มาเลเซีย แม่เหล็กดึงดูด บริษัท Big Tech แห่งอาเซียน

มาเลเซีย แม่เหล็กดึงดูด บริษัท Big Tech แห่งอาเซียน

มาเลเซีย แม่เหล็กดึงดูด บริษัท Big Tech แห่งอาเซียน /โดย ลงทุนแมน
“เวียดนาม” ไม่ได้เป็นประเทศดาวรุ่ง แห่งเดียวในอาเซียน ที่สามารถดึงดูดบิ๊กเทค ได้อีกต่อไป
เพราะตอนนี้ แม่เหล็กที่ใหญ่กว่าอย่าง “มาเลเซีย” กำลังมีแรงดึงดูดมหาศาล จนสามารถดึงบิ๊กเทค ให้เข้ามาลงทุนได้อย่างต่อเนื่อง เช่น
- Microsoft ประกาศลงทุนระบบคลาวด์และโครงสร้างพื้นฐาน AI กว่า 80,260 ล้านบาท
- Google ประกาศลงทุน Data Center แห่งแรกในอาเซียน ด้วยเงิน 73,000 ล้านบาท
สงสัยไหมว่า มาเลเซีย มีดีอะไร
ทำไมกำลังเป็นแม่เหล็กดึงดูดเหล่าบิ๊กเทค ?
ลงทุนแมนจะเล่าให้ฟัง
╔═══════════╗
ภาวะเงินเฟ้อ ตลาดผันผวนแบบนี้ ติดตามข่าวเศรษฐกิจแบบเน้น ๆ จากหลายเพจได้ใน Blockdit - คอนเทนต์แพลตฟอร์มที่มีผู้ใช้งานเป็นประจำ 2 ล้านคน ลองใช้ฟรี blockdit.com/download
╚═══════════╝
ถ้าเราลองเทียบประเทศในอาเซียน เป็นแม่เหล็ก
แต่ละประเทศ ก็คงมีคุณสมบัติแบบนี้
- แม่เหล็กเวียดนาม
ราคาไม่แพง ใช้งานได้นาน เพราะมีจุดเด่นเรื่องค่าแรงถูก ประชากรอายุน้อย
- แม่เหล็กอินโดนีเซีย
เต็มไปด้วยแร่หลายชนิด เพราะมีทรัพยากรสำคัญในประเทศ เช่น นิกเกิล
- แม่เหล็กไทย
เน้นสีสันสวยงาม เพราะไทยดึงดูดการท่องเที่ยวได้ดี และมีจุดแข็งเรื่องความบันเทิง
- แม่เหล็กสิงคโปร์
ราคาสูง คุณภาพดี เพราะมีแรงงานทักษะสูงจำนวนมาก โครงสร้างพื้นฐานทันสมัย
ซึ่งเราก็จะเห็นได้ว่า แต่ละประเทศก็มีจุดเด่นที่แตกต่างกันออกไป ตามจุดแข็งของตัวเอง
แต่ถ้าพูดถึงมาเลเซียแล้ว ประเทศนี้กลับเป็นแม่เหล็กที่ทรงพลัง พร้อมใช้งานได้ แถมยังมีคุณภาพดี ใกล้เคียงกับสิงคโปร์อีกด้วย
ที่พูดแบบนี้ เหตุผลแรก ก็เพราะว่า
“มาเลเซีย เป็นหนึ่งในผู้เล่นหลักในอุตสาหกรรมชิป ของภูมิภาค”
ตั้งแต่ปี 1970 ซึ่งเป็นช่วงที่รัฐบาลมีการเปิด Free Trade Zone ที่ปีนัง เพื่อดึงดูดบริษัทต่างชาติ
โดยมีนโยบายลดหย่อนภาษี ยกเว้นภาษีนำเข้าบางอย่าง และเน้นให้บริษัทต่างชาติ ที่ทำเกี่ยวกับการผลิตอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ เข้ามาลงทุน
จนในที่สุด ความตั้งใจของรัฐบาลมาเลเซีย ก็เริ่มเห็นผล เมื่อ Intel บริษัทผลิตชิปจากสหรัฐฯ เข้ามาเปิดโรงงานแห่งแรก ตามมาด้วย OSRAM จากเยอรมนี
ซึ่งสิ่งที่มาเลเซียทำคือ ทำให้ตัวเองเริ่มมีความเชี่ยวชาญด้านการตรวจสอบชิป เพื่อเกาะไปกับอุตสาหกรรมนี้ ที่จะเป็นเทรนด์อนาคต
อย่างไรก็ตาม มาเลเซียก็ยังไม่สามารถสู้จีน ที่ยังเป็นผู้เล่นสำคัญในการตรวจสอบชิปได้ ซึ่งจีนครองส่วนแบ่งตลาดตรงนี้อยู่กว่า 38%
แต่พอเกิดสงครามการค้าขึ้นระหว่างสหรัฐฯ และจีน ทำให้มาเลเซีย ได้ประโยชน์มากขึ้น เพราะมีบริษัทต่าง ๆ มาตั้งโรงงานทดสอบชิป อย่างต่อเนื่อง
จนปัจจุบัน มีบริษัทต่างชาติหลายแห่งในมาเลเซีย เช่น Micron, Texas Instruments จากสหรัฐฯ, Infineon จากเยอรมนี และอีกมากมาย
ทำให้มาเลเซีย กลายมาเป็นผู้ส่งออกชิปอันดับ 6 ของโลก และเป็นอันดับ 2 ในอาเซียน รองจากสิงคโปร์
เหตุผลต่อมา คือ
“โครงสร้างอุตสาหกรรมในประเทศ ครบในที่เดียว”
ต้องบอกว่า อุตสาหกรรมชิป ไม่ได้มีแค่การผลิตหรือออกแบบเท่านั้น แต่ยังมีขั้นตอนตรวจสอบการทำงานของชิป ที่ไม่สามารถขาดได้
พูดให้เห็นภาพมากขึ้น ถ้าชิปเป็นบ้าน 1 หลัง
สถาปนิกจะเป็นคนออกแบบ จากนั้นก็ส่งให้วิศวกรสร้าง และมีผู้ตรวจสอบบ้าน คอยเช็กอีกรอบหนึ่ง
ซึ่งมาเลเซีย ถือเป็นผู้ตรวจสอบคนสำคัญของอุตสาหกรรม โดยมีบริษัทท้องถิ่นของตัวเอง ที่สามารถรับจ้างตรวจสอบการทำงานของชิป
ตัวอย่างเช่น SMD Semiconductor ที่อยู่ภายใต้รัฐซาราวัก ของมาเลเซีย รับจ้างทดสอบการทำงานของชิป ไปจนถึงการออกแบบและพัฒนาชิปเฉพาะทางได้ด้วย
หรือ SilTerra Malaysia ที่ก่อตั้งในปี 1995 โดยรัฐบาลมาเลเซีย เพื่อให้สามารถผลิตชิปเฉพาะทางตามลูกค้า มากกว่าการตรวจสอบชิปแค่อย่างเดียว
ปัจจุบัน มาเลเซียพยายามให้บริษัทในประเทศ ผลิตชิปให้ได้มากขึ้น โดยทุ่มเงินมากกว่า 2 แสนล้านบาท เพื่อหวังเป็นศูนย์กลางการผลิตชิปในอาเซียน
เหตุผลสุดท้าย คือ
“แรงงานทักษะสูง ที่มีอย่างต่อเนื่อง”
รู้ไหมว่า ถ้าเอาคนมาเลเซีย ที่จบปริญญาตรี มาเรียงกัน 100 คน จะมีคนมาเลเซียที่จบการศึกษา ในสาขาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี มากถึง 43 คน
สัดส่วนนี้ มากกว่าอินเดีย ที่คนจบปริญญาตรีทุก 100 คน จะมีบัณฑิตจบสาขาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี 34 คน
ถ้าเราลองคำนวณเล่น ๆ ว่า แล้วทุกปี คนมาเลเซีย
จบสาขาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี มากแค่ไหน
ปัจจุบันคนมาเลเซีย จบการศึกษาระดับปริญญาตรี ราว 6 ล้านคนต่อปี
เท่ากับว่า ทุก ๆ ปี จะมีคนจบสาขาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี มากถึง 2.5 ล้านคน พร้อมป้อนเข้าสู่ตลาดแรงงาน
เทียบกับประเทศไทย ที่มีแรงงานในสาขาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี ไม่ถึงล้านคน
เรียกได้ว่า ห่างกันกว่า 2.5 เท่า
ในขณะที่ประชากรไทย มีมากกว่ามาเลเซียเกือบเท่าตัว..
ถึงตรงนี้ ก็คงไม่แปลกใจว่า ทำไมมาเลเซีย
กำลังเป็นแม่เหล็กที่ทรงพลังขึ้นเรื่อย ๆ จนดึงดูดให้บิ๊กเทคระดับโลก เข้ามาลงทุนอย่างต่อเนื่อง
ในอนาคต เราคงเห็นแต่ละประเทศในอาเซียน
วัดกันว่า ใครจะเป็นแม่เหล็กที่ทรงพลังมากกว่ากัน ในการแย่งกันดึงดูดบิ๊กเทคให้เข้ามาลงทุน
ตัดภาพมาที่ประเทศไทย
ก็ต้องพยายามอัปเกรดแม่เหล็กของประเทศ ให้สามารถดึงดูดอุตสาหกรรมไฮเทค รวมถึงอุตสาหกรรมใหม่ ๆ เข้ามาขับเคลื่อนเศรษฐกิจให้ได้
ก่อนที่ทุกอย่างจะสายเกินไป
จนเราหมดเสน่ห์ และไม่สามารถดึงดูดอะไรได้เลย..
╔═══════════╗
ภาวะเงินเฟ้อ ตลาดผันผวนแบบนี้ ติดตามข่าวเศรษฐกิจแบบเน้น ๆ จากหลายเพจได้ใน Blockdit - คอนเทนต์แพลตฟอร์มที่มีผู้ใช้งานเป็นประจำ 2 ล้านคน ลองใช้ฟรี blockdit.com/download
╚═══════════╝
ติดตามลงทุนแมนได้ที่
Website - longtunman.com
Blockdit - blockdit.com/longtunman
Facebook - facebook.com/longtunman
Twitter - twitter.com/longtunman
Instagram - instagram.com/longtunman
YouTube - youtube.com/longtunman
TikTok - tiktok.com/@longtunman
Spotify - open.spotify.com/show/4jz0qVn1AL7tRMHiTvMbZH
Apple Podcasts - podcasts.apple.com/th/podcast/ลงทุนแมน/id1543162829
Soundcloud - soundcloud.com/longtunman
References
-https://www.ft.com/content/56cd8f3d-acf6-4898-9895-bdb15da43f07
-https://www.smdsemiconductor.com/product-services
-https://thediplomat.com/2024/05/malaysia-unveils-plans-to-become-next-global-chip-hub
-https://www.tetraconsultants.com/jurisdictions/register-company-in-malaysia/free-trade-zones
-https://news.microsoft.com/apac/2024/05/02/microsoft-announces-us2-2-billion-investment-to-fuel-malaysias-cloud-and-ai-transformation
-https://www.nasdaq.com/articles/alphabets-googl-google-invests-malaysia-amid-ai-boom
-https://secure.fundsupermart.com/fsmone/article/rcms281844/the-5-semiconductor-players-in-singapore-and-malaysia
-https://www.idc.com/getdoc.jsp
-https://behorizon.org/an-assessment-of-the-european-microchip-industry-and-its-expansion-strategy/#:~:text=Europe
-https://www.statista.com/chart/22927/share-and-total-number-of-stem-graduates-by-country/
-https://www.weforum.org/agenda/2023/03/which-countries-students-are-getting-most-involved-in-stem/
-https://en.wikipedia.org/wiki/Silterra_Malaysia

เรื่องที่คุณอาจสนใจ

SPONSORED
© 2024 Longtunman. All rights reserved. Privacy Policy.
Blockdit Icon