กรณีศึกษา สวนสยาม รีแบรนด์

กรณีศึกษา สวนสยาม รีแบรนด์

กรณีศึกษา สวนสยาม รีแบรนด์ / โดย ลงทุนแมน
หากพูดถึงคำว่า “ทะเล-กรุงเทพฯ”
คนไทยแทบทุกคนจะนึกถึงสวนสยามเป็นแห่งแรก
สวนสยาม ไม่ได้ตั้งอยู่ติดทะเล แต่เกิดจากความฝันของคุณไชยวัฒน์ เหลืองอมรเลิศ นักธุรกิจพัฒนาที่ดิน ที่อยากให้คนกรุงเทพฯและคนไทย มีสถานที่พักผ่อนที่ทันสมัย และมีทะเล ที่อยู่ไม่ไกลเกินไป
สวนสยามเปิดให้บริการครั้งแรกในปี พ.ศ. 2523 นับถึงวันนี้ ก็เป็นเวลาเกือบ 40 ปีแล้ว ที่สวนสนุกแห่งนี้ได้สร้างความทรงจำให้กับผู้คนจากรุ่นสู่รุ่น
หากลองย้อนดูรายได้ของสวนสยาม
บริษัท สยามพาร์ค บางกอก จำกัด
ปี 2561 มีรายได้ 378.9 ล้านบาท
บริษัท สยามพาร์คซิตี้ จำกัด มีรายได้ดังนี้
ปี 2561 มีรายได้ 28.0 ล้านบาท
เมื่อรวมรายได้ทั้ง 2 บริษัท สวนสยามมีรายได้หลายร้อยล้านบาท โดยลูกค้าเป็นคนไทยกว่า 85% ซึ่งก็ยังถือว่าเป็นสวนสนุกที่ทำรายได้มากเป็นอันดับต้นๆ ของประเทศไทย
อย่างไรก็ตาม ทุกธุรกิจต้องปรับตัวตามเวลาที่เปลี่ยนไป
ความท้าทายของทีมผู้บริหารใหม่ ซึ่งเป็นทายาทรุ่นที่ 2 จึงอยู่ที่ว่า
จะปรับปรุงบริการ หรือพื้นที่ของสวนสยามอย่างไร ให้ตอบโจทย์ลูกค้าได้มากขึ้นกว่าเดิม
เมื่อในวันนี้มีทางเลือกมากขึ้น มีสวนน้ำเกิดขึ้นมากมาย ซึ่งก็ได้รับความนิยม แต่ก็มีไม่น้อยที่ต้องล้มหายตายจากไป เด็กยุคใหม่อาจจะไม่ได้มีสวนสยามเป็นจุดหมายในการท่องเที่ยว
โจทย์สำคัญคือ จะครองใจนักท่องเที่ยวชาวไทยอย่างไร และการเพิ่มสัดส่วนกลุ่มลูกค้าต่างชาติ 15% ที่เหลือ ก็สำคัญเช่นกัน
ประเทศไทยเป็นจุดหมายปลายทางของนักท่องเที่ยวต่างชาติถึง 38 ล้านคนในปี 2561
และในช่วงต้นปี 2562 กลุ่มนักท่องเที่ยวที่เติบโตเร็วมากที่สุดคือ ชาวอินเดีย ซึ่งเป็นกลุ่มลูกค้าที่สำคัญสำหรับสวนสนุกไทย
แต่การจะดึงดูดนักท่องเที่ยวต่างชาติ ด้วยสวนสนุกและสวนน้ำอาจไม่เพียงพออีกต่อไปแล้ว
สวนสยาม จึงทำการรีแบรนด์ครั้งใหญ่ แล้วเปลี่ยนชื่อเป็น
“สยามอะเมซิ่งพาร์ค (Siam Amazing Park)”
โดยตั้งเป้าหมายการเป็นแหล่งความบันเทิงที่ครบครัน สำหรับคนทุกเพศทุกวัย
เริ่มจากการออกแบบ 7 มาสคอท “Si-Am and Friends” เพื่อสร้างความใกล้ชิดกับผู้มาใช้บริการ ช่วยให้สวนสยามดูมีชีวิตชีวาและสนุกสนาน
การเน้นไปที่การขายพื้นที่สำหรับจัดงาน Event ต่างๆ เช่น งานประชุมสัมมนา งานเลี้ยงสังสรรค์ งานวันเกิด งานแต่งงาน ไปจนถึงค่ายลูกเสือและทัศนศึกษา
และการชูจุดเด่นเรื่องสวนน้ำและเครื่องเล่นสวนสนุก รวมถึงการสร้างโซน “บางกอกเวิลด์ (Bangkok World)” ซึ่งเป็นโซนใหม่ ที่รวบรวมบรรยากาศของกรุงเทพฯในอดีต จำลองสถาปัตยกรรมของอาคารต่างๆ เช่น ศาลาเฉลิมกรุง ห้างบี.กริมแอนด์โก เยาวราชไชน่าทาวน์ เสาชิงชา และประตูสามยอด ฯลฯ
และยังมีการรวบรวมอาหารไทย สินค้าหัตถกรรม ของที่ระลึก และของดีจากวิสาหกิจชุมชนทั่วประเทศ
ด้วยงบลงทุนกว่า 5,000 ล้านบาท บนพื้นที่ 70 ไร่ บริเวณหน้าทางเข้า Siam Amazing Park
Siam Amazing Park จะทดลองเปิดตัวในวันที่ 19 กันยายน 2562 เพื่อต้อนรับช่วงปิดเทอมที่จะมาถึง
ส่วนโซนบางกอกเวิลด์ จะพร้อมเปิดให้บริการในช่วงต้นปี 2564
โดยทาง Siam Amazing Park คาดหวังว่า หากการปรับตัวในครั้งนี้เสร็จสมบูรณ์
จะช่วยดึงดูดผู้เข้าชมจาก 1.5 ล้านคน ให้เพิ่มเป็น 3 ล้านคนต่อปี
โดยคาดว่าจะมีสัดส่วนชาวต่างชาติเพิ่มเป็น 40%
ซึ่งจะมีสัดส่วนรายได้มาจากบัตรผ่านประตู 50% และที่เหลือจะมาจากอาหารเครื่องดื่ม ของที่ระลึก และการจัดอีเวนต์พิเศษ
เรื่องนี้เป็นกรณีศึกษาที่น่าสนใจในการปรับตัวของสวนสยาม
เมื่อเรารู้ตัวเองว่ากลุ่มลูกค้าเป็นใคร
และรู้ว่าการเติบโตควรจะเน้นไปที่กลุ่มไหน
ผลลัพธ์ที่ได้ก็คือ การพัฒนาให้ถูกจุด
ต่อไปเราจะได้เห็นสวนสยามในภาพใหม่ เน้นกลุ่มเป้าหมายที่หลากหลายมากขึ้น
ซึ่งบางทีการดำเนินธุรกิจอาจไม่ต่างอะไรกับการนั่งรถไฟเหาะในสวนสยาม
ที่มีทั้งช่วงขึ้น และลง และกลับมาขึ้นใหม่
สำหรับการรีแบรนด์ในครั้งนี้ เป็นเรื่องที่น่าติดตาม
สวนสยามในชื่อใหม่ว่า Siam Amazing Park จะมีหน้าตาเป็นอย่างไร
และไม่ต้องแปลกใจ
ถ้าเราไปสวนสยามครั้งต่อไป แล้วเจอชาวต่างชาติมากขึ้น
ในอนาคต สวนสยามอาจไม่ได้เป็นแค่สวนสนุกของคนไทย
แต่จะเป็นสวนสนุกของทุกคนที่มาเยี่ยมเมืองไทย นั่นเอง..

เรื่องที่คุณอาจสนใจ

SPONSORED
© 2024 Longtunman. All rights reserved. Privacy Policy.
Blockdit Icon