ส่องเศรษฐกิจเวียดนาม อินโดนีเซีย ฟิลิปปินส์ ทำไมถึงโตดี โตจากอะไร ?

ส่องเศรษฐกิจเวียดนาม อินโดนีเซีย ฟิลิปปินส์ ทำไมถึงโตดี โตจากอะไร ?

ส่องเศรษฐกิจเวียดนาม อินโดนีเซีย ฟิลิปปินส์ ทำไมถึงโตดี โตจากอะไร ? /โดย ลงทุนแมน
ประเทศเพื่อนบ้านของไทยหลาย ๆ ประเทศ ได้ประกาศตัวเลข GDP ของปี 2566 ออกมา ด้วยตัวเลขการเติบโตที่มากกว่า 5%
ตัวอย่างเช่น
- เวียดนาม GDP โต 5%
- อินโดนีเซีย GDP โต 5.1%
- ฟิลิปปินส์ GDP โต 5.5%
ทำให้หลายคนสงสัยว่า
ทำไมประเทศเหล่านี้ ถึงเติบโตได้ดี และมีของดีอะไร ช่วยกระตุ้นเศรษฐกิจ
แล้วเราจะเรียนรู้อะไรจากการเติบโตนี้ได้บ้าง..
ลงทุนแมนจะเล่าให้ฟัง
╔═══════════╗
ภาวะเงินเฟ้อ ตลาดผันผวนแบบนี้ ติดตามข่าวเศรษฐกิจแบบเน้น ๆ จากหลายเพจได้ใน Blockdit - คอนเทนต์แพลตฟอร์มที่มีผู้ใช้งานเป็นประจำ 2 ล้านคน ลองใช้ฟรี blockdit.com/download
╚═══════════╝
ก่อนอื่นต้องบอกว่า จริง ๆ แล้วในปีที่ผ่านมา ประเทศเพื่อนบ้านเราทั้ง 3 ประเทศที่กล่าวมา ล้วนมี GDP ที่โตน้อยกว่าปีก่อนหน้า
โดยเฉพาะ GDP ของทั้งเวียดนามและฟิลิปปินส์นั้น ก็โตได้ต่ำกว่าที่คาดหวังด้วย ทั้งนี้ก็เป็นผลมาจากภาวะเศรษฐกิจโลก
อย่างไรก็ตาม ด้วยตัวเลขการเติบโตที่ถือว่าสูงพอสมควร หลายคนสงสัยกันอยู่ดี ว่าเศรษฐกิจโตได้เพราะอะไรกันแน่
มาเริ่มกันที่เวียดนาม..
หลายคนอาจจะคิดว่า GDP ของเวียดนาม จะมาจากภาคอุตสาหกรรมเป็นหลัก เห็นได้จากการย้ายฐานการผลิต ตลอดจนการลงทุนจากต่างชาติ ที่ย้ายเข้าสู่เวียดนามจำนวนมาก
แต่ในความเป็นจริงแล้ว ภาคบริการ ครองแชมป์ด้านมูลค่าเศรษฐกิจ โดยมีสัดส่วนอยู่ที่ 41% ของ GDP
ในขณะที่ภาคอุตสาหกรรม ตามมาเป็นอันดับ 2 ซึ่งอยู่ที่ประมาณ 38%
ซึ่งในปีที่ผ่านมา ภาคบริการของเวียดนาม ถือเป็นพระเอกหลัก ของการเติบโตทางเศรษฐกิจ โดยมีการเติบโตมากถึง 6.82%
เหตุผลที่ทำให้ภาคบริการของเวียดนาม มีการเติบโตสูง ก็คือจำนวนนักท่องเที่ยวต่างชาติ ที่ฟื้นตัวได้ดีในช่วงที่ผ่านมา
ซึ่งเป็นผลจากการผ่อนปรนข้อกำหนดด้านวีซ่า ให้แก่นักท่องเที่ยว รวมถึงมาตรการกระตุ้นการท่องเที่ยวของภาครัฐ
ถ้าถามว่านักท่องเที่ยวต่างชาติ สำคัญกับเวียดนามมากขนาดไหน ก็บอกได้เลยว่าสำคัญมาก
เพราะในช่วงก่อนการล็อกดาวน์ การท่องเที่ยวของชาวต่างชาติ ในเวียดนาม ครองสัดส่วนถึง 8% ของ GDP ซึ่งน้อยกว่าไทยซึ่งอยู่ที่ 10-12% ของ GDP เพียงนิดเดียวเท่านั้น
และในปีที่ผ่านมา เวียดนามมีจำนวนนักท่องเที่ยวต่างชาติ ประมาณ 13 ล้านคน หรือประมาณครึ่งหนึ่ง ของนักท่องเที่ยวที่เข้ามาในประเทศไทย
ด้วยจำนวนนักท่องเที่ยวที่เพิ่มขึ้น ประกอบกับนโยบายของภาครัฐ ที่ขยายระยะเวลาการลดหย่อนภาษีมูลค่าเพิ่ม จาก 10% เป็น 8%
ทำให้ภาคการบริโภค (Consumption) ของเวียดนาม สามารถเติบโตจนบรรลุเป้าหมายที่ตั้งไว้ ได้สำเร็จ
ซึ่งในปีที่ผ่านมา การบริโภคภายในประเทศ ก็เป็นตัวแบกการเติบโตทางเศรษฐกิจของเวียดนาม แทนที่การลงทุนและการส่งออก ที่ต่างก็ทำไม่ได้ตามเป้าหมาย
มาต่อที่ อินโดนีเซีย
เมื่อดูจาก GDP จะพบว่า องค์ประกอบหลักของเศรษฐกิจอินโดนีเซีย มาจากการบริโภคภาคครัวเรือน (Consumption) หรือก็คือการจับจ่ายใช้สอยของผู้คนในประเทศนั่นเอง โดยคิดเป็นประมาณครึ่งหนึ่งของ GDP เลยทีเดียว
ในปีที่ผ่านมา การบริโภคภาคครัวเรือนของอินโดนีเซีย ก็เติบโตได้เป็นอย่างดี ถึงแม้ว่าจะชะลอตัวลงจากปีก่อนหน้า แต่ก็ยังขยายตัวถึง 4.8% เมื่อเทียบกับปีที่ผ่านมา
ซึ่งการเติบโตของ GDP อินโดนีเซียที่ 5% ในปีที่ผ่านมา ก็มาจากภาคส่วนนี้ถึงครึ่งหนึ่ง หรือ 2.5% เลยทีเดียว
โดยสาเหตุที่ทำให้คนอินโดนีเซีย จับจ่ายใช้สอยกันมากขึ้น ส่วนหนึ่งมาจากการเพิ่มขึ้นของค่าแรงขั้นต่ำ
ผู้บริโภคมีความเชื่อมั่น และนโยบายช่วยเหลือต่าง ๆ จากรัฐบาล ตลอดจนการใช้จ่ายในช่วงก่อนการเลือกตั้งครั้งที่ผ่านมา
อีกทั้ง รัฐบาลของอินโดนีเซีย ก็มีการเร่งพัฒนาโครงสร้างพื้นฐาน รวมถึงมีการพัฒนาเมืองหลวงใหม่อย่างนูซันตารา
ก็เป็นอีกหนึ่งตัวกระตุ้นเศรษฐกิจ และทำให้ตัวเลขการลงทุนภายในประเทศปรับตัวสูงขึ้น จนเป็นตัวช่วยดัน GDP มากถึง 1.4% จากการเติบโต 5% นั้น
นอกจากนี้ ภาคการผลิตของอินโดนีเซีย ก็ถือว่าเติบโตได้ค่อนข้างดีในปีที่ผ่านมา โดยสามารถขยายตัวอย่างต่อเนื่องถึง 32 เดือน และมีส่วนช่วยผลักดันการเติบโตของ GDP ถึง 1%
ซึ่งถ้าเราลองดูตัวเลข GDP ของแต่ละอุตสาหกรรม จะพบว่า อินโดนีเซียมีความโดดเด่นในด้านการผลิตมากที่สุด ตามมาด้วยการเกษตร และค้าปลีก
และอีกหนึ่งภาคธุรกิจที่มาแรงแซงทางโค้ง ก็คือภาคการขนส่ง ซึ่งเป็นภาคส่วนที่เติบโตมากที่สุด ในปีที่ผ่านมาถึง 14%
เป็นผลจากปริมาณการส่งออก-นำเข้าสินค้าที่เพิ่มมากขึ้น ตลอดจนจำนวนนักท่องเที่ยวที่เพิ่มขึ้น และการเปิดรถไฟ LRT และรถไฟความเร็วสูงสายใหม่
มาถึงประเทศสุดท้ายก็คือ ฟิลิปปินส์
เช่นเดียวกับอินโดนีเซีย GDP ของฟิลิปปินส์ ก็มาจากการบริโภคภายในประเทศเป็นหลัก เช่นเดียวกัน
GDP ของฟิลิปปินส์ มาจากการบริโภคของภาคครัวเรือน ถึง 3 ใน 4 และในปีที่ผ่านมา ส่วนนี้ก็โตกว่า 5.6% ซึ่งถือว่าค่อนข้างดีเลยทีเดียว
โดยมาจากการที่ฟิลิปปินส์ มีอัตราการว่างงานที่ค่อนข้างต่ำ ประกอบกับแรงงานชาวฟิลิปปินส์ที่ไปทำงานอยู่ต่างประเทศ มีการส่งเงินกลับประเทศเพิ่มขึ้นเรื่อย ๆ ในแต่ละปี ซึ่งคิดเป็นมูลค่าถึง 1 ใน 10 ของ GDP เลยทีเดียว
และถ้าลองมาดูในส่วนภาคการบริการนั้น ก็เติบโตแรงถึง 7.2% โดยมาจากการขนส่ง บริการที่พัก และบริการด้านอาหาร ที่เติบโตสูงมาก เป็นผลมาจากตัวเลขนักท่องเที่ยวที่เพิ่มขึ้นถึง 2 เท่าจากปีก่อน
นอกจากนี้ รัฐบาลฟิลิปปินส์ ยังมีการใช้จ่ายด้านโครงสร้างพื้นฐานหลายโครงการในช่วงที่ผ่านมา
โดยตัวเลขการใช้จ่ายด้านนี้ ถือว่าสูงมากที่สุดในรอบ 10 ปีเลยทีเดียว ซึ่งก็ช่วยเร่งการเติบโตของ GDP อีกทางหนึ่ง
จากที่ยกตัวอย่างมาทั้ง 3 ประเทศ จะเห็นได้ว่าการเติบโตของประเทศเพื่อนบ้านเรานั้น มีจุดที่คล้าย ๆ กันก็คือ
- การบริโภคภายในประเทศ และการท่องเที่ยว ที่เริ่มฟื้นตัว
- การลงทุนของภาครัฐ ในการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานต่าง ๆ
ซึ่งก็ดูคล้ายคลึงกันกับบ้านเรา เพราะในช่วงที่ผ่านมา การเติบโตของเศรษฐกิจไทย หลัก ๆ ก็มาจากการบริโภคภาคครัวเรือน และจำนวนนักท่องเที่ยวต่างชาติ ที่เพิ่มขึ้นเช่นกัน..
╔═══════════╗
ภาวะเงินเฟ้อ ตลาดผันผวนแบบนี้ ติดตามข่าวเศรษฐกิจแบบเน้น ๆ จากหลายเพจได้ใน Blockdit - คอนเทนต์แพลตฟอร์มที่มีผู้ใช้งานเป็นประจำ 2 ล้านคน ลองใช้ฟรี blockdit.com/download
╚═══════════╝
ติดตามลงทุนแมนได้ที่
Website - longtunman.com
Blockdit - blockdit.com/longtunman
Facebook - facebook.com/longtunman
Twitter - twitter.com/longtunman
Instagram - instagram.com/longtunman
YouTube - youtube.com/longtunman
TikTok - tiktok.com/@longtunman
Spotify - open.spotify.com/show/4jz0qVn1AL7tRMHiTvMbZH
Apple Podcasts - podcasts.apple.com/th/podcast/ลงทุนแมน/id1543162829
Soundcloud - soundcloud.com/longtunman
References
-https://www.pwc.com/id/en/pwc-publications/general-publications/indonesia-economic-update.html
-https://www.mckinsey.com/featured-insights/future-of-asia/southeast-asia-quarterly-economic-review
-https://www.bps.go.id/en/pressrelease
-https://economic-research.bnpparibas.com/html/en-US/Indonesia-economy-holding-well-10/16/2023,48994
-https://www.adb.org/where-we-work/indonesia/economy
-https://arc-group.com/indonesia-economic-update-report-q4-2023/
-https://www.adb.org/where-we-work/viet-nam/economy
-https://www.gso.gov.vn/en/data-and-statistics/2024/02/socio-economic-situation-in-the-fourth-quarter-and-2023/
-https://arc-group.com/vietnam-economic-update-report-q4-2023/#eur-section1
-https://www.psa.gov.ph
© 2024 Longtunman. All rights reserved. Privacy Policy.
Blockdit Icon