เพื่อนรักหักเหลี่ยมโหด จีน VS เยอรมนี สงครามแย่งตลาดรถยนต์ ในจีน

เพื่อนรักหักเหลี่ยมโหด จีน VS เยอรมนี สงครามแย่งตลาดรถยนต์ ในจีน

เพื่อนรักหักเหลี่ยมโหด จีน VS เยอรมนี สงครามแย่งตลาดรถยนต์ ในจีน /โดย ลงทุนแมน
ย้อนกลับไปเมื่อ 30 ปีที่แล้ว เพื่อนที่ชื่อว่า “เยอรมนี” ได้ร่วมทุนกับบริษัทรถยนต์ท้องถิ่นกับเพื่อนอย่าง “จีน” เพื่อเข้าไปทำตลาดในประเทศจีน
แต่ในปัจจุบัน เพื่อนจีนคนนี้ กลับกลายมาเป็นคู่แข่งคนสำคัญของเพื่อนเยอรมนี เสียเอง
เรื่องราวที่เกิดขึ้นเป็นอย่างไร
ทำไมทั้งสองประเทศ ถึงกลายมาเป็นคู่แข่งกันได้
ลงทุนแมนจะเล่าให้ฟัง
╔═══════════╗
ภาวะเงินเฟ้อ ตลาดผันผวนแบบนี้ ติดตามข่าวเศรษฐกิจแบบเน้น ๆ จากหลายเพจได้ใน Blockdit - คอนเทนต์แพลตฟอร์มที่มีผู้ใช้งานเป็นประจำ 2 ล้านคน ลองใช้ฟรี blockdit.com/download
╚═══════════╝
อุตสาหกรรมรถยนต์ของจีน เริ่มต้นพัฒนาด้วยการได้รับการสนับสนุนจากรัฐบาล และเทคโนโลยีการผลิตรถยนต์จากสหภาพโซเวียต
ทำให้เกิดบริษัทรถยนต์ใหญ่ของรัฐบาลจีน ที่เรียกกันว่า Big4 เกิดขึ้นมา นั่นคือ SAIC Motor, Dongfeng, FAW และ Changan
อย่างไรก็ตาม แม้จะได้รับการสนับสนุนด้านต่าง ๆ แล้ว แต่บริษัทเหล่านี้ ผลิตรถยนต์ได้เพียงปีละ 100,000-200,000 คันเท่านั้น
จนปี 1990 รัฐบาลจีนได้เปิดให้มีการนำเข้ารถยนต์จากต่างชาติได้เป็นครั้งแรก
ส่งผลให้รถยนต์ต่างชาติ ถูกนำเข้ามาเป็นจำนวนมาก
ซึ่งนำไปสู่การขาดดุลการค้าของจีน
จนทำให้รัฐบาลจีนต้องตั้งมาตรการ กำแพงภาษีรถยนต์นำเข้าสูงถึง 200% เพื่อลดปริมาณการนำเข้า
แต่ด้วยคุณภาพของรถยนต์ต่างชาติที่ดีกว่า มาตรการนี้จึงไม่ได้ผลมากนัก
รัฐบาลจีนจึงแก้เกมใหม่ ด้วยการเปิดให้บริษัทรถยนต์ต่างชาติ มาตั้งฐานการผลิตในประเทศ แต่มีเงื่อนไขคือ ต้องเป็นการร่วมทุนกับบริษัทรถยนต์ท้องถิ่น
ในตอนนั้น เยอรมนีที่ขึ้นมาเป็นเจ้าอุตสาหกรรมรถยนต์ หลังจากที่อุตสาหกรรมรถยนต์ของอังกฤษ และสหรัฐฯ ถดถอยลง
เมื่อเห็นโอกาสสำคัญที่จะเติบโตในตลาดจีน
บริษัทรถยนต์สัญชาติเยอรมัน จึงตอบรับจีนเป็นเจ้าแรก ๆ
อย่าง Volkswagen Group ก็ได้ร่วมทุนกับ SAIC, FAW และสามารถขายรถยนต์ในจีน ได้มากถึงปีละ 3,000,000 คัน
ในขณะที่ BMW และทาง Mercedes-Benz หลังจากที่เข้ามาร่วมทุนกับบริษัทจีนนั้น ก็มีสัดส่วนของยอดขายในจีนเพิ่มเป็น 33% และ 37% ของยอดขายทั้งหมด ตามลำดับ
ซึ่งการร่วมทุนที่เกิดขึ้น ไม่ได้เป็นผลดีกับบริษัทรถยนต์สัญชาติเยอรมันเท่านั้น แต่เป็นผลดีกับประเทศจีนเอง เพราะทำให้จีนเรียนรู้เทคโนโลยีการผลิตรถยนต์ที่มีคุณภาพอีกด้วย
อย่างไรก็ตาม จีนเองก็รู้ว่า อุตสาหกรรมรถยนต์ของตัวเอง ไม่มีทางไล่ตามแบรนด์รถยนต์ตะวันตกได้ทัน
จนกระทั่งมาถึง
ช่วงเปลี่ยนผ่านของอุตสาหกรรมรถยนต์
จาก “รถยนต์สันดาป” มาเป็น “รถยนต์ไฟฟ้า”
ทำให้จีนตั้งเป้าที่จะเป็นเจ้าตลาดรถยนต์ไฟฟ้าแทน
ซึ่งจากที่เคยเป็นเพื่อนร่วมธุรกิจกัน บริษัทจีนกลับก้าวขึ้นมาเป็นคู่แข่งที่น่ากลัวของเยอรมนี
เหตุผลแรกเลย “รัฐบาลจีนสนับสนุนรถยนต์ไฟฟ้าเป็นอย่างมาก”
ตั้งแต่ปี 2009 จีนให้เงินทุน เพื่อพัฒนาธุรกิจรถยนต์ไฟฟ้า เช่น การทำเหมืองแร่ผลิตแบตเตอรี่ และการผลิตรถยนต์ไฟฟ้าในประเทศ รวมถึงการอุดหนุนราคารถยนต์ไฟฟ้า และการสร้างสถานีชาร์จทั่วประเทศ
ซึ่งทั้งหมดนี้ จีนใช้เงินไปกว่า 1,000,000 ล้านบาท
นอกจากนี้ ปัญหามลพิษทางสิ่งแวดล้อมที่จีนเผชิญอยู่ ก็เป็นตัวเร่งให้จีนออกมาตรการต่าง ๆ เพื่อมาสนับสนุนรถยนต์ไฟฟ้ามากขึ้นอีกด้วย
และต่อมาคือ “จีนครอบครองแบตเตอรี่ได้เกือบทั่วโลก”
ก็ต้องบอกว่า อุตสาหกรรมรถยนต์มีผู้ผลิตตั้งแต่ต้นน้ำยันปลายน้ำ โดยเยอรมนีจะมีธุรกิจที่เรียกว่า Mittelstand หรือธุรกิจขนาดกลางและขนาดเล็ก ที่คอยผลิตชิ้นส่วนหรือสินค้าเฉพาะทางคุณภาพสูง ให้กับอุตสาหกรรมต่าง ๆ
ซึ่งในอุตสาหกรรมรถยนต์สัญชาติเยอรมัน จะมีบริษัทเหล่านี้เป็นผู้ผลิตชิ้นส่วนต่าง ๆ มากถึง 85% ของบริษัททั้งหมดในอุตสาหกรรมนี้เลยทีเดียว
อย่างไรก็ตาม ความได้เปรียบดังกล่าวใช้ได้กับรถยนต์สันดาปเท่านั้น เพราะรถยนต์ไฟฟ้ามีต้นทุนสำคัญอย่างแบตเตอรี่ที่คิดเป็น 40% ของต้นทุนรถ
และแบตเตอรี่พวกนี้เอง ก็จำเป็นต้องผลิตจากแร่สำคัญ เช่น ลิเทียม โคบอลต์ ซึ่งจีนครอบครองแร่หายากเหล่านี้ได้เกือบทั่วโลกอีกด้วย
ไม่ว่าจะเป็น การที่บริษัท Tianqi Lithium Corporation ของจีน เข้าไปเป็นผู้ถือหุ้นใหญ่ในบริษัท Talison Lithium ของออสเตรเลีย ทำให้จีนมีแร่ลิเทียมในมือกว่า 46% ทั่วโลก
ส่วนโคบอลต์กว่า 70% ของโลก มาจากเหมืองแร่ในคองโก ที่จีนเป็นผู้ถือสัมปทานส่วนใหญ่อยู่เช่นกัน
ที่น่าสนใจคือ บริษัทผลิตแบตเตอรี่สัญชาติจีนอย่าง CATL และ BYD มีส่วนแบ่งการตลาดมากถึง 47% ของกำลังการผลิตแบตเตอรี่ทั่วโลก
โดยปัจจุบัน ยอดขายรถยนต์ในจีนกว่า 44% กลายเป็นแบรนด์สัญชาติจีน เช่น BYD, Geely
ในขณะที่รถยนต์สัญชาติเยอรมัน ครองส่วนแบ่งการตลาดเป็นอันดับ 2 เพียง 20%
รถยนต์สัญชาติเยอรมัน โดยเฉพาะในเครือ Volkswagen จะยังคงเป็นผู้นำรถยนต์สันดาปในตลาดจีนอยู่ แต่ในตลาดรถยนต์ไฟฟ้า รถยนต์จีนสามารถครองตลาดไปได้แล้ว
จึงทำให้รถยนต์สัญชาติเยอรมันหลายค่าย มีการปรับตัวทำรถยนต์ไฟฟ้าออกมามากขึ้น
สุดท้ายแล้ว ก็คงต้องติดตามกันต่อไปว่า สงครามรถยนต์ในตลาดจีน ระหว่างจีนกับเยอรมนีจะเป็นอย่างไร
และเรื่องราวที่กล่าวมานั้น คงไม่จบแค่ตลาดรถยนต์จีนเท่านั้น
เพราะการที่รถยนต์ไฟฟ้าจีน สามารถก้าวขึ้นมากินส่วนแบ่งการตลาดในประเทศจีนได้
ก็หลีกเลี่ยงไม่ได้ที่ค่ายรถยนต์จีน จะคิดการใหญ่กว่านั้น ด้วยการออกไปตีตลาดต่างประเทศมากขึ้น
และเรื่องนี้ก็เกิดขึ้นแล้วกับประเทศไทย ที่มีค่ายรถยนต์จีนมากมาย แห่กันเข้ามาทำตลาดในประเทศไทย
และในที่สุด ในตลาดรถยนต์ทั่วโลก รถยนต์สัญชาติจีน จะเป็นคู่แข่งที่สำคัญของค่ายรถยนต์ทุกสัญชาติ ตั้งแต่ เยอรมัน อเมริกัน รวมไปถึงญี่ปุ่น อย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ นั่นเอง..
╔═══════════╗
ภาวะเงินเฟ้อ ตลาดผันผวนแบบนี้ ติดตามข่าวเศรษฐกิจแบบเน้น ๆ จากหลายเพจได้ใน Blockdit - คอนเทนต์แพลตฟอร์มที่มีผู้ใช้งานเป็นประจำ 2 ล้านคน ลองใช้ฟรี blockdit.com/download
╚═══════════╝
ติดตามลงทุนแมนได้ที่
Website - longtunman.com
Blockdit - blockdit.com/longtunman
Facebook - facebook.com/longtunman
Twitter - twitter.com/longtunman
Instagram - instagram.com/longtunman
YouTube - youtube.com/longtunman
TikTok - tiktok.com/@longtunman
Spotify - open.spotify.com/show/4jz0qVn1AL7tRMHiTvMbZH
Apple Podcasts - podcasts.apple.com/th/podcast/ลงทุนแมน/id1543162829
Soundcloud - soundcloud.com/longtunman
References
-https://www.volkswagen-group.com/en/financial-reports-volkswagen-group-15928
-https://en.wikipedia.org/wiki/Volkswagen_Group_China
-https://en.wikipedia.org/wiki/Automotive_industry_in_China
-https://annualreport2022.volkswagenag.com/consolidated-financial-statements/income-statement.html
-https://www.cnbc.com/2023/07/14/germany-urges-companies-to-de-risk-from-china-emphasizes-it-is-not-seeking-a-decoupling.html
-https://www.bangkokbanksme.com/en/china-no1-electric-vehicle-markets
-https://group.mercedes-benz.com/documents/investors/reports/annual-report/mercedes-benz/mercedes-benz-annual-report-2022-incl-combined-management-report-mbg-ag.pdf
-https://www.bbc.com/travel/article/20190821-how-germany-became-the-country-of-cars
-https://www.prachachat.net/world-news/news-1176503
-https://www.politico.eu/article/death-of-das-auto-electric-vehicles-germany/
-https://www.economist.com/business/2023/07/31/what-if-germany-stopped-making-cars

เรื่องที่คุณอาจสนใจ

SPONSORED
© 2024 Longtunman. All rights reserved. Privacy Policy.
Blockdit Icon