ปีนัง จากหมู่บ้านชาวประมง สู่ซิลิคอนแวลลีย์ แห่งมาเลเซีย

ปีนัง จากหมู่บ้านชาวประมง สู่ซิลิคอนแวลลีย์ แห่งมาเลเซีย

ปีนัง จากหมู่บ้านชาวประมง สู่ซิลิคอนแวลลีย์ แห่งมาเลเซีย /โดย ลงทุนแมน
บ่ายวันหนึ่ง ชาวประมงใกล้เกาะปีนัง กำลังหาปลาอยู่ในทะเล มองเห็นเรือลำหนึ่ง ติดธงไม้กางเขนสีแดง พื้นหลังสีขาว กำลังแล่นเข้ามา
เขามองไป แล้วโบกมือทักทายเรือสินค้าธรรมดา
ที่แล่นผ่านมาตามปกติ โดยไม่รู้เลยว่า นี่เป็นเรือที่กำลังจะเปลี่ยนปีนังไปตลอดกาล..
เพราะเรืออังกฤษลำนี้ นำโดยกัปตันฟรานซิส ไลต์ กำลังเดินทางไปเจรจากับผู้ปกครองปีนัง
เพื่อขอเช่าเกาะแห่งนี้เป็นหนึ่งในเมืองท่าการค้า
ซึ่งทำให้ปีนังที่มีแค่ป่ารกทึบ กลายเป็นหนึ่งใน
เมืองท่าการค้าที่สำคัญของโลก จนมาถึงการเป็น
ซิลิคอนแวลลีย์แห่งมาเลเซีย อย่างในปัจจุบันอีกด้วย
ปีนัง เปลี่ยนจากหมู่บ้านชาวประมง
มาเป็นซิลิคอนแวลลีย์แห่งมาเลเซีย ได้อย่างไร ?
เรื่องนี้ก็เพราะความบังเอิญ หรือวิสัยทัศน์ ของใครบางคน
ลงทุนแมนจะเล่าให้ฟัง
╔═══════════╗
ภาวะเงินเฟ้อ ตลาดผันผวนแบบนี้ ติดตามข่าวเศรษฐกิจแบบเน้น ๆ จากหลายเพจได้ใน Blockdit - คอนเทนต์แพลตฟอร์มที่มีผู้ใช้งานเป็นประจำ 2 ล้านคน ลองใช้ฟรี blockdit.com/download
╚═══════════╝
ปีนัง เป็นเกาะนอกชายฝั่งทางตะวันตก ของมาเลเซีย
ซึ่งเมื่อก่อนมีเพียงป่ารกทึบ แม่น้ำ และสัตว์ป่า
ไม่ค่อยมีผู้คนเข้าไปอาศัยอยู่มากนัก
มีแค่ชาวประมงกลุ่มเล็ก ๆ ที่ไปจับปลาบริเวณเกาะ
และเข้ามาจอดพักเรือที่ปีนัง เพราะมีทั้งแหล่งอาหารและน้ำจืด ที่อุดมสมบูรณ์มาก
แม้เป็นเกาะที่ดูไม่มีอะไร แต่ที่ตั้งของเกาะกลับมีประโยชน์อย่างมหาศาล เพราะเป็นทางผ่านเส้นทางการค้าระหว่างอินเดียและจีน
ทำให้มีเรือสินค้าจากพ่อค้าจีน อินเดีย และตะวันตก
เข้ามาจอดแวะซ่อมเรือเพื่อหลบมรสุม รวมทั้งหาเสบียงเพิ่มเติมในการเดินทางต่อ จำนวนมาก
ซึ่งในช่วงศตวรรษที่ 18 การค้าในแถบนี้แข่งขันกันรุนแรงมากขึ้น โดยเฉพาะการค้าเครื่องเทศ ที่ชาวตะวันตกอย่างอังกฤษและดัตช์ กำลังแย่งชิงกัน
แต่ดูเหมือนว่า ฝั่งดัตช์สามารถนำหน้าอังกฤษได้ไกล
เพราะมีบริษัทการค้ายักษ์ใหญ่ที่ชื่อว่า Dutch East India ที่คุมการค้าเครื่องเทศบริเวณอินโดนีเซียได้
ทำให้อังกฤษต้องตั้งบริษัทขึ้นมาแข่ง โดยมีชื่อว่า British East India และต้องหาแหล่งการค้าใหม่
เพื่อแข่งขันกับดัตช์ได้อย่างสมน้ำสมเนื้อ
จนในที่สุด เป้าหมายก็ตกมาที่ปีนัง ที่เหมาะกับการสร้างเมืองท่าการค้า แต่ปัญหาคือ ตอนนั้นเกาะแห่งนี้ยังอยู่ภายใต้การปกครองของรัฐไทรบุรี
อังกฤษจึงส่งกัปตันฟรานซิส ไลต์ เข้าไปเจรจากับรัฐไทรบุรี โดยยื่นข้อเสนอที่ไม่อาจปฏิเสธได้
นั่นคือ จะช่วยเหลือด้านการทหาร แลกกับการให้อังกฤษเช่าเกาะปีนัง
ฝั่งเจ้าเมืองไทรบุรี ที่ตอนนั้นไม่อยากอยู่ภายใต้การปกครองของสยาม ก็ตกลงยอมให้อังกฤษเช่าเกาะปีนังแต่โดยดี
ซึ่งหลังจากนั้นเป็นต้นมา อังกฤษก็เริ่มพัฒนาเกาะปีนังให้เป็นเมืองท่าปลอดภาษี เพื่อเชื่อมโยงการค้าเครื่องเทศระหว่างจีนและอินเดียได้สำเร็จ
และปีนัง ก็ได้เป็นเมืองท่าการค้าปลอดภาษีเรื่อยมา
จนกระทั่งมาเลเซียได้รับเอกราชจากอังกฤษ
รัฐบาลใหม่กลับยกเลิกนโยบายนี้แทน
จากพื้นที่ที่เคยคึกคัก เต็มไปด้วยเรือสินค้ามากมาย ปีนังกลับเงียบเหงาลง คนตกงานมากขึ้น คนมีความรู้ก็ทยอยย้ายออกไป เพื่อหาโอกาสที่ดีกว่า
ในปี 1972 Lim Chong Eu ผู้ว่าการรัฐปีนัง (มาเลเซียมีการแบ่งให้แต่ละรัฐปกครองตัวเอง) ประกาศนโยบายใหม่ ที่จะพลิกฟื้นปีนังอีกครั้ง
โดยจัดตั้งเขตอุตสาหกรรมปลอดภาษีนำเข้า Bayan Lepas เพื่อดึงดูดให้บรรดาบริษัทต่างชาติ เข้ามาตั้งฐานการผลิตในปีนัง
ซึ่งเน้นไปที่อุตสาหกรรมอิเล็กทรอนิกส์ แลกกับการให้สิทธิพิเศษยกเว้นภาษีนำเข้าสินค้าบางอย่าง พร้อมกับโครงสร้างพื้นฐานท่าเรือที่พร้อมใช้งาน
และปีนัง ยังมีมหาวิทยาลัยวิศวกรรมศาสตร์ที่มีชื่อเสียงอย่าง Universiti Sains Malaysia ที่ผลิตคนจบด้านวิศวกรรมและเทคโนโลยี อย่างต่อเนื่องทุกปี
เมื่อมีแรงจูงใจ ทั้งยกเว้นภาษี แรงงานทักษะสูง และมีโครงสร้างพื้นฐานรองรับ ปีนังก็เริ่มกลับมาเนื้อหอมและน่าสนใจอีกครั้ง
จนในที่สุด ความตั้งใจของรัฐปีนัง ก็เริ่มเห็นผล
เมื่อ Intel บริษัทผลิตชิปจากสหรัฐฯ เข้ามาเปิดโรงงานแห่งแรก ตามมาด้วย OSRAM จากเยอรมนี
นอกจากนี้ ยังมีบริษัทญี่ปุ่นอย่าง Panasonic, Sony และ Toshiba รวมไปถึงบริษัทอเมริกันอื่น ๆ เช่น Motorola, Hewlett Packard เข้ามาลงทุนต่อเนื่อง
เมื่อมีการผลิตชิปเกิดขึ้น ธุรกิจท้องถิ่นมาเลเซีย ก็เห็นช่องว่างโอกาสตรงนี้ และหันมารับจ้าง
ตรวจสอบการทำงานของชิป จากบริษัทต่างชาติเหล่านี้
ไม่ว่าจะเป็น
- Inari Amertron Berhad ธุรกิจตรวจสอบการทำงานของชิป มีมูลค่าบริษัท 112,500 ล้านบาท
- ViTrox ผู้นำการผลิตระบบ Machine Vision (MVS) ที่ใช้เซนเซอร์ตรวจสอบคุณภาพการผลิตสินค้าในโรงงาน มีมูลค่าบริษัท 59,300 ล้านบาท
- Pentamaster ผู้ผลิตเซมิคอนดักเตอร์ และเครื่องจักรอัตโนมัติ ไปจนถึงตรวจสอบการทำงานของชิป มีมูลค่าบริษัท 27,900 ล้านบาท
ซึ่งแม้ในช่วงแรก จะยังสู้จีนไม่ได้ เพราะจีนเป็นผู้เล่นสำคัญในธุรกิจการตรวจสอบชิป โดยครองส่วนแบ่งตลาดตรงนี้อยู่กว่า 38%
แต่พอเกิดสงครามการค้าขึ้นระหว่างสหรัฐฯ และจีน ทำให้มาเลเซีย ได้ประโยชน์มากขึ้น เพราะมีบริษัทต่าง ๆ กระจายความเสี่ยง มาตั้งโรงงานทดสอบชิป อย่างต่อเนื่อง
จนปัจจุบัน มีบริษัทต่างชาติหลายแห่งในมาเลเซีย เช่น Micron Technology และ Texas Instruments จากสหรัฐฯ, Infineon Technologies จากเยอรมนี และอีกมากมาย
ส่งผลให้มาเลเซีย กลายมาเป็นผู้ส่งออกชิปอันดับ 6 ของโลก และเป็นอันดับ 2 ในอาเซียน รองจากสิงคโปร์เท่านั้น
ถึงตรงนี้ ก็ต้องบอกว่าปีนัง กลายเป็นเครื่องจักร
ทำเงินให้มาเลเซียไปแล้ว โดยปัจจุบัน ปีนังมีรายได้จากภาคอุตสาหกรรมมากถึง 46% ของทั้งหมด
และยังมีรายได้จากภาคบริการ เพราะปีนังยังเป็นแหล่งท่องเที่ยวที่มีชื่อเสียง ทำให้มีรายได้ตรงนี้
คิดเป็น 48% ของเศรษฐกิจปีนังเลยทีเดียว
แม้เศรษฐกิจปีนัง จะคิดเป็น 8% ของเศรษฐกิจมาเลเซีย แต่ในปี 2022 เศรษฐกิจปีนัง เติบโตถึง 13% มากกว่าเศรษฐกิจมาเลเซีย ที่โต 9%
นอกจากนี้ คนปีนังยังมีรายได้ต่อหัวสูงถึง
504,661 บาทต่อปี มากกว่าคนมาเลเซียทั้งประเทศ
ที่มีรายได้ต่อหัวเพียง 428,007 บาทต่อปี
เรียกได้ว่า ปีนัง กำลังเป็นดินแดนทองคำ ที่สร้างความมั่งคั่งให้มาเลเซีย ไปได้อย่างต่อเนื่อง
แต่ก็น่าคิดเหมือนกันว่า ถ้าวันนั้นผู้ปกครองปีนัง
ไม่ให้อังกฤษเช่าเกาะนี้ และกลับไปเลือกอยู่ภายใต้การปกครองของสยาม
วันนี้ ก็ไม่รู้ว่าเศรษฐกิจปีนัง จะออกมาหน้าตาแบบไหนอยู่เหมือนกัน..
╔═══════════╗
ภาวะเงินเฟ้อ ตลาดผันผวนแบบนี้ ติดตามข่าวเศรษฐกิจแบบเน้น ๆ จากหลายเพจได้ใน Blockdit - คอนเทนต์แพลตฟอร์มที่มีผู้ใช้งานเป็นประจำ 2 ล้านคน ลองใช้ฟรี blockdit.com/download
╚═══════════╝
ติดตามลงทุนแมนได้ที่
Website - longtunman.com
Blockdit - blockdit.com/longtunman
Facebook - facebook.com/longtunman
Twitter - twitter.com/longtunman
Instagram - instagram.com/longtunman
YouTube - youtube.com/longtunman
TikTok - tiktok.com/@longtunman
Spotify - open.spotify.com/show/4jz0qVn1AL7tRMHiTvMbZH
Apple Podcasts - podcasts.apple.com/th/podcast/ลงทุนแมน/id1543162829
Soundcloud - soundcloud.com/longtunman
© 2024 Longtunman. All rights reserved. Privacy Policy.
Blockdit Icon