SME ไทยกับ 3 Big Step ง่าย ๆ สู่การเป็นองค์กร Net Zero

SME ไทยกับ 3 Big Step ง่าย ๆ สู่การเป็นองค์กร Net Zero

SME ไทยกับ 3 Big Step ง่าย ๆ สู่การเป็นองค์กร Net Zero
Carbon Markets Club X ลงทุนแมน
เชื่อหรือไม่ ประเทศไทยเรา ณ วันนี้ อยู่ในลำดับ 9 ของโลก ที่ได้รับผลกระทบจากความเสี่ยงจากภาวะวิกฤติภูมิอากาศ ส่วนภาพรวมของโลกใบนี้ก็ยังร้อนขึ้นเรื่อย ๆ โดยตั้งแต่ปีนี้เป็นต้นไปคาดว่า อุณหภูมิโลกจะเพิ่มขึ้น 1.7 องศาเซลเซียส และมีแนวโน้มจะสูงขึ้นในทุกปี
ที่น่าตกใจกว่านั้นคือ อัตราการปล่อยก๊าซเรือนกระจกในหลายประเทศสูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง
ประเทศไทยเองก็เช่นกัน โดยล่าสุดในปี 2023 ที่ผ่านมา ปล่อยก๊าซคาร์บอนฯ สูงถึง 300 ล้านตันคาร์บอนไดออกไซด์เทียบเท่าต่อปี
ต้องยอมรับว่า แค่วันนี้ เราเดินออกนอกบ้านยังรู้สึกว่าอากาศร้อนเกินจะรับไหว
ลองคิดดูว่า หากเราหมางเมินกับเรื่องนี้ อีก 30-40 ปีข้างหน้า อุณหภูมิโลกจะร้อนขนาดไหน และคนที่ต้องรับความโหดร้ายนี้ก็คือ ลูกหลานเรา
ทำให้หลายประเทศทั่วโลก ตื่นตัวกับเรื่องนี้ พร้อมกับมีนโยบายผลักดันไปสู่ Net Zero อย่างจริงจัง
ประเทศไทยเองก็เช่นกัน
โดยภาครัฐเตรียมออก พ.ร.บ. Climate Change ควบคุมการปล่อยก๊าซเรือนกระจก ในองค์กรต่าง ๆ เพื่อให้ประเทศไทยเข้าสู่โหมด Net Zero ภายในปี ค.ศ. 2065
สิ่งที่เกิดขึ้นคือ เกือบทุกบริษัทยักษ์ใหญ่ในเมืองไทย ต่างกำลังปรับเปลี่ยนแผนธุรกิจครั้งใหญ่ เพื่อเดินทางไปสู่เป้าหมาย Net Zero อย่างที่ไม่เคยเกิดขึ้นมาก่อน
แต่เราอาจยังไม่ค่อยเห็น SME ที่มีมูลค่าเศรษฐกิจรวมกันถึง 7 ล้านล้านบาท หรือกว่า 43% ของมูลค่า GDP ประเทศไทย และมีการจ้างงานสูงกว่า 16 ล้านคน เริ่มต้นปรับตัวสู่ Net Zero มากนัก
เหตุผลก็เพราะ SME อาจจะยังไม่รู้ว่าควรเริ่มต้นตรงไหน และภาวะโลกร้อนเกี่ยวข้องกับธุรกิจอย่างไร
Insight ตรงนี้เอง ที่ทำให้เกิดงานสัมมนา “ติดอาวุธให้องค์กร และบุคคล ปรับตัวยุคโลกเดือดกับงาน READY, SET, NET ZERO with Carbon Markets Club”
จากงานสัมมนานี้ SME หรือแม้แต่ตัวเราเอง จะต้องปรับตัวอย่างไร ?
ลงทุนแมนจะสรุปให้ฟัง
Carbon Markets Club เหมือนคลับรวมตัวบริษัทรักษ์โลกในประเทศไทยที่เริ่มต้นจาก 11 บริษัทยักษ์ใหญ่ในไทย จากนั้นก็ขยายไปยังบริษัทอื่น ๆ และประชาชนทั่วไป ก่อตั้งมานาน 3 ปี ปัจจุบันมีสมาชิกทั้งองค์กรและบุคคลกว่า 1,000 ราย โดยมีเป้าหมายเดียวกันคือ ลดก๊าซเรือนกระจกให้มากที่สุด
Club แห่งนี้ นอกจากให้ข้อมูลในด้าน Climate Change เพื่อให้ธุรกิจต่าง ๆ และคนทั่วไปปรับตัวในวิกฤติโลกเดือดแล้ว ยังเป็นศูนย์กลางซื้อขายคาร์บอนเครดิตและ RECs หรือใบรับรองการผลิตพลังงานหมุนเวียน ที่มีการซื้อขายกันไปแล้วรวมกันเทียบเท่าก๊าซคาร์บอนฯ 1.5 ล้านตันคาร์บอนไดออกไซด์เทียบเท่า
คุณกลอยตา ณ ถลาง รองกรรมการผู้จัดการใหญ่ งานบริหารความยั่งยืนและสื่อสารองค์กร บริษัท บางจาก คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) เล่าให้ฟังว่า
ในอดีตผู้ประกอบการ SME อาจมองว่า การให้บริษัทมีโมเดลธุรกิจ Net Zero เป็นเรื่องไกลตัว แต่เวลานี้อาจต้องคิดกันใหม่ เพราะนอกจากอุณหภูมิของโลกที่ร้อนขึ้นเรื่อย ๆ หลายประเทศก็เริ่มมีการบังคับให้บริษัทต่าง ๆ ต้องทำธุรกิจเพื่อสิ่งแวดล้อม
เช่น มาตรการ CBAM หรือ ภาษีก๊าซเรือนกระจกของสหภาพยุโรป หรือในบ้านเราก็เตรียมที่จะออก พ.ร.บ. Climate Change ควบคุมการปล่อยก๊าซเรือนกระจกในบริษัทต่าง ๆ
หากผู้ประกอบการ SME ไม่ปรับตัวอาจจะต้องมีการเสียภาษีคาร์บอน และค่าใช้จ่ายที่เกี่ยวกับการสร้างภาระต่อสิ่งแวดล้อม จนถึงขั้นอาจจะถูกกีดกันทางการค้าระหว่างประเทศ
กลายเป็นแรงกระเพื่อมให้ SME ตื่นตัว พร้อมกับเริ่มปรับตัวไปสู่ธุรกิจคาร์บอนต่ำ ซึ่งจริง ๆ เป็นเรื่องไม่ยากอย่างที่คิด โดยแบ่งเป็น 3 ขั้นตอนหลัก ๆ คือ READY - SET - NET ZERO
- READY
การรวบรวมข้อมูลปริมาณการปล่อยก๊าซคาร์บอนฯ ในธุรกิจ
รู้หรือไม่ ทุกวงจรธุรกิจทั้งบริษัทยักษ์ใหญ่หรือ SME ล้วนแล้วแต่สร้างก๊าซคาร์บอนฯ ทั้งทางตรงและทางอ้อม เช่น การผลิต, ขนส่งและจัดหาวัตถุดิบของสินค้า, กระจายสินค้า หรือแม้แต่จัดประชุมสัมมนาต่าง ๆ
โจทย์คือ เจ้าของธุรกิจ ต้องรวบรวมข้อมูลว่าในแต่ละปี ธุรกิจของตัวเองปล่อยก๊าซคาร์บอนฯ อยู่ที่เท่าไร
หรือ “ประเมินคาร์บอนฟุตพริ้นท์” โดยวัดจากทั้งทางตรงและทางอ้อม เช่น การใช้พลังงานไฟฟ้าที่ไม่ได้ผลิตเอง, การขนส่งที่ใช้น้ำมัน, การกำจัดขยะโดยเผาหรือฝังกลบ เป็นต้น
ทั้งหมด เป็นการจัดเก็บข้อมูล เพื่อนำไปวางแผนการลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนฯ ให้น้อยลงเรื่อย ๆนั่นเอง จากนั้นก็นำไปประเมินว่า จะลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนฯ ระยะสั้นและระยะยาว
- SET
เมื่อมีทั้งข้อมูลและเป้าหมายในใจแล้ว เราก็ต้องวางแผนและมีกลยุทธ์ที่จะลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนฯ เช่น ปรับเปลี่ยนทัศนคติคนในองค์กรและคู่ค้าให้หันมาร่วมมือกัน ลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนฯ, ปรับเปลี่ยนระบบขนส่ง, วิธีกำจัดขยะ เป็นต้น
จนถึงการวางแผนวิธีชดเชยการปล่อยคาร์บอนฯ เช่น การปลูกต้นไม้ เพื่อเอาไปหักลบกับมลพิษที่ปล่อยออกมา
และที่สำคัญที่สุดก็คือ ต้องประกาศเป้าหมายให้พนักงานทุกคนรับรู้ เพื่อเดินไปสู่เป้าหมายเดียวกัน
- NET ZERO
ติดตามผลว่า สรุปแล้วในแต่ละปีเราลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนฯ อยู่ที่เท่าไร ?
และในปีต่อไป ลดน้อยลงกว่าเดิมหรือไม่ จนสุดท้ายเมื่อธุรกิจของบริษัทเข้าสู่โหมด Net Zero สมบูรณ์แบบ ก็ประกาศให้พนักงานและสาธารณชนได้รับรู้
ถึงตรงนี้ ผู้ประกอบการ SME หลายคนอาจเกิดคำถาม บริษัทจะได้อะไร กับการเดินบนเส้นทางธุรกิจโมเดล Net Zero
เพราะมันไม่ใช่เรื่องที่บริษัทจะต้องมาจริงจัง
แล้วทำไม ไม่เอาเวลา และเงินทุน ไปสร้างผลประกอบการให้เติบโตทุกปี
ลองคิดดูง่าย ๆ หากธุรกิจที่สร้างมามีรายได้มหาศาล อนาคตเมื่อถึงวันที่ต้องส่งมอบให้ลูกหลาน
ธุรกิจนั้นอาจไม่มีค่าอะไรเลย เมื่อมันไม่สามารถซื้อสภาพอากาศดี ๆ สิ่งแวดล้อมสวยงามให้แก่ลูกหลานของเราได้ใช้ชีวิตอย่างมีความสุขได้
จะดีกว่าไหม ?
หากธุรกิจที่เราสร้างขึ้นมาอยู่ในสภาพแวดล้อมที่มีสุขภาพดี
เชื่อว่า ผู้ประกอบการ SME ทุกคนคงจะมีคำตอบดี ๆ อยู่ในใจกันแล้ว..
Reference
- งานสัมมนา READY, SET, NET ZERO with Carbon Markets Club

เรื่องที่คุณอาจสนใจ

SPONSORED
© 2024 Longtunman. All rights reserved. Privacy Policy.
Blockdit Icon