กรณีศึกษา CENTRAL GROUP บริษัทคนไทยที่ขึ้นเป็นผู้นำธุรกิจห้างสรรพสินค้า Luxury ของโลก

กรณีศึกษา CENTRAL GROUP บริษัทคนไทยที่ขึ้นเป็นผู้นำธุรกิจห้างสรรพสินค้า Luxury ของโลก

CENTRAL GROUP X ลงทุนแมน
กรณีศึกษา CENTRAL GROUP บริษัทคนไทยที่ขึ้นเป็นผู้นำธุรกิจห้างสรรพสินค้า Luxury ของโลก
ย้อนกลับไปเมื่อ 75 ปีที่แล้ว ใครจะคิดว่าร้านขายหนังสือเล็ก ๆ ของคุณเตียงและคุณสัมฤทธิ์ จิราธิวัฒน์จะค่อย ๆ เติบโตจนกลายเป็นอาณาจักรของกลุ่มเซ็นทรัล
ที่มีพนักงานกว่า 80,000 คนในธุรกิจห้างสรรพสินค้า, ศูนย์การค้า, โรงแรมและร้านอาหาร และอื่น ๆ
จนปัจจุบัน กลุ่มเซ็นทรัล ได้กลายเป็นส่วนหนึ่งในชีวิตประจำวันของคนไทย
ที่น่าสนใจคือเวลานี้ กลุ่มเซ็นทรัล ไม่ได้คิดแค่เป็นเบอร์หนึ่งในธุรกิจ Retail และ Lifestyle ของเมืองไทย แต่กำลังทำอะไรที่ยิ่งใหญ่กว่านั้น
เมื่อลงทุนซื้อกิจการ ห้างสรรพสินค้า Luxury มากมายในทวีปยุโรปและเอเชีย
จนทำให้วันนี้ CENTRAL GROUP = ผู้นำธุรกิจห้างสรรพสินค้า Luxury ระดับโลก
กลุ่มเซ็นทรัล ทำเรื่องนี้สำเร็จด้วยวิธีไหน
ลงทุนแมนจะเล่าให้ฟัง
ปัจจุบัน กลุ่มเซ็นทรัล ได้ขยายอาณาจักรตัวเองมากกว่า 3,700 สาขา ใน 18 ประเทศ 142 เมือง
คิดเป็นพื้นที่กว่า 7 ล้านตารางเมตร และมีฐานสมาชิกกว่า 30 ล้านราย
ผ่านธุรกิจในเครือ ทั้งรูปแบบหน้าร้านและแพลตฟอร์มออนไลน์
และหากมองถึงเครือข่ายห้างสรรพสินค้าในทวีปยุโรปและเอเชีย
จะพบว่ากลุ่มเซ็นทรัล มีห้างสรรพสินค้าครอบคลุม 11 ประเทศ
80 เมือง 120 สาขา มีนักช้อปกว่า 130 ล้านคนต่อปี ผ่าน 200 เชื้อชาติ และมีสมาชิกกว่า 6 ล้านคน
ทำให้ ณ เวลานี้ กลุ่มเซ็นทรัล ได้กลายเป็นบริษัทของคนไทย
ที่ก้าวขึ้นเป็นผู้นำตลาดห้างสรรพสินค้า Luxury ระดับโลก
กลุ่มเซ็นทรัลมองเห็นโอกาสอะไรที่ซ่อนอยู่ในตลาดห้างสรรพสินค้า Luxury
น่าจะเป็นคำถามที่หลายคนอยากรู้คำตอบ
หากสังเกตตลอดเวลาที่ผ่านมา สินค้า Luxury ระดับโลกมากมาย มียอดขายเติบโตต่อเนื่อง
แม้บางช่วงเวลาเศรษฐกิจโลกจะเผชิญกับความผันผวน กลุ่มสินค้า Luxury บางแบรนด์ก็ยังเติบโต
หรือบางแบรนด์แม้โดนผลกระทบก็ฟื้นตัวอย่างรวดเร็ว
แปลว่า กลุ่มสินค้า Luxury มีความแข็งแกร่งใน Branding คนที่มีกำลังซื้อทั่วโลกอยากครอบครอง
พอเห็นโอกาสแล้ว กลุ่มเซ็นทรัลก็ไม่รอช้า ลงทุนด้วยเงินมหาศาลและขยายธุรกิจอย่างรวดเร็ว
พ.ศ. 2554 ซื้อกิจการห้างหรู รีนาเชนเต ที่มีสาขาครอบคลุมในประเทศอิตาลี
พ.ศ. 2556 ซื้อกิจการห้างอิลลุม ประเทศเดนมาร์ก ที่นักช้อปทั่วโลกยกให้เป็นสวรรค์ในการช้อปปิ้ง
พ.ศ. 2558 ร่วมทุนกับซิกน่า เข้าซื้อกิจการห้างกลุ่มคาเดเว ประเทศเยอรมนี ที่มีอายุ 100 กว่าปี
พ.ศ. 2563 ร่วมทุนกับซิกน่า เข้าซื้อกิจการห้างโกลบุส และอสังหาริมทรัพย์ ประเทศสวิตเซอร์แลนด์
และล่าสุดในปี 2565 กลุ่มเซ็นทรัลร่วมกับซิกน่า เข้าซื้อกิจการห้างกลุ่มเซลฟริดเจส
เจ้าของห้างสรรพสินค้า 18 แห่งที่มี 4 แบรนด์ดังกระจายอยู่ในอังกฤษ ไอร์แลนด์ และเนเธอร์แลนด์
การเข้าซื้อห้างสรรพสินค้าระดับ Flagship ของแต่ละประเทศในยุโรป
ได้ทำให้ธุรกิจห้างสรรพสินค้าต่างประเทศของกลุ่มเซ็นทรัล เติบโตเหนือความคาดหมาย
พ.ศ. 2559 กลุ่มเซ็นทรัล มีรายได้ธุรกิจห้างสรรพสินค้าในไทยและต่างประเทศ 3,000 ล้านยูโร
หรือราว ๆ 1 แสนล้านบาท
และในปี 2565 นี้ เมื่อการระบาดของโควิด 19 ทั่วโลกคลี่คลายลง
กลุ่มเซ็นทรัล ตั้งเป้ายอดขายของห้างสรรพสินค้าในไทยและต่างประเทศ 6,700 ล้านยูโร
หรือราวๆ 2.6 แสนล้านบาท ซึ่งเมื่อเทียบกับปี 2559 ก่อนเกิดการระบาดของโควิด 19
รายได้เติบโตถึง 123% เลยทีเดียว
ส่วนสิ่งที่จะชี้วัดว่าเป้าหมายอันท้าทายนี้จะสำเร็จหรือไม่นั้น
ก็ขึ้นอยู่กับโมเดลธุรกิจที่จะสร้าง Impact ให้นักช้อปทั่วโลกมองว่าห้างสรรพสินค้าเหล่านี้
สามารถเป็น Destination ในการช้อปปิ้งในประเทศยุโรปและเอเชียได้อย่างไร
โจทย์ก็คือ กลุ่มเซ็นทรัล ที่มีประสบการณ์ในธุรกิจนี้นาน 75 ปีจะใช้วิธีไหน
ในการทำให้ห้างสรรพสินค้าที่ซื้อกิจการมานั้นเป็น Destination ในการช้อปปิ้ง
วิธีแรก ร่วมมือกับ Luxury Brand ระดับโลก สร้างห้างสรรพสินค้าที่มีเอกลักษณ์เฉพาะตัว
เป็นเรื่องที่ถนัดของกลุ่มเซ็นทรัล เลยทีเดียว
ในการสร้างห้างสรรพสินค้าที่สะท้อนถึงวัฒนธรรมและความเป็นตัวตนของ Location นั้นๆ
โดยแนวคิดนี้ ก็ได้ถูกนำมาใช้ในห้างสรรพสินค้าในต่างประเทศเช่นกัน
ที่แต่ละห้างจะถูกออกแบบให้แสดงถึงเอกลักษณ์ของแต่ละเมือง
เพื่อให้คนในท้องถิ่น และนักท่องเที่ยวได้ชื่นชม จนถึงร่วมมือกับ Luxury Brand ต่าง ๆ
เพิ่มความหลากหลายของสินค้า อีกทั้งแต่ละห้างจะมีร้านอาหารระดับพรีเมียม
เป็นอีกหนึ่งแม่เหล็กดึงดูดลูกค้า โดยสิ่งต่าง ๆ เหล่านี้ ได้ดำเนินการมาอย่างต่อเนื่อง
วิธีที่สอง ผู้นำแพลตฟอร์มอีคอมเมิร์ซ และเป็นพันธมิตรคู่ค้าที่มีเครือข่ายทั่วโลกให้กับแบรนด์ลักชัวรี่และแบรนด์แฟชั่นชั้นนำ
รู้หรือไม่ รายได้จากช่องทางออนไลน์ในตลาดต่างประเทศ ของกลุ่มเซ็นทรัลอยู่ที่ 1,000 ล้านยูโร
หรือราว ๆ 3.8 หมื่นล้านบาทต่อปี คิดเป็น 17% จากยอดขายทั้งหมด
โดยกว่า 40% นั่นมาจาก Selfridges.com ที่ทางกลุ่มเซ็นทรัลเพิ่งซื้อกิจการมา
ตัวเลขนี้กำลังบอกกับเราว่า Selfridges.com เป็นแพลตฟอร์มอีคอมเมิร์ซที่แข็งแกร่งระดับโลก
เลยทำให้กลุ่มเซ็นทรัลจะใช้ Selfridges.com เป็นหัวหอกสร้างยอดขายทางออนไลน์
โดยเน้นเสริมจุดแข็ง 4 จุด คือ
1. Brand ต่างๆ ในกลุ่ม Selfridges ซึ่งมีชื่อเสียง และเป็นที่รู้จักดีทั่วโลก
2. แบรนด์และสินค้า พร้อม Collection พิเศษ
3. เทคโนโลยีล้ำสมัย และใช้ข้อมูลลูกค้าเพื่อสร้างบริการและประสบการณ์ที่ตรงใจ
4. ใช้เครือข่ายศูนย์การค้าใน 11 ประเทศ ช่วยสร้างการรับรู้จนถึงสร้างบริการ Omni Channel ที่แตกต่าง และเหนือกว่าคู่แข่งอีคอมเมิร์ซรายอื่น ๆ
ที่น่าสนใจคือดีลนี้ก็ยังสร้างประโยชน์ให้แก่นักช้อปคนไทยที่เป็นลูกค้ากลุ่มเซ็นทรัล
ที่สามารถช้อปปิ้ง Luxury Brand โดยไม่ต้องบินไปไกลถึงต่างประเทศ แค่ช้อปผ่านทาง Selfridges.com ที่ในอนาคตก็น่าจะมีโปรโมชันเด็ด ๆ มากระตุ้นเงินในกระเป๋า
อย่างไรก็ตาม สำหรับสมาชิก The 1 ปัจจุบันสามารถสะสมแต้มและได้รับข้อเสนอพิเศษต่าง ๆ
เมื่อช้อปที่ห้างรีนาเชนเต อิลลุม และคาเดเว และยังจะสามารถรับสิทธิประโยชน์ในรูปแบบเดียวกัน
ที่ห้างสรรพสินค้าเซลฟริดเจส และห้างอื่น ๆ ในยุโรปภายใต้กลุ่มเซ็นทรัลได้ในเร็ว ๆ นี้
และสมมติหากเรามีโอกาสเดินทางไปในประเทศต่าง ๆ ในทวีปยุโรป
และมีโอกาสไปยังห้างหรูต่าง ๆ เหล่านี้ ก็สามารถพูดได้เต็มปากกับเพื่อนร่วมทริป
หรือคุยกับชาวต่างชาติ ได้อย่างภูมิใจว่า
“รู้ไหม ห้างหรูแห่งนี้ มีเจ้าของเป็นบริษัทคนไทย
และยังเป็นเจ้าของห้างหรูอีกหลาย ๆ แห่งในทวีปยุโรปด้วยนะ”
ดีลนี้จึงไม่ใช่แค่สร้างการเติบโตทางธุรกิจของกลุ่มเซ็นทรัลอย่างเดียว
แต่ยังเป็นดีลที่สร้างความภูมิใจให้แก่คนไทยทั้งประเทศ
บริษัทคนไทยก็สามารถยืนหนึ่งในโลกธุรกิจ ไม่แพ้บริษัทระดับโลกต่างชาติรายอื่น ๆ
Reference
-ข่าวประชาสัมพันธ์และข้อมูลจาก CENTRAL GROUP

เรื่องที่คุณอาจสนใจ

SPONSORED
© 2024 Longtunman. All rights reserved. Privacy Policy.
Blockdit Icon