สรุป “คู่แข่ง” ทุกรูปแบบ ที่ธุรกิจต้องรับมือ

สรุป “คู่แข่ง” ทุกรูปแบบ ที่ธุรกิจต้องรับมือ

สรุป “คู่แข่ง” ทุกรูปแบบ ที่ธุรกิจต้องรับมือ /โดย ลงทุนแมน
“รู้เขารู้เรา รบร้อยครั้ง ชนะร้อยครั้ง”
ประโยคสุดคลาสสิกนี้ เราน่าจะเคยได้ยินจากภาพยนตร์หรือซีรีส์จีนหลากหลายเรื่อง
ซึ่งเป็นข้อคิดเชิงปรัชญาจากซุนวู ผู้เขียนตำราพิชัยสงครามชื่อดัง
และในทางธุรกิจก็เป็นแบบนั้นเช่นกัน เพราะถ้าหากบริษัทไหน สามารถเข้าใจคู่แข่งของตัวเองได้เป็นอย่างดีแล้ว ก็จะทำให้สามารถเตรียมพร้อมรับมือ และสร้างความได้เปรียบในการแข่งขันได้
แล้วคู่แข่ง ที่ธุรกิจต้องรับมือ มีกี่รูปแบบ ?
ลงทุนแมนจะเล่าให้ฟัง
╔═══════════╗
ภาวะเงินเฟ้อ ตลาดผันผวนแบบนี้ ติดตามข่าวเศรษฐกิจแบบเน้น ๆ จากหลายเพจได้ใน Blockdit - คอนเทนต์แพลตฟอร์มที่มีผู้ใช้งานเป็นประจำ 2 ล้านคน ลองใช้ฟรี blockdit.com/download
╚═══════════╝
ในโลกของธุรกิจ นอกจากการโฟกัสความต้องการของลูกค้าแล้ว “คู่แข่ง” ก็เป็นอีกปัจจัยหนึ่ง ที่บริษัทไม่ควรมองข้าม
เพราะการล้มละลายของหลาย ๆ ธุรกิจในอดีต ก็มาจากการที่มีคู่แข่ง เข้ามาแย่งชิงส่วนแบ่งตลาด ด้วยวิธีใดวิธีหนึ่ง
แล้วคู่แข่งที่ว่า จะมาในรูปแบบไหนได้บ้าง ?
จริง ๆ แล้ว คู่แข่งอาจเข้ามาแย่งชิงส่วนแบ่งตลาดได้หลายรูปแบบ โดยหากแบ่งตามการซ้อนทับกันของผลิตภัณฑ์หรือบริการ จะแบ่งได้ 4 แบบ คือ
1. คู่แข่งโดยตรง (Direct Competitors) เป็นคู่แข่งที่มีผลิตภัณฑ์หรือบริการ ที่คล้ายคลึงกัน โดยอาจขายสินค้าประเภทเดียวกัน ในตลาดเดียวกัน
ตัวอย่างเช่น น้ำผลไม้รวม แบรนด์ A และแบรนด์ B ซึ่งมีราคา และคุณสมบัติที่เหมือนกัน
2. คู่แข่งทางอ้อม (Indirect Competitors) เป็นคู่แข่งที่มีสินค้าหรือบริการ ที่แตกต่างกัน แต่สามารถตอบสนองความต้องการของลูกค้าได้ ในลักษณะเดียวกัน
ตัวอย่างเช่น น้ำผลไม้รวม 100% กับน้ำแร่ธรรมชาติ หรือน้ำสมุนไพร ที่สามารถตอบสนองความกระหายน้ำ และดีต่อสุขภาพด้วยกันทั้งคู่
3. คู่แข่งที่มาทดแทนกันได้ (Substitute Competitors) เป็นคู่แข่งที่มีผลิตภัณฑ์หรือบริการ ซึ่งสามารถแทนที่กันได้
ตัวอย่างเช่น น้ำผลไม้รวม กับวิตามินรวม ที่มีสารอาหารจากผลไม้สกัด รวมทั้งวิตามินและแร่ธาตุต่าง ๆ ซึ่งสามารถทดแทนการบริโภคผลไม้ได้
4. คู่แข่งที่มีศักยภาพ (Potential Competitors) เป็นคู่แข่งที่ไม่ได้แข่งในลักษณะของสินค้าหรือบริการ ที่เหมือนกันโดยตรง
แต่ขายสินค้าหรือบริการใหม่ ๆ ที่อาจมา Disrupt ธุรกิจดั้งเดิม ซึ่งส่วนมาก คู่แข่งประเภทนี้มักจะมาพร้อมเทคโนโลยีที่เหนือกว่า หรือโมเดลธุรกิจแบบใหม่ ทำให้สามารถขยายธุรกิจได้รวดเร็วกว่า
ถ้ายกตัวอย่าง โดยอิงจากน้ำผลไม้หรือวิตามินรวม ก็คือ
สตาร์ตอัป ที่พัฒนาแอปพลิเคชันสุขภาพ ที่ช่วยติดตามสุขภาพของผู้ใช้ ด้วยเทคโนโลยีที่ทันสมัย เช่น การวิเคราะห์อาหาร การให้คำแนะนำในการบริโภควิตามินและแร่ธาตุที่จำเป็นต่อสุขภาพ ซึ่งอาจมา Disrupt ธุรกิจวิตามินรวมได้ ด้วยการให้คำแนะนำแบบเฉพาะบุคคล
รวมถึงสตาร์ตอัปที่เน้นพัฒนาเครื่องดื่มเพื่อสุขภาพแบบใหม่ ที่มีส่วนผสมพิเศษ ซึ่งอาจทดแทนน้ำผลไม้ได้
หรืออีกตัวอย่างที่เห็นได้ชัดเจนที่สุด ก็คือ ธุรกิจสตรีมมิง ที่มา Disrupt ธุรกิจร้านเช่าวิดีโอ ไปจนถึงโรงภาพยนตร์
โดยนอกจากคู่แข่งทั้ง 4 ประเภทที่กล่าวมาแล้ว ก็ยังมีคู่แข่งอื่น ๆ ที่ผู้ประกอบการต้องระมัดระวัง เช่น
- คู่แข่งด้านต้นทุน (Cost Competitors) เป็นคู่แข่งที่เน้นใช้วิธีดัมป์ราคาสินค้าหรือบริการให้ต่ำลง เพื่อชิงส่วนแบ่งตลาดจากคู่แข่ง ซึ่งคู่แข่งประเภทนี้ มักมีเงินทุนที่มหาศาล ทำให้ยังคงอยู่ในตลาดได้นาน แม้จะขาดทุน
ตัวอย่างที่เห็นได้ชัดเจน คือ สินค้าจีนหลากหลายตัว ที่เข้ามาตีตลาดในประเทศไทย
- คู่แข่งในระดับภูมิภาคหรือระดับประเทศ (Regional or National Competitors)
ซึ่งคู่แข่งกลุ่มนี้ จะมีความชำนาญ และมีฐานข้อมูลของลูกค้าอยู่ในปริมาณมาก ทำให้มีความได้เปรียบในการแข่งขัน เช่น
รู้จักและเข้าใจพฤติกรรมผู้บริโภคในท้องถิ่น
สามารถปรับผลิตภัณฑ์หรือบริการให้ตรงกับความต้องการของตลาดในภูมิภาคนั้น ๆ
การมีความสัมพันธ์ที่ดีกับชุมชนและผู้บริโภคในพื้นที่
ตัวอย่างเช่น แบรนด์ร้านกาแฟท้องถิ่น ที่เอาชนะแบรนด์กาแฟระดับโลกในประเทศตัวเองได้ เพราะเข้าใจผู้บริโภคในพื้นที่มากกว่า
ต้องบอกว่าในบางกรณี คู่แข่งรายใดรายหนึ่ง อาจมีความทับซ้อนอยู่ได้หลายประเภท ซึ่งก็ขึ้นอยู่กับผู้ประกอบการว่า จะมีมุมมองต่อคู่แข่งแต่ละรายอย่างไร
- คู่แข่งที่เคยเป็นลูกค้าหรือซัปพลายเออร์ วันหนึ่งอาจกลายมาเป็นคู่แข่งของเราโดยตรง
- คู่แข่งที่มีสายป่านทางธุรกิจ หรือเส้นสายทางการเมืองที่แน่นหนากว่า ซึ่งมักได้รับการสนับสนุนเป็นพิเศษ
- คู่แข่งที่ถือครองทรัพยากรหายาก ทำให้มีความได้เปรียบในด้านการผลิต
การเตรียมรับมือกับคู่แข่งประเภทต่าง ๆ แม้อาจจะไม่ได้ช่วยให้ธุรกิจ มีรายได้เติบโตขึ้นอย่างมีนัยสำคัญ แต่ก็ช่วยลดความเสี่ยงต่อการถูก Disrupt หรือขโมยส่วนแบ่งตลาดไปได้
เพราะถ้าหากธุรกิจ หรือผู้ประกอบการคนไหน รู้เท่าทัน และมีความสามารถในการรับมือ พร้อมปรับตัวต่อการเปลี่ยนแปลงในตลาดได้แล้ว
ก็จะช่วยเพิ่มโอกาสให้ธุรกิจ สามารถอยู่รอดบนสังเวียนได้อย่างยั่งยืน..
╔═══════════╗
ภาวะเงินเฟ้อ ตลาดผันผวนแบบนี้ ติดตามข่าวเศรษฐกิจแบบเน้น ๆ จากหลายเพจได้ใน Blockdit - คอนเทนต์แพลตฟอร์มที่มีผู้ใช้งานเป็นประจำ 2 ล้านคน ลองใช้ฟรี blockdit.com/download
╚═══════════╝
ติดตามลงทุนแมนได้ที่
Website - longtunman.com
Blockdit - blockdit.com/longtunman
Facebook - facebook.com/longtunman
Twitter - twitter.com/longtunman
Instagram - instagram.com/longtunman
YouTube - youtube.com/longtunman
TikTok - tiktok.com/@longtunman
Spotify - open.spotify.com/show/4jz0qVn1AL7tRMHiTvMbZH
Apple Podcasts - podcasts.apple.com/th/podcast/ลงทุนแมน/id1543162829
Soundcloud - soundcloud.com/longtunman

เรื่องที่คุณอาจสนใจ

SPONSORED
© 2024 Longtunman. All rights reserved. Privacy Policy.
Blockdit Icon