กรณีศึกษา อินเดีย จากประเทศผู้นำเข้า สู่การเป็นผู้ส่งออกยารายใหญ่ของโลก

กรณีศึกษา อินเดีย จากประเทศผู้นำเข้า สู่การเป็นผู้ส่งออกยารายใหญ่ของโลก

กรณีศึกษา อินเดีย จากประเทศผู้นำเข้า สู่การเป็นผู้ส่งออกยารายใหญ่ของโลก /โดย ลงทุนแมน
ในปี 2021 อินเดียเป็นประเทศที่ไทยนำเข้ายารักษาโรคมากที่สุด ด้วยมูลค่ากว่า 8,800 ล้านบาท
แซงหน้าเยอรมนี ที่เป็นแหล่งนำเข้ายารักษาโรคอันดับ 1 ของไทยมาตั้งแต่ปี 2016
อินเดียส่งออกยาเป็นอันดับ 10 ของโลกในปี 2020 ด้วยมูลค่ากว่า 570,000 ล้านบาท
ซึ่งเป็นประเทศเดียวในผู้ส่งออก 10 อันดับแรก ที่ไม่ใช่ประเทศในยุโรปและสหรัฐอเมริกา
ปัจจุบัน อุตสาหกรรมยาในอินเดีย มีมูลค่าตลาด 1,400,000 ล้านบาท
และมีการคาดการณ์ว่าจะเพิ่มเป็น 4,100,000 ล้านบาท ในปี 2030 หรืออีก 8 ปีข้างหน้า
ที่มาที่ไปของอุตสาหกรรมยาในอินเดีย เป็นอย่างไร ?
ลงทุนแมนจะเล่าให้ฟัง
╔═══════════╗
Blockdit เป็นแพลตฟอร์ม สำหรับนักอ่าน และนักเขียน
ที่มีผู้ใช้งาน 2 ล้านคน ลองใช้แพลตฟอร์มนี้เพื่อได้ไอเดียใหม่ๆ
แล้วอาจพบว่าสังคมนี้เหมาะกับคนเช่นคุณ
Blockdit. Ideas Happen. Blockdit.com/download
╚═══════════╝
อย่างที่เรารู้กันว่า อุตสาหกรรมยาของโลก ถูกขับเคลื่อนด้วยประเทศชั้นนำในทวีปยุโรป และสหรัฐอเมริกามาอย่างยาวนาน ตั้งแต่ต้นศตวรรษที่ 20
เห็นได้จากบริษัทยาที่มีมูลค่าสูงสุด 20 อันดับแรกของโลก ล้วนแต่เป็นบริษัทยาจากสหรัฐอเมริกา สวิตเซอร์แลนด์ เดนมาร์ก เยอรมนี ฝรั่งเศส และสหราชอาณาจักร
บริษัทยาในประเทศเหล่านี้ ต่อยอดจากองค์ความรู้ที่มีมานาน ทุ่มงบประมาณมหาศาล เพื่อทำการวิจัยและพัฒนาหาสารตั้งต้นทางเคมี นำมาทำการทดลองในหลายระดับ ทั้งในสัตว์ทดลอง และในมนุษย์
จนได้ประสิทธิภาพและความปลอดภัยเพียงพอที่จะนำมาวางจำหน่ายไปทั่วโลก
ยาเหล่านี้จะถูกเรียกว่า “ยาต้นตำรับ” หรือ ยาออริจินัล (Original Drug) ซึ่งโดยปกติแล้วจะมีราคาต่อหน่วยสูงมาก เพื่อให้คุ้มค่ากับที่บริษัทยานั้น ๆ ได้ทุ่มงบประมาณวิจัยและทดลองอย่างมหาศาล
และเพื่อให้มั่นใจได้ว่า ผลประโยชน์จากการขายยาจะมีมากพอกับเงินที่ทุ่มลงไป จึงมีสิ่งที่เรียกว่า “สิทธิบัตรยา” เพื่อคุ้มครองยาเหล่านี้ ไม่ให้บริษัทอื่น ๆ นำสารสำคัญในยาไปผลิตยามาขายแข่ง ซึ่งตามปกติ สิทธิบัตรยาจะมีอายุคุ้มครองอยู่ที่ 20 ปี
จากวงจรดังกล่าว ทำให้ในช่วงแรกที่ยาถูกวางจำหน่าย จะมีราคาสูงมาก และในเมื่อยาคือหนึ่งในปัจจัย 4 ที่สำคัญของชีวิตมนุษย์ คงมีแต่ผู้คนในประเทศร่ำรวย หรือคนที่มีกำลังซื้อเท่านั้น ที่จะมีโอกาสใช้ยาเหล่านี้
สิ่งที่น่าสนใจคือ เมื่อสิทธิบัตรยาหมดอายุลงแล้ว บริษัทไหน ๆ ก็สามารถนำโครงสร้างของยาออริจินัลมาผลิตยาแข่งได้
โดยที่ยาเหล่านั้น จะถูกเรียกว่า “ยาสามัญ” หรือ ยาเจเนอริก (Generic Drug) ซึ่งจะมีราคาถูกลงอย่างมาก
อินเดีย เป็นหนึ่งในประเทศผู้นำเข้ายาหลักตั้งแต่ได้รับเอกราช และยาส่วนใหญ่เป็นยาต้นตำรับ ที่ยังคงมีราคาสูงมาก ทำให้อินเดียประสบปัญหาขาดดุลอย่างหนัก เพราะมีประชากรมาก และประชากรส่วนใหญ่มีฐานะยากจน
รัฐบาลอินเดียจึงได้จัดตั้ง Indian Drugs and Pharmaceuticals Limited บริษัทรัฐวิสาหกิจที่ทำหน้าที่ผลิตยา รวมถึงวิจัยและพัฒนา เพื่อให้มียาเพียงพอกับการใช้ในประเทศตั้งแต่ปี 1961
โดยมีสำนักงานอยู่ 4 แห่ง หนึ่งในนั้นคือเมืองไฮเดอราบาด รัฐเตลังคานา
ทางตอนกลางของประเทศ เพื่อวางรากฐานให้เมืองนี้เป็นศูนย์กลางการผลิตยาในอนาคต
ในช่วงทศวรรษ 1970s อินเดียตัดสินใจเปลี่ยนระบบเศรษฐกิจให้เป็นลักษณะปิด เน้นการผลิตเพื่อชดเชยการนำเข้า ยกเลิกกฎหมายคุ้มครองสิทธิบัตรยา
ซึ่งทำให้การลงทุนจากต่างประเทศลดลงอย่างมาก แต่ก็ทำให้บริษัทยาของอินเดีย สามารถนำยาต้นตำรับมาผลิตและวางจำหน่ายในประเทศได้ และเปลี่ยนบทบาทให้กลายเป็นแหล่งผลิตยาที่สำคัญของโลก
ซึ่งต่อมา เมื่ออินเดียเปิดประเทศเข้าสู่ตลาดเสรี และเข้าร่วมองค์การการค้าโลก ในปี 1995 อินเดียจึงจำเป็นต้องประกาศกฎหมายคุ้มครองสิทธิบัตรยาอีกครั้ง เพื่อเปิดรับการลงทุนจากต่างประเทศ
อย่างไรก็ตาม อุตสาหกรรมการผลิตยาของอินเดียที่ได้ถูกวางรากฐานมา ก็ได้สร้างบุคลากรที่เชี่ยวชาญ รวมถึงระบบการผลิตที่แข็งแกร่ง
ในปี 1999 รัฐบาลได้จัดตั้งเขต Genome Valley ในเมืองไฮเดอราบาด เพื่อให้เป็นศูนย์กลางของอุตสาหกรรมยา ไบโอเทคโนโลยี วัคซีน และอุปกรณ์การแพทย์
โดยมีพื้นที่กว่า 600 ตารางกิโลเมตร ดึงดูดบริษัทยาชั้นนำทั้งของต่างประเทศและของอินเดียเอง
ด้วยความที่อินเดียเป็นประเทศที่มีประชากรมากเป็นอันดับ 2 ของโลก มีตลาดขนาดใหญ่ในประเทศรองรับ อีกทั้งยังมีระบบการผลิตที่แข็งแกร่ง มีบุคลากรที่เชี่ยวชาญในอุตสาหกรรมยาจำนวนมาก และมีค่าแรงถูกกว่าประเทศตะวันตกมาก
ทำให้มีบริษัทยาจากยุโรปและสหรัฐอเมริกา ต่างเข้าไปตั้งฐานการผลิตเพื่อลดต้นทุน
อินเดียจึงได้กลายเป็นฐานการผลิตยา ของบริษัทยาอเมริกันที่ใหญ่ที่สุด นอกประเทศสหรัฐอเมริกา
และค่อย ๆ ก้าวขึ้นมาเป็นประเทศผู้ส่งออกยาในที่สุด
โดยมีเมืองศูนย์กลางการผลิตยาคือไฮเดอราบาด ซึ่งเป็นที่ตั้งของบริษัทยาต่างประเทศ รวมถึงบริษัทยาชั้นนำของอินเดียหลายแห่ง
ทั้ง Bharat Biotech บริษัทผลิตวัคซีน COVAXIN วัคซีนต้านโควิด 19 ที่ใช้ในประเทศอินเดียและประเทศหลายแห่งในเอเชียใต้
Divis Laboratories บริษัทยาที่มีมูลค่าตลาดเป็นอันดับ 2 ของอินเดีย
และ Dr. Reddy's Laboratories บริษัทยาที่มีมูลค่าตลาดเป็นอันดับ 4 ของอินเดีย
ถึงแม้ยาที่ผลิตส่วนใหญ่ในอินเดีย ยังคงเป็นยาสามัญ แต่บริษัทของอินเดียก็มีความพยายามอย่างมาก ในการวิจัยและพัฒนา เพื่อให้สามารถคิดค้นยาต้นตำรับได้
มีการจัดตั้ง สถาบันการศึกษาและวิจัยเภสัชกรรมแห่งชาติ
NIPER แห่งเมืองไฮเดอราบาด เพื่อให้เป็นศูนย์กลางของการวิจัยและพัฒนา
ซึ่งก็มีบริษัทยาหลายแห่ง ให้งบประมาณสนับสนุน และมีหลายบริษัทสัญชาติอินเดีย ที่เริ่มมีการค้นพบสารสำคัญ ซึ่งจะต่อยอดไปเป็นยาต้นตำรับหลายชนิดแล้ว
อินเดียเป็นประเทศเดียวในทวีปเอเชียที่ติด Top 10 ประเทศที่ส่งออกยามากที่สุดในโลก
และเป็นประเทศกำลังพัฒนาเพียงประเทศเดียว ที่สามารถพัฒนาอุตสาหกรรมยา จนเป็นที่ยอมรับในระดับโลก
ในอนาคตที่สังคมผู้สูงอายุกำลังเติบโต
อุตสาหกรรมยาก็จะมีส่วนผลักดันให้เศรษฐกิจอินเดียเติบโตต่อไป..
หันกลับมามองที่ประเทศไทย
ประเทศไทย เรียกได้ว่าส่งออกยารักษาโรคได้น้อยมาก
ในขณะที่เรา ต้องนำเข้ายารักษาโรคกว่า 80,000 ล้านบาทในแต่ละปี
และมีแนวโน้มเพิ่มสูงขึ้นเรื่อย ๆ หากคำนึงถึงจำนวนผู้สูงอายุที่จะเพิ่มขึ้นอีกมาก
อุตสาหกรรมยาจึงน่าจะเป็นอีกหนึ่งอุตสาหกรรม ที่สมควรได้รับการสนับสนุนในประเทศไทย
ไม่ว่าจะเพื่อการเติบโต และความยั่งยืนทั้งในแง่เศรษฐกิจ
และเพื่อความมั่นคงในฐานะที่ยาเป็นหนึ่งในปัจจัย 4 ของมนุษย์ นั่นเอง..
╔═══════════╗
Blockdit เป็นแพลตฟอร์ม สำหรับนักอ่าน และนักเขียน
ที่มีผู้ใช้งาน 2 ล้านคน ลองใช้แพลตฟอร์มนี้เพื่อได้ไอเดียใหม่ๆ
แล้วอาจพบว่าสังคมนี้เหมาะกับคนเช่นคุณ
Blockdit. Ideas Happen. Blockdit.com/download
╚═══════════╝
ติดตามลงทุนแมนได้ที่
Website - longtunman.com
Blockdit - blockdit.com/longtunman
Facebook - facebook.com/longtunman
Twitter - twitter.com/longtunman
Instagram - instagram.com/longtunman
Line - page.line.me/longtunman
YouTube - youtube.com/longtunman
TikTok - tiktok.com/@longtunman
Spotify - open.spotify.com/show/4jz0qVn1AL7tRMHiTvMbZH
Apple Podcasts - podcasts.apple.com/th/podcast/ลงท-นแมน/id1543162829
Soundcloud - soundcloud.com/longtunman
References:
-https://www.ncbi.nlm.nih.gov/pmc/articles/PMC5488177/
-https://tradereport.moc.go.th/Report/Default_Struc.aspx?Report=MenucomTopNRecode&Option=4&Lang=Th&ImExType=0
-https://www.investindia.gov.in/sector/pharmaceuticals

เรื่องที่คุณอาจสนใจ

SPONSORED
© 2024 Longtunman. All rights reserved. Privacy Policy.
Blockdit Icon