สรุป 3 ข้อ ที่ได้จาก 1 ทศวรรษ ที่ลงทุนนอก
สรุป 3 ข้อ ที่ได้จาก 1 ทศวรรษ ที่ลงทุนนอก /โดย ลงทุนแมน
-ลงทุนแมนเล่าเรื่อง การลงทุนของคนอื่น มาเยอะแล้ว วันนี้จะมาเล่าเรื่องของตัวเองให้ฟัง
-ลงทุนแมนเล่าเรื่อง การลงทุนของคนอื่น มาเยอะแล้ว วันนี้จะมาเล่าเรื่องของตัวเองให้ฟัง
- ลงทุนแมน ลงทุนในต่างประเทศมานานแล้ว ตั้งแต่ปี 2008 ช่วงวิกฤติซับไพรม์ โดยใช้โบรเกอร์นอก แต่มาเริ่มจริงจังปี 2013 ตอนที่โบรเกอร์ไทยเริ่มเปิดให้บริการซื้อหุ้นนอกได้
จำได้ว่าในยุคแรกมีเพียงไม่กี่โบรเกอร์ที่เปิดให้ซื้อหุ้นนอกได้ เช่น โนมูระ (ตอนนี้ควบรวมกับกรุงศรีแล้ว) กิมเอ็ง (ตอนนี้เปลี่ยนชื่อเป็น Maybank) และตามมาด้วย SCBS (ตอนนี้เปลี่ยนชื่อเป็น InnovestX)
จนมาถึงยุคนี้ที่เก็บภาษีหุ้นนอก ก็เลยมาสนใจกองทุนรวมไทยที่ลงทุนต่างประเทศมากขึ้น
- เหตุผลในตอนนั้นที่เริ่มลงทุนนอก ก็คือ ในช่วงปี 2013 นั้น ราคาหุ้นในไทยเริ่มขึ้นมาสูง หุ้น SUPER STOCK หลายตัว ราคาหุ้นนำกำไรไปไกล แต่พอมาเห็นหุ้นนอกที่มีธุรกิจยอดเยี่ยมแต่ละตัว ก็มีราคาที่น่าสนใจไม่แพ้หุ้นไทยเลย
ซึ่งก็น่าจะตัดสินใจถูก เพราะตั้งแต่ตอนนั้นผ่านมา 10 ปีแล้ว SET INDEX ไทย ยังอยู่ที่เดิม ไม่ไปไหนเลย..
- ในตอนนั้น หรือแม้แต่ตอนนี้ ทุกคนคงคิดว่า การลงทุนนอก จะมีแต่คนเก่ง ๆ เต็มไปหมด ตลาดหุ้นนอกก็เปรียบเสมือนพรีเมียร์ลีก ที่เราไม่มีวันจะแข่งได้ แข่งกันเองในไทยดีกว่า
แต่ 10 ปีที่ผ่านมา ไม่ใช่แบบนั้นเลย เพราะผลตอบแทนที่ลงทุนแมนได้นั้น เรียกได้ว่าได้กำไรเยอะ โดยที่ไม่ต้องเล่นท่ายาก หรือใช้ความเก่งเท่าไรนัก
- ถ้าย้อนกลับไปถามว่า จุดไหนที่ทำให้รู้สึกว่ามั่นใจ แข่งได้ ไม่น่าแพ้ ก็คือ ในตอนปี 2013 หรือ 11 ปีที่แล้ว ตอนนั้นขึ้นรถไฟฟ้า BTS ทุกคนในรถไฟฟ้าเริ่มก้มหน้ามองมือถือของตัวเอง แล้วหุ้นที่อยู่ในแอปมือถือเหล่านั้น กลับมีราคาที่ไม่แพงเท่าหุ้นไทย..
- ถ้าพูดกันในตอนนี้ มันคงไม่แปลกที่ทุกคนจะก้มหน้ามองมือถือ แต่ในช่วงนั้นเป็นเรื่องที่แปลก..
เพราะในก่อนหน้านั้น Penetration Rate ของคนใช้สมาร์ตโฟนยังมีน้อย และเป็นช่วงแรก ๆ ที่ทุกคนเริ่มก้มหน้ามองมือถือของตัวเอง จากที่เมื่อก่อนคนจะไม่มีพฤติกรรมแบบนั้น..
- ก็คงจะจริงตามที่มีคนเคยบอกว่า นักลงทุนมักจะคอยติดตามพฤติกรรมของสังคมว่าจะเป็นอย่างไร แล้วลงทุนดักแนวโน้มของพฤติกรรมนั้น เรียกได้ว่าเป็น Social Analyst อาจจะสำเร็จในการลงทุนมากกว่าเป็น Financial Analyst
การเปลี่ยนของสังคมมีผลมากต่อธุรกิจที่สำเร็จ เช่น พฤติกรรมคนเข้าร้านสะดวกซื้อในไทยยุค 20 ปีที่แล้ว หรือ สังคมก้มหน้าใน 10 ปีที่แล้ว ที่ลงทุนแมนได้เห็น..
- นอกจากนั้น ลงทุนแมนลงทุนนอกด้วย แล้วก็ได้เอาเรื่องราวธุรกิจต่างประเทศมาเล่าในเพจลงทุนแมนด้วย โดยเริ่มเปิดเพจปี 2017 หรือ 7 ปีที่แล้ว
อาจเป็นเพราะ เรื่องราวธุรกิจนอกยังไม่เคยมีใครเล่ามาก่อน คนก็เริ่มติดตามเพจมากขึ้น จนน่าจะเรียกได้ว่า เพจลงทุนแมนมีคนตามเยอะ ส่วนหนึ่งก็เพราะเล่าเรื่องบุคคล หรือบริษัทต่างประเทศที่น่าสนใจในช่วงนั้น
- ถ้าจะให้ยกตัวอย่างในตอนนั้น เชื่อไหมว่า ใน 7 ปีที่แล้ว คนไทยยังไม่รู้จักเทสลา ไม่รู้จัก อีลอน มัสก์ ไม่รู้จัก เจฟฟ์ เบโซส
ลงทุนแมนเล่าเรื่องพวกนี้จะมียอดแชร์ที่สูงมากในตอนนั้น แต่ถ้าจะให้เล่าเรื่องเหล่านี้ในยุคนี้ก็คงถูกมองว่าเชย เพราะคนอ่าน รู้เรื่องอยู่แล้ว..
แล้วถ้าถามว่าที่ลงทุนนอกมา 1 ทศวรรษแล้ว ลงทุนแมนมีอะไรที่อยากจะแชร์ และตกผลึกได้ วันนี้จะมาแชร์ 3 ข้อ
1. บริษัทอเมริกัน = บริษัทของโลก
ลงทุนมาเป็น 10 ปี ดูงบ ดูกิจการ ได้คิด สรุปสั้น ๆ ได้เลยว่า คือ บริษัทอเมริกันได้กินส่วนแบ่งบริษัทท้องถิ่นแต่ละประเทศไปมากอย่างที่คนประเทศนั้นไม่รู้ตัว และจะกินมากขึ้นอีกเรื่อย ๆ..
ยกตัวอย่าง Meta ที่มี เฟซบุ๊ก อินสตาแกรม กำไร All time high ในปีนี้ แต่ ไทยรัฐ ช่อง 3 กำไรน้อยลงไปมาก ไม่ต้องอธิบายมาก ทุกคนคงรู้ว่าเพราะอะไร
ดังนั้นแค่ เฟซบุ๊กสาขาประเทศไทย ก็ควรมีมูลค่าบริษัทมากกว่า ช่อง 3 ไทยรัฐ ทั้งบริษัท เห็นด้วยหรือไม่ ลองใช้วิจารณญานตัดสินกันเอง
คำถามต่อไปคือ แล้วถ้ารวมเฟซบุ๊กทุกสาขาทั่วโลก จะมีมูลค่าขนาดไหน ?
ดังนั้นกำไรบริษัทอเมริกัน มันจะมีกำไรไปไกลกว่า GDP สหรัฐอเมริกามาก
นักลงทุนควรเลิกเอา Warren Buffet Indicator ที่เอา Marketcap ทั้งตลาดสหรัฐ มาหาร GDP สหรัฐ ถ้าเกิน 1 แปลว่าตลาดหุ้นแพงได้แล้ว เพราะจริง ๆ แล้ว ตลาดสหรัฐ ในตอนนี้ควรหารด้วย GDP ทั้งโลก..
2. บริษัทยุคเก่า ขยายสาขาใช้เงินเยอะ / บริษัทยุคใหม่ ขยายไปทั่วโลก แทบจะฟรี
ยกตัวอย่าง ร้านอาหาร ร้านกาแฟ ถ้าขยายสาขาก็ต้องเช่าที่ ตกแต่ง จ้างพนักงาน (Starbucks กับ Mcdonald’s เป็นตัวอย่างของบริษัทยุคเก่า)
กลับมาที่ Meta ตัวอย่างเดิม การขยายบริการทั่วโลกแทบจะฟรี เพราะเขียนโปรแกรมหลักมาแล้ว ปรับแต่งนิดหน่อย พูดง่าย ๆ คือ ทำครั้งเดียว ใช้ได้ทั้งโลก
การขยายทั่วโลกฟรี มหัศจรรย์อย่างไร ?
คำตอบก็คือ เมื่อรายได้เพิ่มขึ้น ต้นทุนจะไม่เพิ่มตาม ทำให้ไหลลงไปเป็นกำไรทันที บริษัทพวกนี้ อัตรากำไรสุทธิ (Net Profit Margin) จะเพิ่มขึ้นเรื่อย ๆ และจะมีอัตรากำไรขั้นต้น (Gross Margin) ที่สูงมาก
เมื่อไหลลงเป็นกำไรได้เร็ว แปลว่า กำไรจะเติบโตเร็วมาก ไม่เหมือนบริษัทยุคเก่าที่การเติบโตของรายได้ตามมาด้วยต้นทุน ที่อาจจะทำให้กำไรเท่าเดิม หรือน้อยกว่าเดิมเสียอีก..
3. บริษัทยุคใหม่ชอบมีโมเดลที่มี Network Effect ที่กินรวบ
ถ้าร้านอาหาร ร้านค้าปลีก ก็จะแข่ง ๆ กันไป แบ่ง ๆ กำไรกันไป
ลองยกตัวอย่างที่ Meta เหมือนเดิม เฟซบุ๊ก อินสตาแกรม คนจะมาแข่งจะแข่งยังไง ? ถ้าทำเหมือนกันไม่มีทางสู้ได้ ไม่มีการแบ่ง คนชนะกินรวบ เพราะผู้ใช้งานทั่วโลกจะวิ่งเข้าหาแพลตฟอร์มที่มีคนใช้เยอะ
ถ้าจะแข่งก็ต้องทำแบบวิดีโอสั้นในรูปแบบที่แตกต่างมาแข่ง แต่พอทำมาก็โดนรายใหญ่เดิมก๊อบปี้ทำตามอีก..
การมี Network Effect ที่กินรวบ ดีอย่างไร ?
คำตอบก็คือ การแข่งขันด้านราคาจะน้อย ผู้ใช้งานไม่มีตัวเลือกที่จะไปใช้อย่างอื่น ทำให้บริษัทมีอำนาจในการเพิ่มราคา เมื่อเป็นแบบนั้นกำไรก็จะสูงมาก
รวมไปถึงต้นทุนในการรักษาตลาดก็จะมีน้อย เพราะไม่มีใครมาแข่ง ไม่ต้องไปทำการตลาดป้องกันคู่แข่ง
3 ข้อนี้เป็นเพียงตัวอย่าง แต่จริง ๆ แล้ว ยังมีอีกหลายข้อที่ลงทุนแมนตกผลึก และจะมาสรุปให้ฟังว่า
- วิธีการดูบริษัทที่จะลงทุน ควรมีวิธีอย่างไร ?
- แล้ววิธีการดูบริษัทไหนว่าแพง หรือ ไม่แพง มีวิธีการประเมินมูลค่าอย่างไร ?
- ตัวอย่างบริษัทที่ถือว่าดี ตัวอย่างบริษัทที่ควรหลีกเลี่ยง คืออะไร ?
-อีก 10 ปี ถัดไป ลงทุนแมนเห็นพฤติกรรมที่กำลังเปลี่ยนของคนในสังคม มีอะไรบ้าง ?
ทั้งหมดนี้จะอยู่ใน WORKSHOP ที่ลงทุนแมนจะมาเล่าให้ฟังด้วยตัวเอง ตัวจริง เสียงจริง เป็นครั้งแรก ในห้อง WORKSHOP ฟรีสำหรับคนมีบัตรเข้างาน
วันที่ 5 ต.ค. นี้ ที่งานลงทุนนอก ICON SIAM ถ้าใครอยากพบลงทุนแมนแบบในห้องเรียน สนใจจองบัตรเข้างานหลักได้ที่ลิงก์ใต้โพสต์ และวันที่ 3 ก.ย. จะมีลิงก์ให้ลงทะเบียนจอง WORKSHOP ฟรีอีกครั้ง และถึงจองเข้าห้องไม่ได้ ก็สามารถดู rerun online ย้อนหลังได้เช่นกัน
ส่วนใครไม่สนใจพบกัน ก็ไม่เป็นไรนะ แค่ติดตามเพจ และอ่านโพสต์นี้จบ ก็ดีใจแล้ว
สำหรับคนที่เข้า WORKSHOP มาคุยกันว่า อีก 10 ปีข้างหน้า ลงทุนแมนมองอย่างไร..
รายละเอียดงาน ลงทุนนอก 2024
https://www.zipeventapp.com/e/longtunnork2024
https://www.zipeventapp.com/e/longtunnork2024