4 ประเทศ ที่ขนาดเศรษฐกิจเท่าไทย แต่คนน้อยกว่า 7 เท่า

4 ประเทศ ที่ขนาดเศรษฐกิจเท่าไทย แต่คนน้อยกว่า 7 เท่า

4 ประเทศ ที่ขนาดเศรษฐกิจเท่าไทย แต่คนน้อยกว่า 7 เท่า /โดย ลงทุนแมน
ปัจจุบัน ประเทศไทยมีขนาดเศรษฐกิจราว 17 ล้านล้านบาท มาจากคนไทย 66 ล้านคน
แต่รู้ไหมว่า มีอีก 4 ประเทศบนโลกนี้ที่ขนาดเศรษฐกิจเท่ากันหรือใกล้เคียงกับประเทศไทย แต่มีคนในประเทศน้อยกว่าถึง 7 เท่า
พูดอีกอย่าง คือ ประเทศเหล่านี้ใช้คนน้อยกว่า ในการสร้างมูลค่าทางเศรษฐกิจให้เท่าประเทศไทยได้
4 ประเทศนี้มีอะไรบ้าง ?
ลงทุนแมนจะเล่าให้ฟัง
╔═══════════╗
ภาวะเงินเฟ้อ ตลาดผันผวนแบบนี้ ติดตามข่าวเศรษฐกิจแบบเน้น ๆ จากหลายเพจได้ใน Blockdit - คอนเทนต์แพลตฟอร์มที่มีผู้ใช้งานเป็นประจำ 2 ล้านคน ลองใช้ฟรี blockdit.com/download
╚═══════════╝
หลายคนอาจแย้งว่า เทียบกันยากเพราะแต่ละประเทศก็มีค่าครองชีพ และโครงสร้างเศรษฐกิจแตกต่างกัน
อย่างไรก็ดี การจะรู้สาเหตุว่า อะไรคือเบื้องหลังการเติบโตของเศรษฐกิจที่แท้จริงได้ เราก็ต้องหาว่า ประชากรมีส่วนร่วมกับเศรษฐกิจของประเทศอย่างไร
เริ่มจากการเปรียบเทียบขนาดเศรษฐกิจโดยอาศัย Nominal GDP ซึ่งก็คือขนาดเศรษฐกิจในปีนั้น ๆ เพื่อวิเคราะห์ 4 ประเทศที่จะพูดถึงต่อไปนี้
นั่นคือ สหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ สิงคโปร์ ออสเตรีย และอิสราเอล ซึ่งมีขนาดเศรษฐกิจเท่าไทย โดยถ้าเราไปดูข้อมูล ก็จะพบว่า
- ออสเตรีย มีประชากรอยู่ราว 9 ล้านคน
ทำงานในภาคบริการและอุตสาหกรรม 96%
ที่สามารถสร้างเศรษฐกิจคิดเป็น 99% ของทั้งหมด
- สหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ มีประชากรอยู่ราว 9.5 ล้านคน
ทำงานในภาคบริการและอุตสาหกรรม 98%
ที่สามารถสร้างเศรษฐกิจคิดเป็น 98% ของทั้งหมด
- อิสราเอล มีประชากรอยู่ราว 9.7 ล้านคน
ทำงานในภาคบริการและอุตสาหกรรม 99%
ที่สามารถสร้างเศรษฐกิจคิดเป็น 99% ของทั้งหมด
- สิงคโปร์ มีประชากรอยู่ราว 5.9 ล้านคน
ทำงานส่วนใหญ่ในภาคบริการและอุตสาหกรรม
ที่สามารถสร้างเศรษฐกิจคิดเป็น 99% ของทั้งหมด
ส่วนประเทศไทย เรามีประชากร 66 ล้านคน
ทำงานในภาคบริการและอุตสาหกรรม 70%
ที่สามารถสร้างเศรษฐกิจคิดเป็น 91% ของทั้งหมด
ดูแค่นี้ก็อาจไม่เห็นความแตกต่างมากนัก เพราะทั้งไทยและอีก 4 ประเทศนี้ คนส่วนใหญ่ก็ยังทำงานในภาคบริการและอุตสาหกรรม ที่สร้างมูลค่าทางเศรษฐกิจส่วนใหญ่ให้ประเทศ
แต่ปัญหาคือ อีก 30% ของคนไทย ยังทำงานในภาคเกษตรกรรม ที่โดยรวมแล้วสร้างมูลค่าทางเศรษฐกิจได้แค่ 9% ของทั้งประเทศ
ซึ่งตัวเลข 30% นี้คิดเป็นกว่า 19 ล้านคน มากกว่าจำนวนคนใน 4 ประเทศที่พูดมาทั้งหมดนี้
และทั้ง 4 ประเทศ มีคนทำงานในภาคเกษตรกรรมราว 1-4% ของประชากรเท่านั้น
ความแตกต่างตรงนี้เอง กลายเป็นหนึ่งในปัญหาใหญ่ของประเทศไทย เพราะแรงงานในภาคเกษตรกรรมมีจำนวนมาก แต่กลับสร้างมูลค่าทางเศรษฐกิจได้น้อย
นอกจากการทำงานของคนในประเทศที่ต่างกันแล้ว
แล้วประเทศเหล่านี้ วางแผนให้คนในประเทศทำงานอะไรบ้าง ?
เริ่มกันที่ออสเตรีย
การพัฒนาประเทศนี้ เริ่มต้นด้วยการเป็นฐานการผลิตชิ้นส่วนและประกอบรถยนต์ เพราะมีที่ตั้งติดกับเยอรมนี ที่เป็นเจ้าแห่งการผลิตรถยนต์ระดับโลกอยู่แล้ว
ก่อนที่ต่อมาจะขยายไปยังอุตสาหกรรมบริการทางการเงิน จนกลายเป็นฮับการเงินสำคัญของประเทศในยุโรปตะวันออก
นอกจากนี้ ภาคเกษตรกรรมของออสเตรีย ยังถูกต่อยอดให้มีมูลค่าสูงขึ้นด้วยการทำเกษตรอินทรีย์ จนสร้างมูลค่าทางเศรษฐกิจ 4% ของประเทศ แม้ใช้คนเพียง 1% ของประเทศ
ต่างจากประเทศไทย ที่ภาคเกษตรกรรมใช้คนมากถึง 30% ของทั้งหมด แต่กลับสร้างมูลค่าทางเศรษฐกิจได้เพียง 9% ของประเทศเท่านั้น
ต่อมาคือ สหรัฐอาหรับเอมิเรตส์
หลายคนคงบอกว่า ประเทศนี้โชคดีอยู่แล้วเพราะมีน้ำมัน แต่น้ำมันก็มีวันหมดได้ ทำให้สหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ก็ไม่ได้พึ่งความโชคดีที่ได้มาจากธรรมชาติแบบนี้ตลอดไป
กลับกัน สามารถสร้างจุดแข็งของตัวเองใหม่ ด้วยการสร้างตัวเองให้กลายเป็นศูนย์กลางการบินระดับโลกอย่างดูไบ ที่ให้เครื่องบินมาแวะพักจอดเพื่อเดินทางต่อ
จนปัจจุบัน ก็มีสายการบิน Emirates ที่มีเจ้าของคือ
รัฐบาลดูไบ ซึ่งเป็นการต่อยอดความได้เปรียบของอุตสาหกรรมการบินของประเทศตัวเองที่สร้างขึ้นมา
ส่วนอิสราเอล ก็เป็นอีกประเทศหนึ่งที่คล้ายสหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ เพราะมีพื้นที่ส่วนใหญ่เป็นทะเลทราย แต่ก็เอาชนะโชคชะตาด้วยการวิจัยและพัฒนาเทคโนโลยีเข้ามาช่วยส่งเสริม จนกลายเป็นประเทศที่สามารถปลูกพืชได้ โดยใช้ระบบเทคโนโลยีน้ำหยดผ่านรากของพืชโดยตรง
ซึ่งเทคโนโลยีนี้ก็ไม่ได้มาจากไหน แต่มาจากการสนับสนุนสตาร์ตอัปในประเทศของรัฐบาล จนอิสราเอลกลายเป็นหนึ่งในประเทศที่มีสตาร์ตอัปยูนิคอร์น อันดับต้น ๆ ของโลก
โดยไม่ได้มีแค่สตาร์ตอัปที่เกี่ยวกับเกษตรกรรมเท่านั้น เพราะยังมีธุรกิจที่เกี่ยวกับการเงิน การทหาร เทคโนโลยีความปลอดภัยทางไซเบอร์ และอื่น ๆ อีกมากมาย
อีกประเทศ นั่นคือ สิงคโปร์
สิงคโปร์เริ่มต้นจากเกาะที่ไม่มีอะไรเลย จึงหันมาพัฒนาระบบการศึกษาของตัวเอง เพื่อให้คนในประเทศมีความพร้อมต่อการพัฒนาประเทศในอนาคต
และในเมื่อไม่มีทรัพยากรอะไรเลย สิงคโปร์ก็วางกลยุทธ์ตัวเองด้วยการนำเข้าสินค้าจากต่างประเทศ แล้วค่อยส่งออกสินค้าอีกครั้งด้วยมูลค่าที่สูงขึ้น
ตัวอย่างที่ชัดเจนเลยคือ การเป็นผู้ส่งออกน้ำมันอันดับ 4 ของโลก ซึ่งมาจากการพัฒนาอุตสาหกรรมโรงกลั่นน้ำมันแบบครบวงจรเพื่อให้บริษัทต่างชาติเข้ามาตั้งโรงงาน
เมื่ออุตสาหกรรมเริ่มแข็งแกร่ง สิงคโปร์ก็หันไปพัฒนาบริการทางการเงินของประเทศตัวเองให้น่าเชื่อถือ จนตอนนี้กลายเป็นหนึ่งในศูนย์กลางทางการเงินที่สำคัญของโลก
สรุปแล้ว ทั้ง 4 ประเทศนี้มีทั้งทรัพยากรที่มีอยู่แล้วหรืออาจไม่มีทรัพยากรอะไรเลย ต่างก็มีจุดที่เหมือนกัน นั่นคือ การวางแผนเพื่อพัฒนาอุตสาหกรรมในประเทศของตัวเอง
โดยเริ่มต้นจากอุตสาหกรรมหรือธุรกิจที่ซับซ้อนน้อย
ไปสู่สิ่งที่ซับซ้อนมากขึ้น ซึ่งทำให้ตามมาด้วยงานในประเทศที่มีมูลค่าสูงขึ้นตามไปด้วย
สุดท้าย ก็ทำให้คนในประเทศ สามารถทำงานที่สร้างมูลค่าทางเศรษฐกิจที่สูงให้ประเทศ จนทำให้แม้จะมีคนน้อย แต่ก็มีเศรษฐกิจใหญ่ไม่แพ้ประเทศอื่นที่คนเยอะกว่าได้
เหมือนกับ 4 ประเทศอย่าง สหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ ออสเตรีย อิสราเอล และสิงคโปร์ มีคนน้อยกว่าไทย 7-10 เท่า ก็สร้างเศรษฐกิจให้ใกล้เคียงกับไทยได้ในปัจจุบัน
สรุปแล้ว เราก็ต้องเข้าใจว่าการมีคนกว่า 3 ใน 10 อยู่ในภาคเกษตรกรรม ไม่ใช่เรื่องที่ผิด แต่สิ่งที่ต้องทำ คือการทำให้คนเหล่านั้น สามารถสร้างมูลค่าทางเศรษฐกิจให้มากขึ้น
เพราะต่อให้เราย้ายคนจากภาคเกษตรกรรม ไปใส่ไว้ในอุตสาหกรรมอื่น ๆ แต่กลับไม่พัฒนาเทคโนโลยี หรือทักษะของคนให้สูงขึ้น
สุดท้าย ก็จะไม่สามารถหาทางเพิ่มมูลค่าทางเศรษฐกิจให้กับอุตสาหกรรมนั้น ๆ ได้..
╔═══════════╗
ภาวะเงินเฟ้อ ตลาดผันผวนแบบนี้ ติดตามข่าวเศรษฐกิจแบบเน้น ๆ จากหลายเพจได้ใน Blockdit - คอนเทนต์แพลตฟอร์มที่มีผู้ใช้งานเป็นประจำ 2 ล้านคน ลองใช้ฟรี blockdit.com/download
╚═══════════╝
ติดตามลงทุนแมนได้ที่
Website - longtunman.com
Blockdit - blockdit.com/longtunman
Facebook - facebook.com/longtunman
Twitter - twitter.com/longtunman
Instagram - instagram.com/longtunman
YouTube - youtube.com/longtunman
TikTok - tiktok.com/@longtunman
Spotify - open.spotify.com/show/4jz0qVn1AL7tRMHiTvMbZH
Apple Podcasts - podcasts.apple.com/th/podcast/ลงทุนแมน/id1543162829
Soundcloud - soundcloud.com/longtunman
References
-https://www.longtunman.com/17526
-https://www.imf.org/en/Blogs/Articles/2024/10/31/asias-economies-can-embrace-services-to-boost-growth-and-productivity
-https://www.austria.org/economy-2
-https://www.statista.com/statistics/385875/employment-by-economic-sector-in-austria
-https://www.statista.com/topics/10356/automotive-industry-in-austria
-​https://international.groupecreditagricole.com/en/international-support/austria/economic-overview
-https://lookerstudio.google.com/u/0/reporting-https://www.nso.go.th/public/e-book/Indicators-Thailand/Thailand-Indicators-2567/22/
-https://www.tradeclub.standardbank.com/portal/en/market-potential/united-arab-emirates/economical-context
-https://www.statistik.at/en/statistics/national-economy-and-public-finance/national-accounts/gross-domestic-product-and-main-aggregates
-https://boi.org.il/en/economic-roles/statistics/real-economic-activity/labor-market-and-demography/
-https://www.singstat.gov.sg/publications/reference/ebook/economy/labour-employment-wages-and-productivity
-https://www.statista.com/statistics/1500399/israel-gdp-by-sector/

เรื่องที่คุณอาจสนใจ

SPONSORED
© 2024 Longtunman. All rights reserved. Privacy Policy.
Blockdit Icon