VISA กับ MasterCard ธุรกิจเสือนอนกิน กำไรแสนล้านบาท

VISA กับ MasterCard ธุรกิจเสือนอนกิน กำไรแสนล้านบาท

13 ต.ค. 2023
VISA กับ MasterCard ธุรกิจเสือนอนกิน กำไรแสนล้านบาท /โดย ลงทุนแมน
ถ้าเราสังเกตบนบัตรเครดิตหรือบัตรเดบิต สัญลักษณ์ที่คุ้นตาของหลายคนมากที่สุด ก็คือ VISA และ MasterCard
ทั้ง VISA และ MasterCard เป็นเพียงตัวกลางรับชำระเงิน ระหว่างสถาบันการเงินอย่างธนาคารและร้านค้า โดยไม่ได้เป็นผู้ออกบัตรเครดิต หรือบัตรเดบิตเอง
จากตรงนี้ เรามาดูกันว่า VISA และ MasterCard มีโมเดลสร้างรายได้อย่างไร ? ลงทุนแมนจะเล่าให้ฟัง
╔═══════════╗
ภาวะเงินเฟ้อ ตลาดผันผวนแบบนี้ ติดตามข่าวเศรษฐกิจแบบเน้น ๆ จากหลายเพจได้ใน Blockdit - คอนเทนต์แพลตฟอร์มที่มีผู้ใช้งานเป็นประจำ 2 ล้านคน ลองใช้ฟรี blockdit.com/download
╚═══════════╝
VISA เกิดขึ้นในปี 1958 โดย Bank of America ได้เปิดตัวบัตรที่ชื่อว่า “Bank America Card” เพื่อใช้สำหรับซื้อสินค้าและบริการแทนเงินสดขึ้น ก่อนที่จะเปลี่ยนมาใช้ชื่อ VISA ในเวลาต่อมา
ขณะที่บัตร MasterCard เกิดขึ้นในปี 1966 หรือหลังบัตร VISA ประมาณ 8 ปี โดยเกิดจากความร่วมมือกันของ 4 ธนาคารหลักในรัฐแคลิฟอร์เนีย ได้แก่ United California Bank, Wells Fargo, Crocker National Bank และ Bank of California
โดยเวลาเราใช้บัตรเครดิตหรือบัตรเดบิต รูดจ่ายค่าสินค้าและบริการ ร้านค้าจะได้รับเงินไม่เต็มจำนวน เพราะธนาคารจะหักค่าธรรมเนียมจากร้านค้าที่รับบัตร
ซึ่งค่าธรรมเนียมที่หัก จะถูกแบ่งเป็น 3 ส่วน ให้กับผู้ที่เกี่ยวข้อง ได้แก่ ธนาคารผู้ออกบัตร, ธนาคารเจ้าของเครื่องรูดบัตร และสุดท้ายก็คือ ตัวกลางรับชำระเงิน
ทั้ง VISA และ MasterCard ถือเป็นตัวกลางเครือข่ายรับชำระเงินรายใหญ่ของโลก โดยมีเครือข่ายกระจายอยู่ 200 ประเทศทั่วโลก
โดยค่าธรรมเนียมของตัวกลางรับชำระเงิน เฉลี่ยแล้วอยู่ที่ราว “0.14%” ต่อทุกยอดการใช้งานของบัตรแต่ละครั้ง
พูดง่าย ๆ คือ ทุกยอดจากการใช้บัตรรูดจ่ายค่าสินค้าและบริการ 100 บาท VISA และ MasterCard จะได้รับเงิน 0.14 บาท
แม้จะดูเป็นส่วนแบ่งที่ไม่มาก แต่ส่วนแบ่งตรงนี้ ก็เป็นรายได้ที่ได้มา โดยที่ไม่ต้องลงทุนหรือลงแรงออกบัตรเอง
และยังมีความสม่ำเสมอ เกิดขึ้นเป็นประจำ หรือ Recurring อธิบายง่าย ๆ คือ ธุรกรรมมันเกิดขึ้นตลอดเวลา แถมยังมีต้นทุนค่าใช้จ่ายไม่มาก ในการควบคุมระบบรับชำระเงิน เท่านั้น
นั่นก็หมายความว่า ยิ่งมีธุรกรรมเกิดขึ้นมากเท่าไร รายได้ของทั้ง VISA และ MasterCard ก็จะยิ่งมากขึ้นเท่านั้น
และยิ่งสร้างการเติบโตต่อไปได้เรื่อย ๆ โดยรายได้ที่เติบโตขึ้นมา ก็แทบจะไหลลงมาเป็นกำไรทันที
จึงเป็นสาเหตุที่ทำให้ทั้ง VISA และ MasterCard มีความสามารถในการทำกำไรสูงมาก
เราลองมาดูผลประกอบการของ VISA และ MasterCard ในช่วงที่ผ่านมา
- รายได้และกำไรของ VISA
ปี 2021
รายได้ 868,000 ล้านบาท กำไร 443,000 ล้านบาท
ปี 2022
รายได้ 1,055,000 ล้านบาท กำไร 539,000 ล้านบาท
คิดเป็นอัตรากำไรสุทธิ 51%
- รายได้และกำไรของ MasterCard
ปี 2021
รายได้ 680,000 ล้านบาท กำไร 313,000 ล้านบาท
ปี 2022
รายได้ 801,000 ล้านบาท กำไร 357,000 ล้านบาท
คิดเป็นอัตรากำไรสุทธิ 45%
ขณะที่ปัจจุบัน มูลค่ากิจการของ VISA อยู่ที่ 17,300,000 ล้านบาท ส่วน MasterCard อยู่ที่ 13,500,000 ล้านบาท
ซึ่งหากมาดูส่วนแบ่งการตลาดของตัวกลางรับชำระเงิน ทั้ง VISA และ MasterCard มีส่วนแบ่งการตลาดรวมกัน สูงถึง 85% เลยทีเดียว
สรุปแล้ว ทั้ง VISA และ MasterCard เป็นเพียงตัวกลางในการใช้จ่ายผ่านบัตรเครดิต โดยที่ไม่ได้มีหน้าที่ออกบัตรเครดิตหรือบัตรเดบิตแต่อย่างใด
โดยที่รายได้ของบริษัทเหล่านี้ ก็มาจากค่าธรรมเนียม คือยิ่งมีคนใช้จ่ายผ่านบัตรมากเท่าไร ก็ยิ่งมีรายได้มากขึ้นเท่านั้น และรายได้ที่เติบโตขึ้น ก็แทบจะไหลลงมาเป็นกำไรทันที
ซึ่งก็คงไม่ผิดนัก ถ้าจะพูดว่า ทั้ง 2 บริษัทนี้ ถือเป็นเสือนอนกิน ที่แทบไม่ต้องออกแรงอะไรเลย..
╔═══════════╗
ภาวะเงินเฟ้อ ตลาดผันผวนแบบนี้ ติดตามข่าวเศรษฐกิจแบบเน้น ๆ จากหลายเพจได้ใน Blockdit - คอนเทนต์แพลตฟอร์มที่มีผู้ใช้งานเป็นประจำ 2 ล้านคน ลองใช้ฟรี blockdit.com/download
╚═══════════╝
ติดตามลงทุนแมนได้ที่
Website - longtunman.com
Blockdit - blockdit.com/longtunman
Facebook - facebook.com/longtunman
Twitter - twitter.com/longtunman
Instagram - instagram.com/longtunman
YouTube - youtube.com/longtunman
TikTok - tiktok.com/@longtunman
Spotify - open.spotify.com/show/4jz0qVn1AL7tRMHiTvMbZH
Apple Podcasts - podcasts.apple.com/th/podcast/ลงทุนแมน/id1543162829
Soundcloud - soundcloud.com/longtunman
References
-https://en.wikipedia.org/wiki/Mastercard
-https://www.ktc.co.th/article/knowledge/different-between-visa-and-mastercard
-https://finance.yahoo.com/quote/V/
-https://finance.yahoo.com/quote/MA?p=MA&.tsrc=fin-srch
-https://www.forbes.com/advisor/business/credit-card-processing-fees/
-https://bfsi.economictimes.indiatimes.com/news/financial-services/global-credit-card-transactions-cross-13-tln-in-2022-report/98969766
© 2024 Longtunman. All rights reserved. Privacy Policy.