รู้จัก ตระกูล เกลเซอร์ กู้เงินมาซื้อแมนยู และกำลังขายได้กำไร 10 เท่า

รู้จัก ตระกูล เกลเซอร์ กู้เงินมาซื้อแมนยู และกำลังขายได้กำไร 10 เท่า

รู้จัก ตระกูล เกลเซอร์ กู้เงินมาซื้อแมนยู และกำลังขายได้กำไร 10 เท่า /โดย ลงทุนแมน
เมื่อไม่กี่วันมานี้ เราน่าจะเห็นข่าวใหญ่ของวงการกีฬา
เมื่อ “ตระกูลเกลเซอร์” เจ้าของสโมสร “แมนเชสเตอร์ ยูไนเต็ด” เพิ่งได้ประกาศขายสโมสรไป
หลายคนอาจไม่รู้ว่า กว่าที่ตระกูลเกลเซอร์จะเดินมาถึงจุดนี้ได้
พวกเขาเริ่มต้นจากการทำธุรกิจร้านซ่อมนาฬิกา
ก่อนที่จะเปลี่ยนไปลงทุนในหลากหลายธุรกิจ ซึ่งรวมถึงการซื้อทีมกีฬา
แล้วเส้นทางของตระกูลเกลเซอร์ มีความเป็นมาอย่างไร ?
ลงทุนแมนจะเล่าให้ฟัง
บรรพบุรุษของตระกูลเกลเซอร์ เป็นชาวลิทัวเนียเชื้อสายยิว ที่อพยพมาอยู่ในรัฐนิวยอร์ก ประเทศสหรัฐอเมริกา
จุดเปลี่ยนสำคัญของตระกูลนี้คือ การกำเนิดของ “คุณมัลคอล์ม เกลเซอร์” ในปี 1928 ซึ่งเขาเป็นลูกคนที่ 5 จากทั้งหมด 7 คน ของพ่อและแม่ของเขา
คุณมัลคอล์ม เกลเซอร์ คอยช่วยเหลือคุณพ่อทำธุรกิจร้านซ่อมนาฬิกามาตั้งแต่เด็ก
จนกระทั่งอายุ 15 ปี คุณพ่อได้เสียชีวิตลง ทำให้เขาก้าวขึ้นมารับผิดชอบกิจการอย่างเต็มตัว เพื่อหาเลี้ยงครอบครัว
ในตอนแรก เขาต้องหาลูกค้าด้วยการเดินขายและซ่อมนาฬิกาตามบ้าน
จนต่อมา สามารถประมูลงานซ่อมนาฬิกาให้กับกองทัพอากาศแห่งหนึ่งได้สำเร็จ จึงทำให้มีรายได้มั่นคงมากขึ้น
แต่หลังจากนั้น ฐานทัพดังกล่าวได้ปิดตัวลง ทำให้คุณมัลคอล์ม เกลเซอร์ มองหาโอกาสในการทำธุรกิจใหม่ ๆ ดูบ้าง ซึ่งเขาตัดสินใจเข้าสู่ตลาดอสังหาริมทรัพย์ โดยมุ่งเน้นลงทุนในโครงการบ้านเดี่ยว, อาคารพาณิชย์ และห้างสรรพสินค้า ในหลายเมืองใหญ่
ต่อมา พอเริ่มมีเม็ดเงินในมือมากขึ้น เขาก็ได้กระจายการลงทุนไปในอีกหลายธุรกิจ ไม่ว่าจะเป็น ธนาคาร, โรงพยาบาล, สถานีโทรทัศน์ และร้านอาหาร
ทำให้ในปี 1984 คุณมัลคอล์ม เกลเซอร์ ก่อตั้งบริษัทโฮลดิง ชื่อว่า First Allied Corporation ขึ้นมาเพื่อคอยบริหารธุรกิจต่าง ๆ ที่ถือครองอยู่
ซึ่งบริษัทก็ยังคงเข้าลงทุนในกิจการใหม่ ๆ อย่างต่อเนื่อง เช่น
- Harley-Davidson ผู้ผลิตมอเตอร์ไซค์รายใหญ่
- Zapata Corporation บริษัทพลังงาน ที่ก่อตั้งโดยอดีตประธานาธิบดีสหรัฐอเมริกา จอร์จ เอช. ดับเบิลยู. บุช
- Omega Protein บริษัทผลิตภัณฑ์อาหารเสริม
ทั้งนี้ คุณมัลคอล์ม เกลเซอร์ มีลูกทั้งหมด 6 คน ได้แก่ อาฟราม, เควิน, ไบรอัน, โจเอล, เอ็ดเวิร์ด และดาร์ซี ซึ่งเขาได้เปิดโอกาสให้ทุกคนเข้ามาช่วยบริหารธุรกิจของตระกูล เหมือนที่ตัวเขาก็เริ่มต้นตั้งแต่เด็กเช่นกัน
และหลังจากประสบความสำเร็จจากการลงทุนที่ผ่านมา
ธุรกิจต่อไปที่ตระกูลเกลเซอร์ ให้ความสนใจ คือ “ธุรกิจทีมกีฬา”
ในปี 1995 พวกเขาได้เข้าซื้อกิจการทีมอเมริกันฟุตบอล “แทมปาเบย์ บัคคาเนียร์ส” ด้วยเงินประมาณ 6,400 ล้านบาท
ซึ่งนับเป็นมูลค่าการซื้อทีมสูงสุดของ NFL ลีกสูงสุดของอเมริกันฟุตบอล ในขณะนั้น
ทั้งที่ก่อนหน้านี้ ผลงานของ แทมปาเบย์ บัคคาเนียร์ส ไม่ค่อยดีมากนัก ทำให้หลายฝ่ายตั้งคำถามว่า ตระกูลเกลเซอร์ อาจจ่ายเงินแพงเกินไป สำหรับธุรกิจที่ไม่เคยทำมาก่อน
แต่พวกเขาก็พิสูจน์ตัวเองด้วยการบริหารทีม จนสามารถคว้าแชมป์ซูเปอร์โบวล์ ได้เป็นครั้งแรกในประวัติศาสตร์เมื่อปี 2003
พอธุรกิจทีมกีฬาในสหรัฐอเมริกากำลังไปได้สวย
ตระกูลเกลเซอร์ ก็เล็งหาโอกาสลงทุนทีมกีฬาในต่างประเทศทันที โดยพุ่งเป้าไปที่กีฬายอดนิยมของโลกอย่าง ฟุตบอล
ซึ่งสโมสรที่เข้าตาเป็นอย่างมาก คือ แมนเชสเตอร์ ยูไนเต็ด หรือ “แมนยู” ในประเทศอังกฤษ
เนื่องจากในขณะนั้น มีผลงานดี ฐานะทางการเงินแข็งแกร่ง และมีแฟนบอลติดตามอยู่ทั่วโลก
ในปี 2003 ตระกูลเกลเซอร์ เริ่มเดินเกมทยอยซื้อหุ้นของแมนยู
จากผู้ถือหุ้นรายย่อย อีกไม่กี่เดือนถัดมา ก็สามารถสะสมหุ้นได้เกือบ 30% กลายเป็นกลุ่มผู้ถือหุ้นรายใหญ่ของสโมสร
ก่อนที่ต่อมาในปี 2005 จะเจรจาขอซื้อหุ้นต่อจาก 2 มหาเศรษฐีชาวไอริช ที่กำลังมีปัญหากับผู้จัดการทีมแมนยูอย่าง เซอร์อเล็กซ์ เฟอร์กูสัน จนเพิ่มสัดส่วนการถือหุ้นเป็น 57%
พอถือหุ้นเกินครึ่งหนึ่ง พวกเขาก็ดำเนินการ ทำข้อเสนอซื้อหลักทรัพย์ทั้งหมด (Tender Offer) ซึ่งทำให้ตระกูลเกลเซอร์ สามารถเก็บหุ้นแมนยูส่วนที่เหลือได้สำเร็จ คิดเป็นมูลค่ารวมทั้งสิ้นประมาณ 34,000 ล้านบาท
แม้ในช่วง 17 ปีที่ผ่านมา ตระกูลเกลเซอร์ ค่อนข้างประสบความสำเร็จจากการลงทุน ในสโมสรแมนยู
อย่างไรก็ตาม ภายใต้การบริหารของตระกูลเกลเซอร์ มักจะได้รับการต่อต้านจากแฟนบอลอยู่เสมอ
เพราะตระกูลเกลเซอร์ ใช้วิธีซื้อกิจการด้วยเงินกู้ (Leveraged Buyout) ซึ่งภายหลังได้มีการโอนหนี้สินกว่า 23,000 ล้านบาท ให้เป็นของสโมสรแทน
ส่งผลให้แมนยู ต้องรับภาระหนี้สินและดอกเบี้ยจำนวนมหาศาลในแต่ละปี
รวมไปถึง หลังจากที่ เซอร์อเล็กซ์ เฟอร์กูสัน วางมือ ผลงานของสโมสรก็ตกต่ำลงเรื่อยมา
ซึ่งแฟนบอลก็มองว่า สาเหตุส่วนหนึ่งมาจาก ตระกูลเกลเซอร์ไม่มีประสบการณ์ด้านฟุตบอลมาก่อน ทำให้ตัดสินใจผิดพลาดในหลาย ๆ ด้าน
จนไม่กี่วันมานี้ ตระกูลเกลเซอร์ก็ได้มีการประกาศขายสโมสรอย่างเป็นทางการ
และตามมาด้วย ทางสโมสรประกาศยกเลิกสัญญากับคริสเตียโน โรนัลโด
โดยมีการประเมินจาก The Sun สื่อของอังกฤษว่า ราคาขายสโมสรในครั้งนี้ อาจมีมูลค่าสูงถึง 388,000 ล้านบาท
ซึ่งก็มีกลุ่มทุนหลายราย ที่ให้ความสนใจซื้อสโมสร อย่างเช่น
- Apple บริษัทเทคโนโลยีระดับโลก
- Amancio Ortega เจ้าของแบรนด์เสื้อผ้า Zara
- David Beckham อดีตตำนานของนักเตะสโมสร
- Sir Jim Ratcliffe คนที่รวยที่สุดในอังกฤษ
ก็น่าติดตามต่อเหมือนกันว่า สุดท้ายแล้ว สโมสรฟุตบอลแมนเชสเตอร์ ยูไนเต็ด จะตกไปอยู่ในมือของใคร
แต่ที่แน่ ๆ หากราคาขายเป็นไปตามที่ประเมินกันไว้ ตระกูลเกลเซอร์ ก็จะขายหุ้นแมนยูได้กำไรมากถึง 10 เท่า เลยทีเดียว..
╔═══════════╗
ภาวะเงินเฟ้อ ตลาดผันผวนแบบนี้ ติดตามข่าวเศรษฐกิจแบบเน้น ๆ จากหลายเพจได้ใน Blockdit - คอนเทนต์แพลตฟอร์มที่มีผู้ใช้งานเป็นประจำ 2 ล้านคน ลองใช้ฟรี blockdit.com/download
╚═══════════╝
ติดตามลงทุนแมนได้ที่
Website - longtunman.com
Blockdit - blockdit.com/longtunman
Facebook - facebook.com/longtunman
Twitter - twitter.com/longtunman
Instagram - instagram.com/longtunman
Line - page.line.me/longtunman
YouTube - youtube.com/longtunman
TikTok - tiktok.com/@longtunman
Spotify - open.spotify.com/show/4jz0qVn1AL7tRMHiTvMbZH
Apple Podcasts - podcasts.apple.com/th/podcast/ลงทุนแมน/id1543162829
Soundcloud - soundcloud.com/longtunman
References
-https://en.m.wikipedia.org/wiki/Malcolm_Glazer
-https://www.goal.com/en/news/who-owns-manchester-united-who-are-the-glazer-family/18j8f1yu1tliv1hrp93zeffh7n
-https://www.sportskeeda.com/nfl/meet-glazer-family-owners-tampa-bay-buccaneers-manchester-united
-https://www.theguardian.com/football/2021/may/02/timeline-glazers-and-their-turbulent-reign-at-manchester-united
-https://www.forbes.com/pictures/61e9b4c7a1ac9a47d8f40200/8-glazer-family/?sh=6766916223c3
-https://www.statista.com/statistics/194508/franchise-value-of-the-tampa-bay-buccaneers-since-2006/
-https://www.statista.com/statistics/300578/team-value-of-soccer-teams/

เรื่องที่คุณอาจสนใจ

SPONSORED
© 2024 Longtunman. All rights reserved. Privacy Policy.
Blockdit Icon