วุฒิสมาชิก กับ ธุรกิจเฟซบุ๊ค

วุฒิสมาชิก กับ ธุรกิจเฟซบุ๊ค

12 เม.ย. 2018
วุฒิสมาชิก กับ ธุรกิจเฟซบุ๊ค / โดย ลงทุนแมน
มาร์ค ซักเคอร์เบิร์ก ได้แถลงต่อสมาชิกวุฒิสภาสหรัฐฯ
กรณีข้อมูลรั่วไหลให้ Cambridge Analytica
ตอนแรกทุกคนให้ความสนใจไปที่นายมาร์คว่าจะถูกยำเละ
แต่ตอนนี้เรื่องเริ่มพลิก
กลายเป็น บางคนมองว่าวุฒิสมาชิกแก่เกินไปที่จะเข้าใจเรื่องนี้
เริ่มมีหลายคนล้อเลียนว่า วุฒิสมาชิกถามคำถามไม่ได้เรื่องเอาเสียเลย
โดยสรุปแล้ว
งานแถลงการณ์นี้จะให้ สมาชิกวุฒิสภาสหรัฐฯ หลายๆคนยิงคำถาม มาร์ค เป็นเวลาทั้งสิ้น 10 ชั่วโมง
ถ้าคำถามนั้นน่าสนใจก็คงเป็นการตีแผ่ธุรกิจเฟซบุ๊คออกมาให้โลกได้รู้
แต่กลายเป็นว่ามีหลายคำถามที่ฟังแล้วดูเหมือนว่าวุฒิสมาชิกบางท่านจะไม่เคยใช้เฟซบุ๊คเลย
เรามาลองดูบทสัมภาษณ์ของ วุฒิสมาชิกบางท่านกัน
"ถ้าผมส่ง email ใน WhatsApp ข้อมูลเหล่านั้นจะถูกนำไปให้นักโฆษณาหรือไม่?"
คำถามนี้ไม่แน่ใจว่าท่านวุฒิสมาชิกคนนี้เคยใช้ WhatsApp หรือไม่ เพราะเราไม่ได้ส่ง email ใน WhatsApp
จนสุดท้ายนายมาร์คต้องสรุปคำถามของเขาใหม่ว่าหมายถึงการส่ง message ใน WhatsApp
และยังมีคำถามอื่นๆอีก
"America Online ในสมัยก่อนเหมือนกับเฟซบุ๊ค หรือไม่?"
"คุณจะลดความเร็วของ Video ที่สนุกลงได้หรือไม่?"
“ทวิตเตอร์เหมือนกับเฟซบุ๊คหรือไม่?”
หลายๆคนอ่านแล้วน่าจะตกใจว่า คำถามบางคำถามไม่น่าจะเกิดขึ้นมาได้
แสดงถึงว่าวุฒิสมาชิกอาจจะแกล้งไม่เข้าใจ หรือยังไม่เข้าใจธุรกิจของเฟซบุ๊คจริงๆ
และถ้ายังไม่เข้าใจธุรกิจเฟซบุ๊ค วุฒิสมาชิกจะสามารถแก้ไขปัญหานี้ให้ถูกต้องได้อย่างไร
เรื่องนี้จึงกลายมาเป็นประเด็นแทน
ถึงขนาดที่จะต้องมาทบทวนกันว่า วุฒิสมาชิก ควรจะมีสมาชิกที่มีอายุน้อยรวมอยู่ด้วยหรือไม่ เพื่อที่จะได้ก้าวทันโลกในสมัยนี้อย่างกรณีของเฟซบุ๊ค ที่เกิดขึ้นนี้
จริงๆแล้วเฟซบุ๊คก็เกิดขึ้นมาในโลกนี้เพียงสิบกว่าปี
ก็ไม่น่าแปลกใจที่เรื่องวุ่นๆนี้จะเกิดขึ้น
เพราะเฟซบุ๊คเป็นธุรกิจใหม่ที่ยังไม่เคยมีมาก่อน ก็แปลว่ากฎควบคุมต่างๆอาจจะยังไม่ครอบคลุมดีพอ
ถ้าวุฒิสมาชิกถามได้ไม่ดีพอ แล้วต้องมีคำถามอะไรอีก? มีเรื่องอะไรของเฟซบุ๊คที่เราต้องรู้บ้าง?
ก่อนจะตอบคำถามว่าเฟซบุ๊คมีสิทธิที่จะเอาข้อมูลของเราไปให้ผู้อื่นโฆษณาได้หรือไม่
เวลาที่เราสมัครใช้บริการอะไรก็ตามบนอินเทอร์เน็ต
ส่วนใหญ่เราจะต้องกดยอมรับข้อตกลงในการใช้งาน (Terms of Service)
คงมีไม่กี่คนที่อ่านข้อตกลงในการใช้งาน ตั้งแต่ต้นจนจบ ก่อนจะกดปุ่มยอมรับข้อตกลง
แต่รู้หรือไม่ว่า นโยบายที่เกี่ยวกับข้อมูลผู้ใช้งานของเฟซบุ๊ค ที่แทบจะเก็บกิจกรรมทุกอย่างของเรา
มีส่วนหนึ่งของข้อตกลงที่บอกว่า ทางเฟซบุ๊คอาจจะให้ข้อมูลของผู้ใช้งาน “ที่ไม่บ่งบอกตัวตน” กับบริษัทโฆษณาและวิเคราะห์ข้อมูลได้
ข้อมูลที่บ่งบอกตัวตนของเราได้ ก็อย่างเช่น ชื่อ และ อีเมล ของเรา
สรุปแล้ว
เท่ากับว่าเฟซบุ๊คจะสามารถให้ข้อมูลอะไรก็ตามกับบุคคลที่ 3 โดยขอแค่ว่า ผู้ที่ได้รับข้อมูลไป จะไม่รู้ว่าข้อมูลที่ได้รับนั้นเป็นของบุคคลไหน
แล้วข้อมูลอะไรบ้าง “ที่ไม่บ่งบอกตัวตน” แต่ผู้โฆษณาเอาไปใช้ประโยชน์ได้?
คำตอบคือ มีมากมายแบบที่เราอาจจะตกใจ
ยกตัวอย่างให้เห็นภาพ
ลงทุนแมนไปนั่งค้นหามา คนเชียงใหม่ทั้งหมดที่เล่นเฟซบุ๊ค มีทั้งหมด 1,800,000 ผู้ใช้งาน
ถ้าผู้โฆษณาอยากทำ ad ที่เข้าถึงผู้ใช้งานในเชียงใหม่ทุกคน คนละครั้ง รู้ไหมว่าจะเสียค่าใช้จ่ายไม่ถึงหลักแสนบาท
ทีนี้เลือกกลุ่มย่อยลงมาอีก เช่นเลือกคนที่มีอายุ 18 ปี ขึ้นไป กลุ่มก็จะเล็กลง และค่าใช้จ่ายก็จะถูกลงไปอีก
และนั่นก็หมายถึง ในการเลือกตั้งครั้งต่อไป นักการเมืองสามารถทำสื่อโฆษณาที่เข้าถึงผู้มีสิทธิเลือกตั้งทุกคนในจังหวัดเชียงใหม่ในราคาหลักหมื่นบาท..
ทั้งหมดนี้เฟซบุ๊คไม่จำเป็นต้องบอกตัวตนกับผู้โฆษณาว่าเขาชื่ออะไร ซึ่งก็จะไม่ขัดกับ Terms of Service แต่ผู้โฆษณาสามารถเข้าถึงคนเหล่านั้นด้วยค่าโฆษณาไม่แพง และ “ทรงพลัง” อย่างที่ไม่เคยมีสื่อไหนทำได้มาก่อน
เรื่องมันไม่จบ
เพราะถ้าผู้โฆษณาเป็นบริษัทบ้านๆทั่วไปก็คงไม่ได้คิดอะไร
แต่ถ้าผู้โฆษณาเป็นบริษัทมีคนจบปริญญาเอกหลายคนที่เตรียมพร้อมเรื่องการวิเคราะห์ข้อมูลมาอย่างดี
นั่นหมายถึงผู้โฆษณาอาจจะสามารถเปลี่ยนความคิดมวลชน และเปลี่ยนผลเลือกตั้งได้
และสิ่งนี้ก็เกิดขึ้นแล้วกับกรณี Cambridge Analytica กับการเลือกตั้งสหรัฐครั้งที่แล้ว
มาถึงจุดนี้
หลายคนอาจคิดว่าเรื่องนี้เกิดขึ้นกับเฟซบุ๊คอย่างเดียว
แต่จริงๆแล้วก็เกิดขึ้นกับบริษัทเทคโนโลยีทุกบริษัท
เคยไหมว่าเราค้นหาคำอะไรใน Google อีกสักพักถ้าไปดูในเว็บไซต์อื่น เราจะพบโฆษณาสินค้านั้นโผล่ขึ้นมา
เคยไหมเมื่อเรามองซูมใน Google Map เราจะพบแม้แต่ลักษณะหน้าบ้านของเรา บางบ้านตากผ้าไว้ตรงไหนก็ยังเห็น
สิ่งนี้เป็นเรื่องที่สะท้อนความก้าวหน้าของเทคโนโลยี
แต่ในทางกลับกัน ความเป็นส่วนตัวของเราก็จะถูกเบียดเบียนมากขึ้นเรื่อยๆ
ในอนาคตการเลือกตั้งในประเทศไทย เราก็อาจจะได้เห็นสื่อโซเชียลถูกนำมาใช้เป็นเครื่องมือในการโฆษณามากขึ้น
ในอดีตโฆษณาทางทีวี โฆษณาทางวิทยุ ทุกคนต้องเห็นเหมือนกันหมด ไม่ว่าจะอยู่จังหวัดไหน อายุเท่าไร เพศอะไร ทุกคนจะเห็นโฆษณาตัวเดียวกัน
แต่ตอนนี้ไม่ใช่แบบนั้น..
คนชอบกิน จะได้เห็นโฆษณาร้านอาหาร
คนรักสวยรักงาม จะได้เห็นโฆษณาเครื่องสำอาง
คนชอบกีฬา จะได้เห็นโฆษณาพนันบอล
พอเรื่องเป็นแบบนี้ผู้โฆษณาสามารถจ่ายเงินโฆษณาได้ถูกลงและได้ประสิทธิภาพมากขึ้น
ปิดท้ายด้วยข้อมูลที่น่าสนใจ
ท่ามกลางข่าวการปิดตัวลงของนิตยสาร คลื่นวิทยุ และการแข่งขันของดิจิตอลทีวี
รายได้และ กำไร บริษัทเฟซบุ๊ค 3 ปีย้อนหลัง
ปี 2015 รายได้ 560,000 ล้านบาท กำไร 120,000 ล้านบาท
ปี 2016 รายได้ 860,000 ล้านบาท กำไร 320,000 ล้านบาท
ปี 2017 รายได้ 1,270,000 ล้านบาท กำไร 500,000 ล้านบาท
เฟซบุ๊คก่อตั้งเมื่อ 14 ปีที่แล้ว แล้วทำได้ขนาดนี้
ถามว่านี่คือจุดสุดท้ายของเฟซบุ๊คหรือไม่?
คำตอบที่ได้อาจจะตรงกันข้าม
จุดนี้น่าจะเป็นแค่จุดเริ่มต้นของเรื่องทั้งหมดที่จะเกิดขึ้นในอนาคต..
----------------------
<ad> เรื่องราวจะเป็นอย่างไรต่อไป ติดตามลงทุนแมนได้ฟรีที่ แอปลงทุนแมน https://www.longtunman.com/app, instagram, twitter, youtube, line โดยค้นหา ไอดีชื่อ longtunman ในแพลตฟอร์มนั้น
----------------------
© 2024 Longtunman. All rights reserved. Privacy Policy.