPONSORED
© 2024 Longtunman. All rights reserved. Privacy Policy.
Blockdit Icon