“ยิบอินซอย” กับแนวคิด Good Business Ecosystem ให้ Robinhood ยืนหยัดได้อย่าง Sustain ในธุรกิจ Food Delivery

“ยิบอินซอย” กับแนวคิด Good Business Ecosystem ให้ Robinhood ยืนหยัดได้อย่าง Sustain ในธุรกิจ Food Delivery

ยิบอินซอย x ลงทุนแมน
“ปีหน้า Robinhood จะมีกำไร เพราะก่อนตัดสินใจซื้อ เรามองเห็นโอกาสธุรกิจที่ชัดเจน และวางแผนในอีก 3-4 ปีข้างหน้า Robinhood จะ IPO เข้าสู่ตลาดหลักทรัพย์”

เป็นคำพูดของคุณมรกต ยิบอินซอย ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท ยิบอินซอย จำกัด ที่เป็นผู้นำในการเข้าซื้อหุ้น Robinhood ในสัดส่วน 50%
ส่วนอีก 3 บริษัทที่เป็นพันธมิตรร่วมทุน ก็เป็นบริษัทไทยทั้งหมด
- บริษัท บรุ๊คเคอร์ กรุ๊ป จำกัด (มหาชน) สัดส่วน 30%
- บริษัท เอสซีที เรนทอล คาร์ จำกัด สัดส่วน 10%
- บริษัท ล็อกซบิท จำกัด (มหาชน) สัดส่วน 10%
สำหรับดีลการซื้อกิจการ Robinhood อาจมีมูลค่ารวมสูงสุด 2,000 ล้านบาท
โดยกลุ่มทุนไทยที่เข้าซื้อจะชำระเงินทันที 400 ล้านบาท
ส่วนอีกไม่เกิน 1,600 ล้านบาท ขึ้นอยู่กับผลประกอบการของ Robinhood ในมือเจ้าของคนใหม่
เชื่อว่า ยิบอินซอย และกลุ่มบริษัทร่วมทุน น่าจะรู้ดีว่าเมื่อซื้อ Robinhood มาแล้วจะใส่กลยุทธ์อะไรเข้าไปเพื่อให้ธุรกิจมีกำไร และให้ดีลซื้อกิจการครั้งนี้เป็นดีลที่คุ้มค่า
ลงทุนแมน จะสรุปการพูดคุยกับคุณมรกต ยิบอินซอย ที่ถือเป็นหัวเรือใหญ่ในการซื้อกิจการครั้งนี้ให้ฟัง
ยิบอินซอย เริ่มต้นทำธุรกิจแรกเมื่อเกือบ 100 ปีที่แล้ว
โดยเป็นผู้ทำรางรถไฟทางภาคใต้ ต่อมาก็ทำธุรกิจค้าแร่ และขยายไปสู่ธุรกิจผลิตภัณฑ์ปิโตรเคมี
จนมาถึง จุดเปลี่ยนในปี พ.ศ. 2497
เมื่อบริษัทขยายไปยังธุรกิจเทคโนโลยีต่าง ๆ จนทำให้ปัจจุบัน ยิบอินซอย ถือเป็นผู้เล่นรายใหญ่ในประเทศไทย ในกลุ่มธุรกิจวางโครงสร้างระบบ IT ต่าง ๆ ให้แก่หน่วยงานรัฐและบริษัทเอกชน
คุณมรกต เล่าว่า เธอเป็นแฟนพันธุ์แท้ Robinhood ตั้งแต่เปิดให้บริการเมื่อ 4 ปีที่แล้ว
ด้วยการใช้บริการเป็นประจำ สุดท้ายก็เกิดเป็นความรักความผูกพันแบบไม่รู้ตัว
“ในช่วงล็อกดาวน์ เราเห็น Robinhood มาช่วยเหลือร้านอาหาร คนตกงานมาเป็นไรเดอร์
และทุกครั้งที่ใช้บริการ รู้สึกอบอุ่นหัวใจ ที่เราได้เป็นส่วนหนึ่งในการช่วยเหลือผู้คน”
และเมื่อคุณมรกต ได้ยินข่าวว่าทาง Robinhood จะปิดกิจการ จึงติดต่อเข้าไปเพื่อเจรจาทำดีล ส่งผลให้มีประกาศเลื่อนการปิดออกไปก่อน พร้อมกับมีข่าวว่าหลายบริษัทยักษ์ใหญ่ในเมืองไทยให้ความสนใจที่จะครอบครอง Robinhood
เธอยังเล่าต่อว่า ด้วย Passion ของเธอกับกลุ่มพันธมิตรร่วมทุนที่ต้องการขับเคลื่อน Robinhood ให้ไปไกลกว่าเดิม ทำให้ทาง SCBX ตัดสินใจขายให้
ประเด็นอยู่ที่ว่าในการซื้อกิจการใดก็ตาม สิ่งที่ต้องคิดมีอยู่ 2 เรื่องหลัก ๆ
- เงินที่จ่ายไปนั้นคุ้มค่ามากแค่ไหน
- โอกาสอะไรใน Robinhood ที่จะสร้างรายได้ให้ยั่งยืนในอนาคต
ในประเด็นความคุ้มค่า คุณมรกต ตอบไว้อย่างน่าสนใจว่า
เพราะการซื้อ Robinhood ที่มีระบบทุกอย่างสมบูรณ์ จึงสามารถขับเคลื่อนธุรกิจหารายได้ในทันที
ในมุมกลับกัน หากคิดลงทุนพัฒนาแอป Food Delivery ก็ไม่รู้ต้องใช้เงินเท่าไร
ซึ่งถ้าพัฒนาเอง ก็ต้องใช้เงินมหาศาลในการโปรโมตแบรนด์ เพื่อสร้างความแข็งแกร่งใน Ecosystem ตัวเอง ไม่ว่าจะเป็น ร้านอาหาร, จำนวนไรเดอร์ และฐานลูกค้าที่ใช้บริการ
ฉะนั้นการซื้อ Robinhood ในราคาเพียงเท่านี้ จึงถือว่าเป็นดีลที่คุ้มค่า..

เพราะเหมือนขึ้นทางด่วนวิ่งตรงเข้ามายังธุรกิจ Food Delivery ได้ในทันที
โดยไม่ต้องเริ่มต้นจากศูนย์ และไม่ต้องเสี่ยงลงทุนเองที่ไม่รู้ว่าจะต้องใช้เงินเท่าไร
และลงทุนไปแล้วจะสำเร็จหรือไม่ ก็ไม่มีใครตอบได้
ส่วนประเด็นที่ว่า มองเห็นโอกาสอะไรจากดีลการซื้อกิจการในครั้งนี้ ?

คุณมรกต บอกว่า Robinhood เป็น Food Delivery ของคนไทยที่เกิดมา เพื่อช่วยเหลือร้านอาหารทำให้ได้ภาพลักษณ์ ได้ใจคนไทยไปเต็ม ๆ
อีกทั้ง Users ที่ใช้บริการแอป มีกำลังซื้อสูง ที่มาจากฐานลูกค้าธนาคาร
ส่วนอีกเรื่องคือ จากประสบการณ์การใช้งานของคุณมรกต ก็ประทับใจกับมนุษยสัมพันธ์และบริการจากไรเดอร์ของ Robinhood ที่เธอเชื่อว่า นี่คือสิ่งที่เป็น “จุดแข็ง” และหาไม่ได้จาก Food Delivery รายอื่น ๆ
ขณะเดียวกันด้วยการที่ ยิบอินซอยและบริษัทพันธมิตรที่ทำธุรกิจด้านเทคโนโลยี และธุรกิจอื่น ๆ
ก็สามารถนำ Robinhood มาต่อยอดหรือสนับสนุนซึ่งกันและกัน แต่จะเป็นในรูปแบบไหน คงต้องติดตามกันต่อไปในอนาคต
มาถึงคำถามที่หลายคนน่าจะอยากรู้นั้นคือ กลุ่มเจ้าของคนใหม่ จะทำอย่างไร ให้ Robinhood รู้จักคำว่า “กำไร” ให้เร็วที่สุด ?
คำตอบแบ่งเป็น 3 วิธีหลัก ๆ คือ
1. สร้างการรับรู้ว่า Robinhood ณ เวลานี้ยังเปิดบริการอยู่
เพื่อให้ทุกฝ่ายเข้าสู่ Ecosystem เหมือนเดิม เพราะตั้งแต่มีข่าว Robinhood ปิดให้บริการ ต้องยอมรับว่าร้านอาหาร, ไรเดอร์ และลูกค้าจำนวนหนึ่งได้หายไปจากระบบ
2. ปรับโครงสร้างธุรกิจ จากเดิม Robinhood เป็น Super App ที่มีถึง 7 บริการ ได้แก่ Food, Travel, Mart, Express, Ride, EV และ Finance ปัจจุบันเหลือเพียงบริการเดียวคือ Food Delivery
นั่นแปลว่า ต้นทุนพนักงาน ก็จะน้อยลงตามไปด้วย
อีกทั้ง การโฟกัสแค่ธุรกิจเดียว ทำให้มีความแม่นยำ และคล่องตัวสูงกว่าการทำหลายธุรกิจ
โดยเบื้องต้น Robinhood จะโฟกัสให้บริการเฉพาะพื้นที่กรุงเทพฯ และปริมณฑล
หากดูข้อมูลเชิงลึกจะพบว่าในตลาด Food Delivery พื้นที่กรุงเทพฯ และปริมณฑล มีส่วนแบ่ง 40%
ส่วนที่เหลือ 60 % เป็นต่างจังหวัด
จึงถือเป็นตลาดที่ยังมีโอกาสสูง แม้การแข่งขันจะดุเดือดกว่าในทำเลอื่นก็ตาม
จากนั้น เมื่อธุรกิจเริ่มแข็งแกร่ง ก็จะมีแผนต่อยอดไปยังพื้นที่ต่างจังหวัดที่มีศักยภาพ
จนถึงอาจจะมีการเปิดบริการ เรียกรถ, ซื้อของใช้ ของสด, ส่งของ และจองที่พักโรงแรมและตั๋วเครื่องบิน
โดยทั้งหมดที่กล่าวมานั้น สามารถทำได้ทันที เพราะ Robinhood เคยทำธุรกิจเหล่านี้มาก่อน ทำให้มีระบบรองรับทุกอย่างไว้ครบหมดแล้ว
3. เปลี่ยนระบบการเก็บค่า GP หรือ ค่าคอมมิชชัน จากเดิมร้านอาหารที่อยู่ใน Robinhood ไม่ต้องจ่ายหรือจะเป็นสมัครใจจ่าย มาสู่การเก็บ GP 28%
ซึ่งยังถือว่าต่ำกว่าคู่แข่งในตลาด ที่อยู่ระหว่าง 30-35%
ที่น่าสนใจกว่านั้นคือ การจ่ายค่า GP ให้แก่ Robinhood
ร้านอาหารต่าง ๆ ยังได้สิทธิ์โฆษณาผ่านหน้าจอใน Robinhood ฟรี ขณะที่ Food Delivery คู่แข่งมีการเก็บค่าโฆษณาเพิ่มเติม
“ต้องยอมรับว่า ถ้าจะทำธุรกิจให้มีกำไร Robinhood ต้องเก็บค่า GP
แต่เลือกเก็บน้อยกว่าคู่แข่งในตลาด และให้ร้านอาหารโฆษณาได้ฟรี ๆ
เป้าหมายก็เพื่อสร้างรายได้ให้แก่ร้านอาหารและไรเดอร์”
คุณมรกต เชื่อว่า ด้วยแนวทางการบริหารใหม่บวกกับความแข็งแกร่งของ 4 บริษัท จะทำให้ Robinhood พลิกจากคำว่า “ขาดทุน” แปรเปลี่ยนเป็น “กำไร” ในปีหน้า
และอีก 3 ปีต่อมา ธุรกิจก็น่าจะขยายเติบโตขึ้นกว่าเดิม
จนกลายเป็นบริษัทที่เตรียม IPO เข้าซื้อขายหุ้นในตลาดหลักทรัพย์ฯ ในที่สุด
ภาพวาดธุรกิจครั้งนี้ จะสำเร็จหรือไม่ คงยังไม่มีใครตอบได้
แต่ที่ตอบได้แน่ ๆ การกลับมาของ Robinhood ครั้งนี้ จะเป็นโมเดลธุรกิจที่มีพลังขับเคลื่อนในการมุ่งหากำไรมากกว่าในอดีต
แต่ก็ยังคง จุดยืน ที่จะสร้างการเติบโตไปพร้อม ๆ ร้านอาหาร และไรเดอร์ ที่อยู่ในระบบนั่นเอง..
Reference
- สัมภาษณ์โดยตรง คุณมรกต ยิบอินซอย ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท ยิบอินซอย จำกัด โดยลงทุนแมน

เรื่องที่คุณอาจสนใจ

SPONSORED
© 2024 Longtunman. All rights reserved. Privacy Policy.
Blockdit Icon