สรุปทุกประเด็น วิเคราะห์ธีมการลงทุนปี 2025 เชิงลึก จาก SCB WEALTH

สรุปทุกประเด็น วิเคราะห์ธีมการลงทุนปี 2025 เชิงลึก จาก SCB WEALTH

สรุปทุกประเด็น วิเคราะห์ธีมการลงทุนปี 2025 เชิงลึก จาก SCB WEALTH
ปีนี้น่าจะเป็นอีกปีที่การลงทุนมีความท้าทาย และไม่แน่นอนสูง
ซึ่งในฐานะนักลงทุน ก็ต้องพยายามวิเคราะห์และประเมินแนวโน้ม ของสภาพแวดล้อมทางการลงทุน
เพื่อจะได้เตรียมพร้อมรับมือ จัดทัพพอร์ต และคว้าโอกาสได้มากที่สุด
และวันนี้ทาง SCB WEALTH ได้จัดงานสัมมนา ภายใต้หัวข้อ Tomorrow’s WEALTH : Key Investment Trend Defining 2025
วิเคราะห์แนวโน้มเศรษฐกิจ กลยุทธ์การลงทุน และความเสี่ยงที่เราต้องจับมองในปีนี้ แบบเชิงลึก
ซึ่งลงทุนแมน สรุปประเด็นที่น่าสนใจ ได้ดังนี้
- หัวข้อ Outlook 2025 Challenges and Opportunities
(มองปี 2025 ที่เต็มไปด้วยความท้าทาย และโอกาส)
บรรยายโดย ดร. ปุณยวัจน์ ศรีสิงห์ นักเศรษฐศาสตร์อาวุโส SCB EIC

มองว่าปีนี้ ภาพรวมเศรษฐกิจโลก จะชะลอตัวลงจากปีก่อน และโตเพียง 2.5% เพราะว่าเจอแรงกดดันจากปัญหาภูมิรัฐศาสตร์ รวมถึงนโยบาย ทรัมป์ 2.0 ที่ส่งผลต่อการกีดกันการค้าโลก ซึ่งกระทบเศรษฐกิจโลก ผ่านช่องทางการค้า การลงทุน และการเคลื่อนย้ายแรงงาน
ซึ่งหลายประเทศก็ได้เตรียมรับมือกับนโยบาย ทรัมป์ 2.0 ไว้บ้างแล้ว
แต่ปัญหาการเมืองในบางประเทศ อาจเป็นความเสี่ยงสำคัญ ที่จะทำให้แนวทางการรับมือของภาครัฐ ขาดประสิทธิภาพ
โดยคาดว่าปีนี้ ธนาคารกลางสหรัฐฯ (FED) จะลดดอกเบี้ยรวม 0.5% น้อยกว่าที่เคยประเมินไว้
ขณะที่ธนาคารกลางยุโรป และธนาคารกลางจีน มีแนวโน้มลดดอกเบี้ยทั้งปี 0.125% และ 0.50% มากกว่าคาดการณ์เดิม เพื่อดูแลเศรษฐกิจที่จะชะลอตัวลง จากนโยบาย ทรัมป์ 2.0

สำหรับเงินเฟ้อโลก อาจไม่เร่งตัวมากนัก ส่วนหนึ่งเพราะเศรษฐกิจโลกแย่ลง และราคาพลังงานโลก มีแนวโน้มต่ำลง ตามอุปสงค์โลกที่ชะลอตัว และการเพิ่มกำลังการผลิตน้ำมันดิบในสหรัฐฯ จากนโยบายสนับสนุนของทรัมป์
ส่วนเศรษฐกิจไทย คาดว่าโตเพียง 2.4% เพราะ
1) การกีดกันทางการค้า ที่สหรัฐฯ ตั้งเป้าลดการขาดดุลการค้า และสนับสนุนห่วงโซ่อุปทานในประเทศทดแทน ซึ่งกระทบต่อสินค้าที่ไทยส่งออกไปยังสหรัฐฯ
2) ไทยมีแนวโน้มนำเข้าสินค้าจีนมากขึ้น เพราะจีนกำลังลดการพึ่งพาตลาดในสหรัฐฯ และหันมาส่งออกไปยังประเทศอื่นมากขึ้น รวมถึงไทย
3) ความสามารถในการแข่งขันของสินค้าไทย ทั้งตลาดในและนอกประเทศ โดนกดดันมากขึ้น
4) ภาคการผลิตไทย เผชิญความเปราะบาง จากสินค้าจีนที่เข้ามาตีตลาด และอุปสงค์ในประเทศซบเซา
5) รายได้ครัวเรือน ยังฟื้นตัวจำกัด
6) ปัญหาหนี้ครัวเรือน ยังกดดันการบริโภค ส่วนสถาบันการเงิน ยังระมัดระวังการปล่อยสินเชื่อ
แม้จะมีความท้าทายหลายอย่าง แต่เศรษฐกิจไทย ก็ยังมีปัจจัยเชิงบวกเรื่องของ
1) การท่องเที่ยว ที่กลับมาเกือบเท่าก่อนช่วงโรคระบาดแล้ว ปีนี้คาดมีนักท่องเที่ยวแตะเกือบ 39 ล้านคน
2) การลงทุนภาคเอกชน กำลังฟื้นตัว รวมถึงธุรกิจที่ได้รับสิทธิ์ BOI พุ่งสูงขึ้น
3) การใช้จ่ายของภาครัฐ ที่ยังขยายตัวต่อเนื่อง
- หัวข้อ Investment Opportunities and Portfolio Allocation Strategies
(โอกาสของการลงทุน และกลยุทธ์การจัดพอร์ต)
บรรยายโดย คุณเกษรี อายุตตะกะ ผู้อำนวยการ Investment Research SCB CIO
มองว่า การลงทุนในตลาดหุ้น มีโอกาสให้ผลตอบแทนที่น่าสนใจกว่าสินทรัพย์ประเภทอื่น ซึ่งมี 3 ประเด็นสำคัญ ที่ต้องพิจารณา
1) ความไม่แน่นอนด้านนโยบาย ทรัมป์ 2.0 ที่ส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจ และการลงทุน
นโยบายกีดกันผู้อพยพ > กระทบต่ออุปทานแรงงานที่ลดลง ทำให้ค่าจ้างอาจเพิ่มขึ้น ส่งผลลบต่อธุรกิจที่อยู่ในภาคบริการ, ธุรกิจที่เน้นใช้ Labor-intensive รวมถึงดัชนีหุ้นตลาดเล็ก มากกว่าขนาดกลางและใหญ่
นโยบายการผ่อนคลายกฎระเบียบ > เรื่องพลังงาน ที่หันมาใช้พลังงานฟอสซิลมากขึ้น ผลิตมากขึ้น จึงช่วยลดต้นทุนด้านพลังงานลง หนุนกำไรบริษัทในตลาดหุ้น
แต่อุตสาหกรรมพลังงานสะอาด เช่น EV อาจได้รับผลเชิงลบ
ส่วนเรื่องภาคธนาคาร มีนโยบายสนับสนุนให้ปล่อยกู้ และลงทุนเพิ่มขึ้น
นโยบายการขึ้นภาษีสินค้านำเข้า > กระทบการบริโภคและการลงทุน พร้อมแรงกดดันเงินเฟ้อสหรัฐฯ เพิ่มขึ้น
อย่างไรก็ดี EPS ตลาดฯ อาจเพิ่มขึ้น จากการเร่งเพิ่มการผลิตในประเทศ ทดแทนการนำเข้า

นโยบายการลดภาษีเงินได้ > ช่วยกระตุ้นการบริโภค และการลงทุน ซึ่งช่วยหนุนกำไรตลาดฯ​
2) ความกังวลเกี่ยวกับแรงกดดันเงินเฟ้อในสหรัฐฯ ที่ยังหนืด ส่งผลต่อทิศทางดอกเบี้ยของ FED ที่อาจปรับลดดอกเบี้ยได้ช้าลง
อย่างไรก็ตาม หากความกังวลต่อแนวโน้มเศรษฐกิจโลกเพิ่มสูงขึ้น เช่น มีการตอบโต้ทางการค้ากันรุนแรงมากขึ้น อาจทำให้ตลาดปรับเพิ่มคาดการณ์การลดดอกเบี้ยของ FED มากขึ้น และส่งผลให้ Bond Yield สหรัฐฯ มีโอกาสปรับตัวลงได้
3) กระแส AI จะยังคงขับเคลื่อนเศรษฐกิจและทิศทางการเงินการลงทุน
AI กำลังสร้างโอกาสทางเศรษฐกิจใหม่ โดยเฉพาะในสหรัฐฯ ซึ่งสามารถใช้ประโยชน์จากเทคโนโลยีนี้ได้ดีกว่าประเทศอื่น ๆ
การลงทุนในโครงสร้างพื้นฐานสำหรับ AI และแหล่งพลังงานที่สนับสนุน AI จะมีความสำคัญอย่างมาก โดยการลงทุนใน AI ไม่เพียงแต่จะสร้างโอกาสสำหรับบริษัทเทคโนโลยี แต่ยังครอบคลุมถึงโครงสร้างพื้นฐาน เช่น กลุ่ม Utilities และการใช้งานในระดับอุตสาหกรรม
สำหรับการจัดพอร์ต แนะนำให้ลงทุนในตลาดหุ้นของกลุ่มประเทศพัฒนาแล้ว นำโดยตลาดหุ้นสหรัฐฯ
เพราะกำไรของบริษัทจดทะเบียน มีแนวโน้มเติบโตได้ดี
แต่ด้วย Valuation ที่ค่อนข้างแพง จึงแนะนำให้ลงทุนระยะยาว โดยคัดเลือกหุ้นกลุ่ม Quality Growth ที่เกาะกระแส AI
ผสมผสานกับกลุ่ม Defensive ที่มีความอ่อนไหวต่อความไม่แน่นอนด้านนโยบายเศรษฐกิจต่ำ
ส่วนตลาดหุ้นอื่น ๆ เช่น หุ้นอินเดีย, หุ้นจีน, หุ้นไทย, หุ้นอินโดนีเซีย ไม่แนะนำให้ลงทุนในระยะสั้น แต่ควรเน้นลงทุนระยะยาว
แต่หากต้องการลงทุนระยะสั้น แนะนำหุ้นขนาดกลางและขนาดเล็กของสหรัฐฯ ที่ได้อานิสงส์จากนโยบายกระตุ้นเศรษฐกิจของทรัมป์
ทั้งนี้ สามารถลดความเสี่ยงให้พอร์ต โดยลงทุนระยะยาวในหุ้นกู้ Investment Grade ของสหรัฐฯ ที่มี Duration สั้น Yield ยังน่าสนใจ
พร้อมแบ่งเงินส่วนหนึ่งลงทุนใน REITs / สินทรัพย์ผสม เพื่อสร้างกระแสเงินสด
รวมถึงทองคำ เพื่อป้องกันความเสี่ยงเงินเฟ้อและสงคราม

- หัวข้อ Finding Hidden Gems In a Turbulent Market (ค้นหาอัญมณี ที่ซ่อนอยู่ในตลาดที่ผันผวน)
บรรยายโดย คุณสุกิจ อุดมศิริกุล กรรมการผู้จัดการ สายงานวิจัย บริษัทหลักทรัพย์ อินโนเวสท์ เอกซ์ จำกัด
ภาพรวมการลงทุนในปี 2025 จะมี “ความผันผวนสูง ผลตอบแทนต่ำ”
ซึ่งตลาดหุ้นสหรัฐฯ แม้ว่ายังมีแนวโน้มสดใส แต่ Valuation ของหุ้นที่สูงกว่าค่าเฉลี่ยแล้ว ทำให้มีโอกาสเกิดการปรับตัวลดลงได้ หากเกิดเหตุการณ์ที่ผิดคาด โดยเฉพาะหุ้นกลุ่มเทคโนโลยี
สำหรับตลาดหุ้นไทย ปัญหาที่ต้องแก้คือ “ความเชื่อมั่น”
ถ้าแก้ได้ ก็อาจช่วยหนุนให้ปีนี้ ดัชนี SET Index แตะเป้าหมายที่ 1,550 จุด
ประกอบกับมีปัจจัยสนับสนุนจากการเติบโตของผลการดำเนินงาน ของหุ้นบางกลุ่ม และ มาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจของรัฐบาลไทย
โดยกลุ่มอุตสาหกรรม ที่คาดว่าจะให้ผลตอบแทนโดดเด่น จะเป็นกลุ่มที่มีสัดส่วนรายได้ภายในประเทศสูง และเป็นกลุ่มเชิงรับ เช่น กลุ่มสื่อสาร, กลุ่มโรงไฟฟ้าขนาดใหญ่, กลุ่มอาหารและเครื่องดื่ม, กลุ่มการแพทย์ และกลุ่มพาณิชย์
รวมถึงกลุ่มที่มีการเติบโตดี เช่น กลุ่มนิคมอุตสาหกรรม
ทั้งนี้ InnovestX แนะนำให้ระมัดระวังต่อการลงทุนในปีนี้ โดยให้กระจายพอร์ต ด้วยการลงทุนในหลากหลายธีม ซึ่งแนะนำ 4 ธีมการลงทุนด้วยกัน
1) Value Stock
เน้นหุ้นมูลค่าต่ำกว่าปัจจัยพื้นฐาน ปลอดภัย และมีศักยภาพเติบโต
2) Dividend Stock
เน้นหุ้นปันผลสูง สร้างกระแสเงินสดให้พอร์ต
3) Laggard Stock
เน้นหุ้นที่ราคาปรับขึ้นช้า แต่ผลประกอบการปีหน้าเริ่มส่งสัญญาณบวก
4) Mid-Small Cap Growth
เน้นหุ้นที่กำไรจะเติบโต และมี Upside Risk

เรื่องที่คุณอาจสนใจ

SPONSORED
© 2025 Longtunman. All rights reserved. Privacy Policy.
Blockdit Icon