“High-Quality Tourist” จุดพลิกเกมกลยุทธ์ดันท่องเที่ยว ของ“สยามพิวรรธน์”
สยามพิวรรธน์ x ลงทุนแมน
“High-Quality Tourist” จุดพลิกเกมกลยุทธ์ดันท่องเที่ยว ของ“สยามพิวรรธน์”
รับลูกนโยบายท่องเที่ยวรัฐ สร้าง New Story ปักธงนัมเบอร์วัน เพิ่มเงินสะพัดเข้าไทย
“High-Quality Tourist” จุดพลิกเกมกลยุทธ์ดันท่องเที่ยว ของ“สยามพิวรรธน์”
รับลูกนโยบายท่องเที่ยวรัฐ สร้าง New Story ปักธงนัมเบอร์วัน เพิ่มเงินสะพัดเข้าไทย
กลยุทธ์ที่จะนำพาเงินมหาศาลจากนานาชาติให้กลับมาหมุนเวียนในประเทศไทยได้ จำเป็นต้องพึ่งพาศักยภาพและจุดแข็งของภาคเอกชน ที่มี “เงินทุน” และ “ความฉับไว” พร้อมสนับสนุนและสรรสร้างช่องทางต่างๆ เพื่อทำให้นักท่องเที่ยวจำนวนมากหลั่งไหลเข้ามาในไทย ขณะเดียวกันนอกจากจะวัดกันที่เป้าหมาย “จำนวนยอด” นักท่องเที่ยวต่างชาติทะลุ 30 ล้านคนแล้ว ยังต้องพิสูจน์ด้วย “กำลังซื้อ” ด้วย ซึ่งนักท่องเที่ยวคุณภาพสูง หรือ High-Quality Tourist จะเป็นเป้าหมายสำคัญที่เราต้องคว้าหัวใจพวกเขาไว้ให้ได้ เพราะเขาคือผู้ที่มีกำลังซื้อทรงพลังและแข็งแกร่ง เป็นกลุ่มที่มีแนวโน้มใช้จ่ายระหว่างการท่องเที่ยวสูง พร้อมที่จะ “ปั้น” รายได้กว่า 3 ล้านล้านบาทเข้าประเทศภายในปี 2566 ตามที่รัฐตั้งไว้ได้สำเร็จ
ชฎาทิพ จูตระกูล ประธานเจ้าหน้าที่บริหารกลุ่มบริษัท สยามพิวรรธน์ ผู้พัฒนาอสังหาริมทรัพย์และธุรกิจค้าปลีกชั้นนำ เจ้าของและผู้บริหารโครงการที่มีชื่อเสียงระดับโลก อาทิ สยามพารากอน สยามเซ็นเตอร์ สยามดิสคัฟเวอรี่ หนึ่งในพันธมิตรเจ้าของไอคอนสยาม และสยาม พรีเมี่ยม เอาท์เล็ต กรุงเทพ ซึ่งทุกแห่งล้วนเป็นเป้าหมายในดวงใจของ High-Quality Tourist ทั่วโลก ได้เผยยุทธศาสตร์ Win the World for Thailand “ไทยต้องมีจุดยืนที่สง่างามในเวทีโลก” พร้อมขับเคลื่อนธุรกิจขานรับนโยบายส่งเสริมการท่องเที่ยวของรัฐบาล ผ่าน 4 Strategic Pillars ย้ำจุดแข็งในการเป็นผู้สร้าง Global Destinations อันดับหนึ่งของประเทศไทย โดยทุ่มทุนด้วยงบประมาณ 1,000 ล้านบาทเพื่อสร้างแรงดึงดูดใจใหม่ๆ ช่วงชิงความสนใจจากคนทั่วโลก และถ่ายทอดประสบการณ์ใหม่ที่คุ้มค่าเหนือกว่าประเทศอื่น
No.1 Luxury Retail เปลี่ยน Image เที่ยวไทย แหล่งรายได้มหาศาล
แม่เหล็กสำคัญของยุทธศาสตร์นี้ อยู่ที่การประกาศตัวเป็นผู้นำสร้างประสบการณ์ Shopping ยิ่งใหญ่เหนือความคาดหมาย (No.1 Extraordinary Shopping Experiences) ให้ได้ ซึ่งความมั่นใจของสยามพิวรรธน์ที่จะเดินเกมรุกเกมนี้ คงต้องย้อนกลับไปดูบทพิสูจน์ความสำเร็จที่ผ่านมา
ทั้งจำนวนนักท่องเที่ยวที่เข้ามาศูนย์การค้าของสยามพิวรรธน์กว่า 14 ล้านคน เพิ่มขึ้น 46% จากปี 2565 มียอดการใช้จ่ายโดยเฉลี่ยที่ 8,500 บาท/คน/วัน ซึ่งเพิ่มขึ้นจากสถิติเดิมอยู่ที่ 5,500 บาท/คน/วัน นอกจากนั้นซีอีโอเบอร์ 1 ของโลกมากมาย ต่างใช้เวลาเยี่ยมชมที่สาขาของพวกเขาเป็นเวลานาน อย่าง เบอร์นาร์ด อาร์โนลต์ เศรษฐีอันดับหนึ่งของโลก เจ้าอาณาจักร LVMH ใช้เวลากว่า 3 ชั่วโมงเลยทีเดียว และยังพบข้อมูลที่น่าสนใจว่ามีลูกค้าตะวันออกกลางเข้ามาใช้บริการมากขึ้น ซึ่งสามารถสะท้อนถึงกำลังซื้อที่มากขึ้นจากกลุ่มลูกค้า High-Quality Tourist ได้อย่างชัดเจนอีกด้วย
สำหรับยุทธวิธีที่สยามพิวรรธน์จะนำมาใช้เสริมแกร่งความเป็นผู้นำในตลาด Luxury retail พร้อมทั้งกระตุ้นกลุ่มนักท่องเที่ยวคุณภาพสูงจากทั่วโลกเข้ามาใช้จ่ายเพิ่มขึ้น นั่นคือการผนึกกำลังกับ Luxury brand ร้านค้าผู้เช่า และพันธมิตรธุรกิจอย่างเหนียวแน่นและแข็งแกร่ง โดยจำเป็นต้องยกระดับภาพลักษณ์ No.1 Luxury Retail ให้โดดเด่นมากขึ้น
• ตลอดไตรมาสที่ 4 (ตุลาคม – ธันวาคม 2566) สยามพิวรรธน์เตรียมเปิดร้าน Luxury brands ใหม่ และหลายแบรนด์เพิ่งเข้ามาเปิดให้บริการเป็นสาขาแรกในไทย เพิ่มเติมรวมกว่า 20 ร้านค้า
• ช่วงปลายปี 2566 - ตลอดปี 2567 สยามพิวรรธน์จัดกิจกรรม Pop-up store และงานอีเวนต์ระดับโลก ร่วมกับแบรนด์ต่างๆ มากกว่า 40 แบรนด์
• ภายในปี 2567 สยามพิวรรธน์เตรียมขยายพื้นที่ลักซ์ซูรี่แบรนด์ทุกค่ายเพิ่มขึ้นกว่าเท่าตัวให้เป็น Iconic store ที่ใหญ่ที่สุดในสยามพารากอนและไอคอนสยาม
No.1 World Class Event ดึงนักท่องเที่ยวคุณภาพสูงกลุ่มใหม่
กลยุทธ์สำคัญที่สยามพิวรรธน์วางแผนไว้ต่อมา คือการใช้จุดแข็งของพื้นที่ให้บริการของรอยัลพารากอน ฮอลล์ ชั้น 5 ศูนย์การค้าสยามพารากอน และทรู ไอคอนฮอลล์ ชั้น 7 ไอคอนสยาม และพื้นที่ใหม่ๆ ในอนาคต เพื่อคว้าโอกาสเป็นผู้นำตลาดธุรกิจการจัดประชุม การท่องเที่ยว และการจัดงานแสดงสินค้าหรือบริการทั้งในระดับชาติและนานาชาติ (No.1 World Class Event & Global MICE) หวังเป็นส่วนหนึ่งที่จะเพิ่ม “เค้ก” ในตลาดท่องเที่ยวคุณภาพสูงในไทย
ที่ผ่านมาพื้นที่ให้บริการของสยามพิวรรธน์ได้รองรับงานสำคัญรวมกันกว่า 40 งาน และมีการจองใช้ในปี 2567 แล้วมากถึง 70% แต่สยามพิวรรธน์ก็ยังต้องการขยายบทบาทมากขึ้น โดยทำงานร่วมกับองค์กรภาครัฐ สำนักงานส่งเสริมการจัดประชุมและนิทรรศการ (สสปน.) และภาคเอกชนต่างๆ เพื่อดึงดูดนักธุรกิจและนักท่องเที่ยวกลุ่มใหม่ๆ กำลังซื้อสูงจากทั่วโลก
ทั้งยังร่วมมือกับพันธมิตรใน Global Ecosystem จากหลากหลายธุรกิจทั้งสายการบิน ธุรกิจโรงแรม ท่องเที่ยว ภัตตาคาร เพื่อรองรับการจัดงานหลากหลายรูปแบบ ส่งเสริมธุรกิจ MICE และสนับสนุนไทยให้เป็นจุดหมายปลายทางการจัดประชุมนานาชาติของภูมิภาคนี้ และยังสร้างเซอร์ไพรส์ไม่หยุด ด้วยการประกาศว่าอยู่ระหว่างการเจรจาพร้อมร่วมลงทุนกับผู้จัดงานอีเวนต์รายใหญ่ของโลกรายหนึ่ง เพื่อสร้างศูนย์ประชุมและการแสดงเพิ่มเติมในอนาคตอันใกล้นี้
แต่ที่พลาดไม่ได้เลย คือ งานเคาท์ดาวน์สุดยิ่งใหญ่แห่งปีเต็มรูปแบบที่จะจัดขึ้นริมแม่น้ำเจ้าพระยาที่ไอคอนสยาม ซึ่งสยามพิวรรธน์วางแผนให้เป็น Global Destinations งานฉลองปีใหม่สำคัญของโลก โดยคาดว่าจะมีผู้ร่วมงานมากกว่า 300,000 คน/วัน สร้างเงินสะพัดทิ้งทวนปีเสืออย่างน่าภาคภูมิใจ
No.1 Thai Art Hub ยกระดับเที่ยวไทยด้วยหัวใจอาร์ต
อีกหนึ่งแนวทางที่จะดึงกลุ่มลูกค้าคุณภาพสูงเข้าประเทศ คือการชูจุดขายวัฒนธรรมไทยและดึงดูดใจด้วยงานศิลปะระดับโลก ซึ่งนับเป็นเสน่ห์ที่เย้ายวนให้นักท่องเที่ยวหลั่งไหลเข้ามาใช้จ่ายอย่างน่าอัศจรรย์ ซึ่งสยามพิวรรธน์ได้บุกเบิกการท่องเที่ยวที่มีคุณภาพ และสนับสนุนศิลปินไทยมาตลอดเวลากว่า 15 ปี โดยได้นำผลงานของศิลปินไทยมาจัดแสดงเป็น Public arts ประจำในศูนย์การค้า และจัดกิจกรรมต่างๆ ส่งเสริมความสามารถของศิลปินไทย เป็นเจ้าแรกและทำเรื่อยมา ในขณะเดียวกันก็อิมพอร์ตนิทรรศการระดับโลกที่มีชื่อเสียงเข้ามาอย่างต่อเนื่อง ไม่ว่าจะเป็น Van Gogh Alive ที่ได้รับความนิยมและเปิดให้บริการเป็นเวลานาน เป็นต้น
ด้วยเหตุนี้สยามพิวรรธน์จึงเชื่อมั่นและพร้อมจะเป็นผู้นำในการส่งเสริมศิลปะไทย และศิลปินไทย โดยเสนอแผนยกระดับกรุงเทพฯ ให้เป็นศูนย์กลางศิลปะระดับโลก เทียบเท่ากับงาน Art Basel และ Frieze ซึ่งจะทำให้บรรดาศิลปินไทยได้มีโอกาสแสดงผลงานร่วมกับศิลปินระดับโลก และที่สร้างความฮือฮาไม่แพ้กัน สยามพิวรรธน์กำลังเตรียมงบกว่า 400 ล้านบาทสำหรับเปิดศูนย์ศิลปะริเวอร์มิวเซียม พื้นที่ 8,000 ตารางเมตร ณ ชั้น 8 ไอคอนสยาม ในปี 2026 ซึ่งจะเป็นมิวเซียมมาตรฐานโลกแห่งแรกของไทยที่สามารถรองรับงานศิลปะ Master piece ระดับโลกได้ทัดเทียมกับมิวเซียมชั้นนำในประเทศต่างๆ
ดังนั้น การประกาศตัวเป็น No.1 Promoting Thai Art & Establishing Bangkok as Global Art Hub จึงถือเป็นอีกหนึ่งกลยุทธ์ที่จะดึงดูดบุคคลสำคัญในวงการศิลปะและบรรดานักสะสมงานศิลปะจากทั่วโลกเข้ามาในประเทศไทย นับว่าเป็นกลุ่มท่องเที่ยวคุณภาพสูงกลุ่มใหม่ที่จะต่อยอดอุตสาหกรรมการท่องเที่ยวได้เป็นอย่างดีในระยะยาวนั่นเอง
No.1 Thai Soft Power ความเป็นไทยขายได้ไม่รู้จบ
ตลอด 10 ปีที่ผ่านมา สยามพิวรรธน์ได้พัฒนาแพลตฟอร์มแห่งโอกาสที่นำสุดยอดฝีมือในด้านต่างๆ ของไทยทั้งธุรกิจอาหาร ภาพยนตร์ แฟชั่น ดีไซเนอร์ ผ่านพื้นที่สุขสยาม และแบรนด์สินค้า ICONCRAFT ODS และ ECOTOPIA เพื่อเชื่อมโยงกลุ่มธุรกิจขนาดเล็กให้เข้ามาเป็นส่วนหนึ่งของครอบครัวสยามพิวรรธน์ และทุกฝ่ายร่วมกันสร้างการเติบโตให้กับธุรกิจที่ใช้รากฐานของความเป็นไทยและภูมิปัญญา ซึ่งไม่เพียงแต่จะสร้าง Soft power ให้เติบโตและมีมูลค่ามหาศาล ยังเห็นการปรับเปลี่ยนจากลูกค้านักท่องเที่ยวคุณภาพสูงในร่าง “นักธุรกิจข้ามชาติ” อีกด้วย
ความสำเร็จของการสร้าง Soft power นอกจากจะสร้างรายได้ผ่านนักท่องเที่ยวมาเยี่ยมชมไม่ต่ำกว่า 70,000 คนต่อวันแล้ว ยังสามารถพลิกชีวิตสู่ธุรกิจสร้างเม็ดเงินให้กับท้องถิ่นได้อีกด้วย โดยพบว่าแบรนด์ไทย อย่าง กาแฟลุงเงิน ได้รับการติดต่อขอซื้อลิขสิทธิ์แฟรนไชส์จากอินโดนีเซีย จึงไม่แปลกใจที่วันนี้ สยามพิวรรธน์จะประกาศตัวเป็นผู้นำในการปั้น Soft power ของไทยด้วยความคิดสร้างสรรค์และต่อยอดสู่เวทีโลก พร้อมร่วมมือกับกระทรวงพาณิชย์และมหาดไทย รวมทั้งพันธมิตรระดับโลก ตั้งเป้าที่จะเป็น No.1 Introducing Thailand's Soft Power to the Global Stage ให้สำเร็จ
เมื่อแนวทางการทำงานที่เข้มข้นชัดเจนของภาคเอกชน อย่าง สยามพิวรรธน์ ปรากฎขึ้นแล้ว ก็เชื่อมั่นได้เลยว่า เป้าหมายจำนวนนักท่องเที่ยวต่างชาติทะลุ 30 ล้านคน สร้างรายได้กว่า 3 ล้านล้านบาทภายในปีนี้ จะไม่ใช่แค่เรื่องเพ้อฝัน แต่สามารถทำได้จริงและความสำเร็จนั้นอาจจะทะลุเป้าเกินไปมาก...กว่าที่คิดและคาดการณ์ด้วยซ้ำไป