กรณีศึกษา วุฒิศักดิ์คลินิก
วุฒิศักดิ์คลินิก เป็นบริษัทย่อยของบริษัท EFORL ที่จดทะเบียนในตลาดหุ้นไทย รายงานว่าปี 2559 มีรายได้ที่หดตัวลง 37% จากปีก่อนหน้า และทำให้กำไรขั้นต้นเหลือ -54 ล้านบาท จากปีก่อนหน้าที่กำไร 602 ล้านบาท หรือ ลดลง 109%
สรุปง่ายๆคือ ปีที่แล้ววุฒิศักดิ์คลินิกขาดทุน. เหตุผลที่บริษัท EFORL อธิบายคือเนื่องจาก เศรษฐกิจที่ชะลอตัว จำนวนคู่แข่งมากขึ้นทั้งทางตรงและทางอ้อม รวมถึงมีการนำเข้าสินค้าที่ไม่ถูกต้องเข้ามาแข่งด้านราคา
ย้อนกลับไปปี 2557 มีข่าวใหญ่ว่าบริษัท EFORL ซื้อกิจการวุฒิศักดิ์คลินิก 4,500 ล้านบาท โดยกู้เงินจากธนาคารมากว่า 3,000 ล้านบาท ซึ่งถือว่าเป็นการ leverage ที่หนักมาก การ leverage เยอะขนาดนี้มีทั้งข้อดีและข้อเสีย
ข้อดีคือถ้าผลออกมาดีก็จะช่วยเร่งผลตอบแทนได้มาก ส่วนข้อเสียก็คือถ้าซื้อแล้วกิจการไม่เป็นไปตามที่คาด นอกจากจะขาดทุนที่ตัวกิจการเองแล้ว ยังไม่มีเงินพอจ่ายดอกเบี้ยเงินกู้อีกด้วย
เวลาผ่านไป 2 ปี ผลลัพธ์ออกมาดูเหมือนจะเป็นแบบหลัง คือสภาพธุรกิจเปลี่ยนไปแล้วจากการแข่งขันมากมาย และการเปลี่ยนแปลงของผู้บริโภค จนล่าสุด บริษัท EFORL ต้องประกาศเพิ่มทุนจำนวนมากเพื่อเสริมสภาพคล่อง และในวันที่ 17 มีนาคมที่ผ่านมา บริษัท WCIH บริษัทลูกของ EFORL ผิดนัดชำระหนี้กับกองทุนโซลาริส ยิ่งเป็นสัญญาการขาดสภาพคล่องของบริษัท EFORL มากขึ้นอีก
ที่น่าสนใจคือ ราคาหุ้น EFORL ร่วงจากจุดสูงสุดที่ 1.98 บาท เหลือ 0.14 บาทในปัจจุบัน หรือ -92.9% หมายความว่าถ้าเราซื้อหุ้น EFORL 1,000,000 บาท เมื่อ 2 ปีที่แล้ว ปัจจุบันจะเหลือเงินเพียง 70,700 บาท ขาดทุน 929,300 บาท
ตลาดหุ้นบางทีก็โหดร้ายแบบนี้ ก่อนจะคิดว่าเราจะได้กำไรมากสุดเท่าไร อาจจะต้องคิดกลับกันว่าเรายอมรับขาดทุนได้มากสุดเท่าไร