กรณีศึกษา การปรับตัวของ UNIQLO ในยุคดิจิทัล

กรณีศึกษา การปรับตัวของ UNIQLO ในยุคดิจิทัล

กรณีศึกษา การปรับตัวของ UNIQLO ในยุคดิจิทัล / โดย ลงทุนแมน
“เป้าหมายต่อไปของ UNIQLO คือการก้าวขึ้นเป็นเบอร์ 1 ในธุรกิจค้าปลีกเสื้อผ้าระดับโลก”
ประโยคนี้ถูกประกาศโดยคุณ Tadashi Yanai ผู้ก่อตั้งแบรนด์ UNIQLO
ปัจจุบันบริษัทยักษ์ใหญ่ในวงการนี้มีทั้ง UNIQLO, H&M และ ZARA
แล้ว UNIQLO มีกลยุทธ์อย่างไร?
ลงทุนแมนจะเล่าให้ฟัง
คำตอบสำหรับภารกิจนี้ของ UNIQLO คือการปรับตัวเข้าสู่ธุรกิจที่ขับเคลื่อนด้วยเทคโนโลยี หรือ Digital Transformation
การเปลี่ยนแปลงองค์กรของ UNIQLO เกิดขึ้นภายใต้โครงการที่มีชื่อว่า Ariake Project
โครงการนี้ก่อตั้งขึ้นเมื่อปี 2017 โดยมีเป้าหมายเพื่อพัฒนาโครงสร้าง การดำเนินกิจการในองค์กร และยังรวมไปถึงธุรกิจหลักที่เกี่ยวข้องกับระบบ Supply Chain ทั้งหมด ผ่านการจับมือเป็นพันธมิตรกับบริษัทที่เชี่ยวชาญในแต่ละด้าน
เรื่องนี้คงต้องเริ่มจากคำถามง่ายๆ ที่ว่า..
กว่าเสื้อ 1 ตัวจะมาอยู่ในมือเราต้องผ่านอะไรบ้าง
จุดเริ่มต้นคือ การออกแบบ
จากแบบเสื้อสู่การผลิต
จากผลิตสู่การกระจายสินค้า
จนในที่สุด เสื้อผ้าเหล่านั้นจะมาอยู่บนมือเรา
ซึ่งถ้าออกแบบดี กระจายสินค้าไม่ดี ก็ไม่เข้าถึงลูกค้า
หรือ ออกแบบไม่ดี กระจายสินค้าดี ลูกค้าก็ไม่ซื้อ
เท่ากับว่า การบริหารทั้งระบบ Supply Chain ให้ดี จึงถือเป็นกุญแจสำคัญในการเติบโตของธุรกิจค้าปลีกเสื้อผ้า
ภายใต้ Ariake Project UNIQLO จึงเลือกจับมือกับ Google และ Accenture เพื่อพัฒนาขั้นตอนการวางแผนให้มีประสิทธิภาพมากขึ้น
โดยนำเทคโนโลยี Big Data และ AI ของทั้ง 2 บริษัทมาช่วยในการรวบรวมข้อมูล ศึกษาพฤติกรรมของลูกค้า และวิเคราะห์เทรนด์สินค้าสีไหน ประเภทไหน เหมาะกับลูกค้าในพื้นที่ใด
และข้อมูลเหล่านี้ ก็จะถูกนำไปใช้ในการวางแผนและออกแบบผลิตภัณฑ์ให้ตรงตามความต้องการของลูกค้า
ซึ่งถ้าเราพูดถึง UNIQLO สิ่งที่ทำให้เราแยกแบรนด์นี้ได้อย่างง่ายๆ ก็คงหนีไม่พ้นสินค้าที่ถูกคิดค้นขึ้นพิเศษเพื่อความสบายเวลาสวมใส่
ยกตัวอย่างเช่น AIRism ที่หลายคนคุ้นหูกันดี
นวัตกรรม AIRism ถูกนำมาใช้ทั้งสำหรับเสื้อผ้าผู้ชายและผู้หญิงของ UNIQLO โดยเรียกได้ว่ามีให้เลือกทุกรูปแบบตั้งแต่เสื้อกล้าม เสื้อแขนสั้น เสื้อแขนยาว ไปจนถึงเสื้อชั้นใน
AIRism ได้รับการตอบรับที่ดีในบ้านเรา โดยเฉพาะกลุ่มสินค้าเสื้อตัวใน เพราะมีจุดเด่นในเรื่องของเทคโนโลยีที่ทำให้ผู้สวมใส่สบายตัว ระงับกลิ่น เพราะนอกจากเนื้อผ้าจะนุ่มสบายแล้ว ยังมีคุณสมบัติในการระบายอากาศและความร้อนได้ดี ทำให้ผ้าแห้งเร็วและไม่เหนียวเหนอะหนะในระหว่างวัน
ด้วยความที่ประเทศไทยเป็นเมืองร้อน คนเหงื่อออกง่าย AIRism จึงถือเป็นนวัตกรรมที่ตอบโจทย์ลูกค้าได้เป็นอย่างดี
การสร้างเอกลักษณ์ให้กับสินค้าของตัวเองในลักษณะนี้ของ UNIQLO เริ่มมาตั้งแต่ปี 1994
Fleece ในปี 1994
HEATTECH ในปี 2003
AIRism ในปี 2008
และอีกหลายๆ นวัตกรรมที่ติดมาบนตัวสินค้า
โดยการวิจัยและพัฒนานวัตกรรมต่างๆ เหล่านี้ UNIQLO จับมือกับบริษัท Toray และบริษัท Shima Seiki เพื่อร่วมกันพัฒนาการใช้เทคโนโลยีบนสินค้า
แค่นั้นยังไม่พอ UNIQLO กำลังพัฒนาโครงสร้างคลัง และการกระจายสินค้าโดยการร่วมมือกับบริษัท Daifuku เพื่อพัฒนาระบบคลังอัตโนมัติ
ทั้งหมดนี้น่าจะช่วยให้การบริหารภาพรวมของระบบ Supply Chain ของ UNIQLO ก้าวขึ้นไปอีกระดับ..
ข้อมูลตั้งแต่การออกแบบ จนสินค้าถึงมือลูกค้าจะถูกเชื่อมถึงกัน
และกลายมาเป็นระบบ Supply Chain ที่ถูกขับเคลื่อนด้วยข้อมูล
หมายความว่า UNIQLO จะสามารถออกแบบสินค้าได้ตรงตามความต้องการของตลาด
วางแผนการผลิตได้แม่นยำมากขึ้น และควมคุมการกระจายสินค้าได้ดีขึ้น
แล้วปัจจุบัน ผลประกอบการ Fast Retailing เจ้าของ UNIQLO เป็นอย่างไร?
ปี 2016 รายได้ 510,000 ล้านบาท กำไร 13,750 ล้านบาท
ปี 2017 รายได้ 532,000 ล้านบาท กำไร 34,180 ล้านบาท
ปี 2018 รายได้ 608,000 ล้านบาท กำไร 44,350 ล้านบาท
เฉพาะในช่วงปี 2017 ถึง 2018 บริษัทมีรายได้เพิ่มขึ้น 14% กำไรเพิ่มขึ้น 30%
โดยสาเหตุหลักมาจากความนิยมของแบรนด์ UNQILO ทั่วโลก ทำให้สามารถขยายสาขาได้มากขึ้นในหลายประเทศ
จำนวนสาขา UNIQLO International
ปี 2011 จำนวน 181 สาขา
ปี 2015 จำนวน 798 สาขา
ปี 2019 จำนวน 1,407 สาขา
การขยายกิจการของบริษัทไปต่างประเทศอย่างก้าวกระโดด
ส่งผลให้ภาพรวมปีที่ผ่านมา สัดส่วนรายได้หลักของบริษัทเปลี่ยนมาเป็น
UNIQLO International 42%
UNIQLO Japan 40.6%
GU และ Global Brands 17.4%
เรื่องนี้แสดงให้เห็นว่า ปัจจุบันรายได้หลักของบริษัท UNIQLO มาจากต่างประเทศมากกว่าญี่ปุ่นแล้ว ซึ่งเรื่องนี้ถือเป็นครั้งแรกในประวัติศาสตร์บริษัท
ที่น่าสนใจคือ กลยุทธ์ Digital Transformation ของ UNIQLO ที่กำลังทำอยู่ในตอนนี้ คุณ Tadashi Yanai เผยว่าเพิ่งเสร็จสิ้นไปเพียง 3 ใน 10 ของโครงการทั้งหมดเท่านั้น..
ก็น่าติดตามว่า ในอนาคตโครงการนี้จะเปลี่ยนแปลง UNIQLO ไปอีกแค่ไหน และจะพาขึ้นเป็นเบอร์ 1 ในตลาดได้หรือไม่
ปัจจุบัน บริษัท UNIQLO มีมูลค่าตลาดสูงถึง 1.6 ล้านล้านบาท ใหญ่กว่า ปตท. บริษัทมูลค่ามากสุดในประเทศไทย
เมื่อก่อนถ้าพูดถึงบริษัทญี่ปุ่น เราคงนึกถึงว่าเป็นยักษ์ใหญ่ในวงการรถยนต์ เครื่องจักร
ใครจะคิดว่า วันนี้บริษัทญี่ปุ่นชื่อ UNIQLO ได้สร้างตำนานที่จะก้าวมาเป็นผู้นำวงการเสื้อผ้าของโลก..
Americans believe cotton is best, but we've invented new fabrics that will change your lifestyle.
- Tadashi Yanai
คนอเมริกันเชื่อว่าผ้าฝ้ายดีที่สุด แต่มาวันนี้เราได้สร้างนวัตกรรมใหม่ ที่จะเปลี่ยนไลฟ์สไตล์ของทุกคน
- ทาดาชิ ยานาอิ
----------------------
ติดตามเรื่องหลากหลาย จากผู้เขียนเก่งๆ ในแอป blockdit
นอกจากนั้น เรายังเขียนเองได้ และสามารถสร้างรายได้ในนี้
โหลดแอปได้ที่ blockdit.com
สั่งซื้อหนังสือลงทุนแมน 9.0 ได้ที่
Lazada: https://www.lazada.co.th/products/90-i293980783-s493954943.html
References
-Fast Retailing, Annual Report 2011, 2015, 2018

เรื่องที่คุณอาจสนใจ

SPONSORED
© 2024 Longtunman. All rights reserved. Privacy Policy.
Blockdit Icon