กรณีศึกษา BANDAI บริษัทของเล่น ที่ยังเติบโตมาได้เกือบ 20 ปี

กรณีศึกษา BANDAI บริษัทของเล่น ที่ยังเติบโตมาได้เกือบ 20 ปี

กรณีศึกษา BANDAI บริษัทของเล่น ที่ยังเติบโตมาได้เกือบ 20 ปี /โดย ลงทุนแมน
รู้หรือไม่ว่า ชื่อของเล่น ที่อยู่กับเราแทบจะทุกช่วงวัย ไม่ว่าจะเป็น
- กันพลา โมเดลพลาสติกกันดั้ม
- ทามาก็อตจิ สัตว์เลี้ยงดิจิทัล ในพวงกุญแจรูปไข่
- กาชาปอง ของเล่นแคปซูล ที่ขายสุ่มในตู้กาชาปอง
มีเจ้าของเดียวกันคือ BANDAI NAMCO บริษัทสัญชาติญี่ปุ่น ซึ่งมีมูลค่าบริษัทถึง 463,000 ล้านบาท
แต่พอได้ยินชื่อของเล่นเหล่านี้แล้ว บางคนอาจคิดว่า บริษัทคงอิ่มตัวมาสักพัก เพราะน่าจะอยู่ในธุรกิจตะวันตกดิน
อีกทั้งปัจจุบัน อัตราการเกิดของเด็ก ก็มีแนวโน้มลดลงเรื่อย ๆ
แต่ในความเป็นจริงกลับน่าสนใจ เพราะรายได้ของ BANDAI ยังเติบโตอย่างต่อเนื่องเกือบ 20 ปีที่ผ่านมา..
BANDAI ทำได้อย่างไร ?
ลงทุนแมนจะเล่าให้ฟัง
╔═══════════╗
ภาวะเงินเฟ้อ ตลาดผันผวนแบบนี้ ติดตามข่าวเศรษฐกิจแบบเน้น ๆ จากหลายเพจได้ใน Blockdit - คอนเทนต์แพลตฟอร์มที่มีผู้ใช้งานเป็นประจำ 2 ล้านคน ลองใช้ฟรี blockdit.com/download
╚═══════════╝
BANDAI ก่อตั้งในปี 1950 หรือเมื่อ 74 ปีที่แล้ว โดยเริ่มต้นจากการเป็นผู้ผลิตของเล่น ตามตัวละครในการ์ตูน และมีสินค้าฮิตหลายอย่าง ทั้งกันพลา, ทามาก็อตจิ และกาชาปอง
ต่อมาในปี 2005 BANDAI ได้ควบรวมกิจการกับ Namco ยักษ์ใหญ่ในวงการเกมและอาร์เคด กลายเป็นอาณาจักร BANDAI NAMCO จนถึงทุกวันนี้
ที่บอกว่าเป็นอาณาจักร เพราะว่า BANDAI ทำหลายอย่าง ตั้งแต่โมเดล, ของเล่น, กาชาปอง, เกม ไปจนถึงอานิเมะ
แล้วโมเดลธุรกิจของ BANDAI เป็นอย่างไร ?
BANDAI เป็นเจ้าของสินทรัพย์ทางปัญญา (IP) ทั้งลิขสิทธิ์และแฟรนไชส์ ทั้งหมด 1,929 IP ซึ่งส่วนใหญ่ก็คือการ์ตูน, เกม และแครักเตอร์ ที่หลายคนรู้จัก
โดย BANDAI จะนำ IP เหล่านี้ ไปต่อยอดเป็นสินค้าหลากหลายอย่าง ทั้งโมเดลพลาสติก, กาชาปอง, การ์ด, เสื้อผ้า, วิดีโอเกม และเกมมือถือ
ซึ่ง IP ที่ BANDAI ถือครอง แบ่งออกเป็น 2 อย่าง คือ
- IP ที่ BANDAI ได้ลิขสิทธิ์ในการออกสินค้าต่าง ๆ เช่น อันปังแมน, ชินจัง, ดราก้อนบอล, วันพีซ, นารูโตะ และดาบพิฆาตอสูร
- IP ที่ BANDAI ผลิตและพัฒนาขึ้นมาเอง โดยมีทั้งการออกแบบขึ้นมาใหม่ และที่ได้มาจากการไปเทกโอเวอร์ หรือถือหุ้นในบริษัทผู้คิดค้น IP นั้น ๆ
เช่น กันดั้ม, อุลตร้าแมน, มาสค์ไรเดอร์, เลิฟไลฟ์! และ IDOLiSH7
สำหรับ IP ที่ผลิตและพัฒนาขึ้นมาเองนั้น จะมีตั้งแต่โมเดลของเล่น, กาชาปอง, การ์ด ไปจนถึงการทำการ์ตูนอานิเมะ และการทำเพลงด้วย
นั่นเลยทำให้รายได้ของ BANDAI แบ่งได้เป็น 4 ธุรกิจหลัก คือ
1. ธุรกิจบันเทิง ซึ่งคิดรวมกันเกือบ 80% ของรายได้ทั้งหมด แบ่งได้เป็น
- ธุรกิจของเล่นและของสะสม เช่น โมเดลพลาสติก, กาชาปอง, การ์ด, เสื้อผ้า มีสัดส่วนรายได้ 42.6%
- ธุรกิจดิจิทัล เช่น วิดีโอเกม, เกม PC และเกมมือถือ มีสัดส่วนรายได้ 36.7%
โดยจะมีทั้งเกมที่ BANDAI เป็นผู้พัฒนาเอง เช่น PAC-MAN, TEKKEN และ IDOLM@STER
และเกมที่ BANDAI เป็นตัวแทนจัดจำหน่าย เช่น Elden Ring, DRAGON BALL Z: KAKAROT และ ONE PIECE ODYSSEY
2. ธุรกิจนันทนาการ เช่น ตู้เกม, เกมเซนเตอร์, หน้าร้านขายสินค้า, สนามเด็กเล่นในร่ม และธีมพาร์ก มีสัดส่วนรายได้ 10.0%
3. ธุรกิจผลิตและพัฒนา IP เช่น การ์ตูน, อานิเมะ, เพลง และภาพยนตร์ มีสัดส่วนรายได้ 7.8%
4. ธุรกิจอื่น ๆ เช่น โลจิสติกส์ มีสัดส่วนรายได้ 2.9%
ทีนี้เรามาดูผลประกอบการของ BANDAI กันบ้าง (งบการเงินของบริษัท เริ่มวันที่ 1 เมษายน สิ้นสุดวันที่ 31 มีนาคม)
- ปี 2021
รายได้ 178,000 ล้านบาท กำไร 11,750 ล้านบาท
- ปี 2022
รายได้ 213,600 ล้านบาท กำไร 22,300 ล้านบาท
- ปี 2023
รายได้ 237,850 ล้านบาท กำไร 21,704 ล้านบาท
จะเห็นว่าช่วงที่ผ่านมา รายได้ของบริษัท เติบโตขึ้นอย่างชัดเจน
และที่น่าสนใจก็คือ ไม่ใช่เพียงแค่ไม่กี่ปี แต่รายได้ของ BANDAI ยังคงเติบโตอย่างต่อเนื่อง ในช่วงเกือบ 20 ปีมานี้
- ปี 2006 รายได้ 108,300 ล้านบาท
- ปี 2023 รายได้ 237,850 ล้านบาท
เรื่องนี้เป็นเพราะ BANDAI พัฒนาสินค้าใหม่ ๆ ออกมาอยู่เสมอ โดยใช้ประสบการณ์ที่สั่งสมมานาน และออกสินค้าให้ตรงกับความต้องการของตลาดในช่วงเวลานั้น
อย่างการเอา 2 แครักเตอร์มา Collab กัน ทำให้สินค้าของ BANDAI ดูพิเศษขึ้นมา เช่น โมเดล PAC-MAN x SANRIO หรือโมเดล DRAGON BALL x SON GOKU
รวมถึงการออกสินค้ารุ่นพิเศษ คือ Premium Bandai สินค้าลิมิเต็ด คุณภาพสูง ที่ส่วนใหญ่จะผลิตตามจำนวนพรีออร์เดอร์เท่านั้น
ซึ่งวิธีการเหล่านี้ นอกจากช่วยสร้างความแปลกใหม่ให้กับตลาดแล้ว ยังเป็นการกระตุ้นความอยากได้ และสร้างเอนเกจเมนต์กับบรรดาแฟน ๆ
อีกทั้ง BANDAI ยังหันมาขยายธุรกิจสู่ต่างประเทศมากขึ้น เพราะตลาดในญี่ปุ่นเริ่มอิ่มตัวแล้ว จากอัตราการเกิดที่ต่ำมาก โดยตอนนี้บริษัทมีสัดส่วนรายได้จากต่างประเทศ อยู่ที่ 29% แล้ว
ซึ่ง BANDAI ก็ถือว่ามีบทบาทสำคัญในการส่งเสริมการส่งออกวัฒนธรรมญี่ปุ่น ไปยังทั่วโลกด้วย
หนึ่งในนั้นก็คือประเทศไทย ที่เชื่อว่าหลายคนน่าจะเคยเล่นของเล่นหรือเกมของ BANDAI อย่างน้อยหนึ่งอย่าง
อ่านมาถึงตรงนี้ เราคงเข้าใจโมเดลธุรกิจ และกลยุทธ์ที่ BANDAI ใช้ในการสร้างการเติบโตให้กับธุรกิจกันแล้ว
ถึงแม้จะผ่านมากี่ยุค กี่สมัย ก็ยังหาลู่ทางใหม่ ๆ ในการต่อยอด และขยับขยายอาณาจักรได้
จนวันนี้ BANDAI กลายเป็นบริษัทของเล่นในตำนาน ที่ยังมีลมหายใจ และเป็นหนึ่งในผู้อยู่เบื้องหลังซอฟต์พาวเวอร์ของญี่ปุ่น ทั้งกันดั้ม, ทามาก็อตจิ, กาชาปอง ไปจนถึงเกม และอานิเมะ ที่ชนะใจคนทั่วโลก..
╔═══════════╗
ภาวะเงินเฟ้อ ตลาดผันผวนแบบนี้ ติดตามข่าวเศรษฐกิจแบบเน้น ๆ จากหลายเพจได้ใน Blockdit - คอนเทนต์แพลตฟอร์มที่มีผู้ใช้งานเป็นประจำ 2 ล้านคน ลองใช้ฟรี blockdit.com/download
╚═══════════╝
ติดตามลงทุนแมนได้ที่
Website - longtunman.com
Blockdit - blockdit.com/longtunman
Facebook - facebook.com/longtunman
Twitter - twitter.com/longtunman
Instagram - instagram.com/longtunman
YouTube - youtube.com/longtunman
TikTok - tiktok.com/@longtunman
Spotify - open.spotify.com/show/4jz0qVn1AL7tRMHiTvMbZH
Apple Podcasts - podcasts.apple.com/th/podcast/ลงทุนแมน/id1543162829
Soundcloud - soundcloud.com/longtunman
References
-https://finance.yahoo.com/quote/7832.T/
-https://www.bandainamcoent.com/games
-https://www.investerest.co/business/the-story-of-bandai-namco-holdings/
-รายงานประจำปี 2023 ของ BANDAI NAMCO
-Fact Book ปี 2023 ของ BANDAI NAMCO
-เอกสารนำเสนอของ FY2024H2 ของ BANDAI NAMCO

เรื่องที่คุณอาจสนใจ

SPONSORED
© 2024 Longtunman. All rights reserved. Privacy Policy.
Blockdit Icon