กรณีศึกษา "ปีนัง" ซิลิคอนแวลลีย์ แห่งมาเลเซีย

กรณีศึกษา "ปีนัง" ซิลิคอนแวลลีย์ แห่งมาเลเซีย

กรณีศึกษา "ปีนัง" ซิลิคอนแวลลีย์ แห่งมาเลเซีย /โดย ลงทุนแมน
100 ปีที่แล้ว คนไทยรู้จักปีนัง ในฐานะสถานที่ที่คนร่ำรวย มักส่งลูกหลานมาเล่าเรียน
เนื่องจากมีสถาบันการศึกษาที่มีคุณภาพ ที่เจ้าอาณานิคมอังกฤษได้วางรากฐานเอาไว้ให้
ต่อมา ปีนังก็ได้กลายเป็นสถานที่ท่องเที่ยวที่มีชื่อเสียง จากการผสมผสานวัฒนธรรมหลากหลายเข้าด้วยกัน โดยเมืองหลวงของรัฐ คือ “เมืองจอร์จทาวน์” ได้รับเลือกให้เป็นมรดกโลกในปี 2008
แต่นอกจากสถานที่ท่องเที่ยวแล้ว อีกบทบาทหนึ่งของปีนัง คือการเป็นศูนย์กลางอุตสาหกรรมอิเล็กทรอนิกส์ที่ใหญ่ที่สุดของมาเลเซีย ซึ่งเป็นภาคอุตสาหกรรมที่เป็นสินค้าส่งออกหลักของประเทศถึง 40%
จนได้รับฉายาว่าเป็น “ซิลิคอนแวลลีย์แห่งมาเลเซีย”
เรื่องราวของปีนังเป็นอย่างไร ?
ลงทุนแมนจะเล่าให้ฟัง
╔═══════════╗
Blockdit เป็นแพลตฟอร์ม สำหรับนักอ่าน และนักเขียน
ที่มีผู้ใช้งาน 2 ล้านคน ลองใช้แพลตฟอร์มนี้เพื่อได้ไอเดียใหม่ๆ
แล้วอาจพบว่าสังคมนี้เหมาะกับคนเช่นคุณ
Blockdit. Ideas Happen. Blockdit.com/download
╚═══════════╝
รัฐปีนัง เป็นรัฐเล็ก ๆ ที่ตั้งอยู่ทางตอนเหนือของประเทศมาเลเซีย
ประกอบไปด้วย 2 ส่วน คือเกาะปีนัง ที่มีพื้นที่ 293 ตารางกิโลเมตร พอ ๆ กับเกาะสมุย
เป็นที่ตั้งของเมืองจอร์จทาวน์ เมืองหลวงและเมืองใหญ่ที่สุดของรัฐปีนัง
กับแผ่นดินใหญ่ ที่มีพื้นที่ 738 ตารางกิโลเมตร ซึ่งเป็นที่ตั้งของเมืองบัตเตอร์เวิร์ท ที่ตั้งท่าเรือของรัฐปีนัง
ถึงแม้จะเป็นรัฐเล็ก แต่ปีนังก็มีประชากรถึง 1.8 ล้านคน โดยประชากรราวครึ่งหนึ่ง เป็นชาวมาเลเซียเชื้อสายจีน โดยเฉพาะชาวจีนฮกเกี้ยน ที่อพยพมาอยู่ปีนัง
เหตุผลที่เป็นที่นี่ ก็เพราะปีนังเป็นเมืองท่าค้าขายสำคัญ ที่เจ้าอาณานิคมอังกฤษใช้ขนถ่ายสินค้าระหว่างอินเดียกับจีน
ในปี 2020 รัฐปีนังสร้างมูลค่าทางเศรษฐกิจ 760,860 ล้านบาท
ซึ่งเมื่อหารประชากรแล้ว จะทำให้ชาวปีนังมี GDP ต่อหัว 422,700 บาท
สูงเป็นอันดับ 3 ของมาเลเซีย รองจากกรุงกัวลาลัมเปอร์ เมืองหลวง
และเขตลาบวน เขตเล็ก ๆ ใกล้เกาะบอร์เนียวที่ร่ำรวยไปด้วยน้ำมัน
แต่ปัจจัยสำคัญที่ทำให้รัฐปีนังมีรายได้ต่อหัวสูง ไม่ใช่การท่องเที่ยว หรือการเป็นเมืองท่า
แต่เป็นอุตสาหกรรมการผลิต โดยเฉพาะอุตสาหกรรมอิเล็กทรอนิกส์และเครื่องใช้ไฟฟ้า
หรือ E&E ซึ่งเป็นภาคอุตสาหกรรมที่มาเลเซียตั้งเป้าให้เป็น 1 ใน 12 อุตสาหกรรมเป้าหมาย
ที่จะพาให้ประเทศ ก้าวสู่ประเทศรายได้สูงภายในช่วงต้นทศวรรษ 2020s
มาเลเซียเริ่มพัฒนาอุตสาหกรรมอิเล็กทรอนิกส์อย่างจริงจังในช่วงทศวรรษ 1970s เพื่อเพิ่มความหลากหลายทางเศรษฐกิจ จากการพึ่งพาสินค้าโภคภัณฑ์ที่มีราคาผันผวนอย่างยางพารา น้ำมันปาล์ม น้ำมันดิบ และก๊าซธรรมชาติ
โดยปีนังได้รับเลือกให้เป็นฐานการผลิตสินค้าอิเล็กทรอนิกส์และเครื่องใช้ไฟฟ้า เนื่องจากรัฐแห่งนี้เป็นเมืองท่าเก่าแก่ มีท่าเรือน้ำลึก และโครงสร้างพื้นฐานที่ครบครัน
อีกทั้งยังมีแรงงานที่มีความรู้ เพราะมีสถาบันการศึกษาเก่าแก่ที่อดีตเจ้าอาณานิคมได้ก่อตั้งไว้
Lim Chong Eu ผู้ว่าการรัฐปีนัง ได้จัดตั้งเขตปลอดภาษี Penang Free Trade Zone ในปี 1972
โดยเฉพาะการจัดตั้งนิคมอุตสาหกรรม Bayan Lepas ที่ตั้งอยู่ทางตอนใต้ของเกาะปีนัง
เพื่อดึงดูดการลงทุนจากบริษัทอิเล็กทรอนิกส์ต่างชาติ โดยตั้งเป้าให้ปีนังกลายเป็น
“ซิลิคอนแวลลีย์แห่งตะวันออก” ด้วยการให้สิทธิประโยชน์ทางภาษี
และชูจุดเด่นในเรื่องค่าแรงที่ไม่สูงนัก รวมถึงแรงงานส่วนใหญ่มีทักษะภาษาอังกฤษที่ดี
บริษัทแรกที่เข้ามาลงทุน ส่วนใหญ่เป็นบริษัทอเมริกัน เช่น Motorola, Intel และ Hewlett Packard ตามมาด้วยบริษัทเยอรมันอย่าง Bosch และ Osram และบริษัทญี่ปุ่นอย่าง Panasonic, Sony และ Toshiba
สินค้าอิเล็กทรอนิกส์และเครื่องใช้ไฟฟ้า มีส่วนสำคัญอย่างมาก ในการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจของมาเลเซีย ตลอดช่วงทศวรรษ 1990s มาจนถึงช่วงทศวรรษ 2000s
บริษัทผู้ผลิตชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิกส์ชั้นนำของมาเลเซียหลายแห่ง ก็ล้วนเติบโตมาจากนิคมอุตสาหกรรม Bayan Lepas ในปีนัง ไม่ว่าจะเป็น
Inari Amertron Berhad ผู้ผลิตเซมิคอนดักเตอร์ชั้นนำของมาเลเซีย
ปัจจุบันมีมูลค่าบริษัท 92,000 ล้านบาท
ViTrox ผู้นำในการผลิตระบบ Machine Vision (MVS) ที่ใหญ่ที่สุดของมาเลเซีย
ปัจจุบันมีมูลค่าบริษัท 57,000 ล้านบาท
Pentamaster ผู้ผลิตเซมิคอนดักเตอร์ และเครื่องจักรอัตโนมัติ
ปัจจุบันมีมูลค่าบริษัท 22,000 ล้านบาท
อย่างไรก็ตาม เมื่อถึงช่วงทศวรรษ 2010s อุตสาหกรรมอิเล็กทรอนิกส์ของมาเลเซีย ก็เริ่มสูญเสียความสามารถในการแข่งขัน ทั้งจากปัญหาค่าแรงที่เริ่มสูงขึ้น และอุตสาหกรรมบางอย่างเริ่มหมดความสามารถในการแข่งขัน
รัฐบาลของรัฐปีนัง จึงได้ร่วมมือกับภาคเอกชน และภาคการศึกษา
โดยเฉพาะ Universiti Sains Malaysia (USM) มหาวิทยาลัยอันดับ 4 ของมาเลเซีย
ซึ่งตั้งอยู่ในเมืองจอร์จทาวน์ มีชื่อเสียงโดดเด่นในเรื่องวิศวกรรมอิเล็กทรอนิกส์
เพื่อผลักดันกระบวนการวิจัยและพัฒนาร่วมกัน และวางแผนอย่างจริงจังในการพัฒนาอุตสาหกรรมอิเล็กทรอนิกส์ในระยะยาว ซึ่งประกอบไปด้วย
ประการที่ 1 การกำหนดอุตสาหกรรมเป้าหมายอย่างชัดเจน
ซึ่งต้องเป็นอุตสาหกรรมต้นน้ำ สำหรับอุตสาหกรรมอิเล็กทรอนิกส์อื่น ๆ
โดยเฉพาะอุตสาหกรรมอิเล็กทรอนิกส์ที่มีแนวโน้มขยายตัว เช่น อุตสาหกรรมเซมิคอนดักเตอร์ อุตสาหกรรม LED ซึ่งล้วนเป็นส่วนประกอบสำคัญ ในอุปกรณ์เทคโนโลยีสมัยใหม่ เช่น แท็บเล็ต และสมาร์ตโฟน และลดความสำคัญในอุตสาหกรรมที่มีแนวโน้มหดตัว เช่น ชิ้นส่วนคอมพิวเตอร์ ชิ้นส่วนโทรทัศน์ และชิ้นส่วนวิทยุ
ประการที่ 2 การเข้าไปเป็นส่วนหนึ่งของห่วงโซ่การผลิตสินค้าอิเล็กทรอนิกส์ของจีน ซึ่งเป็นผู้นำของโลกในด้านนี้ แทนการผลิตสินค้าออกมาขายแข่งกับจีนโดยตรง
ประการที่ 3 พัฒนากระบวนการผลิตสินค้า จากการรับจ้างผลิต หรือ OEM
สู่การเป็นผู้ผลิตแบบครบวงจร หรือ ODM ที่เพิ่มในส่วนของกระบวนการวิจัยและพัฒนา
การออกแบบผลิตภัณฑ์และต่อยอดไปสู่กระบวนการสร้างแบรนด์เป็นของตัวเอง
หรือ Original Brand Manufacturing (OBM)
ประการที่ 4 ปรับปรุงโครงสร้างพื้นฐาน ให้ดึงดูดนักลงทุนทั้งจากในและต่างประเทศ
ทั้งด้านกฎหมาย ปรับเพิ่มสิทธิประโยชน์ในการลดหย่อนภาษีนิติบุคคล
ให้เงินทุนสนับสนุนแก่บริษัทในประเทศ ที่มีกระบวนการวิจัยและพัฒนา
สร้างระบบขนส่งระหว่างเขตอุตสาหกรรม เชื่อมต่อกับท่าเรือและสนามบิน เพื่อลดต้นทุนด้านการขนส่ง
และปฏิรูปการศึกษา โดยวางแผนระยะยาวมาตั้งแต่ปี 2013-2025
เหตุผลสำคัญก็เพื่อเพิ่มสัดส่วนนักวิจัยและบุคลากรทางวิทยาศาสตร์
จากสัดส่วน 58 คนต่อประชากร 10,000 คน ในปี 2013
ให้กลายเป็น 70 คนต่อประชากร 10,000 คน ในปี 2020
เพื่อให้มีแรงงานทักษะสูงเพียงพอสำหรับอุตสาหกรรมที่ยกระดับขึ้น
จากการวางแผนและพัฒนาอย่างจริงจัง ทำให้มาเลเซียก้าวขึ้นมาเป็นผู้นำในการส่งออกสินค้าอิเล็กทรอนิกส์ ในปี 2020 มาเลเซียเป็นผู้ส่งออกสินค้าอิเล็กทรอนิกส์รายใหญ่อันดับ 8 ของโลก และครองส่วนแบ่งการส่งออกอุปกรณ์เซมิคอนดักเตอร์ราว 10% ของการส่งออกทั้งโลก
ก็เป็นที่น่าติดตามต่อไป ว่าอุตสาหกรรมอิเล็กทรอนิกส์ของมาเลเซีย จะพัฒนาต่อไปในรูปแบบไหน
เพราะยังมีความท้าทายรออยู่อีกมาก ทั้งการขาดแคลนแรงงานทักษะสูง ซึ่งอาจทำให้มาเลเซียต้องดึงดูดแรงงานจากต่างประเทศมากขึ้น รวมถึงการพัฒนาแบรนด์ และเป็นเจ้าของลิขสิทธิ์สินค้าอิเล็กทรอนิกส์ ที่ต้องใช้เงินทุน และการวิจัยอีกมาก
แต่อย่างไรก็ตาม ภาคอุตสาหกรรมอิเล็กทรอนิกส์ ก็เป็นหนึ่งในกุญแจสำคัญ
ที่ทำให้เศรษฐกิจของมาเลเซียเติบโตอย่างต่อเนื่อง และในอีกไม่เกิน 5 ปีข้างหน้า
ชาวมาเลเซียก็จะมี GDP ต่อหัว ก้าวไปอยู่ในกลุ่มประเทศรายได้สูง
หรือพูดง่าย ๆ ก็คือ มาเลเซียจะก้าวสู่การเป็นประเทศพัฒนาแล้ว..
นับเป็นก้าวสำคัญของประเทศเพื่อนบ้านของไทย ที่พัฒนาเศรษฐกิจและอุตสาหกรรม
จนก้าวพ้นกับดักรายได้ปานกลางเป็นผลสำเร็จ
โดยมีอุตสาหกรรมที่สำคัญที่สุด ก็คือ อุตสาหกรรมอิเล็กทรอนิกส์
และขุมพลังที่เป็นส่วนผลักดันของอุตสาหกรรมนี้ จะเป็นที่ไหนไม่ได้ นอกจาก “ปีนัง” นั่นเอง..
╔═══════════╗
Blockdit เป็นแพลตฟอร์ม สำหรับนักอ่าน และนักเขียน
ที่มีผู้ใช้งาน 2 ล้านคน ลองใช้แพลตฟอร์มนี้เพื่อได้ไอเดียใหม่ๆ
แล้วอาจพบว่าสังคมนี้เหมาะกับคนเช่นคุณ
Blockdit. Ideas Happen. Blockdit.com/download
╚═══════════╝
ติดตามลงทุนแมนได้ที่
Website - longtunman.com
Blockdit - blockdit.com/longtunman
Facebook - facebook.com/longtunman
Twitter - twitter.com/longtunman
Instagram - instagram.com/longtunman
Line - page.line.me/longtunman
YouTube - youtube.com/longtunman
Spotify - open.spotify.com/show/4jz0qVn1AL7tRMHiTvMbZH
Apple Podcasts - podcasts.apple.com/th/podcast/ลงท-นแมน/id1543162829
Soundcloud - soundcloud.com/longtunman
References
-https://www.dosm.gov.my/v1/index.php?r=column/cthemeByCat&cat=491&bul_id=YnhhZ2g5QlpZWG9RcVNwTGhLaHE4UT09&menu_id=TE5CRUZCblh4ZTZMODZIbmk2aWRRQT09
-https://content.botlc.or.th/mm-info/BOTCollection/BOTFAQ/FAQ91.pdf
-https://www.tradingview.com/markets/stocks-malaysia/market-movers-large-cap/
-https://www.bursamalaysia.com/sites/5d809dcf39fba22790cad230/assets/5ec350c739fba2647bc6287e/Malaysia_Electronics_Industry_by_CLSA.pdf

เรื่องที่คุณอาจสนใจ

SPONSORED
© 2024 Longtunman. All rights reserved. Privacy Policy.
Blockdit Icon