KKV ร้านขายสินค้าจิปาถะ จากจีน ที่กำลังบุกไทย คู่แข่ง Moshi Moshi และ MINISO

KKV ร้านขายสินค้าจิปาถะ จากจีน ที่กำลังบุกไทย คู่แข่ง Moshi Moshi และ MINISO

KKV ร้านขายสินค้าจิปาถะ จากจีน ที่กำลังบุกไทย คู่แข่ง Moshi Moshi และ MINISO /โดย ลงทุนแมน
ร้านขายของจิปาถะที่คนไทยคุ้นเคยกัน ก็มีอยู่หลายแบรนด์ หลายสัญชาติ ทั้ง Moshi Moshi, Daiso, MR. D.I.Y. และ MINISO
แต่ตอนนี้กำลังมีอีกร้านจากจีน ที่กำลังบุกตลาดไทย ชื่อแบรนด์ว่า KKV ที่มีเอกลักษณ์เป็น ร้านสีเหลืองขนาดใหญ่
โดยเจ้าของ KKV คือ KK Group ที่มีทั้งร้านขายของจิปาถะ เครื่องสำอาง และของเล่น รวมแล้วกว่า 800 สาขา ทั่วประเทศจีน
ธุรกิจของ KK Group น่าสนใจอย่างไร ?
ลงทุนแมนจะเล่าให้ฟัง
╔═══════════╗
ภาวะเงินเฟ้อ ตลาดผันผวนแบบนี้ ติดตามข่าวเศรษฐกิจแบบเน้น ๆ จากหลายเพจได้ใน Blockdit - คอนเทนต์แพลตฟอร์มที่มีผู้ใช้งานเป็นประจำ 2 ล้านคน ลองใช้ฟรี blockdit.com/download
╚═══════════╝
จากที่เกริ่นมา บางคนอาจคิดว่า คาแรกเตอร์ของผู้ก่อตั้ง น่าจะเป็นคนที่ชอบสินค้าไลฟ์สไตล์และเครื่องสำอาง
ซึ่งจริง ๆ แล้ว ผู้ก่อตั้งอย่างคุณ Wu Yuening เกิดในยุค 1980s โดยเขาเรียนจบและทำงานในสาย IT
แต่ด้วยความที่อยากมีธุรกิจเป็นของตัวเอง คุณ Wu เลยลาออกหลังทำงานได้แค่ปีเดียว และลองทำธุรกิจอยู่หลายอย่าง
โดยเขาได้พบกับจุดเปลี่ยนสำคัญในปี 2015 ที่คุณ Wu ได้เปิดร้านสะดวกซื้อชื่อ KK แต่ขาดทุน เลยต้องลองหาสินค้าอย่างอื่น เข้ามาขายอยู่เรื่อย ๆ
จนสังเกตเห็นว่า กลุ่มคน Gen Z ชื่นชอบการซื้อสินค้าราคาไม่แพง เช่น ขนม เครื่องสำอาง เครื่องเขียน ของเล่น และเครื่องประดับ
เขาเห็นว่านี่เป็นโอกาสทางธุรกิจที่น่าสนใจ
เลยทำให้ในปี 2019 เกิดเป็นร้านค้าปลีกสินค้าไลฟ์สไตล์แบบเต็มรูปแบบ ที่ชื่อว่า KKV ขึ้นมา ซึ่งรวมสินค้าที่คน Gen Z ชื่นชอบ
จุดเด่นของร้าน KKV คือ พื้นที่ต่อสาขามีขนาดใหญ่ ตกแต่งแบบทันสมัย และมีสินค้าตามเทรนด์ให้เลือกกว่า 20,000 SKUs
และสำหรับการบริหารจัดการร้าน ก็มีการใช้ Big Data ในการดูพฤติกรรมที่เปลี่ยนไปของผู้บริโภค เพื่อที่จะสามารถเพิ่มและลดสินค้าต่าง ๆ ได้อย่างรวดเร็ว ทำให้แต่ละร้านสามารถสร้างยอดขายได้มีประสิทธิภาพที่สุด
จากความสำเร็จของ KKV คุณ Wu ก็ต่อยอดธุรกิจ ด้วยการขยายร้านประเภทอื่น ๆ
- THE COLORIST ร้านค้าปลีกเครื่องสำอาง
- X11 ร้านค้าปลีกของเล่นและกล่องสุ่ม
- KK馆 คือร้าน KKV ที่มีพื้นที่ต่อสาขาเล็กกว่า
จนทำให้อาณาจักร KK Group ใหญ่โตขึ้น และครอบคลุมกลุ่มเป้าหมายที่หลากหลาย
ทีนี้มาดูผลประกอบการที่ผ่านมาของ KK Group
ปี 2020
รายได้ 7,747 ล้านบาท ขาดทุน 9,500 ล้านบาท
ปี 2021
รายได้ 16,587 ล้านบาท ขาดทุน 26,740 ล้านบาท
ปี 2022
รายได้ 16,714 ล้านบาท กำไร 291 ล้านบาท
10 เดือนแรกของปี 2023
รายได้ 22,450 ล้านบาท กำไร 983 ล้านบาท
จะเห็นว่าในช่วงปี 2020 และ 2021 บริษัทขาดทุนอย่างหนัก ซึ่งเป็นผลมาจากต้นทุนในการขยายสาขา และการใช้งบการตลาด เพื่อดึงดูดลูกค้า
แต่มีเรื่องหนึ่งที่สำคัญคือ การเปลี่ยนโมเดลธุรกิจ
โดยก่อนหน้านี้ KK Group เน้นขยายสาขาด้วยการขายแฟรนไชส์ โดยในปี 2020 จากประมาณ 530 สาขา คิดเป็นสาขาแฟรนไชส์แล้วถึง 80%
แม้การขายแฟรนไชส์ จะทำให้ขยายสาขาได้อย่างรวดเร็วก็จริง แต่ก็มีประเด็นเกิดขึ้นมา
เพราะ KK Group มีการให้กู้ยืมแก่ผู้ซื้อสิทธิแฟรนไชส์ แบบไม่มีการค้ำประกันและดอกเบี้ย ซึ่งถือเป็นการฝ่าฝืนหลักการกู้ยืมของจีน
บวกกับปัญหารอบด้านในช่วงนั้นคือ ทั้งการล็อกดาวน์ และการแข่งขันที่รุนแรงในอุตสาหกรรม
ทำให้ KK Group ค่อย ๆ เปลี่ยนร้านค้าแฟรนไชส์เป็นร้านค้าของตนเอง ผ่านการซื้อสินทรัพย์และหุ้นของร้าน
ซึ่งเป็นช่วงเวลาที่บริษัทต้องใช้เงินทุนเยอะมาก
และเงินส่วนใหญ่มาจากการระดมทุน
โดย KK Group มีการระดมทุนกว่า 7 ครั้ง
รวมมูลค่ากว่า 21,000 ล้านบาท
จนในปลายปี 2023 นั้น สัดส่วนของร้านค้าแฟรนไชส์ ลดลงเหลือเพียง 15% ของจำนวนร้านค้าทั้งหมด
จากการปรับโมเดลธุรกิจในครั้งนี้ ทำให้บริษัทสามารถเริ่มกลับมามีอิสระในการบริหาร และควบคุมประสบการณ์ภายในร้าน ได้อย่างเต็มที่
ซึ่งสุดท้ายก็ส่งผลให้ทำกำไรได้ดีขึ้นเรื่อย ๆ

โดย 10 เดือนแรกของปี 2023 Gross Profit Margin หรืออัตรากำไรขั้นต้นของบริษัท อยู่ที่ 47.2%
และ KK Group ก็มีความต้องการเข้าจดทะเบียนในตลาดหุ้น
อย่างไรก็ตาม บริษัทได้พยายาม IPO เข้าตลาดหุ้นฮ่องกงมาแล้วถึง 4 ครั้ง แต่ยังไม่สำเร็จ ซึ่งก็ต้องดูกันต่อไปว่า ในอนาคตจะเข้าตลาดได้หรือไม่
ในตอนนี้ KK Group มีกว่า 800 สาขา ทั่วประเทศจีน
และได้ขยายไปยังต่างประเทศ ตั้งแต่ปี 2020
โดยเริ่มจากร้านค้าปลีกสินค้าไลฟ์สไตล์อย่าง KKV
ซึ่งประเทศแรกก็คืออินโดนีเซีย ตามมาด้วยมาเลเซีย ไทย เวียดนาม และฟิลิปปินส์
แน่นอนว่าการเข้ามาของร้าน KKV ก็น่าจะมีโอกาสไปแย่งส่วนแบ่งลูกค้าจากร้านสินค้าจิปาถะในไทยต่าง ๆ ที่ได้พูดถึงไปตอนต้น ไม่มากก็น้อย
แต่ร้านที่น่าจะได้รับผลกระทบน้อยสุดก็คงจะเป็น MR. D.I.Y. เพราะสินค้ามีความแตกต่างกันพอสมควร
และจริง ๆ น่าจะได้ประโยชน์ด้วย ถ้า KKV ขายดีที่ประเทศไทย
เพราะ KKV ประเทศไทย บริหารงานโดย บริษัท เคเควี ซัพพลาย เชน จำกัด และบริษัท เคเควี บิสซิเนส แมเนจเมนท์ จำกัด
ซึ่งเป็นบริษัทที่ถูกก่อตั้งและถือหุ้น 100% โดยบริษัท มิสเตอร์. ดี.ไอ.วาย. โฮลดิ้ง (ประเทศไทย) จำกัด (มหาชน)
หรือก็คือร้าน MR. D.I.Y. ในประเทศไทย
กับร้าน KKV ในไทย
ต่างมีเจ้าของเดียวกันนั่นเอง..
╔═══════════╗
ภาวะเงินเฟ้อ ตลาดผันผวนแบบนี้ ติดตามข่าวเศรษฐกิจแบบเน้น ๆ จากหลายเพจได้ใน Blockdit - คอนเทนต์แพลตฟอร์มที่มีผู้ใช้งานเป็นประจำ 2 ล้านคน ลองใช้ฟรี blockdit.com/download
╚═══════════╝
ติดตามลงทุนแมนได้ที่
Website - longtunman.com
Blockdit - blockdit.com/longtunman
Facebook - facebook.com/longtunman
Twitter - twitter.com/longtunman
Instagram - instagram.com/longtunman
YouTube - youtube.com/longtunman
TikTok - tiktok.com/@longtunman
Spotify - open.spotify.com/show/4jz0qVn1AL7tRMHiTvMbZH
Apple Podcasts - podcasts.apple.com/th/podcast/ลงทุนแมน/id1543162829
Soundcloud - soundcloud.com/longtunman
References
-https://www.kkgroup.cn/about
-https://finance.sina.cn/stock/ywgg/2024-02-11/detail-inahsfie0782965.d.html
-https://finance.sina.cn/2022-05-26/detail-imizirau4862803.d.html
-https://market.sec.or.th/public/ipos/IPOSEQ01.aspx?TransID=646423&lang=th
-https://www.cbinsights.com/company/kkguancom/financials
-https://equalocean.com/news/2024020220485#:~:text=The%20latest%20financial%20data%20illustrates,million%2C%20resulting%20in%20overall%20profitability.

เรื่องที่คุณอาจสนใจ

SPONSORED
© 2024 Longtunman. All rights reserved. Privacy Policy.
Blockdit Icon