ถอดโมเดลลอนดอน เก็บค่ารถติด 600 บาทต่อวัน แก้ปัญหารถติด ได้จริงไหม ?

ถอดโมเดลลอนดอน เก็บค่ารถติด 600 บาทต่อวัน แก้ปัญหารถติด ได้จริงไหม ?

ถอดโมเดลลอนดอน เก็บค่ารถติด 600 บาทต่อวัน แก้ปัญหารถติด ได้จริงไหม ? /โดย ลงทุนแมน
ไม่นานมานี้ มีข่าวว่ารัฐบาลไทย มีแนวคิด เก็บค่าธรรมเนียมรถติด คันละ 50 บาท บนเส้นสุขุมวิท สีลม รัชดา เพื่อเป็นงบนำไปซื้อคืนรถไฟฟ้า กลับมาเป็นของรัฐ เพื่อควบคุมค่าโดยสารให้ไม่เกิน 20 บาท
แต่รู้ไหมว่า ลอนดอนเป็นหนึ่งในเมืองที่เก็บค่าธรรมเนียมรถติดมาตั้งแต่ปี 2003 หรือเมื่อราว 20 กว่าปีก่อน
โดยปีที่แล้ว ลอนดอนเก็บค่าธรรมเนียมรถติดวันละ 650 บาท จนมีรายได้ 15,400 ล้านบาทต่อปีเลยทีเดียว
โมเดลเก็บค่าธรรมเนียมรถติดของลอนดอน ประสบความสำเร็จแค่ไหน ?
ลงทุนแมนจะเล่าให้ฟัง
╔═══════════╗
ภาวะเงินเฟ้อ ตลาดผันผวนแบบนี้ ติดตามข่าวเศรษฐกิจแบบเน้น ๆ จากหลายเพจได้ใน Blockdit - คอนเทนต์แพลตฟอร์มที่มีผู้ใช้งานเป็นประจำ 2 ล้านคน ลองใช้ฟรี blockdit.com/download
╚═══════════╝
20 ปีที่แล้ว ลอนดอนไม่ต่างอะไรจากกรุงเทพฯ
ที่เต็มไปด้วยปัญหารถติด โดยเฉพาะใจกลางเมือง
แม้ลอนดอน จะมีโครงข่ายรถโดยสารสาธารณะที่เชื่อมต่อกัน ทั้งรถบัส, รถไฟฟ้าใต้ดิน, แท็กซี่, รถราง หรือรถไฟก็ตาม
พอเป็นแบบนี้ ทำให้คุณ Ken Livingstone นายกเทศมนตรีคนแรกของลอนดอน ตัดสินใจเก็บ
ค่าธรรมเนียมรถติด สำหรับคนที่ขับรถเข้าใจกลางเมือง คันละ 5 ปอนด์ต่อวัน ในปี 2003
หวังลดระยะเวลาการเดินทางในพื้นที่รถติด โดยจะเอาเงินตรงนี้ไปปรับปรุงการให้บริการขนส่งสาธารณะ เพื่อให้คนหันมาใช้บริการตรงนี้แทนรถยนต์ส่วนตัว
ซึ่งเมื่อมีคนใช้บริการเพิ่มขึ้น หน่วยงาน Transport for London ของเมืองลอนดอน ก็จะมีรายได้จากการเก็บค่าโดยสารขนส่งสาธารณะมากขึ้นตามไปด้วย
จากนั้นเป็นต้นมา เมืองลอนดอนก็เริ่มปรับขึ้นค่าธรรมเนียมรถติดมาเรื่อย ๆ
จนปัจจุบัน มีค่าธรรมเนียมตรงนี้คันละ 15 ปอนด์ต่อวัน
หรือคิดเป็นเงินไทย ก็อยู่ราว 650 บาทต่อวันนั่นเอง
โดยเมืองลอนดอน จะมีกล้องบันทึกป้ายทะเบียนรถที่ขับเข้ามาในเขตเมือง จากนั้นก็จะบันทึกข้อมูลค่าใช้จ่าย ซึ่งถ้าเจ้าของรถไม่จ่าย ก็จะถูกให้เสียค่าปรับไปเรื่อย ๆ
ซึ่งหลังจากที่นโยบายนี้ออกมา แม้บรรดาร้านค้าในพื้นที่ได้ต่อต้านว่า ทำให้รายได้ธุรกิจลดลงบ้าง แต่ก็ช่วยลดปริมาณรถติดได้มากถึง 10% ในช่วงปี 2000-2012
อย่างไรก็ตาม ก็ไม่ใช่ทุกช่วงเวลาที่ลอนดอน
จะเก็บค่าธรรมเนียมรถติด เพราะในวันจันทร์ถึงวันศุกร์ จะเก็บในช่วงเวลา 07.00-18.00 น.
ส่วนวันหยุดเสาร์ อาทิตย์ และวันหยุดราชการ ก็จะเก็บค่าธรรมเนียมเฉพาะช่วงเวลา 12.00-18.00 น.
หรือพูดอีกอย่างคือ จะเก็บในชั่วโมงที่มีรถเยอะนั่นเอง
แต่เมืองลอนดอน ก็ยกเว้นกลุ่มที่ไม่ต้องเสียค่าธรรมเนียมรถติดด้วย เช่น คนพิการ, รถฉุกเฉิน, คนที่อาศัยอยู่ในเขตใจกลางเมือง, รถกู้รถเสีย, แท็กซี่ รวมไปถึงรถยนต์ไฟฟ้า ที่ได้รับการยกเว้นจนถึงปี 2025
และนอกจากค่าธรรมเนียมรถติดแล้ว รู้ไหมว่า เมืองลอนดอน ยังมีค่าธรรมเนียมมลพิษ โดยเรียกเก็บจาก
รถดีเซล รถเบนซิน หรือรถที่ปล่อยมลพิษเกินมาตรฐาน
ซึ่งรถยนต์และรถมอเตอร์ไซค์ที่ปล่อยมลพิษ จะต้องเสียเงิน 12.5 ปอนด์ต่อวัน (540 บาท)
และ 100 ปอนด์ต่อวัน (4,330 บาท) สำหรับรถขนาดใหญ่ เช่น รถบัสหรือรถบรรทุก
โดยจะมีการเก็บค่าธรรมเนียมมลพิษตลอด 24 ชั่วโมง
ไม่ว่าจะเดินทางเข้ามาในช่วงเวลาไหนก็ตาม
แล้วที่ผ่านมา เมืองลอนดอนเก็บค่าธรรมเนียมรถติด
และค่าธรรมเนียมมลพิษ มากแค่ไหน ?
ปี 2022 (ปิดงบวันที่ 31 มีนาคม 2022)
- ค่าธรรมเนียมรถติด 18,200 ล้านบาท
- ค่าธรรมเนียมมลพิษ 11,200 ล้านบาท
ปี 2023 (ปิดงบวันที่ 31 มีนาคม 2023)
- ค่าธรรมเนียมรถติด 15,400 ล้านบาท
- ค่าธรรมเนียมมลพิษ 25,800 ล้านบาท
เห็นได้ชัดว่า ลอนดอนเก็บค่าธรรมเนียมตรงนี้รวมกัน
ได้อย่างน้อยปีละ 30,000 ล้านบาทเลยทีเดียว
อีกเรื่องที่น่าสนใจคือ ในช่วงเดียวกัน รายได้จากค่าโดยสารขนส่งสาธารณะ เพิ่มขึ้นจาก 124,200 ล้านบาท กลายเป็น 174,500 ล้านบาท เรียกได้ว่า เพิ่มขึ้นถึง 40%
ซึ่งตรงนี้ ก็อาจมาจากการเปิดเมืองกลับมาเป็นปกติ ทำให้คนหันมาใช้บริการขนส่งสาธารณะมากขึ้นตามเดิม
แม้ว่ารายได้จะเพิ่มขึ้น แต่จริง ๆ แล้ว ในปี 2023 ขนส่งสาธารณะของลอนดอน ยังขาดทุนอยู่มากถึง 54,900 ล้านบาท
ซึ่งที่ผ่านมา ขนส่งสาธารณะของลอนดอน ยังจำเป็นที่ต้องได้รับเงินอุดหนุนจากเมืองลอนดอน มาอย่างต่อเนื่อง
รวมถึงทางขนส่งเอง ซึ่งเป็นหน่วยงานรับผิดชอบหลัก
ยังหารายได้จากหลายช่องทาง เช่น ป้ายโฆษณา,
ใบอนุญาตแท็กซี่, ค่าที่จอดรถ, ค่าเช่าพื้นที่ของตัวเอง

ทั้งหมดนี้ จะเห็นได้ว่า การเก็บค่าธรรมเนียมรถติดของเมืองลอนดอน ก็เป็นโมเดลที่น่าสนใจในการใช้พัฒนาและจูงใจให้คนหันมาใช้บริการขนส่งสาธารณะมากขึ้น
ซึ่งปัจจุบัน ก็ไม่ใช่แค่เมืองลอนดอนที่เดียว ที่มีการเก็บค่าธรรมเนียมตรงนี้ เพราะยังมีสิงคโปร์ สวีเดน อิตาลี ที่มีการเก็บค่าธรรมเนียมรถติด เมื่อขับรถเข้าใจกลางเมือง
แต่ต้องหมายเหตุว่า อาจไม่ใช่ทุกเมือง ที่โมเดลนี้จะเวิร์ก เพราะต้องดูบริบทอื่น ๆ ของเมืองนั้น ๆ ด้วย เช่น โครงสร้างพื้นฐานด้านคมนาคม, ระบบขนส่งสาธารณะ
ก็น่าสนใจว่า ถ้ากรุงเทพฯ มีการเก็บค่าธรรมเนียมรถติดจริง ๆ
ถนนในกรุงเทพฯ จะเริ่มโล่งมากขึ้น
หรือจะไม่มีอะไรเปลี่ยนแปลงเลย เพราะคนยังมองว่า การใช้รถยนต์ส่วนตัว แม้ต้องเสียเงินมากขึ้น ก็ยังดีกว่าการใช้บริการขนส่งสาธารณะ ที่ไม่ได้เชื่อมต่อกันเป็นระบบเลย..
╔═══════════╗
ภาวะเงินเฟ้อ ตลาดผันผวนแบบนี้ ติดตามข่าวเศรษฐกิจแบบเน้น ๆ จากหลายเพจได้ใน Blockdit - คอนเทนต์แพลตฟอร์มที่มีผู้ใช้งานเป็นประจำ 2 ล้านคน ลองใช้ฟรี blockdit.com/download
╚═══════════╝
ติดตามลงทุนแมนได้ที่
Website - longtunman.com
Blockdit - blockdit.com/longtunman
Facebook - facebook.com/longtunman
Twitter - twitter.com/longtunman
Instagram - instagram.com/longtunman
YouTube - youtube.com/longtunman
TikTok - tiktok.com/@longtunman
Spotify - open.spotify.com/show/4jz0qVn1AL7tRMHiTvMbZH
Apple Podcasts - podcasts.apple.com/th/podcast/ลงทุนแมน/id1543162829
Soundcloud - soundcloud.com/longtunman
References
-Transport for London Annual Report 2022/2023
-https://www.politics.co.uk/reference/congestion-charge/
-https://www.smartcitiesdive.com/ex/sustainablecitiescollective/five-cities-congestion-pricing/28437/
-https://tfl.gov.uk/corporate/about-tfl/how-we-work/how-we-are-funded
-https://en.wikipedia.org/wiki/Transport_for_London

เรื่องที่คุณอาจสนใจ

SPONSORED
© 2024 Longtunman. All rights reserved. Privacy Policy.
Blockdit Icon