คลังฯ สั่งปิด “สินมั่นคงประกัยภัย” แล้ว เพราะแก้ปัญหาฐานะการเงินไม่ได้  หนี้สิน มากกว่า สินทรัพย์ 30,000 ล้าน

คลังฯ สั่งปิด “สินมั่นคงประกัยภัย” แล้ว เพราะแก้ปัญหาฐานะการเงินไม่ได้ หนี้สิน มากกว่า สินทรัพย์ 30,000 ล้าน

รมว.คลัง ได้มีคำสั่งให้เพิกถอนใบอนุญาตประกอบธุรกิจประกันวินาศภัยของ บมจ. สินมั่นคงประกันภัย (SMK) โดยมีผลตั้งแต่วันที่ 4 ก.ค.67 เป็นต้นไป
เพราะสินมั่นคงประกันภัย ไม่ดำเนินการตามคำสั่งนายทะเบียนที่ให้บริษัทเพิ่มทุน และแก้ไขฐานะการเงินให้เพียงพอต่อภาระผูกพัน และให้มีอัตราส่วนของเงินกองทุนเพียงพอตามที่กฎหมายกำหนด ภายใน 1 ปี แต่กลับอาศัยกระบวนการฟื้นฟูกิจการตาม พ.ร.บ.ล้มละลาย
ต่อมาศาลล้มละลายกลาง มีคำสั่งยกเลิกคำสั่งให้ฟื้นฟูกิจการ และแจ้งคำสั่งดังกล่าวให้คู่ความทุกฝ่าย ทราบผลคำสั่งตามกฎหมายแล้ว
อำนาจหน้าที่ในการจัดการกิจการและทรัพย์สิน จึงกลับไปเป็นของผู้บริหารของบริษัท และผู้ถือหุ้นของบริษัท ทำให้บริษัทสามารถเคลื่อนย้าย หรือจำหน่ายทรัพย์สินของบริษัทได้
ประกอบกับบริษัทมีหนี้สินมากกว่าทรัพย์สิน
โดย ณ สิ้นปี 2565 บริษัทมีส่วนของผู้ถือหุ้น -30,488 ล้านบาท
จึงมีสินทรัพย์สภาพคล่องไม่เพียงพอสำหรับการเรียกร้องค่าสินไหมทดแทน มีอัตราส่วนความเพียงพอของเงินกองทุนต่ำกว่าอัตราที่กฎหมายกำหนด
แถมปี 2565 ผลการดำเนินงานของบริษัท ยังขาดทุนสุทธิ 32,759 ล้านบาท
แสดงให้เห็นว่า บริษัทมีฐานะการเงินไม่มั่นคงและไม่เพียงพอต่อภาระผูกพัน
รวมถึงบริษัทไม่มีแนวทางในการแก้ไขฐานะการเงิน มีประวิงการจ่ายค่าสินไหมทดแทนที่ต้องจ่าย โดยไม่มีเหตุอันสมควร อันทำให้ผู้เอาประกันภัย และประชาชนได้รับความเสียหาย
ดังนั้น หากให้ประกอบธุรกิจประกันวินาศภัยต่อไป จะทำให้เกิดความเสียหายต่อประชาชนหรือผู้เอาประกันภัย ตลอดจนความน่าเชื่อถือของธุรกิจประกันภัย
โดย สำนักงาน คปภ. ได้เตรียมมาตรการต่าง ๆ เพื่อรองรับมิให้ผู้บริโภคได้รับผลกระทบแล้ว
ผู้เป็นเจ้าหนี้ตามสัญญาประกันภัยของบริษัท และเจ้าหนี้อื่นที่ไม่ใช่เจ้าหนี้ตามสัญญาประกันภัย ให้ยื่นขอรับชำระหนี้ต่อกองทุนประกันวินาศภัย ในฐานะผู้ชำระบัญชีของ สินมั่นคงประกันภัย ภายใน 60 วัน นับแต่วันที่กองทุนประกันวินาศภัยประกาศกำหนด โดยการยื่นจะดำเนินการผ่านระบบอิเล็กทรอนิกส์
กองทุนประกันวินาศภัย ในฐานะผู้ชำระบัญชี จะประกาศแจ้งให้ทราบถึงกำหนดวัน เวลา และวิธีการยื่นคำทวงหนี้อีกครั้ง เพื่อให้บรรดาเจ้าหนี้ของ สินมั่นคงประกันภัย ยื่นคำทวงหนี้ต่อผู้ชำระบัญชี ตามกระบวนการที่กฎหมายกำหนด
ซึ่งเจ้าหนี้ฯ มีสิทธิได้รับชำระหนี้ที่เกิดจากสัญญาประกันภัยจากกองทุนประกันวินาศภัย ซึ่งเมื่อรวมกับจำนวนที่ได้รับการเฉลี่ยจากหลักทรัพย์ประกันและเงินสำรองที่วางไว้กับนายทะเบียนแล้ว ไม่เกินรายละ 1 ล้านบาท..
© 2024 Longtunman. All rights reserved. Privacy Policy.
Blockdit Icon