กรณีศึกษา คลองสุเอซ

กรณีศึกษา คลองสุเอซ

กรณีศึกษา คลองสุเอซ / โดย ลงทุนแมน
เรื่องราวนี้เป็นเรื่องหนึ่งที่ทำให้ลงทุนแมนได้ข้อคิดที่ดี
เรื่องนี้เกี่ยวกับคลองที่ทุกคนเคยได้ยินชื่อ
คลองนั้นชื่อ คลองสุเอซ
รู้ไหมว่าหนึ่งในรายได้หลักของประเทศอียิปต์ปัจจุบันมาจาก คลองสุเอซ
คลองสายนี้เชื่อมระหว่างทะเลเมดิเตอร์เรเนียนและทะเลแดง
บริเวณคอคอดที่เมืองสุเอซ ประเทศอียิปต์
ซึ่งเป็นเส้นทางลัดของการเดินเรือจากฝั่งยุโรปไปเอเชีย
คลองสุเอซมีความยาว 193.3 กิโลเมตร
พอๆ กับระยะทางจากกรุงเทพฯ ไปหัวหิน
แต่ด้วยระยะทางเพียงเท่านี้กลับสร้างรายได้มหาศาล
โดยในปีล่าสุดคลองสุเอซสร้างรายได้สูงถึง 1.8 แสนล้านบาท
คิดเป็นประมาณ 2% ของ GDP ประเทศอียิปต์
เรื่องราวของคลองสุเอซเป็นอย่างไร?
ลงทุนแมนจะเล่าให้ฟัง
ย้อนกลับไปเมื่อหลายร้อยปีก่อน
เส้นทางคมนาคมหลักของคนสมัยนั้น คือ ทางทะเล
จุดประสงค์ของการเดินทางนอกเหนือจากการติดต่อค้าขายแล้ว ก็เพื่อค้นพบดินแดนใหม่ๆ
การค้นพบดินแดนใหม่ก่อนใคร หมายถึง โอกาสที่จะได้ครอบครองทรัพยากรในพื้นที่นั้น
อย่างไรก็ตาม การเดินทางไกล ก็แลกมาด้วยความเสี่ยงหลายอย่าง
ดังนั้นการค้นหาทางลัดที่ช่วยย่นระยะทางจึงเป็นสิ่งที่ทุกคนต้องการ
และคลองสุเอซ ก็ถูกสร้างขึ้นมาด้วยเหตุผลนี้
เดิมการเดินทางระหว่างเอเชียและยุโรปจำเป็นจะต้องอ้อมผ่านแหลมกู๊ดโฮป
แต่เมื่อเรือสามารถแล่นผ่านคลองสุเอซ จะสามารถย่นระยะทางได้มากถึง 40%
คลองสุเอซเริ่มขุดในปี ค.ศ. 1859 และเสร็จสิ้นในปี ค.ศ. 1869
โดยมีบริษัท Suez Canal Company เป็นผู้ก่อสร้างและบริหารจัดการ
หลังจากการเปิดใช้คลองสุเอซ ได้มีการทำข้อตกลงระหว่างประเทศให้เรือของทุกชาติสามารถใช้คลองนี้ไม่ว่าในยามสงบหรือยามสงคราม
อย่างไรก็ตาม อังกฤษกลัวว่า ฝ่ายตนจะเสียเปรียบในกรณีที่เกิดสงคราม และจำเป็นต้องเคลื่อนกำลังรบทางเรือ
ในปี ค.ศ. 1875 อังกฤษจึงซื้อหุ้นบริษัท Suez Canal ต่อจากอียิปต์ และกลายมาเป็นผู้ถือหุ้นใหญ่ที่มีสัดส่วนการถือครอง 44%
ต่อมาในปี ค.ศ. 1882 อียิปต์เกิดความไม่สงบภายในประเทศ
อังกฤษจึงใช้โอกาสนี้ในการเข้ายึดครองอียิปต์รวมถึงคลองสุเอซ โดยมีฝรั่งเศสเป็นผู้สนับสนุนอยู่เบื้องหลัง
แต่หลังจากนั้นไม่นาน อังกฤษและฝรั่งเศสก็ขัดแย้งกันเรื่องผลประโยชน์เหนือคลองสุเอซ
จนทั้ง 2 ประเทศต้องร่วมตกลงทำอนุสัญญาคอนสแตนติโนเปิล ซึ่งมีผลทำให้คลองสุเอซเป็นดินแดนกลาง
ตั้งแต่นั้นมา คลองสุเอซสร้างรายได้มหาศาลจากการเก็บค่าผ่านทาง
แต่ผลกำไรเหล่านี้กลับไม่ได้เข้าสู่ประเทศอียิปต์ ผู้เป็นเจ้าของพื้นที่ที่แท้จริงเลย..
จนกระทั่งปี ค.ศ. 1956 อียิปต์ได้ประกาศยึดคลองสุเอซมาเป็นของรัฐ
อียิปต์ให้เหตุผลว่าสหรัฐอเมริกาและอังกฤษไม่ยอมให้ความช่วยเหลือทางการเงินในการสร้างเขื่อนอัสวัน (Aswan Dam) ดังนั้นจึงต้องการรายได้จากคลองสุเอซมาเป็นเงินทุนแทน
เรื่องนี้ทำให้เกิดวิกฤติการณ์คลองสุเอซ (Suez Crisis)
ซึ่งต่อมาลุกลามกลายเป็นสงครามระหว่างประเทศครั้งใหญ่ จนองค์การสหประชาชาติต้องเข้ามาช่วยในการไกล่เกลี่ย
ปัจจุบันคลองสุเอซกลับมาเป็นของประเทศอียิปต์โดยสมบูรณ์แล้ว
โดยคลองสุเอซเป็นเส้นทางขนส่งมากถึง 10% ของปริมาณการค้าทั้งหมดของโลกนี้
คลองสุเอซได้รับการปรับปรุง และขุดขยายเรื่อยมา
และ ล่าสุดทางอียิปต์ประกาศพัฒนาคลองสุเอซครั้งใหญ่
โดยนอกจากการขยายคลองสายเดิม ยังมีการขุดคลองเพิ่มขึ้นอีกหนึ่งสาย
โครงการนี้คาดว่าจะเสร็จภายในปี ค.ศ. 2023
ซึ่งหลังจากสร้างเสร็จแล้วจะทำให้คลองสุเอซสามารถรองรับปริมาณเรือต่อวันได้เพิ่มมากขึ้น และยังลดเวลาการเดินทางได้มากกว่าเดิมอีกด้วย
อ่านมาถึงตรงนี้ ทุกคนคงคิดว่าจบแล้ว
เรื่องทั้งหมดนี้เป็นแค่จุดเริ่มต้นของบริษัทที่ลงทุนแมนจะกล่าวถึง..
อย่างที่ได้กล่าวไป
สุเอซ ไม่ได้เป็นแค่ชื่อคลองเท่านั้น แต่ยังเป็นชื่อของบริษัทที่สร้างคลองสุเอซขึ้นมาด้วย
ที่น่าสนใจคือ Suez Canal Company ยังดำเนินธุรกิจมาจนถึงปัจจุบัน..
รวมแล้วบริษัทนี้อยู่มานานถึง 160 ปี
Suez Canal Company ก่อตั้งในปี ค.ศ. 1858 ก่อนหน้าที่จะเริ่มสร้างคลองสุเอซ 1 ปี
โดยชาวฝรั่งเศสชื่อ Ferdinand de Lesseps
หลังจากที่เขาประสบความสำเร็จจากคลองสุเอซ
เป้าหมายต่อไปของคุณ Lesseps ก็คือการขุดคลองปานามา
อย่างไรก็ตาม ด้วยปัญหาโรคระบาด และปัญหาด้านการเงิน
ทำให้สุดท้ายแล้วโครงการนี้ถูกซื้อไปโดยสหรัฐอเมริกา
แล้วตอนนี้ Suez Canal Company ทำธุรกิจอะไร?
ในช่วงปลายศตวรรษที่ 19 หลายพื้นที่เริ่มมีการขยายตัวของชุมชนเมือง
บริษัทเห็นโอกาสว่าเมืองหลายแห่งยังขาดการจัดการเรื่องน้ำและขยะอยู่
จึงเริ่มธุรกิจวางระบบการส่งน้ำสะอาดและการจัดการขยะ
หลังจากที่คลองสุเอซถูกรัฐบาลอียิปต์ยึดกลับไป
ธุรกิจการจัดการน้ำและขยะจึงกลายมาเป็นธุรกิจหลักของบริษัท
ทุกวันนี้ธุรกิจของบริษัทครอบคลุมทั้งแถบอเมริกาเหนือ ยุโรป เอเชีย โอเชียเนีย แอฟริกา และตะวันออกกลาง
โดยบริษัทจดทะเบียนอยู่ในตลาดหลักทรัพย์ยูโรเน็กซ์-ปารีส ภายใต้ชื่อ Suez SA
มูลค่าของ Suez SA คือ 257,949 ล้านบาท
แล้วผลประกอบการของบริษัท Suez SA เป็นอย่างไร?
ปี 2016 รายได้ 553,395 ล้านบาท กำไร 15,169 ล้านบาท
ปี 2017 รายได้ 570,045 ล้านบาท กำไร 10,655 ล้านบาท
ปี 2018 รายได้ 625,955 ล้านบาท กำไร 12,099 ล้านบาท
เรื่องนี้เราได้ข้อคิดอะไร?
สิ่งที่ทำให้บริษัท Suez อยู่มาได้จนถึงทุกวันนี้
ส่วนหนึ่งน่าจะเป็นเพราะว่าบริษัทไม่ได้พึ่งพารายได้จากคลองสุเอซเพียงอย่างเดียว
แม้ว่าหากมองในมุมของธุรกิจคลองสุเอซก็น่าจะเป็นแหล่งรายได้ที่มั่นคง และไม่มีคู่แข่ง
แต่ความแน่นอนก็คือความไม่แน่นอน..
เมื่ออยู่ดีๆ แหล่งรายได้ที่เหมือนจะไม่มีความเสี่ยงกลับหายไปอย่างกะทันหัน
การดำเนินธุรกิจจึงเป็นเรื่องของการเตรียมพร้อมอยู่เสมอ
ใครที่สามารถปรับตัวทัน
จึงจะเป็นผู้ที่อยู่รอดต่อไป
สำหรับใครที่สนุกสนานกับการผูกขาดในปัจจุบัน
อย่าชะล่าใจ..
วันดีคืนดี เราอาจโดนยึดเหมือนคลองสุเอซ
และ ถ้าวันนั้นมาถึง
เรามีรายได้จากทางอื่นมารองรับไว้แล้วหรือยัง..
----------------------
ก่อนจะมีคลองสุเอซ ปีระมิดเป็นสิ่งมหัศจรรย์ที่ทำให้อียิปต์เป็นที่รู้จัก อ่านเรื่องนี้ได้ที่
https://www.blockdit.com/articles/5b30b110076e65512a686d61
ติดตามเรื่องหลากหลาย จากผู้เขียนเก่งๆ หลายท่าน ในแอป blockdit โหลดได้ที่ http://www.blockdit.com
สั่งซื้อหนังสือลงทุนแมน 9.0 ได้ที่
Lazada: https://www.lazada.co.th/products/90-i293980783-s493954943.html

เรื่องที่คุณอาจสนใจ

SPONSORED
© 2024 Longtunman. All rights reserved. Privacy Policy.
Blockdit Icon