กรณีศึกษา ไทยส่งออก รถมอเตอร์ไซค์ สูงสุดเป็นประวัติการณ์

กรณีศึกษา ไทยส่งออก รถมอเตอร์ไซค์ สูงสุดเป็นประวัติการณ์

กรณีศึกษา ไทยส่งออก รถมอเตอร์ไซค์ สูงสุดเป็นประวัติการณ์ /โดย ลงทุนแมน
“115,000 ล้านบาท” คือมูลค่าการส่งออกรถมอเตอร์ไซค์และส่วนประกอบ ในปี 2564
ซึ่งทำสถิติสูงสุดเป็นประวัติการณ์ของไทย
เติบโตถึง 46% จากมูลค่าการส่งออกในปี 2563
ซึ่งจากข้อมูลการส่งออกของประเทศทั่วโลกในปี 2563
ไทยส่งออกรถมอเตอร์ไซค์ มูลค่ามากเป็นอันดับ 4 ของโลก รองจากจีน เยอรมนี และญี่ปุ่น
โดยมีสัดส่วน 6.5% ของมูลค่าการส่งออกโลก ใกล้เคียงกับญี่ปุ่นที่ 6.9% เลยทีเดียว
ซึ่งจากตัวเลขการเติบโตในปี 2564 ก็อาจเป็นไปได้ว่า
ไทยได้ก้าวขึ้นมาเป็นผู้ส่งออกรถมอเตอร์ไซค์อันดับ 3 ของโลก แทนญี่ปุ่นไปแล้ว
เรื่องราวของอุตสาหกรรมรถมอเตอร์ไซค์ของไทย เป็นอย่างไร ?
ลงทุนแมนจะเล่าให้ฟัง
╔═══════════╗
Blockdit เป็นแพลตฟอร์ม สำหรับนักอ่าน และนักเขียน
ที่มีผู้ใช้งาน 2 ล้านคน ลองใช้แพลตฟอร์มนี้เพื่อได้ไอเดียใหม่ๆ
แล้วอาจพบว่าสังคมนี้เหมาะกับคนเช่นคุณ
Blockdit. Ideas Happen. Blockdit.com/download
╚═══════════╝
รถมอเตอร์ไซค์นับว่าเป็นยานพาหนะยอดนิยมของผู้คนในภูมิภาคอาเซียน ทั้งในไทย เวียดนาม
อินโดนีเซีย และมาเลเซีย ทั้งด้วยเหตุผลด้านราคาที่ไม่สูงเท่ารถยนต์ สภาพอากาศที่ขับขี่ได้ตลอดทั้งปี และความคล่องตัวสูง สำหรับฝ่าการจราจรที่ติดขัด
เฉพาะในประเทศไทย ก็มีรถมอเตอร์ไซค์อยู่ถึง 22 ล้านคัน
คิดเป็นอัตราส่วนรถมอเตอร์ไซค์ 1 คัน ต่อประชากร 3 คน หรือพูดง่าย ๆ ว่าโดยเฉลี่ยแล้ว คนไทยในทุกครัวเรือน จะมีรถมอเตอร์ไซค์ 1 คัน
การที่มีผู้บริโภคในประเทศอยู่เป็นจำนวนมาก มีทำเลที่ตั้งอยู่ใจกลางภูมิภาคอาเซียน และมีห่วงโซ่อุปทานของผู้ผลิตชิ้นส่วนยานยนต์ที่ครบครัน
ทำให้ประเทศไทย กลายเป็นฐานการผลิตรถมอเตอร์ไซค์และส่วนประกอบที่สำคัญของอาเซียน
ดึงดูดนักลงทุนจากต่างประเทศ โดยเฉพาะญี่ปุ่น ผู้ผลิตแบรนด์รถมอเตอร์ไซค์ชั้นนำของโลก ทั้ง Honda, Yamaha, Suzuki และ Kawasaki
ทั้ง 4 แบรนด์ ล้วนเป็นผู้นำการผลิตรถมอเตอร์ไซค์ขนาดเล็กแบบครอบครัว ความจุของกระบอกสูบ 100-125 cc. และมีสัดส่วนการผลิตราว 80% ของกำลังการผลิตในไทย
ซึ่งการผลิตรถมอเตอร์ไซค์ในประเทศไทย จะเป็นการผลิตเพื่อขายในประเทศ สัดส่วนราว 80% และผลิตเพื่อการส่งออก เป็นสัดส่วน 20%
ถึงแม้จะส่งออกเป็นสัดส่วนน้อย แต่ด้วยความที่เป็นศูนย์กลางการผลิตที่สำคัญ ทำให้ยอดการส่งออกรถมอเตอร์ไซค์ มากที่สุดเป็นอันดับ 1 ของอาเซียน และก้าวขึ้นมาเป็นผู้ส่งออกระดับ Top 5 ของโลก
อย่างไรก็ตาม ความท้าทายแรกของอุตสาหกรรมรถมอเตอร์ไซค์ของไทยตอนนี้
คือการเติบโตทางเศรษฐกิจของประเทศในภูมิภาคอาเซียน
โดยเฉพาะอินโดนีเซียและเวียดนาม ที่ทำให้ผู้คนในประเทศเหล่านี้มีกำลังซื้อมากขึ้น และมีความต้องการรถมอเตอร์ไซค์ขนาดเล็กมากขึ้น
เมื่อรวมกับเหตุผลที่ประเทศเหล่านี้มีค่าแรงต่ำกว่า และมีประชากรมากกว่าไทย
ทำให้ผู้ผลิตรถมอเตอร์ไซค์หลายราย เลือกไปตั้งฐานการผลิตในอินโดนีเซีย และเวียดนาม
ซึ่งก็กระทบต่อยอดการส่งออกรถมอเตอร์ไซค์ขนาดเล็กของไทยพอสมควร
แต่ในความท้าทายก็ยังมีโอกาส
เพราะการที่ประเทศไทยมีห่วงโซ่อุปทาน ของผู้ผลิตชิ้นส่วนยานยนต์อยู่ครบครัน ทำให้ยังมีศักยภาพดึงดูดบริษัทรถมอเตอร์ไซค์ต่างชาติ
โดยเฉพาะรถมอเตอร์ไซค์ขนาดใหญ่ ที่มีความจุของกระบอกสูบ มากกว่า 248 cc. หรือกลุ่ม Big Bike ให้เข้ามาตั้งฐานการผลิตในไทยตั้งแต่ช่วงปี 2555
โดยบริษัทรถมอเตอร์ไซค์ขนาดใหญ่ของต่างชาติ ที่เข้ามาตั้งโรงงานในประเทศไทย
เช่น BMW ของเยอรมนี, Harley-Davidson ของสหรัฐอเมริกา, Triumph ของอังกฤษ, Ducati และ Benelli ของอิตาลี
รถมอเตอร์ไซค์ขนาดใหญ่ หรือกลุ่ม Big Bike จึงกลายเป็นสินค้าส่งออกที่สำคัญของไทย
แทนรถมอเตอร์ไซค์ขนาดเล็กในเวลาต่อมา
ในปี 2564 ไทยผลิตรถมอเตอร์ไซค์ 1,780,000 คัน โดยผลิตเพื่อขายในประเทศราว 75%
และผลิตเพื่อส่งออก 25%
รถมอเตอร์ไซค์ที่ส่งออก คิดเป็นมูลค่า 84,000 ล้านบาท
โดยมีจุดหมายปลายทางการส่งออกที่สำคัญ ประกอบไปด้วย
1. จีน มูลค่า 15,407 ล้านบาท คิดเป็นสัดส่วน 18%
2. สหรัฐอเมริกา มูลค่า 12,725 ล้านบาท คิดเป็นสัดส่วน 15%
3. เบลเยียม มูลค่า 11,729 ล้านบาท คิดเป็นสัดส่วน 14%
4. สหราชอาณาจักร มูลค่า 11,233 ล้านบาท คิดเป็นสัดส่วน 13%
5. ญี่ปุ่น มูลค่า 8,626 ล้านบาท คิดเป็นสัดส่วน 10%
นอกจากรถมอเตอร์ไซค์ทั้งคันแล้ว ไทยยังส่งออกชิ้นส่วนรถมอเตอร์ไซค์ คิดเป็นมูลค่า 30,500 ล้านบาท โดยจุดหมายปลายทางที่สำคัญ ประกอบไปด้วย
1. กัมพูชา ส่งออกมูลค่า 5,129 ล้านบาท คิดเป็นสัดส่วน 17%
2. ญี่ปุ่น ส่งออกมูลค่า 4,695 ล้านบาท คิดเป็นสัดส่วน 15%
3. บราซิล ส่งออกมูลค่า 3,805 ล้านบาท คิดเป็นสัดส่วน 12%
4. อินโดนีเซีย ส่งออกมูลค่า 2,571 ล้านบาท คิดเป็นสัดส่วน 8%
5. เวียดนาม ส่งออกมูลค่า 1,586 ล้านบาท คิดเป็นสัดส่วน 5%
ซึ่งส่วนใหญ่แล้ว ไทยจะส่งออกชิ้นส่วนรถมอเตอร์ไซค์ ไปยังประเทศที่เป็นฐานการผลิตรถมอเตอร์ไซค์ เช่น ญี่ปุ่น บราซิล เวียดนาม หรืออินโดนีเซีย
และเป็นการส่งออกชิ้นส่วน สำหรับซ่อมแซมไปยังประเทศเพื่อนบ้าน เช่น กัมพูชา
ซึ่งหากรวมกลุ่มประเทศในอาเซียน ก็นับว่าเป็นจุดหมายปลายทาง ในการส่งออกชิ้นส่วนรถมอเตอร์ไซค์ที่สำคัญของไทย เพราะคิดเป็นสัดส่วนถึง 40%
สำหรับบริษัทที่เกี่ยวข้องกับอุตสาหกรรมรถมอเตอร์ไซค์ นอกจากบริษัทของต่างชาติแล้ว
ก็ยังมีบริษัทสัญชาติไทย ที่พัฒนารถมอเตอร์ไซค์แบรนด์ของตัวเอง
เช่น บริษัท จีพี มอเตอร์ (ประเทศไทย) ผู้พัฒนาแบรนด์ GPX
นอกจากนี้ ยังมีบริษัทที่เกี่ยวข้องกับชิ้นส่วนรถมอเตอร์ไซค์ ซึ่งส่วนใหญ่แล้ว มีความเชี่ยวชาญในการผลิตชิ้นส่วนยานยนต์
โดยตัวอย่างบริษัทที่อยู่ในตลาดหุ้นไทย เช่น
- บริษัท ไทยสแตนเลย์การไฟฟ้า (STANLY) ผู้นำการผลิตหลอดไฟ ทั้งสำหรับรถยนต์และรถมอเตอร์ไซค์
- บริษัท อีซึ่น แอนด์ โค (EASON) ผู้นำการผลิตสีพ่นรถมอเตอร์ไซค์
- บริษัท พี.ซี.เอส.แมชีน กรุ๊ปโฮลดิ้ง (PCSGH) ผู้ผลิตชิ้นส่วนรถมอเตอร์ไซค์ Big Bike
- บริษัท เอ็น.ดี.รับเบอร์ (NDR) และ บริษัท ฮั้วฟง รับเบอร์ (ไทยแลนด์) (HFT) ผู้นำการผลิตยางรถมอเตอร์ไซค์
อีกประเด็นที่น่าสนใจคือ
การเข้ามาถึงของ “รถมอเตอร์ไซค์ไฟฟ้า” ก็สร้างความท้าทายต่อมาให้อุตสาหกรรมรถมอเตอร์ไซค์ไทย..
บริษัทสัญชาติญี่ปุ่น ที่ตั้งฐานการผลิตในไทย เตรียมเริ่มปรับสัดส่วนการผลิตรถมอเตอร์ไซค์ไฟฟ้ามากขึ้น ซึ่งอาจทำให้ ลดการใช้ชิ้นส่วนยานยนต์บางอย่าง ที่เคยใช้ในรถมอเตอร์ไซค์แบบเดิม และส่งผลกระทบต่อผู้ผลิตชิ้นส่วนยานยนต์ในประเทศไทย
ในขณะเดียวกัน ก็มีบริษัทสัญชาติไทย ที่พัฒนาแบรนด์รถมอเตอร์ไซค์ไฟฟ้าของตัวเอง
เช่น แบรนด์ ETRAN ของบริษัท อีทราน (ไทยแลนด์)
ซึ่งร่วมทุนกับบริษัทในตลาดหุ้นไทยอย่าง เอ็น.ดี.รับเบอร์ (NDR)
แต่เส้นทางของรถมอเตอร์ไซค์ไฟฟ้าในไทย ก็ยังมีปัญหาอีกมาก ทั้งจำนวนสถานีชาร์จไฟฟ้าที่ยังมีไม่มาก และการอุดหนุนจากภาครัฐที่ยังน้อย เมื่อเทียบกับราคารถที่ยังค่อนข้างสูง
ก็เป็นที่น่าติดตามกันต่อไปว่า การส่งออกรถมอเตอร์ไซค์ของไทย จะเป็นอย่างไร
เมื่อมีความท้าทายอีกมากมายรออยู่ ทั้งการเติบโตของประเทศเพื่อนบ้าน ที่อาจเข้ามาแย่งส่วนแบ่งตลาดในอนาคต
และการเข้ามาของเทคโนโลยีใหม่ อย่างรถมอเตอร์ไซค์ไฟฟ้า ที่จะลดสัดส่วนการใช้ชิ้นส่วนบางชนิดลง
เส้นทางข้างหน้า ของอุตสาหกรรมรถมอเตอร์ไซค์ไทย อาจไม่ได้ราบเรียบนัก
แต่หากผู้ประกอบการปรับตัวและเตรียมตัว สำหรับการเปลี่ยนแปลงได้ดีพอ
ความท้าทายก็อาจกลายเป็นโอกาส ได้เช่นเดียวกัน
และถึงเวลานั้น ประเทศไทยอาจเป็นฐานการผลิตรถมอเตอร์ไซค์เพื่อส่งออก ที่ใหญ่สุดในโลก ก็เป็นได้..
╔═══════════╗
Blockdit เป็นแพลตฟอร์ม สำหรับนักอ่าน และนักเขียน
ที่มีผู้ใช้งาน 2 ล้านคน ลองใช้แพลตฟอร์มนี้เพื่อได้ไอเดียใหม่ๆ
แล้วอาจพบว่าสังคมนี้เหมาะกับคนเช่นคุณ
Blockdit. Ideas Happen. Blockdit.com/download
╚═══════════╝
ติดตามลงทุนแมนได้ที่
Website - longtunman.com
Blockdit - blockdit.com/longtunman
Facebook - facebook.com/longtunman
Twitter - twitter.com/longtunman
Instagram - instagram.com/longtunman
Line - page.line.me/longtunman
YouTube - youtube.com/longtunman
Spotify - open.spotify.com/show/4jz0qVn1AL7tRMHiTvMbZH
Apple Podcasts - podcasts.apple.com/th/podcast/ลงท-นแมน/id1543162829
Soundcloud - soundcloud.com/longtunman
References:
-https://www.krungsri.com/th/research/industry/industry-outlook/Hi-tech-Industries/Motorcycles/IO/io-motorcycles-20
-https://tradereport.moc.go.th/Report/Default.aspx?Report=MenucomTopNRecode&Option=3&Lang=Th&ImExType=1
-https://tradereport.moc.go.th/Report/Default.aspx?Report=MenucomTopNRecode&Option=3&Lang=Th&ImExType=1
-https://www.worldstopexports.com/motorcycles-exports-country/
-https://www.thansettakij.com/motor/511334

เรื่องที่คุณอาจสนใจ

SPONSORED
© 2024 Longtunman. All rights reserved. Privacy Policy.
Blockdit Icon